Monday, 7 April 2025
เบี้ยผู้สูงอายุ

'จุติ' ยัน!! เบี้ยยังชีพพิเศษผู้สูงอายุ งวดแรกวันที่ 19 ก.ค.นี้ แน่นอน

(9 ก.ค.65) นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในรายการ 'คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี' ว่า..

ผู้สูงอายุที่จะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมเป็นเบี้ยยังชีพพิเศษ หลังได้รับผลกระทบช่วงโควิด-19 ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ ผู้สูงอายุจำนวน 10.95 ล้านคน ระยะเวลา 6 เดือน ระหว่าง เม.ย. – ก.ย. 2565 จะแบ่งตามช่วงอายุ ระหว่าง 100 – 250 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อบรรเทาผลกระทบเศรษฐกิจ โดยจะเริ่มจ่ายครั้งแรกวันที่ 19 ก.ค. เป็นการจ่ายย้อนหลังตั้งแต่เดือน เม.ย. – ก.ค.  

ส่วนครั้งที่ 2 วันที่ 19 ส.ค. และครั้งที่ 3 วันที่ 19 ก.ย. จึงขอให้ผู้สูงอายุได้นำเงินที่รัฐบาลให้ไปใช้ประโยชน์ให้เต็มที่

'พิธา' เตรียมดันนโยบายดูแลสูงวัยทั่วประเทศ หลังรัฐสร้างปัญหา ออกกฎหมายขัดกันมั่ว

หัวหน้าพรรคก้าวไกล รับหนังสือจากกลุ่ม 'นักกฎหมายทนายความประชาชนสี่ภาค' เตรียมผลักดัน นโยบายรองรับสังคมสูงวัย หวั่นคนแก่ถูกทอดทิ้ง

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยส.ส. จากพรรคก้าวไกล รับหนังสือจากกลุ่มนักกฎหมายทนายความประชาชนสี่ภาค ซึ่งเดินทางมาร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาเบี้ยผู้สูงอายุที่เกิดขึ้น โดยพิธาได้อธิบายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นโดยยกตัวอย่าง กรณีผู้สูงอายุถูกรัฐสั่งฟ้องคืน 'เงินคนแก่' และตัวอย่างที่ยกไปนั้นไม่ใช่ตัวอย่างเดียวที่เกิดขึ้น แต่ยังมีตัวอย่างของผู้สูงอายุอีกจำนวนมากที่ต้องคืนเงินให้กับรัฐ เนื่องจากความผิดพลาดของการออกกฎหมายที่ขัดกันและการดำเนินการของรัฐที่ไม่รอบคอบถี่ถ้วน หากรัฐไม่สามารถจัดการระบบและกฎหมายที่ขัดกันได้ ปัญหานี้จะกลายเป็นปัญหาคุกคามผู้สูงวัยทั่วประเทศ วันนี้ตนจึงเดินทางมารับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มทนายที่พบปัญหาโดยตรง

หนึ่งในตัวแทนกลุ่มนักกฎหมายทนายความประชาชนสี่ภาค ได้ยกตัวอย่างปัญหาสำคัญของคดีลูกความผู้สูงอายุที่ตนเป็นทนายความไว้ว่า "ที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางได้เรียกเงินคืนจากผู้สูงอายุที่รับเงินจากบำเหน็จบำนาญจากบุตรชายที่เสียชีวิต ผมจึงเข้าไปเป็นทนายความยื่นฟ้องศาลปกครอง เมื่อศาลปกครองรับฟ้อง พิจารณาหลังจากนั้นผมได้ยื่นฟ้องศาลปกครองต่อกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานโดยตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง หลังจากยื่นฟ้องศาลปกครองรับฟ้อง คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ

‘ก.คลัง’ แนะหั่นเบี้ยคนสูงวัยที่ร่ำรวย พุ่งเป้าช่วยคนรายได้น้อย-ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

เมื่อไม่นานมานี้ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดว่า กระทรวงการคลังได้จัดเตรียม ‘แผนการปฏิรูปภาษี’ ให้กับรัฐบาลใหม่พิจารณา ประมาณ 20 รายการ เพื่อลดรายจ่าย เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวมากขึ้น

