รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ ว่าที่ร้อยตรีเฉลิมรัฐ ติ่งอ่วม ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ในโอกาสที่ได้จัดทำพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่งในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน เมื่อวันที่ 27 ก.ค.67 โดย ว่าที่ร้อยตรีเฉลิมรัฐ ได้กล่าวว่า...
สืบเนื่องจากกองทัพเรือ เป็นผู้ดำเนินการจัดขบวนเรือพระราชพิธี จึงได้มอบหมายให้ทางโรงเรียนสตรีวัดระฆัง จัดทำพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่ง จำนวน 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์, เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9, เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และ เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์
โดยจุดเริ่มต้นของการจัดทำพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่ง เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2502 ซึ่ง นาวาโทสวัสดิ์ พูลสุข ผู้บังคับกองเรือเล็กในขณะนั้น ได้ติดต่อทางโรงเรียนสตรีวัดระฆังผ่านทาง ครูปราณี พูลสุข บุตรสาวของท่าน ซึ่งเป็นทั้งศิษย์เก่าและเป็นครูโรงเรียนสตรีวัดระฆังในขณะนั้น ให้ช่วยประดิษฐ์พวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่ง เนื่องจากเห็นว่าทางโรงเรียนมีชื่อเสียงในงานฝีมือด้านดอกไม้ใบตอง สามารถทำได้อย่างประณีตสวยงาม และชนะการประกวดอยู่เสมอ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทางโรงเรียนจึงได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือให้จัดทำพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่งมาโดยตลอด จนเมื่อปี พ.ศ. 2539 ทางโรงเรียนได้จัดทำพวงมาลัยคล้องคอเรือเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งลำ คือ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 รวมเป็นจำนวน 4 ลำ จนถึงปัจจุบัน
ว่าที่ร้อยตรีเฉลิมรัฐ เผยต่อว่า และเมื่อเร็วๆ นี้ทางโรงเรียน จึงได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือให้จัดทำพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่ง จำนวน 3 ลำ เพื่อนำไปจัดแสดงเรือพระที่นั่งเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคม 2567 ณ ท่าราชวรดิฐ ซึ่งได้ดำเนินเสร็จสิ้นและส่งมอบให้กับกองทัพเรือเรียบร้อยแล้ว
ส่วนในงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 นอกจากทางโรงเรียนสตรีวัดระฆังจะได้รับมอบหมายให้จัดทำพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่ง จำนวน 4 ลำแล้ว ยังได้มีโอกาสประดิษฐ์ดอกไม้สดตกแต่งบัลลังก์กัญญาในเรือพระที่นั่ง ซึ่งต้องอาศัยความละเอียดประณีตตามแบบแผนโบราณ
ว่าที่ร้อยตรีเฉลิมรัฐ กล่าวว่า ในปัจจุบันทางโรงเรียนมีการสอนหลักสูตรเครื่องแขวนไทย ทำให้นักเรียนได้ฝึกซ้อมด้านเครื่องแขวนไทยมาอย่างยาวนาน เมื่อทางโรงเรียนได้รับมอบหมายก็พร้อมจัดทำได้ทันที ถึงแม้ในปัจจุบันทางโรงเรียนมีครูผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ไม่กี่ท่าน แต่ก็ได้รับความเมตตาจากครูอาวุโสมาช่วยสอนถ่ายทอดองค์ความรู้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูและนักเรียนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการส่งต่อภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อสืบสานภูมิปัญญาของชาติไทยให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งทางโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ผู้บริหาร คณะครูอาจารย์ และนักเรียนรู้สึกภาคภูมิใจ ปลาบปลื้มใจ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้
นอกจากนี้ทางโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ยังส่งเสริมให้นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการประกวดสวดทำนองสรภัญญะ เนื่องจากโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ได้รับการอุปถัมภ์จากวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหารมาอย่างยาวนาน
"การที่โรงเรียนได้ก่อตั้งมาได้ เพราะพระอาจารย์ได้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาร่วมกับการนำธรรมะมากล่อมเกลาจิตใจนักเรียน การสวดทำนองสรภัญญะ จึงเป็นการนำธรรมะมาฝึกปฏิบัติตนของนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดระฆังเสมอมา ซึ่งทางโรงเรียนได้ส่งนักเรียนเข้าแข่งขันสวดทำนองสรภัญญะของกรมการศาสนาและได้รับโล่พระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของโรงเรียนสตรีวัดระฆัง" ว่าที่ร้อยตรีเฉลิมรัฐ กล่าวปิดท้าย