Sunday, 20 April 2025
เรือนจำ

'กมธ.พัฒนาการเมือง' เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดี 112 ตรวจดูมาตรการ 'คุ้มครองสิทธิ-การดูแล' ผู้ต้องขัง

คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง เขตจตุจักร เพื่อดูมาตรการคุ้มครองสิทธิและการดูแลผู้ต้องขังคดีอาญา มาตรา 112 ตามหลักการของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน

โดยคณะอนุกรรมาธิการศึกษาผลกระทบของการใช้มาตรา 112 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา ส.ส. จ.นครปฐม, ณัฐวุฒิ บัวประทุม เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง อาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าเยี่ยมชมเรือนจำ เข้าพบนักโทษคดี 112 ที่ยังถูกคุมขังอยู่ เพื่อพูดคุย สอบถามกำลังใจและสภาพความเป็นอยู่ พร้อมตรวจสอบว่าได้รับการปฏิบัติตามสิทธิที่ผู้ต้องขังพึงจะได้ตามมาตรฐานสากลหรือไม่

เบญจา กล่าวว่า การเดินทางครั้งนี้เป็นไปเพื่อคุ้มครองและดูแลสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขัง คดี 112 คดีความมั่นคง คดีทางการเมือง ซึ่งมีการเดินทางทั้งหมด 2 วัน ตั้งแต่เมื่อวานจนถึงวันนี้ วันที่ 4 ได้เดินทางไปยังเรือนจำธนบุรี เขตบางบอน พบกับ ศุภากร พินิจบุตร์ ผู้ต้องขังเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

ส่วนวันนี้ได้เดินทางมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลางเป็นที่สุดท้าย เพื่อพบกับสมบัติ ทองย้อย ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างรอพิจารณาคดี รวมถึง พรชัย (แซม) และเยาวชนกลุ่มทะลุฟ้า ทะลุแก๊ส 

เบญจา ระบุว่า ได้สอบถาม สมบัติ ทองย้อย ถึงชีวิตความเป็นอยู่ในเรือนจำและเรื่องสุขภาพ รวมถึงสถานการณ์ภายในและภายนอกเรือนจำ รวมถึงสิทธิเสรีภาพของ สมบัติ ในเรือนจำ

จากนั้นคณะฯ ได้เข้าเยี่ยม อัญชัญ ปรีเลิศ ซึ่งเป็นนักโทษเด็ดขาดในคดี 112 ดังนั้นเงื่อนไขในการเข้าเยี่ยมจึงจะมีความแตกต่าง ไม่เหมือนกับกรณีอื่นๆ อัญชัญ ได้สะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้ตนได้รับการดูแลในฐานะเป็นนักโทษสูงอายุ ซึ่งมีโรคประจำตัวที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ขวัญและกำลังใจค่อนข้างดี ได้รับการพิจารณาจัดลำดับชั้นอยู่ในนักโทษชั้นเยี่ยม จากโทษเดิมที่ต้องจำคุกทั้งสิ้น 40 กว่าปี จะลดลงมาเหลืออยู่ 10 ปีเศษ ซึ่งต้องดูเงื่อนไขในทางกฎหมายต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

ด้านณัฐวุฒิ เผยว่า สำหรับผู้มาเข้าเยี่ยมในวันนี้นอกเหนือจากคณะอนุกรรมาธิการ ที่มาในนามสถานแทนราษฎร ยังมีผู้แทนจาก แอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเยี่ยมผู้ต้องขังว่าเป็นอย่างไร และได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมหรือไม่ มีเงื่อนไขหรือปัจจัยที่แตกต่างจากกรณีอื่น ๆ หรือไม่ จากนั้นจะนำข้อมูลที่ได้ใน 2 วันนี้ เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ เพื่อจัดทำเป็นรายงานต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการสนทนากับ สมบัติ นั้น น.ส.เบญจา ได้หยิบยกบทกวีที่นายแซม พรชัย ได้เคยกล่าวให้ผู้ต้องหาคดี 112 ทุกครั้ง ในกิจกรรม "ยืนหยุดขัง" มากล่าวให้นายสมบัติ ทองย้อย ฟัง โดยมีใจความดังนี้...

