Sunday, 25 May 2025
เลิศศักดิ์

“เลิศศักดิ์” บี้ กรมสรรพากร ร้อง “ป.ป.ง.” ฟันคดียักยอกเงินภาษีกว่าสองพันล้านบาท

“เลิศศักดิ์” ป.กมธ.ป.ป.ง. บี้ กรมสรรพากร ส่งคดี ข้าราชการ-จนท. สรรพากรพื้นที่สาขาบางเสาธง จ.สมุทรปราการ ยักยอกเงินคืนภาษีสองพันกว่าล้าน ตรวจสอบเส้นทางการเงิน ชี้ กมธ.ป.ป.ง. สงสัยมีขาใหญ่อยู่เบื้องหลังฮั้วกับผู้ประกอบการหรือไม่

เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ที่รัฐสภาเกียกกาย ห้องประชุมกรรมาธิการ N407 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด (กมธ.ปปง.)สภาผู้แทนราษฎร ได้เรียกประชุมคณะกรรมาธิการ ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญ เลขาฯ  พิจารณาติดตามความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรร่ำรวยผิดปกติจากการทุจริตยักยอกเงินคืนภาษีอาการในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน โดยเชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ กรมสรรพากร เข้าชี้แจงประกอบด้วย นายสุกฤษฎิ์ ผอ.สนง.ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสมุทรปราการ ,นายรัฐพลพนักงานไต่สวนระดับสูง,น.ส.ฐปกรณ์ พนักงานไต่สวนระดับกลาง และ นายพงษ์ศักดิ์  รองอธิบดีกรมสรรพากร,นายอภิชัย นิติกรชำนาญการพิเศษ,นายเสกสรร นิติกรชำนาญการพิเศษ ,นายกาญจน์  นิติกรชำนาญการ

การประชุมมีการโต้ตอบกันระหว่าง ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและผู้แทนจากกรมสรรพากร และ คณะกมธ.ป.ป.ง. เป็นไปด้วยความเข้มข้น ในประเด็นผลการตรวจสอบจาก ป.ป.ช. ที่ตรวจพบยอดเงินในบัญชีเงินฝากของข้าราชการและเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่สาขาบางเสาธง จ.สมุทรปราการ ถูกชี้มูลความผิดกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สรรพากร รวม 4 ราย ร่ำรวยผิดปกติ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฏหมายสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เป็นเงินจำนวนรวมกว่า 2,085,348,581.53 บาท จาก 8 บัญชีที่ถูกตรวจพบ ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงในคดีนี้ อาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข 160 ล้านบาท ตามที่กรมสรรพากรให้ข้อมูลกับทาง กมธ.ป.ป.ง.ในที่ประชุมนี้ จนมีข้อสงสัยว่าจะมีบุคคลที่สามหรือบุคคลที่มีตำแหน่งสูงกว่านี้อยู่เบื้องหลังหรือไม่

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล กล่าวว่า กรณีนี้ กมธ.ป.ป.ง. ได้รับรู้จากข่าวที่นำเสนอผ่านสื่อมวลชนในหลายแขนง การชี้แจงข้อมูลยังติดขัดหลายประเด็น โดยเฉพาะในส่วนของ กรมสรรพากร ซึ่งสรุปยอดเงินคงค้างผู้ประกอบการที่ขอคืนภาษี เพียง 160 ล้านบาท และการทุจริตจากเจ้าหน้าที่ 4 รายนี้ ก็เป็นลักษณะของการหมุนเงินเท่านั้น ขณะที่ ป.ป.ช. สรุปยอดเงินจาก 8 บัญชี มีความเสียหายรวมกว่าสองพันล้านบาท และผู้ทุจริตก็ยังไม่สามารถชี้แจงเหตุนี้ได้จึงได้ขอให้ทาง กรมสรรพากร ซึ่งถือเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ โดยเฉพาะอธิบดีกรมสรรพากร ร้องไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ง.ให้ตรวจสอบตามกฏหมายฟอกเงิน เพื่อเช็คเส้นทางการเงินหมุนเวียนหลายพันล้านบาทนี้เพราะ กมธ.ป.ป.ง. ไม่เชื่อว่าจะมีแค่เพียงการยักยอกเงินภาษี แต่อาจจะมีการฮั้วกับผู้ประกอบการหรือไม่ที่อาจจะมีบุคคลที่ใหญ่กว่านี้อยู่เบื้องหลังในเรื่องนี้ เพื่อให้ชัดแจ้งที่มองไปถึงกระบวนการควบคุมป้องกันความเสียหายต่อไปในอนาคต