พร้อมกับเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลมีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดทำมาตรการที่เหมาะสม เนื่องจากตัวรายได้จัดเก็บภาษีของรัฐบาล ปัจจุบันคิดเป็นเพียง 14% ของจีดีพี เท่านั้น ซึ่งมาตรฐานที่ควรจะเป็นอยู่ที่ 15-16% ด้วยการให้สิทธิพิเศษ การดูแลเป็นวงกว้างมากเกินไป

หนึ่งในแนวทางที่มีการพูดถึง คือ การตัดงบผู้สูงอายุ ของกลุ่มที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็น ปรับไปใช้นโยบายที่พุ่งเป้าช่วยกลุ่มผู้มีรายได้น้อย จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจริงๆ ให้ถูกฝาถูกตัวไม่เหวี่ยงแห ซึ่งจะช่วยลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป แต่แนวทางนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับจากรัฐบาลต่างๆ เนื่องจากกระทบคะแนนเสียงของพรรคการเมือง

สำหรับงบประมาณที่ต้องใช้กับเบี้ยผู้สูงอายุเป็นรายเดือนนั้น ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนผู้สูงอายุในปัจจุบันใช้งบสูงถึง 90,000 ล้านบาทต่อปี จากเดิมเพียง 50,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากตัดการจ่ายให้ผู้สูงอายุที่ร่ำรวยออกไป คาดว่าสามารถลดรายจ่ายงบประมาณได้มากถึงครึ่งหนึ่ง

‘วิโรจน์’ โวย!! รบ.รักษาการลักไก่ เปลี่ยนเกณฑ์จ่าย ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จากเดิมได้แบบถ้วนหน้า ตั้งแต่ 12 ส.ค. ต้องมาพิสูจน์ความจน

(14 ส.ค.66) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘เรื่องใหญ่ลักไก่เปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากเดิมจ่ายแบบถ้วนหน้า ตั้งแต่ 12 สิงหา ต้องมาพิสูจน์ความจน’ ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงมาก เพราะรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลักไก่ กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เสียใหม่

โดยแต่เดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะเป็นการจ่ายแบบถ้วนหน้า ผู้สูงอายุทุกคนได้รับ 600-1,000 บาทต่อเดือน(อายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน 70-79 ปี ได้ 700 80-89 ได้ 800 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000) แต่ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 66 เป็นต้นไป ตามข้อที่ 6 (4) ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ เท่านั้นถึงจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แม้ว่าในบทเฉพาะกาล ข้อที่ 17 จะระบุว่า ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียน และรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก่อนวันที่ 12 ส.ค. 66 ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป แต่หลักเกณฑ์นี้ จะส่งผลกระทบกับสิทธิของประชาชนทุกคน ที่จะทยอยอายุครบ 60 ปี ในอนาคต นอกจากนี้ประชาชนที่จะมีอายุครบ 70 ปี 80 ปี 90 ปี ที่ต้องได้รับการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ ก็มีคำถามต่อว่า จะได้รับการปรับเพิ่มหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่แต่เดิมพอจะมีรายได้จุนเจือตนเองบ้าง ซึ่งตามหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ หากในเวลาต่อมา รายได้ที่เคยดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ เกิดหดหายไป ผู้สูงอายุคนนั้นจะไปติดต่อขอรับเบี้ยยังชีพได้ที่ไหนอย่างไรปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (60+ ปี) อยู่ 11 ล้านคน ทราบข่าวมาว่า จะมีการใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจน ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น โดยผู้สูงอายุอีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ

ที่สำคัญ คือ เราก็รู้อยู่แล้วว่าฐานข้อมูลของบัตรคนจน นั้นมีความมั่วอยู่พอสมควร มีคนจนถึง 46% ที่ไม่ได้รับบัตร ในขณะที่ 78% ของคนที่ถือบัตร เป็นคนที่ไม่ยากจนแต่อยากจน ข้อมูลตกหล่นมากมายแบบนี้ แล้วจะเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างไร นอกจากนี้ ในมาตรา 11 (11) ของพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ได้กำหนดเอาไว้ว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุจะต้องจ่ายเป็นรายเดือน โดยต้องจ่ายให้ทั่วถึง และเป็นธรรม ซึ่งก็มีประเด็นว่า การบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน นั้นอาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ก็เป็นได้