‘ผู้ต้องขัง’ ใน ‘คุกฝรั่งเศส’ พุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นี่อาจไม่ใช่ 'สวรรค์' ในแบบที่คนไทยหลายคนคิดไว้

(1 ส.ค.66) เพจ 'ดร.โญ มีเรื่องเล่า' ได้เผยความเป็นจริงด้านมืดของประเทศฝรั่งเศส ที่คนไทยหลายคนที่เคยมองว่าเป็นดินแดนสวรรค์ อาจจะต้องพิจารณาใหม่ ว่า...

ฝรั่งเศสที่คนไทยหลายคนคิดว่าเป็น ‘สวรรค์’

ผู้ต้องขังในเรือนจำของฝรั่งเศสพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ความแออัดยัดเยียดภายใต้นโยบาย ‘อาชญากรรมเป็นศูนย์’ กลายเป็นปัญหาที่ผู้ต้องขังหลายพันคนไม่มีแม้แต่พื้นที่ที่พอจะซุกหัวนอนได้

ฝรั่งเศสมีผู้ถูกคุมขังมากกว่าที่เคย โดยสูงถึง 74,513 คน ตามสถิติอย่างเป็นทางการที่เผยแพร่โดยกระทรวงยุติธรรมเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ประเทศนี้ได้ทำลายสถิติผู้ต้องขังของตนเองถึง 6 ครั้ง โดยเกิดขึ้นเกือบทุกเดือน นับตั้งแต่สิ้นปี ค.ศ. 2022

ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงการเพิ่มขึ้น 2,446 คน ตั้งแต่ปีที่แล้ว และ 15,818 คน นับตั้งแต่ฤดูร้อนปี ค.ศ. 2020 หลังจากนักโทษประมาณ 10,000 คน ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 เพื่อบรรเทาความแออัดยัดเยียดของระบบเรือนจำ ฝรั่งเศสมีผู้ต้องขังเกิน 73,000 คน เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว (ค.ศ. 2022)

อัตราการคุมขังของระบบเรือนจำในฝรั่งเศสทั้งหมดอยู่ที่ 122.8% และเพิ่มขึ้นเป็น 146.3% สำหรับสถานที่เหล่านั้นซึ่งเป็นคุมขังของผู้ต้องขังก่อนการพิจารณาคดีและผู้ต้องขังที่มีโทษจำคุกระยะสั้น ส่งผลให้ผู้ต้องขัง 2,478 คนไม่มีแม้แต่เตียงที่จะนอนและต้องนอนบนที่นอนที่วางบนพื้นแทน

เรือนจำของฝรั่งเศสล้นเกินขนาดจนกระทั่งในปี ค.ศ. 2020 ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปถึงกับออกโรงประณามระบบการจำคุกของฝรั่งเศส เนื่องจากความแออัดของ 'โครงสร้าง' โดยสั่งให้จ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ต้องขัง 32 คน เป็นเงินสูงถึง 25,000 ยูโร (27,500 ดอลลาร์) สำหรับ 'การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง'

ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสตอบรับด้วยการให้คำมั่นว่าจะเพิ่มเตียงในเรือนจำอีก 15,000 เตียงภายในปี ค.ศ. 2027 แต่ศาลก็ประณามอีกครั้งเมื่อต้นเดือนนี้ แล้วหลายสัปดาห์ต่อมา รัฐสภาฝรั่งเศสได้ออกรายงานที่เน้นถึง 'ความจำเป็นเร่งด่วน' สำหรับกลไกการควบคุมของเรือนจำ

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงหลังเหตุจลาจลรุนแรงปกคลุมประเทศเมื่อเดือนก่อน หลังตำรวจยิงวัยรุ่นเชื้อสายแอฟริกันเหนือระหว่างการประท้วงจนเกิดการปืดการจราจรในเมืองนองแตร์ รายงานระบุว่าข้อเรียกร้องของรัฐบาลสำหรับการตอบสนองที่ ‘มั่นคง’ ‘รวดเร็ว’ และ ‘เป็นระบบ’ ทำให้ผู้ประท้วงกว่า 742 คน ถูกตัดสินจำคุก และอีก 600 คน ถูกคุมขัง

เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 45,000 นาย ถูกส่งไปปราบความไม่สงบ ซึ่งสร้างความเสียหายมูลค่า 650 ล้านยูโร (721 ล้านดอลลาร์) ตามรายงานของสมาคมประกันภัย France Assureurs ความไม่สงบดังกล่าวส่งผลให้มีพลเมืองฝรั่งเศสกว่า 4,000 คน ถูกควบคุมตัว โดยที่มี 1,200 คน เป็นผู้เยาว์

กลุ่มผู้สนับสนุนนักโทษ Observatoire International des Prisons เตือนว่าความแออัดยัดเยียดอาจเลวร้ายลง เนื่องจากทางการได้เพิ่มนโยบาย ‘อาชญากรรมเป็นศูนย์’ เพื่อเตรียมการสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี ค.ศ. 2024 ที่กรุงปารีส

ปีที่แล้ว กลุ่มเรียกร้องให้ลดโทษความผิดทางอาญาบางประเภท ซึ่งรวมถึงการขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตและการใช้สารเสพติด ตลอดจนลดการใช้การควบคุมตัวก่อนการพิจารณาคดี และคิดค้นทางเลือกอื่นแทนการจำคุกสำหรับอาชญากรรมอื่น ๆ เพื่อเป็นแนวทางที่เป็นไปได้ในการลดความแออัดยัดเยียดในเรือนจำ โดยยืนยันว่าเพียง การสร้างเตียงในคุกให้มากขึ้นนั้น มีแต่จะทำให้ปัญหารุนแรงเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฝรั่งเศสได้ดำเนินไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยกำหนดให้ ‘การล่วงละเมิดทางไซเบอร์’ เป็นความผิดทางอาญา และแม้แต่การกลั่นแกล้งในโรงเรียนก็กลายเป็นโทษทางอาญาเช่นกัน 

‘น้ำ วารุณี’ ผู้ต้องหา ม.112 ประกาศ อดอาหารประท้วง ลั่น!! จะดื่มแค่น้ำนมเท่านั้น หลังถูกงดประกันตัว ขังยาว 55 วัน

(21 ส.ค. 66) ทวิตเตอร์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า น้ำ-วารุณี ผู้ต้องขังคดี ม.112 เริ่มอดอาหารประท้วงวันแรกเพื่อประท้วงศาลที่สั่งไม่ให้ประกันตัว เธอเริ่มงดทานอาหารตั้งแต่เวลาเที่ยงของวันนี้ (21 ส.ค.) และจะดื่มเฉพาะน้ำนมเท่านั้น

วารุณีเล่าว่า เธอทนไม่ไหวกับการที่ศาลสั่งไม่ให้ประกันเรื่อยมา โดยใช้เหตุผลเดิมๆ เธอรู้สึกเหมือนถูกกลั่นแกล้ง การแสดงออกด้วยวิธีนี้เป็นหนทางเดียวที่ทำได้ เพราะเธอบอกว่าไม่เหลืออะไรแล้ว ตอนนี้เหลือแค่เพียงร่างกายเท่านั้น

วารุณี ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566 จากการที่ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน เพราะรับสารภาพในคดี ม.112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพ ร.10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง พระแก้วมรกต เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัขด้วย

จนถึงปัจจุบันวารุณีถูกคุมขังมากว่า 55 วันแล้ว โดยศาลยังยืนยังไม่ให้ประกันตัว แม้จะยื่นประกันและอุทธรณ์คำสั่งไปแล้วอย่างน้อยถึง 5 ครั้ง ก็ตาม

‘นารา เครปกะเทย’ ส่งจดหมายจากเรือนจำ โอด!! 'ถูกขโมยเงิน-ไร้เพื่อน' วอนเพจดังช่วยเหลือ

(12 ม.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก จ๊อกจ๊อกได้มีการโพสต์ข้อความถึง ‘นารา เครปกะเทย’ หลังจากที่เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ที่ผ่านมาศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก พิพากษายกฟ้อง ‘นายอนิวัติ ประทุมถิ่น’ หรือ ’นารา-เครปกะเทย’ จำเลยในความผิดดูหมิ่นสถาบัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่พอรับฟังได้ แต่ผู้ต้องหายังต้องอยู่ในเรือนจำ จากคดีฉ้อโกงประชาชน

ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก จ๊อกจ๊อก ได้มีการโพสต์ข้อความว่า "นาราคิดถึงจ๊อกจ๊อก จ๊อกจ๊อกก็คิดถึงนารา” เพราะล่าสุดนาราส่งจดหมายจากเรือนจำถึงจ๊อกจ๊อก "ช่วยเรียกร้องความยุติธรรมให้นางหน่อยเพราะนางถูกเพื่อนขโมยเงิน ก็ไม่โอนให้ อยากได้ความยุติธรรม และปัจจุบันไม่มีเพื่อนคนไหนเลยมาหา มาเยี่ยม ฉันน่าสงสารแค่ไหน อยากให้มีความยุติธรรมให้บ้าง นาราไม่มีโอกาสได้พูดอะไรเลย เลยอยากให้จ๊อกจ๊อกพูดแทนหน่อย ขอใช้ความดีที่เคยทำมา เพื่อให้ได้ความยุติธรรมบ้าง"

“โพสต์แล้วนะคะนารา แม่จะดุจะด่าจะว่า แต่หนูก็คิดถึงแม่ ไม่ให้รักได้อย่างไร ปัจจุบันนารายังถูกคุมขังเนื่องจากคดีฉ้อโกง ที่มีเงินในบัญชีกว่า 300 ล้านบาท จากดราม่ากล่องสุ่มมีผู้เสียหายหลักร้อยคน และเป็นคดีส่วนตัวของตัวเอง ส่วนคดี 112 ยกฟ้องไปเรียบร้อยแล้วจ๊อกปณีย์รายงาน #จ๊อกจ๊อก"

เฟซบุ๊ก ‘อานนท์ นำภา’ เผยจดหมาย HBD ให้ลูกสาว จากห้องขังหมายเลข 17 รับ ‘สิ่งที่กลัวที่สุด’ คือวันที่พ้นโทษ ‘พ่อ’ จะกลายเป็นคนแปลกหน้าของลูก

(7 ก.ค.67) เฟซบุ๊ก อานนท์ นำภา เปิดเผยจดหมายเขียนด้วยลายมือจาก นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวในเรือนจำ โดยระบุว่า เป็นจดหมายฉบับวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เพื่อเขียนถึงลูกๆ โดยมีใจความว่า

สิ่งที่พ่อกลัวที่สุดตอนนี้ คือในวันที่พ่อพ้นโทษออกไป พ่อจะกลายเป็นคนแปลกหน้าของลูกทั้งสอง สำหรับโทษทัณฑ์ที่พ่อได้รับตอนนี้มันก็เกินกว่าอายุของเจ้าปราณไปเสียแล้ว

5 กรกฎาคม 2567 สุขสันต์วันเกิด ครบรอบ 8 ขวบของเจ้าปราณ ลูกสาวที่น่ารักที่สุดของพ่อ ขณะที่ลูกได้อ่านจดหมายฉบับนี้ พ่อคงอยู่ในห้องขังหมายเลข 17 และคงแอบร้องเพลงวันเกิดเบาๆที่มุมห้องสักมุม พรวันเกิดของเจ้าปราณในปีนี้ พ่อคงทำได้เพียงเขียนจดหมายมาร่วมอวยพรวันเกิด มันก็น่าน้อยใจอยู่กระมังที่แม้แต่เค้กสักก้อน พ่อก็ไม่สามารถส่งไปอวยพรวันเกิดให้ลูกได้ ฝากบรรดา ลุงป้าที่ศูนย์ทนายฯ ซื้อเค้กชิ้นเล็กๆ รสช็อกโกแลตให้เจ้าปราณแทนพ่อด้วย เค้กมีไว้กินอย่าเอาไปป้ายหน้ากันเล่นละ 8 ขวบถือว่าโตแล้วนะคะ อย่าให้เจ้าขาลกินเค้กเยอะมันมีน้ำตาลสูง น้ำอัดลมนี่ห้ามแตะ

