Thursday, 16 May 2024
เปิดเรียน

“รองโฆษกรัฐบาล”ย้ำ 1 พ.ย. นี้ ให้ “เปิดมหาลัย-โรงเรียน” เรียนในที่ตั้ง เผย ฉีดวัคซีนเด็กมหาลัย กว่า1 ล้านคน 

น.ส.รัชดาธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “แจงให้เคลียร์กับทีมโฆษกรัฐบาล” ถึงการเปิดเรียนในที่ตั้งและการฉีดวัคซีนให้นักเรียนนักศึกษา ว่า ในระดับอุดมศึกษา ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เห็นว่ามหาวิทยาลัยจะมีความพร้อมให้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่1พ.ย.นี้โดยขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละสถานที่ ส่วนการฉีดวัคซีนให้นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย ได้ฉีดแล้วกว่า 1 ล้านคน

สำหรับนักเรียนก็ตั้งเป้าเปิดเรียนในที่ตั้งตั้งแต่วันที่1 พ.ย.เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละโรงเรียนในแต่ละพื้นที่อาจมีความพร้อมไม่เท่ากัน โรงเรียนบ้านแห่งที่อยู่นอกพื้นที่เสี่ยงพิจารณาเปิดเรียนได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ส่วนการฉีดวัคซีนมีผู้ปกครองแสดงความประสงค์ให้ลูกหลานฉีดวัคซีนเพิ่มมากขึ้น โดยฉีดให้เด็กนักเรียนตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไปถึงวันที่ 18 ต.ค.จำนวน 1,130,000 คน

“โฆษกรัฐบาล” ยันนโยบายเปิดภาคเรียนมีการเตรียมพร้อม วางแผนร่วม สธ.เป็นอย่างดี “ปัด” ไม่ใช่เป็นไปตามยถากรรม “มั่นใจ” พลิกฟื้นประเทศไทยได้แน่ ถ้าฝ่ายค้านกลับไปทำหน้าที่ของตัวเองในสภาฯ

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่าการประกาศเปิดเรียนเป็นตามยถากรรม เพราะรัฐบาลไม่มีการเตรียมพร้อม เมื่อเปิดโรงเรียนไม่ได้ก็เปิดเศรษฐกิจไม่ได้ ว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้พูดอย่างชัดเจนแล้วว่า การเตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 นั้นได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความพร้อมการเปิดเรียนรูปแบบ On Site ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ของสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้วางแผนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มีรายละเอียดการเปิดเรียนในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สถานศึกษาไปปฏิบัติตาม นอกจากนี้ ขณะนี้กำลังเร่งผลักดันให้ครูได้รับวัคซีนให้มากที่สุดอีกด้วย ดังนั้น การเปิดเรียนในวันที่ 1 พฤศจิกายนจะเปิดเรียนในรูปแบบไหนนั้นจึงขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ไม่ได้เปิดเรียนตามยถากรรมแต่อย่างใด

โฆษกรัฐบาลเผย บรรยากาศเปิดประเทศส่งสัญญาณบวก   นักท่องเที่ยวทยอยเดินทางเข้าไทย นักเรียนเริ่มเข้าเรียนวันแรกในบางพื้นที่แล้ว นายกฯ สั่งคุมเข้ม ทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า จากการเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศต่าง ๆ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีนักท่องเที่ยวจากสายการบินต่างประเทศต่างๆ ทยอยเดินทางเข้าไทย โดยเที่ยวบินแรกที่เดินทางเข้าไทย คือเที่ยวบิน ที่ NH 805 เดินทางจากสนามบินโตเกียวนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมผู้โดยสาร 43 คน เป็นคนไทย 32 คน และชาวต่างชาติอีก 11 คน โดย ทั้งหมดถูกตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 อย่างเข้มข้นซึ่งเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิปฏิบัติงานด้วยความรัดกุมสวมชุด PPE อำนวยความสะดวก ตรวจสอบเอกสารและคัดกรองผู้โดยสารตามแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด  

