Tuesday, 22 April 2025
เปลวเทียนให้แสงรามคำแหงให้ทาง

‘รามคำแหง’ มหาวิทยาลัยประชาชน ที่เป็นมากกว่าห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่คือแหล่งบ่มเพาะความรู้ ที่ให้โอกาสและสร้างบัณฑิตสู่สังคมตลอด 52 ปี

“รู้จักอภัย ตั้งใจศึกษา บูชาพ่อขุน สนองคุณชาติ” คือประโยคแรกที่พบเห็นในวันที่ก้าวย่างเข้าสู่รั้ว ‘รามคำแหง’

‘รามคำแหง’ คือ ‘มหาวิทยาลัยประชาชน’ เป็นตลาดวิชา แหล่งศึกษาเรียนรู้ของลูกคนยากคนจน ที่ถูกระบบการศึกษาแบบ ‘แพ้คัดออก’ ถีบส่งมา

ในเดือนพฤษภาคมของปี 2523 ผมหอบสังขาร พร้อมกระเป๋าเสื้อผ้าเดินเข้าไปในรั้วรามคำแหงด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น มาหาความหมายของชีวิต เป้าหมายคือ ‘หอบใบปริญญาไปฝากพ่อแม่’

ในวันนั้น รามคำแหงคราคร่ำไปด้วยเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่พลาดหวังกับการคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยเปิด พวกเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากรุ่นพี่ ที่มานั่งคอยแนะนำ คอยบอกในการกรอกใบสมัครเข้าเป็นนักศึกษา

ไม่เพียงแค่นั้น รุ่นพี่ยังคอยแนะนำ-ชักนำให้เข้าร่วมการทำกิจกรรมกับกลุ่ม ชมรม พรรคนักศึกษา บอกเล่าถึงปัญหาของสังคมที่เรา ในฐานะลูกหลานประชาชนจะต้องเข้าร่วมเพื่อการสะท้อนปัญหา หรือแก้ไขปัญหา

ผมไม่รู้จักรามคำแหงมาก่อนเลย ก่อนจะมาสมัครเป็นนักศึกษา รู้แค่ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนในระดับปริญญาตรี ที่สอนต่อจากระดับมัธยมเท่านั้น กลุ่ม ชมรม พรรคนักศึกษาอะไร ผมไม่รู้จัก ก็ต้องสอบถาม และรับรู้จากรุ่นพี่ที่มาคอยแนะนำ บอกเล่า

ผมเลือกเรียนรัฐศาสตร์ ด้วยเหตุผลง่ายๆ ตามรุ่นพี่เล่าให้ฟัง คือ ‘จบง่าย’ แต่ผมคิดอยู่นิดเดียวว่า ต้องเรียนอังกฤษถึง 4 เล่ม ซึ่งเป็นวิชาที่ผมสอบตก ต้องแก้มาตลอด แต่ไม่น่าจะมีคณะอื่นที่เหมาะสำหรับเรา เอาล่ะ… ไม่ลองก็ไม่รู้

เทอมแรกของลูกหลานประชาชน ลงทะเบียนเรียนไป 18 หน่วยกิต รวมถึงวิชาภาษาอังกฤษด้วย สมัครเสร็จหิ้วกระเป๋าเสื้อผ้ากลับที่พัก ไปนอนค้างหอพักเพื่อนในซอยเทพลีลา

“ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย ฉันหวังเก็บอะไรไปมากมาย สุดท้ายให้กระดาษฉันแผ่นเดียว…”

กระดาษแผ่นเดียวอันเป็นสัญญลักษณ์ของการเรียนจบ เป็นใบเบิกทางชีวิต แต่จริงๆ แล้ว 6 ปีในรั่วรามคำแหง เราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตมากมาย ได้ศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่ไม่มีสอนในตำรา ต้องไขว่คว้าหาเอาเอง ซึ่งมีแหล่งศึกษาเรียนรู้มากมาย

6 ปีที่เราถูกเคี้ยวจนข้น ก่อนเดินออกมาจากรั้วมหาวิทยาลัยประชาชนที่เราภาคภูมิใจยิ่ง ก้าวเดินออกมาอย่างมาดมั่นว่า เราเข้มแข็งพอ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีพอที่จะสู้กับใครก็ได้ ในภาวะสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน

“จบรามฯ” เรากล้าบอกกับใครก็ได้ อย่างไม่รู้สึกด้อยกว่า พร้อมที่จะเดินเชิดหน้าสู้ในสังคมเส็งเคร็ง และที่ผ่านมา เราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ‘ลูกพ่อขุน’ ไม่แพ้ใคร ทุกแวดวงวิชาชีพจึงเต็มไปด้วย ‘บัณฑิตรามคำแหง’