*วันเกิดปราณปีนี้ พ่อขอให้ลูกสุขภาพแข็งแรง ขยันเรียน และมีความสุขกับทุกๆสิ่ง ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และอย่าลืมช่วยแม่ดูแลน้องขาลด้วยตอนพ่อไม่อยู่ ห่มผ้าให้น้องและแม่ หากแม่ทำงานดึกแล้วเผลอหลับไป

ทุกวินาทีของพ่อรอคอย การกลับไปอยู่ด้วยกันกับลูกๆ หากแต่โชคชะตายังคงไม่อำนวยให้เราได้อยู่พร้อมหน้ากัน ปราณอย่าได้เสียใจหรือน้อยใจไป ท่ามกลางความโชคร้าย ปราณยังมีความโชคดีที่มีแม่ที่เข้มแข็ง มีน้องที่น่ารัก และมีบรรดาลุงป้าน้าอา ที่คอยเป็นกำลังใจ

แล้วเราจะผ่านฝันร้ายนี้ไปด้วยกัน สุขสันต์วันเกิด / รักและคิดถึง ลูกทั้งสอง

‘กรมราชทัณฑ์’ แจง!! ‘แยม’ กดไลก์ IG น้องชาย เป็นคนอื่นที่รู้รหัส ยัน!!อยู่ในคุก ถูกควบคุมเข้มงวด

(16 มี.ค. 68) กรมราชทัณฑ์ได้ออกเอกสารชี้แจง กรณีผู้ต้องขังสามารถกดไลก์อินสตาแกรมของน้องชาย โดยมีรายละเอียด ระบุว่า “ราชทัณฑ์ แจง กรณีผู้ต้องขัง ย. กดไลค์ ไอจี น้องชาย” วันที่ 15 มีนาคม 2568 จากกรณีที่เพจ Facebook ใช้ชื่อว่า บิ๊กเกรียน ได้โพสต์ข้อความ “ย. (เป็นผู้หญิง) ติดคุก แต่เล่น Social media ได้ไหม เห็นกด Like ใน Instagram น้องชาย ทาง อ.ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เห็นแล้ว” โดยตีความว่าอาจเป็น “แยม ธมลพรรณ์” ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางนั้น

กรมราชทัณฑ์ ได้รับรายงานจากทัณฑสถานหญิงกลาง แจ้งว่า น.ส.แยม ธมลพรรณ์ คดีร่วมกับพวกฟอกเงินและชักชวนให้ผู้อื่นเข้าเล่นพนันออนไลน์ ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี ยังคงอยู่ในการควบคุมตัวอยู่ภายในทัณฑสถานฯ ไม่สามารถใช้เครื่องมือสื่อสาร หรือสื่อโซเชียลใดๆ ได้ เนื่องจากทางทัณฑสถานฯ มีมาตรการอย่างเข้มงวด และไม่มีเครื่องสื่อสารซึ่งถือเป็นสิ่งของต้องห้ามเข้าภายในทัณฑสถาน รวมถึงคอมพิวเตอร์ภายในทัณฑสถานฯ จะใช้สําหรับการเยี่ยมญาติผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์เท่านั้น โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมขณะการใช้งานตลอดเวลา ซึ่งการกระทําในครั้งนี้ สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากบุคคลอื่นที่รู้รหัสผ่านเข้าบัญชี Instagram ของ น.ส.แยมฯ หรือสามารถเข้าถึงข้อมูลในมือถือของ น.ส.แยมฯ ได้ จึงขอยืนยันว่า น.ส.แยมฯ ไม่สามารถกระทําการดังกล่าวได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ การใช้เครื่องมือสื่อสารหรือสื่อโซเชียลใดๆ ไม่สามารถเข้าภายในเรือนจํา/ทัณฑสถานได้ ซึ่งถือเป็นสิ่งของต้องห้าม นอกเสียจากการนําไปใช้ในด้านการศึกษาหรือเพื่อการเยี่ยมญาติผ่านระบบแอปพลิเคชั่นไลน์เท่านั้น และการเยี่ยมญาติดังกล่าว ก็มีกฎระเบียบที่ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบสร้างความเสียหายให้กับทางราชการได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top