Friday, 18 April 2025
เบี้ยยังชีพ

‘มหาดไทย’ ออกระเบียบใหม่ วิธีจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุปี 66 ชี้!! ผู้ที่ไม่มีสิทธิ แต่ได้รับเบี้ยไปก่อนหน้า ไม่ต้องเรียกเงินคืน

(13 ส.ค. 66) ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทยฉบับใหม่ หลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุ พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 สิงหาคม 2566 ระบุหากผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพด้วยความสุจริต ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระงับสิทธิ แต่ยกเว้นไม่ต้องเรียกเงินคืน

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ลงนามโดยพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ระเบียบดังกล่าวระบุว่า โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุง หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 69 และมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 5 และมาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 มาตรา 6 และมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงออกระเบียบไว้ ดังนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566”

บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง ประกาศ หรือมติอื่นใดซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป)

สาระสำคัญของระเบียบฉบับนี้
ข้อ 4 ในระเบียบนี้ ‘ผู้สูงอายุ’ หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ‘เบี้ยยังชีพ’ หมายความว่า เงินที่รัฐมอบให้แก่ผู้สูงอายุตามกฎหมายเพื่อใช้ในการยังชีพ

‘องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ หมายความว่า ‘เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา’ ‘ผู้บริหารท้องถิ่น’ หมายความว่า ‘นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตาบล และนายกเมืองพัทยา’

หมวด 1 คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ

ข้อ 6 ผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(3) มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ต่อองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น
(4) เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

ขณะที่ในหมวด 5 ข้อ 14 ระบุ สิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบนี้สิ้นสุดลงในกรณี ดังต่อไปนี้
(1) ตาย
(2) ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6
(3) แจ้งสละสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นหนังสือต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

กรณีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุดังกล่าวสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนสั่งระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุสำหรับบุคคลดังกล่าว

ทั้งนี้ หากผู้สูงอายุที่ไม่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แต่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วยความสุจริต ให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนรายงานผู้บริหารท้องถิ่นทราบ เพื่อระงับการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุต่อไป โดยยกเว้นการเรียกเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคืน

นอกจากนี้ ในบทเฉพาะกาล ข้อ 17 ระบุว่า บรรดาผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ให้ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต่อไป

การดำเนินการใดที่ดำเนินอยู่ก่อนวันที่ระเบียบนี้ใช้บังคับ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบฉบับนี้ ให้ถือว่าการดำเนินการนั้น เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยระเบียบนี้แล้ว

‘อนุพงษ์’ ยัน!! เบี้ยผู้สูงอายุตอนนี้ยังเหมือนเดิม เชื่อ ระเบียบใหม่ช่วย ปชช.ได้ประโยชน์ทั่วถึงมากขึ้น

(15 ส.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ ว่า การจ่ายเดิมทางกรมบัญชีกลางเห็นว่าผู้ที่มีรายได้อื่นๆ เช่น บำนาญ คงจะรับเงินไม่ได้ต้องเรียกคืน และในที่สุดก็มีปัญหา จนรัฐบาลต้องจ่ายเงินคืนให้ จากนั้นได้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่ง พม.ได้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ โดยกฤษฎีกาตีความว่าระเบียบที่ออกนี้ ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า ประชาชนจะต้องมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ รัฐบาลต้องช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นการที่กำหนดว่าจะให้ใครตามระเบียบเดิมไม่ได้แล้ว จึงเป็นที่มาของการออกระเบียบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แต่อย่างไรก็ตามการจะให้นี้ต้องทั่วถึงและเป็นธรรม โดยจะมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเป็นธรรม ถ้าจะให้ทั่วถึงจ่ายทุกคนก็ได้ หรือจะไปกำหนดกลุ่ม คนที่มีรายได้มากอาจจะไม่ต้องจ่ายก็ได้ ซึ่งระเบียบนี้ก็เปิดทางไว้ อย่างไรก็ตามถ้าคณะกรรมการผู้สูงอายุยังไม่กำหนด ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายแบบเดิมได้ ทั้งผู้ที่ได้รับอยู่แล้วและผู้ที่จะอายุครบ 60 ปีใหม่ สามารถจ่ายตามเกณฑ์เดิมได้

