Monday, 19 May 2025
เพชร_โอสถานุเคราะห์

'เพชร โอสถานุเคราะห์' เจ้าของเพลงดัง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) เสียชีวิตแล้ว ในวัย 69 ปี คาดหัวใจวายเฉียบพลัน

(15 ส.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพชร โอสถานุเคราะห์ อดีตนักร้องชื่อดัง และอดีตผู้บริหารบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ได้เสียชีวิตแล้วเมื่อคืนวันที่ 14 ส.ค.ที่ผ่านมา เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดอาการหัวใจวายเฉียบพลัน

โดยญาติพี่น้องเตรียมนำร่างของ เพชร โอสถานุเคราะห์ ไปบำเพ็ญกุศลที่ศาลโอสถานุเคราะห์ วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ และจะมีการแถลงข่าวช่วงบ่ายวันนี้

เพชร โอสถานุเคราะห์ เป็นอดีตนักร้องที่โด่งดังมีผลงานที่เป็นที่รู้จักในเพลง เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ) นอกจากนี้เพชรยังเคยเป็นรองประธานกรรมการบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) ปัจจุบันเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ

สำหรับ ประวัติ เพชร โอสถานุเคราะห์ เกิดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2497 เป็นบุตรชายของนายสุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และนางปองทิพย์ โอสถานุเคราะห์

เพชรเกิดที่กรุงเทพฯ เพชรเริ่มเรียนที่โรงเรียนสมประสงค์จนถึง ป.3 จากนั้นก็ย้ายไปเรียนต่อที่ โรงเรียนพิพัฒนาถึงชั้นม.4 (มศ 3 ในอดีต) ย้ายไปเรียนต่อชั้นมัธยมปลายที่ Teaneck High School ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

หลังจากจบแล้วก็กลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรีทางด้านบริหารธุรกิจ สาขาการตลาดที่ มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นอิลลินอยส์ และกลับมาทำงานโฆษณา ก่อนออกผลงานเพลง แล้วหันไปทำงานนิตยสารสำหรับผู้หญิง จากนั้นก็ขยายไปทำงานด้านรายการโทรทัศน์ คือ รายการผู้หญิงวันนี้ และมีงานแต่งเพลงเคยแต่งเพลง หมื่นฟาเรนไฮต์ ให้วงไมโคร

สำหรับงานเพลง เพชรมีผลงานอัลบั้มแรกชุด ธรรมดา…มันเป็นเรื่องธรรมดา มีเพลงดังอย่าง ‘เพียงชายคนนี้ (ไม่ใช่ผู้วิเศษ)’ ในปี 2530 และกลับเข้าวงการเพลงอีกครั้งหลังจากหายหน้าไปร่วม 20 ปีเพื่อทำงานเพลงอีกครั้ง ในปี 2550 ได้ออกผลงานอัลบั้มที่ 2 Let’s Talk About Love ที่ได้ผู้กำกับมิวสิกวิดีโออย่าง เป็นเอก รัตนเรือง, วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง, อภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล มาร่วมทำ โดยมิวสิกวิดีโอแต่ละชิ้นมีงบประมาณราว 20,000 ถึง 1 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2551 ได้นำผลงานชุดแรกไปรีมาสเตอร์ที่ประเทศอังกฤษ และนำกลับมาวางจำหน่ายใหม่

“คิดให้ใหญ่ Think Big” ข้อคิดดีๆ จาก ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ 

ครั้งหนึ่ง ‘เพชร โอสถานุเคราะห์’ เคยแชร์ข้อคิดดีๆ ไว้ว่า “คุณพ่อไม่เคยสอนอะไรตรง ๆ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ผมคิดว่าคุณพ่อไม่เคยคิดด้วยซ้ำไปว่าผมจะเข้ามาช่วยทํามหาวิทยาลัยกรุงเทพ เขาอาจจะมีความหวังเล็ก ๆ ว่าผมจะไปทําธุรกิจของครอบครัวด้านอื่นมากกว่า คือโอสถสภา แต่พอผมเข้ามาทําเขาก็ดีใจ อันนี้ก็คือในบั้นปลายชีวิตของท่านแล้วนะครับ ท่านไม่เคยสอนอะไรผมจริง ๆ จัง ๆ  ทั้งคุณพ่อคุณแม่เลย แต่เราก็ดูท่านเป็นตัวอย่าง”

“แต่คําพูดประโยคเดียวที่ผมจําได้ขึ้นใจเกี่ยวกับธุรกิจแต่ว่ามาประยุกต์ใช้ในวงการศึกษาได้ด้วยก็คือ เวลาเราจะคิดทําอะไร มันต้องทุ่มเทและใช้เวลา เพราะฉะนั้นให้คิดการใหญ่ ให้คิดเรื่องใหญ่ ๆ เพราะทําเรื่องเล็ก ๆ มันก็ใช้เวลาเท่ากัน เพียงแต่ว่าขยายให้มันใหญ่เท่านั้นเอง มันจะได้คุ้มค่า คุ้มเวลา คุ้มการลงทุนลงแรง ซึ่งผมก็พยายามตระหนักข้อนี้ไม่ว่าจะทําอะไร ตั้งแต่ในอดีต ซึ่งผมก็เคยอยู่ในแวดวงธุรกิจ โฆษณา การตลาด จนกระทั่งกระโดดมาทํามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ก็ยังคิดถึงประเด็นที่คุณพ่อพูดไว้ตรงนี้อยู่ ก็คือ Think Big ถ้าพูดกระชับ ๆ เป็นภาษาอังกฤษ”

“สำหรับมหาวิทยาลัยกรุงเทพก่อตั้งมานานมาก ถ้าจําไม่ผิดตอนนั้นผมอายุไม่ถึง 10 ขวบ แล้วก็เห็นว่าคุณพ่อเขามีความตั้งใจสูงมาก ที่จะสร้างสถาบันการศึกษาทางเลือกใหม่ที่แตกต่าง เพราะในขณะนั้นมีแต่สถาบันการศึกษาของรัฐในระดับอุดมศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีเป้าหมายที่จะผลิตและพัฒนาเด็กเพื่อป้อนรัฐ ยังไม่มีอุดมศึกษาแห่งไหนเลยที่เรียกว่าเน้นที่จะพัฒนาเด็กเพื่อเข้าวงการธุรกิจเอกชนต่าง ๆ”

“ผมคิดว่าตรงนั้นเป็นเป็นวิสัยทัศน์ที่สูงมาก โดยท่านเน้นคุณภาพทางการศึกษามาก ๆ ไม่เคยมองในแง่ของกําไรหรืออะไร ท่านคิดเสมอว่าเงินมาจากธุรกิจอื่น อันนี้เป็นสถาบันการศึกษาที่ท่านอยากจะสร้างให้เกิดขึ้นในสังคมไทย แล้วผมก็มอง ตั้งแต่เด็กจนโต ก็จับประเด็นได้ว่าเป็นแบบนี้จริง ๆ”

“สำหรับมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เท่าที่ผมสังเกตตอนเด็ก ๆ ผมคิดว่าท่านทํางาน โดยให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกันหมด คิดแบบนั้นจริง ๆ เท่าที่ผมได้ยินได้ฟังมา คือทุกคนรักและทุ่มเทให้มหาวิทยาลัยราวกับเป็นเจ้าของ พอมาถึงจุดนี้มหาวิทยาลัยมันพัฒนาก้าวมาไกลมาก เป็นองค์กรที่ใหญ่มาก”


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top