โดยวันนี้จะมีทั้งหมด 61 เที่ยวบินที่เป็นเที่ยวบินโดยสารส่วนใหญ่เป็นเที่ยวบินจากยุโรปเป็นหลัก ขณะที่จำนวนผู้โดยสารเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2,300 คนและคนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศอีกบางส่วนรวมมีคนเดินทางเข้าประเทศประมาณ 3,000 คน รวมวันที่ 1-5 พ.ย.นี้ มีสายการบินต่างชาติทั่วโลกที่จะทำการบินเข้า และออกประเทศไทย มีทั้งหมด 27 สายการบิน มีผู้โดยสารรวม 15,230 คน

ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ รายงานบรรยากาศการเปิดเรียนวันแรก ในหลายพื้นที่ ในช่วงเช้าที่ผ่านมามีผู้ปกครองต่างพาบุตรหลานมาโรงเรียนหลังจากเริ่มทำการเปิดทำการเรียนการสอนในวันแรกท่ามกลางการรักษามาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 โดยเน้นการให้ความมั่นใจว่าโรงเรียนทุกแห่งที่ได้เปิดการเรียนการสอน มีความพร้อมทั้งในเรื่องการเรียนการสอน รวมถึงเรื่องความปลอดภัยซึ่งให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงรัฐเร่งแก้วิกฤตโรงเรียนเอกชน ก่อนปิดสังเวยโควิด100%

ผู้ตรวจการแผ่นดินระดมสรรพกำลังหามาตรการเยียวยาบรรเทาทุกข์โรงเรียนเอกชนระยะสั้น - ยาว ผลพวงวิกฤตโควิดหนัก หวั่นไม่นานอาจปิดฉากยุบตัวจ่อกระทบครูและบุคลากรทางการศึกษาแสนกว่าชีวิต นักเรียนร่วมสองล้านคน หวังมาตรการระยะสั้นวอนรัฐช่วยพยุงปรับลดค่าใช้จ่าย รวมถึงค่าไฟค่าน้ำ และเงินทุนกู้หมุนเวียน ส่วนระยะยาวขอรับเงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษารายบุคคล ลดหย่อนภาษีให้กับผู้บริจาคจำนวนสองเท่า อุดหนุนค่าอาหารกลางวันเด็ก 100 เปอร์เซ็นต์ ตลอดจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเร่งชงทางออกเตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี

ที่สำนักผู้ตรวจราชการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะกรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อสภาพคล่องของโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ จำนวน 3,563 แห่ง ทำให้โรงเรียนเอกชนบางแห่งทั้งต่างจังหวัดและกรุงเทพจำเป็นต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายต่อไปได้เนื่องจากนักเรียนสมัครเรียนน้อยลง ผู้ปกครองค้างชำระค่าธรรมเนียมจำนวนมาก สร้างผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนอย่างมหาศาล ช่วงเดือนเมษายน 2564 ถึงปัจจุบัน โรงเรียนเอกชนไม่สามารถเปิดเรียนแบบ ONSITE ได้ การเปิดการเรียนการสอนแบบ ONLINE ทำให้ผู้ปกครองจำนวนมากเรียกร้องขอเงินค่าธรรมเนียมการศึกษาคืน อีกทั้งผู้ปกครองบางส่วนค้างจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชนกว่า 2,500 แห่ง ทำให้โรงเรียนขาดสภาพคล่องไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนครูถึงแม้ว่าจะพยายามยื่นกู้จากสถาบันการเงินแต่ด้วยสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันสถาบันการเงินจึงไม่อนุมัติเงินกู้ให้กับโรงเรียนเอกชนบางแห่ง ส่วนบางแห่งได้รับเงินกู้แต่ถูกคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงเกินไป ปัญหาดังกล่าวได้มีการเลิกจ้างครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้ว จำนวน 12,253 คน หากปัญหานี้ปล่อยวางจะกระทบถึงโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทยและผู้ปกครองจำนวนมากที่พึ่งโรงเรียนเอกชนเป็นสถานศึกษาทางเลือก โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหาบางส่วนที่กล่าวไปยังมีเรื่องอื่น ๆ ตามมาจำนวนมาก ในการนี้จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพากร และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หารือแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของโรงเรียนเอกชนให้สามารถบริหารจัดการเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืนภายหลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ได้ 

โดยผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องได้เสนอแนะการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้ การแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ดำเนินการประสานกับหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ การขอลดค่าน้ำ-ค่าไฟร้อยละ 50 ให้กับโรงเรียนเอกชนในระบบและนอกระบบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นชั่วคราว การขอความร่วมมือจากสถาบันการเงินในการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการกู้จากสถาบันการเงินให้โรงเรียนเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและดอกเบี้ยต่ำ เพื่อแก้ปัญหาขาดสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ และขอให้รัฐเร่งรัดจัดสรรงบประมาณชดเชยรายได้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนเอกชน 5,000 บาท ต่อคนต่อเดือน ในระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน – มิถุนายน 2563)

การแก้ไขปัญหาระยะยาว มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ เงินอุดหนุนค่าธรรมเนียมการศึกษารายบุคคลของนักเรียนโรงเรียนเอกชน ให้ภาครัฐอุดหนุน 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา 2 ปี เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด 19 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โรงเรียนสามารถเปิดเรียนได้ตามปกติแล้วจึงปรับลดเงินช่วยเหลือเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ตามเดิม ให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประสานกรมสรรพากร จัดประชุมเพื่อศึกษาหารือรายละเอียด เงื่อนไข และแนวทางปฏิบัติ กรณี การลดหย่อนภาษีจำนวนสองเท่าสำหรับผู้บริจาคเงินเพื่อการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้หน่วยรับสิทธิได้รับทราบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน ตลอดจนแจ้งผู้บริจาคให้ทราบถึงสิทธิ และการลดหย่อนภาษีสองเท่าของจำนวนการบริจาคตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 713) พ.ศ. 2563 ทั้งนี้ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาความสำคัญและขยายโครงการต่อไปในปี พ.ศ. 2565

การส่งเสริมสิทธิและสวัสดิการครูโรงเรียนเอกชน ให้รัฐพิจารณาหาแนวทางเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนที่ใช้สิทธิสวัสดิการกองทุนสงเคราะห์สามารถเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลในส่วนที่เกินสิทธิได้ โดยสามารถใช้สิทธิบัตรทองเพิ่มเติม เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย รวมถึงควรมีการศึกษาและปรับแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ครูโรงเรียนเอกชนสามารถพิจารณาทางเลือกว่าจะใช้สิทธิบัตรทอง หรือประกันสังคม และให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเร่งรัดการศึกษาวิจัยร่วมกับสภาการศึกษาและวางแผนเกี่ยวกับการเพิ่มเงินเดือนครูโรงเรียนเอกชนในอัตราที่เหมาะสม เพื่อที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะได้นำเสนอหลักการต่อรัฐบาลให้พิจารณาเมื่อสถานการณ์ปกติและฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลดีขึ้นแล้ว

ศธ.จัดทัพการเรียนการสอนใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ รองรับเปิดเทอมเพื่อดึงเด็กกลับสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เดินหน้าจัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ รองรับเปิดเทอม ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ พร้อมดึงเด็กนักเรียนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้มากที่สุด

(29 ต.ค. 65) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวในรายการคุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี ผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า...

ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปี ส่งผลกระทบให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป โดยเฉพาะระบบการศึกษา เนื่องจากต้องมีการปิดการเรียนการสอน รัฐบาลจึงหาแนวทางโดยจัดวัคซีนมาฉีดให้กับครูเป็นกลุ่มแรก เพื่อให้ทันต่อการเปิดภาคเรียน จากนั้นทยอยนำวัคซีนมาฉีดให้กับเด็ก จนปีการศึกษาที่ผ่านมาสามารถเปิดเรียนได้ถึง 100% 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top