‘52 ปี รามคำแหง’ ได้สร้างคน สร้างบัณฑิตมาแล้วกว่า 1 ล้านคน และยังมีนักศึกษาในระบบอีกร่วมแสนคน

รามคำแหงจึงไม่ใช่แค่ตึก ไม่ใช่แค่ห้องเรียนสี่เหลี่ยม แต่เป็นแหล่งบ่มเพาะ แหล่งศึกษา แหล่งเรียนรู้ ทั้งในระบบ และนอกระบบ เพื่อนมากมายก็เจอในรั้วรามคำแหง

ที่ไหนมีคน ที่นั้นมีปัญหา รามคำแหงได้ผ่านอุปสรรค ผ่านปัญหามามากมาย ทุกประวัติศาสตร์ของชาติบ้านเมือง รามคำแหงจะต้องถูกบันทึกไว้ถึงการมีส่วนร่วม

“มีรามฯ ถึงมีเรา” ถ้าไม่มีรามฯ ก็ไม่มีเราในวันนี้ เพราะรามคำแหง คือ ‘เปลวเทียนให้แสง รามคำแหงให้ทาง’

26 พฤศจิกายน 2518 ในหลวงร. 9 พระราชินี เสด็จฯ ม.รามคำแหง เปิดพระบรมราชานุสาวรีย์และพระราชทานปริญญาบัตรรุ่นแรก

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยรามคำแหงรุ่นแรก ณ บริเวณหน้าสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งถือเป็นวันสำคัญในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย

การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้นับเป็นเหตุการณ์ที่ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่บัณฑิต และยังได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิตในตอนหนึ่งว่า:

"...มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดโอกาสให้ผู้ปรารถนาความรู้เข้ามาศึกษาค้นคว้าได้อย่างกว้างขวางและอิสระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ทำงานแล้วสามารถเพิ่มพูนความสามารถทางวิชาการ เพื่อนำไปพัฒนางานและยกระดับหน้าที่การงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

มหาวิทยาลัยมีเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมผู้ศึกษาให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวม เพื่อความเจริญมั่นคงของชาติบ้านเมือง"

ด้วยเหตุนี้ วันที่ 26 พฤศจิกายนของทุกปีจึงถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยรามคำแหงอย่างเป็นทางการ

‘ดร.อานนท์’ โพสต์เฟซ!! นศ.รามคำแหง มีทุกระดับ ทั้ง ‘ลำบาก-ยากจน’ แต่ก็มีมานะ เผย!! ได้สอนที่นี่เหมือนได้ทำบุญ ‘ให้ความรู้-คำปรึกษา-การช่วยเหลือ’ แก่เด็กที่ใฝ่ดี

(23 ก.พ. 68) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า …

ผมเห็นข้อดีอย่างหนึ่งของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรีที่เป็นมหาวิทยาลัยเปิดอย่างหนึ่งนะครับ คือเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญใหญ่มาก
เด็กที่มาเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง มาจากทุกระดับจริง ๆ มาจากที่ยากจนและลำบากมากก็มี มีมานะอุตสาหพยายามเพื่อการศึกษา แม้จะมีอุปสรรคเพียงใดก็ตาม

เมื่อกี้ได้ช่วยสมทบทุนช่วยเหลือบัณฑิตรามคำแหงที่เพิ่งจบ ไฟไหม้บ้านบนที่เช่าวอดทั้งหลัง พ่อเสียชีวิตในกองเพลิง แม่ยังอยู่โรงพยาบาล ตัวน้องเอาชีวิตรอดออกมาได้ แต่ไม่มีที่อยู่

ต้องยอมรับว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมาจากพื้นฐานฐานะทางสังคมเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน มหาวิทยาลัยปิดที่โด่งดังมีชื่อ นักศึกษามักจะมาจากครอบครัวที่มีฐานะดีหรือมีสถานะทางสังคมเศรษฐกิจดีอยู่แล้วพอสมควร มันเกิด self selection

แต่สำหรับมหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ผมมั่นใจว่ามีนักศึกษาทุกระดับ ทำให้อาจารย์ประจำหรืออาจารย์พิเศษได้มีโอกาสทำบุญ ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ให้การช่วยเหลือแก่เด็กนักศึกษาที่ลำบากแต่ใฝ่ดี ผมว่านับเป็นโอกาสอันดีและเป็นกุศลยิ่ง 

เมื่อกี้อานนท์เลยโอนเงินให้อาจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยรามคำแหงไปช่วยบัณฑิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหงครับ ไม่ได้มาก เพราะอานนท์นั้นมีไม่มาก 
แต่อยากจะพูดว่า นี่คือ ความงดงาม ของการเป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยเปิดจริง ๆ ครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top