เมื่อถามว่า จะรอให้คณะกรรมการผู้สูงอายุพิจารณาก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมการจะพิจารณาอย่างไร แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีอำนาจที่จะไปทำ เพราะมันคงผูกพันกับรัฐบาลใหม่แล้ว เนื่องจากใช้งบประมาณมาก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้รัฐบาลได้ทำหนทางไว้หมดแล้ว รัฐบาลใหม่มาจะทำอย่างไรก็สามารถทำได้หมด ดังนั้นตอนนี้ผู้สูงอายุเดิมรับเงินอย่างไรก็รับไปตามเดิม ผู้สูงอายุใหม่ก็สามารถรับได้ตามเกณฑ์เดิม ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามว่า ตอนนี้ประชาชนยังไม่ต้องกังวลใจในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล และถ้าตนมองในตอนนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์ทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญ เป็นธรรม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต หนทางเราเตรียมไว้ให้แล้ว ออกทางไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

‘ทนายนกเขา’ ฟาดสื่อหลายสำนัก ปั่นข่าวเบี้ยผู้สูงอายุจนเละ  นำเสนอไม่ครบถ้วน ทั้งที่ประกาศใหม่ ทุกคนยังได้สิทธิคงเดิม

เมื่อไม่นานนี้ นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ทนายนกเขา’ ทนายความที่รับว่าความคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันเป็นกรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชนประจำสภาทนายความ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชนหลายๆ สำนัก ที่ได้ทำข่าวประเด็นเบี้ยยังชีพผู้สูงวัย ปี 66 ในลักษณะที่บิดเบือน และข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้สังคมเกิดความสับสน จนนำไปสู่การวิจารณ์รัฐบาลด้วยความเข้าใจผิด โดยระบุว่า…

“ในเรื่องเบี้ยยังชีพของคนชราที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ จริงๆ แล้ว น่าตบปากสื่อมวลชนหลายสำนัก นำเสนอข่าววันแรก ก็นำเสนอไม่ครบ นำเสนอวันที่ 2 ก็ปั่นกระแสจนวุ่นวายหมด ไม่ได้ดูเลยว่า การที่รัฐบาลออกประกาศใหม่มานั้น ทุกคนยังได้สิทธิ์คงเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และผู้รับสิทธิ์รายใหม่ ที่อายุกำลังจะถึง 60 ปี ก็ยังได้สิทธิ์ดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อ คณะกรรมการผู้สูงอายุไปกำหนดระเบียบ ประกาศ กำหนกหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งก็อยู่ในประกาศข้อที่ 17-18 ที่มีอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีกระแสปั่นจนเกิดความเข้าใจผิด”

“พี่น้องประชาชนลองคิดดูว่า ถ้าการจ่ายเงินแบบสุรุ่ยสุร่าย ไร้สาระ เช่น คนที่ไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะได้ ให้ทำอย่างไร? เหมือนที่คุณอนุพงษ์ เผ่าจินดา เขาพูดว่า ถ้าหากเขา หรือ พล.อ.ประยุทธ์ได้เบี้ยคนชรา สังคมจะรู้สึกอย่างไร?

ส่วนคุณเศรษฐา คงจะไม่รู้สึกอะไร เพราะเขาคงแจกเงินคนรวยจากเงินดิจิทัลอยู่แล้ว พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ของพวกคุณธนาธร คุณพิธา เขาเดือดร้อนขนาดนั้นเลยหรือ? เดือดร้อนถึงขั้นต้องมาเอาเงินจากภาษีของพี่น้องประชาชนที่ร่วมกันจ่ายเลยหรือ?”

“เพราะฉะนั้น ‘ความเท่าเทียม’ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องได้เบี้ยคนชรา เมื่อมีอายุครบเกณฑ์แล้ว แต่หมายความว่า เมื่ออายุเข้าสู่ผู้สูงวัยแล้วนั้นจะต้องมีการดูแลให้ใกล้เคียง หรือมีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อ เหมือนกับผู้สูงอายที่มีรายได้ มีฐานทางเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้ว”

มันก็อาจจะก่อเกิดความคิดที่ว่า คนที่ยังต้องดูแล อาจจะได้เม็ดเงินเพิ่มขึ้นก็ได้ หากบริหารจัดการจากเม็ดเงินตรงนี้ดีๆ ก็จะได้ประโยชน์อย่างเป็นถาวร เป็นนิรันดร์ เศรษฐกิจต่างๆ มันก็อาจจะฟื้นตัวดีขึ้นได้ แต่เราเจอนักเมืองที่ไม่ประสีประสาเรื่องนโนยบายการเงิน การคลังของประเทศ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประสีประสามากน้อยแค่ไหน? คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประสีประสามากน้อยแค่ไหนกันเชียว? กับเรื่องงบประมาณการเงิน การคลังของประเทศในภาพรวมทั้งหมด พูดแต่วิธีจ่ายเงินออกไปทั้งนั้นเลย วิธีหายรายได้ให้ประเทศ พูดเป็นไหม? พูดได้ไหม?


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top