เคลียร์ปม 'เบี้ยผู้สูงอายุ' รัฐบาลยันคนกลุ่มเดิมยังได้อยู่ แต่ขอคนรวยโปรดเข้าใจ ปรับเพื่อผู้ลำบากจริงๆ

(14 ส.ค. 66) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2566 ซึ่งมีสาระหลักเพิ่มเติม คือ เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ ดังนั้นจะต้องมีการออกระเบียบกำหนดรายละเอียดจากนี้อีกโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบใช้บังคับ จะยังมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป

ส่วนที่มีการกล่าวว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถในการหาเงิน นางสาวรัชดา ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา เศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น มีการจดทะเบียนการค้าบริษัทต่างชาติ การขอการสนับสนุนการลงทุนต่างชาติเพิ่มต่อเนื่อง มีตัวชี้วัดความสามารถจัดหารายได้ ดูจากตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-เม.ย.66) เก็บรายได้สูงกว่าปีก่อน 6.5% สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 107,101 ล้านบาท หรือ 11.10% ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4% และสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 8.9% นี่คือความสามารถของรัฐบาลในการหารายได้

“ส่วนประเด็นที่มีการดรามาว่า เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทยหรือไม่นั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งแก้ปัญหาประชาชนอย่างมุ่งเป้า ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ ห้าหมื่นล้านต่อปี เพิ่มเป็นแปดหมื่นล้าน และแตะเก้าหมื่นล้านแล้ว ในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯ แก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้ง คือการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่เลย” นางสาวรัชดา กล่าว

‘อนุพงษ์’ ยัน!! เบี้ยผู้สูงอายุตอนนี้ยังเหมือนเดิม เชื่อ ระเบียบใหม่ช่วย ปชช.ได้ประโยชน์ทั่วถึงมากขึ้น

(15 ส.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับเกณฑ์เบี้ยผู้สูงอายุ ว่า การจ่ายเดิมทางกรมบัญชีกลางเห็นว่าผู้ที่มีรายได้อื่นๆ เช่น บำนาญ คงจะรับเงินไม่ได้ต้องเรียกคืน และในที่สุดก็มีปัญหา จนรัฐบาลต้องจ่ายเงินคืนให้ จากนั้นได้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่ง พม.ได้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาตีความ โดยกฤษฎีกาตีความว่าระเบียบที่ออกนี้ ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า ประชาชนจะต้องมีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ รัฐบาลต้องช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นการที่กำหนดว่าจะให้ใครตามระเบียบเดิมไม่ได้แล้ว จึงเป็นที่มาของการออกระเบียบใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แต่อย่างไรก็ตามการจะให้นี้ต้องทั่วถึงและเป็นธรรม โดยจะมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นผู้กำหนดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเป็นธรรม ถ้าจะให้ทั่วถึงจ่ายทุกคนก็ได้ หรือจะไปกำหนดกลุ่ม คนที่มีรายได้มากอาจจะไม่ต้องจ่ายก็ได้ ซึ่งระเบียบนี้ก็เปิดทางไว้ อย่างไรก็ตามถ้าคณะกรรมการผู้สูงอายุยังไม่กำหนด ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายแบบเดิมได้ ทั้งผู้ที่ได้รับอยู่แล้วและผู้ที่จะอายุครบ 60 ปีใหม่ สามารถจ่ายตามเกณฑ์เดิมได้

เมื่อถามว่า จะรอให้คณะกรรมการผู้สูงอายุพิจารณาก่อนใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า แล้วแต่คณะกรรมการจะพิจารณาอย่างไร แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่มีอำนาจที่จะไปทำ เพราะมันคงผูกพันกับรัฐบาลใหม่แล้ว เนื่องจากใช้งบประมาณมาก อย่างไรก็ตามเรื่องนี้รัฐบาลได้ทำหนทางไว้หมดแล้ว รัฐบาลใหม่มาจะทำอย่างไรก็สามารถทำได้หมด ดังนั้นตอนนี้ผู้สูงอายุเดิมรับเงินอย่างไรก็รับไปตามเดิม ผู้สูงอายุใหม่ก็สามารถรับได้ตามเกณฑ์เดิม ตราบใดที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เมื่อถามว่า ตอนนี้ประชาชนยังไม่ต้องกังวลใจในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า ไม่ต้องกังวล และถ้าตนมองในตอนนี้ประชาชนจะได้ประโยชน์ทั่วถึงตามรัฐธรรมนูญ เป็นธรรม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต หนทางเราเตรียมไว้ให้แล้ว ออกทางไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

