(3 ก.พ. 68) ณ เวลานี้ ถึงแม้ว่า ผลการเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายกฯ อบจ. 2568 ทางกกต. ยังไม่ประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการ แต่จากการนับคะแนนนั้น ก็เห็นได้ชัดแล้วว่า ‘ใครแชมป์ – ใครชวด’
การเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นที่จับตามองของทางหลายๆ ฝ่าย เรียกได้ว่าเป็นการวัดพลังกัน ระหว่าง บ้านใหญ่,บ้านใหม่,กระแสพรรค,ความกว้างขวางของตัวผู้สมัคร ฯลฯ
แน่นอนว่า การเลือกตั้งในครั้งนี้ แม้จะเป็นเพียงการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น แต่ก็ย่อมจะส่งผลไปยัง การเมืองในระดับชาติ เพราะพรรคการเมืองใหญ่ ทั้งในฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ก็ส่งผู้สมัครกันหลายคน ทั้งแบบอิสระไม่ระบุพรรค แต่สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ทั้งจังหวัดก็รู้ดีว่า ‘คนนี้ เป็นคนของใคร’
และอีกแบบที่ ลงในนามพรรค เปิดหน้าสนับสนุน ถึงขั้นลงทุนเดินทางไปปราศรัยด้วยตัวเอง อย่างเช่นกรณีของท่านอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ขึ้นเดินสายขึ้นเวที ปลุกกระแสมวลชน หวังโกยคะแนน ให้เพื่อไทย แลนด์ไสด์ ในศึกครั้งนี้
แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้น ดูเหมือนว่า ‘ทักษิณ’ จะสิ้นมนต์ขลังเสียแล้ว
จากข้อมูลที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รวบรวมไว้ ในจังหวัดที่ ทักษิณ ได้ไปขึ้นเวทีจับไมค์ ปรากฏว่า
1. เชียงราย แพ้ (แพ้ตระกูลวันไชยธนวงศ์)
2. เชียงใหม่ ชนะ (ฉิวเฉียด)
3. ลำปาง ชนะ (เครดิต ตระกูลโล่ห์สุนทร)
4. ลำพูน แพ้ (ส้ม ชนะ ตระกูล วงศ์วรรณ)
5. นครพนม ชนะ (ชนะตระกูล โพธิ์สุ)
6. บึงกาฬ แพ้ (แพ้ตระกูล ทองศรี)
7. หนองคาย ชนะ (ล้มแชมป์เก่าได้)
8. มหาสารคาม ชนะ (เครดิต ตระกูล จรัสเสถียร ล้มแชมป์เก่า)
9. ศรีสะเกษ แพ้ (ไล่หนู ตีงูเห่า แต่แพ้ตระกูล ไตรสรณกุล)
10. มุกดาหาร แพ้ (มีกำหนดการหาเสียงแต่ไม่ไป)
สรุป 10 จังหวัด แพ้ 5 จังหวัด ในจังหวัดที่ชนะ ต้องบอกว่าเป็นเรื่องบารมีนักการเมืองในพื้นที่และบ้านใหญ่ ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ซึ่งติดกับเชียงใหม่ ฐานเสียงหลักของพรรคเพื่อไทย ซึ่ง ‘ทักษิณ’ เองก็หมายมั่นปั้นมือที่จะให้ นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายกฯ อบจ. ตัวแทนบ้านใหญ่ จากพรรคเพื่อไทย เข้าครองเก้าอี้นี้ อีกหนึ่งสมัย แต่ก็ต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยินให้กับ นายวีระเดช ภู่พิสิฐ ผู้สมัครนายกฯ อบจ. จากพรรคประชาชน
ส่วนที่ ‘เชียงใหม่’ แม้ชนะ แต่ ‘ส้ม’ ไล่จี้!! หลักสามแสน ‘ชนะแค่สองหมื่น’ ไม่ถือว่าสำเร็จ!!