“กรณี กมธ.ป.ป.ง.สภาผู้แทนฯ เรียกร้องให้ อธิบดีกรมสรรพากร ส่งเรื่องนี้ไปยัง คณะกรรมการ ป.ป.ง. ก็เพื่อเร่งติดตามเส้นทางการเงิน เพราะเป็นความผิดมูลฐานตามกฏหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อจะได้รู้ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังหรือมีขบวนการเครือข่ายอีกหรือไม่ ที่ถึงแม้ว่าจะมีคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะชี้มูลและดำเนินคดีไปแล้วอาจจะมีความล่าช้า ซึ่ง กมธ.ป.ป.ง. จะติดตามเรื่องนี้อย่างเต็มที่เพื่อความโปร่งใสและปกป้องเงินภาษีของแผ่นดินต่อไป” นายเลิศศักดิ์ กล่าวในที่สุด 

(สภา) กมธ.ปปง. ‘เลิศศักดิ์’ เร่งแก้ปัญหาระบบทุนต่างชาติ นำเข้าสินค้าถูกหลบภาษีแฝงนอมินีฟอกเงินเขย่าความมั่นคงของชาติ

(25 ก.ย. 67) ที่ห้องประชุม 407 ชั้น 4 อาคารรัฐสภาเกียกกาย นายเลิศศักดิ์ พัฒนาชัยกุล ประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปปง.) ได้เรียกประชุมคณะ กมธ.ปปง. ครั้งที่ 36  พิจารณาเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบขบวนการฟอกเงินข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดอันเข้าข่ายเป็นความผิดมูลฐานฟอกเงิน และการฟอกเงินข้ามชาติผ่าน Payment Gateway ซึ่งเป็นการ(พิจารณาต่อเนื่อง)จากการประชุม ครั้งที่ 35 ที่ผ่านมา ตามคำร้องเรียนสงสัยการนำเข้าสินค้า แฝงปัญหาการฟอกเงิน ”ครั้งนั้น“ มีผู้แทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้แทนจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า นำข้อมูล กฏหมาย หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตในการดำเนินธุรกิจ กรณีนิติบุคคลหรือมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่างด้าว รวมถึงการถือหุ้นคนต่างด้าว ทำการค้าในระบบอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มหรือแพลตฟอร์มการทำธุรกิจจากต่างประเทศ เป็นข้อมูลประกอบคำร้องเรียน ครั้งนี้ได้เชิญ อธิบดีกรมศุลกากร และสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่ได้ส่งผู้แทนเข้าให้ข้อมูล 

“ข้อมูลที่ได้จึงเป็นรูปแบบการหลีกเลี่ยงภาษีและการนำเข้าที่กระทบความมั่นคงของชาติ ผ่านเครือข่ายการขนส่งที่หลบเลี่ยงกฏหมาย (พ.ร.บ.ศุลกากร 2560) เกี่ยวพันทั้งทาง บก น้ำ และอากาศ ใน 3 รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบ 1.อีคอมเมิร์ซ (ยกเว้นภาษี) 2. นำเข้าโดยสิทธิพิเศษ FTA  ยกเว้นภาษีนำเข้าเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ (ยกเว้นภาษี)3. การนำเข้าแบบปกติ คือการนำเข้าจ่ายภาษีปกติ รวมไปถึงการขนส่ง ที่ผู้รับจ้างขนส่งจะไม่รู้ว่าสินค้าที่นำส่งนั้นภายในตู้คอนเทนเนอร์ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นหากนำส่งสินค้าที่มียาเสพติดหรือสินค้าที่ละเมิด ไม่เสียภาษี ผู้รับจ้างขนส่งก็จะตกเป็นจำเลยสังคมทันที ทุนต่างชาติใช้นอมินีในการเป็นตัวแทนทุนจีนข้ามชาติ ปัญหาจึงเด่นชัดที่ทุนจีนเข้ามาสร้างผลกระทบให้กับธุรกิจภายในประเทศไทย ที่ต้นทางคือการนำเข้าสินค้าก็คือด่านศุลกากร จนไปเกี่ยวพันปัญหาข้อสงสัยถึงการฟอกเงิน”

นายเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล ป.กมธ.ปปง. กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้ทำให้รู้ว่ารูปแบบการค้าขายของกลุ่มทุนจีนหรือทุนต่างชาติ เข้ามากระทบเศรษฐกิจของคนไทย สินค้าราคาถูกทำให้นักธุรกิจไทยไม่สามารถแข่งขันได้ยังลามไปถึงปัญหาการนำเข้าของกรมศุลกากร ข้อมูลที่ได้จาก ผู้แทนศุลกากร และสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย  ถือเป็นประโยนช์ในการตรวจสอบ จะมีการศึกษาแนวทางการแก้ไขต่อไปในอนาคตในส่วนกรณีข้อสงสัยไปถึงกระบวนการฟอกเงิน เรื่องนี้จะยังมีการพิจารณาเพื่อสรุปผลหาแนวทางการตรวจสอบอีกครั้ง ทั้งนี้ กมธ.ปปง. จะร่วมหาแนวทางการศึกษาเพื่อหาทางออกในมาตรการแก้ไขเพื่อความถูกต้องให้ลดปัญหาการเอาเปรียบของกลุ่มทุนต่างชาติเพื่อนักธุรกิจพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top