'อัษฎางค์' เบิกเนตร 'วิโรจน์' หลังพ่นวาทกรรม 'พิสูจน์ความจน' แสดงถึงการด้อยความรู้ เก่งแต่สร้างความเกลียดชังให้คนในชาติ

(15 ส.ค. 66) อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า Age Pension หรือที่เมืองไทยเรียกว่า ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ นั้นในทุกประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก ต้องมีการ Tests ซึ่งก็คือ ‘การพิสูจน์ความจน’ ก่อนที่จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ

ถ้าไม่มีการการตรวจสอบคุณสมบัติผู้จะได้รับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ ก็จะทำให้ผู้ที่มีรายได้สูงหรือมีทรัพย์สินมากอยู่แล้วได้รับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ เหมือนคนที่ไม่มีรายได้และไม่มีทรัพย์สมบัติ

ไหนเรียกร้องความเท่าเทียม ตกลงคุณต้องการนำ ‘ภาษีกู’ มาแบ่งจ่ายให้เศรษฐีได้รับเบี้ยผู้สูงอายุเหมือนคนจนหรือ? คุณต้องการแบบนั้นจริงหรือ?

สส.วิโรจน์ พรรคก้าวไกล ออกมาโวยรัฐ ‘เอาหน้า’ เพื่อปกป้องสิทธิของประชาชน หรือสร้างความเกลียดชังของประชาชนต่อรัฐ หรือออกมาแสดงการถึงการด้อยความรู้ กันแน่ ?

สส.วิโรจน์ ใช้คำว่า “การพิสูจน์ความจน คือการกลุ่มอนุรักษ์นิยมต้องแต่จะกดคนให้จนและพยายามตัดเบี้ยผู้สูงอายุ”

ผมจะช่วยเปิดกระโหลก เปิดกะลาให้ท่าน สส.ผู้ทรงเกลียด

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีสวัสดิการแห่งรัฐดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ก็กำหนดว่า ผู้ที่เกษียณอายุ ต้อง ‘การพิสูจน์ความจน’ ก่อนจะมีสิทธิ์รับเบี้ยผู้สูงอายุ”

รายละเอียดสำหรับการ ‘การพิสูจน์ความจน’ ของออสเตรเลียนั้นเยอะมาก และต้องใช้เวลาอ่านทำความเข้าใจอย่างมากถึงจะเข้าใจได้ทั้งหมด ไม่ใช่เหมือนเมืองไทยที่ใครอายุ 60 ก็รับเบี้ยผู้สูงอายุทันทีถ้วนหน้า

เงินภาษีของประชาชนต้องใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมิใช่หรือ แล้วทำไมถึงยินดีที่จะจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุซึ่งเป็นเงิน ‘ภาษีกู’ ให้กับเศรษฐี ซึ่งเขาไม่ได้เดือดร้อน

เบี้ยผู้สูงอายุเพียง 600 หรือ 3,000 (ตามนโยบายก้าวไกลที่ออกมาหาเสียงว่าจะให้คนแก่ตอนก่อนเลือกตั้ง จนคนแห่ไปกาให้ก้าวไกล ก่อนที่ก้าวไกลจะมาประกาศหลังเลือกตั้งว่ายังทำไม่ได้) ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุวัยเกษียณ แต่ไม่มีผลอะไรกับเศรษฐีเลย เอาเงินก้อนนี้ไว้จ่ายผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์หรือไม่มีรายได้ ไม่ดีกว่าหรือ เพราะผู้สูงอายุวัยเกษียณกำลังเพิ่มขึ้นทุกปี

ขอยกตัวอย่าง การพิสูจน์ความจน เพื่อรับเบี้ยผู้สูงอายุในออสเตรเลียเล็กน้อย (ความจริงรายละเอียดเยอะมาก) ได้แก่