ส่วนทางฝั่ง ‘สีน้ำเงิน’ นั้น หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการปฏิบัติงานด้วยการสวมหมวก ‘มท.1’ นั้น ‘มท.หนู’ ย่อมต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่สามารถออกไปสนับสนุนผู้สมัครคนใดได้ เนื่องจากการปกครองส่วนท้องถิ่น ตามหลักการบริหารราชการแผ่นดินแบบกระจายอำนาจนั้น กระทรวงมหาดไทย จะต้องมีส่วนเข้าไปกำกับดูแล ‘องค์การบริหารส่วนจังหวัด’ หรือพูดกันง่ายๆ ก็คือ ‘มท.หนู’ นั้นจะต้องมีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับ นายกฯ อบจ. ฉะนั้นการวางตัวเป็นกลางของ ‘มท.หนู’ ย่อมเหมาะสมแล้ว
แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ออกตัวสนับสนุนผู้สมัคร แต่ด้วยพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีเครือข่ายมากมาย ในคอนเน็คชั่นบ้านใหญ่หลายจังหวัด จึงทำให้ครองแชมป์ได้ในหลายพื้นที่ ทั้ง บึงกาฬ บุรีรัมย์ อำนาจเจริญ สตูล เชียงราย ลพบุรี พังงา พัทลุง เป็นต้น ทั้งที่พรรคภูมิใจไทยประกาศไม่ส่งผู้สมัครนายก อบจ.ในนามพรรคก็ตาม
ส่วน ‘พรรคกล้าธรรม’ ของ ‘ผู้กองธรรมนัส’ ที่อุตส่าห์ ไปดึงนายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว หรือ กำนันศักดิ์ อดีตนายกฯ อบจ.สุราษฎร์ธานี สมัยที่ผ่านมา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ งานนี้ เพราะผู้กองมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีจาก ‘คดีแป้ง’ จึงทำให้ไม่กล้าเปิดหน้า ว่าส่งในนาม ‘พรรคกล้าธรรม’ ซึ่งสุดท้ายแล้ว นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว ก็พ่ายแพ้ให้กับ ‘ป้าโส’ นางโสภา กาญจนะ ภรรยานายชุมพล กาญจนะ แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติภาคใต้ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ หลายสมัย ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนท่วมท้นกว่า 205,000 คะแนน
ซึ่งงานนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่า ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ก็ยังมีฐานเสียงที่เหนียวแน่นในภาคใต้ โดยนอกจากที่จ.สุราษฎร์ธานี จะชนะขาดแล้ว ที่จ.พัทลุง นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร ก็ยังคว้าแชมป์ ไม่เสียแรงที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ขึ้นเวทีให้กำลังใจ คล้องพวงมาลัย ให้แก่นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร และลูกทีมผู้สมัครสมาชิก อบจ.พัทลุง
มาที่จังหวัดนราธิวาส กับความผิดหวังอีกครั้งของ ‘พรรคกล้าธรรม’ นายอับดุลลักษณ์ สะอิ นักธุรกิจชื่อดัง ที่ได้รับแรงหนุนจาก สองสส.นราธิวาส ‘พรรคกล้าธรรม’ คือสองพี่น้องนายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ และ นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ ก็พ่ายแพ้ให้กับ นายกูเซ็ง ยาวอหะซัน อดีตนายกฯ อบจ.ห้าสมัย ไปอย่างขาดลอย ทำให้พรรคกล้าธรรม ผิดหวังไปอีกจังหวัด
มาถึงจังหวัด ‘สิงห์บุรี’ ที่จังหวัดนี้ไม่เน้นบ้านใหญ่ แต่เน้นการเมืองใหม่ สส.หนึ่งเดียวของจังหวัดนี้ได้แก่ นายโชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ จากพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีพี่ชายเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และปัจจุบันเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นั่นก็คือ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ หรือ ‘พี่โอ๋’ นักการเมืองผู้มากด้วยน้ำใจ เข้าถึงได้กับคนทุกกลุ่ม ด้วยท่าทีถ้อยทีถ้อยอาศัย เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้เสมอ
นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร คือบุคคลที่นายชัยวุฒิ ให้การสนับสนุน ให้ลงเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ในครั้งนี้ เพื่อเข้ามารับใช้พ่อแม่พี่น้องชาวจังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้ นายศุภวัฒน์ ก็ได้รับโอกาสเข้ามาทำงาน ในฐานะนายกฯ อบจ. เป็นที่น่าจับตามองว่า การเมืองในจังหวัดสิงห์บุรีนั้น เป็นการเมืองในรูปแบบใหม่ เป็นการเมืองที่สร้างสรรค์ ไม่ใช้ความรุนแรง ไร้ซึ่งความขัดแย้ง โดย ‘โอ๋ ชัยวุฒิ’ เป็นผู้เดินหน้าสร้างความสามัคคีในการเมือง สร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่ ทำให้การเลือกตั้งในครั้งนี้ มีผู้สมัครเพียงคนเดียว คือ นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร หมายเลข 1 หรือ ‘ตุ้ม’ อดีตนายกฯ อบจ.สิงห์บุรี สมัยที่ผ่านมา โดยไม่มีผู้สมัครรายอื่นลงสมัครร่วมชิงชัย
ซึ่งตามกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 111 นั้น ผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้ง ก็ต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียง ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และมากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใด หากผู้สมัครได้รับคะแนนเสียงน้อยกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือไม่มากกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใด ให้ ผอ.กกต.จังหวัดดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่
แต่จากผลการเลือกตั้งที่ออกมานั้น นายศุภวัฒน์ เทียนถาวร ก็ได้รับความไว้วางใจอย่างท่วมท้น จากชาวสิงห์บุรี โดยจะปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น ก็ต้องรอทางกกต. ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการเสียก่อน
การเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในครั้งนี้ ได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่การปฏิบัติหน้าที่ ทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน ของนายกฯ อบจ. คนใหม่ (ทั้งหน้าเก่าและหน้าเดิม) เพิ่งจะเริ่มต้นขึ้น
จับตาดูกันต่อไป!! ว่าพวกเขา จะทำงานได้ดี สมกับที่ได้รับความไว้วางใจหรือไม่