ต้องมีรายได้ต่ำจริงหรือไม่มีรายได้เลย

ผู้สูงอายุวัยเกษียณบางท่านยังคงมีรายได้จากทรัพย์สินเช่น การขายทรัพย์สินต่าง ๆ (เช่น บ้าน) รายได้จากการเล่นหุ้น, เป็นหุ้นส่วนบริษัท หรือบางท่านยังทำงานอยู่แม้จะเลยวัยเกษียณแล้วก็ตาม

แรงงานที่ออสเตรเลียไม่ได้เกษียณที่อายุ 60 (รุ่นผมเกษียณด้วยอายุ 67)

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนไทยวัยเกิน 60 ที่ยังทำงานมีรายได้สูงมากในออสเตรเลีย แอบกลับมารับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จากรัฐบาลไทยด้วย ได้ 2 ต่อ ทั้งที่รายได้สูงอยู่แล้ว คุณอยากได้แบบนี้ใช่มั้ย

หรือคนไทยวัยเกษียณที่อยู่เมืองไทยก็ตาม แต่เขายังคงมีรายได้จากการทำงาน มีรายได้มหาศาลจากการขายทรัพย์สินต่าง ๆ (เช่น บ้าน) มีรายได้จากการเล่นหุ้น หรือเป็นหุ้นส่วนบริษัท แต่เขาได้รับ ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ เท่ากับผู้สูงอายุคนอื่น ๆ ที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีเลย

คุณ สส. คุณทนาย คุณอาจารย์นักวิชาการ คุณนักเรียกร้องสิทธิ์

พวกคุณเรียกสิ่งนี้ว่าความเท่าเทียมกันหรือ?

พวกคุณโจมตีว่า การพิสูจน์ความจนหรือกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด เพื่อให้ได้คนที่สมควรได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในเรื่อง ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ ว่ารัฐกดขี่คนจน ผู้เฒ่าผู้แก่หรือ

ทั้งที่เป็นการใช้เงินจาก ‘ภาษี’ ให้ตรงตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นไปตามหลักสากลที่ทั่วโลกเขาทำกัน

เปิดกระโหลกออกจากนอกกะลา กันเสียที

อย่าฟังแต่เสียงโกหก เพื่อหาเสียงของนักการเมืองจอมบิดเบือนเสียทีพี่น้องไทย

‘ลิณธิภรณ์’ หวั่น!! ปรับเบี้ยผู้สูงอายุ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด ชี้!! รัฐต้องหาทางเพิ่มรายได้ เพื่อกระจายสวัสดิการให้ทั่วถึง

(15 ส.ค. 66) น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการและรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีการปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 12 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้สูงอายุที่จะเข้าเกณฑ์ใหม่ได้รับเงินดังกล่าว จะต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้ หรือคนจน ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนดว่า พรรคเพื่อไทยตระหนักถึงสถานการณ์จำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น และประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาแรกในโลก ที่ต้องรับมือกับภาวะแก่ก่อนรวย โดย 1 ใน 5 ของคนไทยเป็นผู้สูงอายุ และในอีก 20 ปีจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ใน 3 โดย 63% อยู่ในภาคเกษตร และ 87% เป็นแรงงานนอกระบบ และมีปัญหาร่วมกันคือรายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ ไม่มีเงินเก็บ 

น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นนโยบายของพรรคเพื่อไทยจึงทำเพื่อตอบโจทย์การสร้างรายได้ แก้ปัญหาระดับโครงสร้างในทุกมิติผ่านชุดนโยบายของพรรคเพื่อไทยเพื่อรองรับสังคมสูงวัย ประกอบด้วย กระเป๋าเงินดิจิทัล กระตุ้นเศรษฐกิจ บรรเทาความเดือนร้อนให้ทุกคน 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ softpower สร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านตำแหน่ง ผู้สูงอายุคนเกษียณก็ยังสามารถทำงาน สร้างรายได้ มีศักดิ์ศรี เพิ่มรายได้ภาคเกษตร เพิ่มรายได้ 3 เท่าตัว เพราะผู้สูงอายุและกำลังจะเข้าสู่ภาวะผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร อัปเกรด 30 บาทรักษาทุกโรค บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทั่วไทย ผู้ป่วยติดเตียง-ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้รับการดูแลจากผู้ช่วยพยาบาล ทั้งที่บ้านและศูนย์ชีวาภิบาลของรัฐและเอกชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลูกหลานสามารถไปประกอบอาชีพได้ตามปกติโดยไม่ต้องลางาน Learn to Earn เรียนเพื่อสร้างรายได้ เรียนรู้ง่ายตลอดชีวิต จับคู่สมรรถนะของคนเข้ากับงานที่ใช่ เพื่อช่วยให้มีงานทำเร็วที่สุด ตรงกับสมรรถนะของตนเองมากที่สุด และสร้างรายได้ที่ดีที่สุด 

“สวัสดิการจำเป็นสำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ เพื่อไทยมุ่งเป้าให้คนไทยยืนได้ด้วยลำแข้งตนเอง การปรับเบี้ยผู้สูงอายุให้เฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่การให้ถ้วนหน้าแบบเดิม ต้นเหตุมาจากรัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอ ซึ่งเพื่อไทยเห็นปัญหานี้มาโดยตลอด เราจึงเป็นพรรคเดียวที่พูดถึงการสร้างรายได้ เพื่อมีรายได้มาจัดสวัสดิการโดยรัฐ สำหรับกลุ่มผู้เปราะบาง ผู้ด้อยโอกาสให้ครอบคลุมและทั่วถึงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้คนไทยทุกกลุ่มเข้าถึง” น.ส.ลิณธิภรณ์ กล่าว

‘ทนายนกเขา’ ฟาดสื่อหลายสำนัก ปั่นข่าวเบี้ยผู้สูงอายุจนเละ  นำเสนอไม่ครบถ้วน ทั้งที่ประกาศใหม่ ทุกคนยังได้สิทธิคงเดิม

เมื่อไม่นานนี้ นายนิติธร ล้ำเหลือ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ทนายนกเขา’ ทนายความที่รับว่าความคดีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของหน่วยงานภาครัฐ ปัจจุบันเป็นกรรมการฝ่ายสิทธิมนุษยชนประจำสภาทนายความ ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สื่อมวลชนหลายๆ สำนัก ที่ได้ทำข่าวประเด็นเบี้ยยังชีพผู้สูงวัย ปี 66 ในลักษณะที่บิดเบือน และข้อมูลไม่ครบถ้วน ทำให้สังคมเกิดความสับสน จนนำไปสู่การวิจารณ์รัฐบาลด้วยความเข้าใจผิด โดยระบุว่า…

“ในเรื่องเบี้ยยังชีพของคนชราที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ จริงๆ แล้ว น่าตบปากสื่อมวลชนหลายสำนัก นำเสนอข่าววันแรก ก็นำเสนอไม่ครบ นำเสนอวันที่ 2 ก็ปั่นกระแสจนวุ่นวายหมด ไม่ได้ดูเลยว่า การที่รัฐบาลออกประกาศใหม่มานั้น ทุกคนยังได้สิทธิ์คงเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และผู้รับสิทธิ์รายใหม่ ที่อายุกำลังจะถึง 60 ปี ก็ยังได้สิทธิ์ดังเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อ คณะกรรมการผู้สูงอายุไปกำหนดระเบียบ ประกาศ กำหนกหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งก็อยู่ในประกาศข้อที่ 17-18 ที่มีอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีกระแสปั่นจนเกิดความเข้าใจผิด”

“พี่น้องประชาชนลองคิดดูว่า ถ้าการจ่ายเงินแบบสุรุ่ยสุร่าย ไร้สาระ เช่น คนที่ไม่อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ควรจะได้ ให้ทำอย่างไร? เหมือนที่คุณอนุพงษ์ เผ่าจินดา เขาพูดว่า ถ้าหากเขา หรือ พล.อ.ประยุทธ์ได้เบี้ยคนชรา สังคมจะรู้สึกอย่างไร?

ส่วนคุณเศรษฐา คงจะไม่รู้สึกอะไร เพราะเขาคงแจกเงินคนรวยจากเงินดิจิทัลอยู่แล้ว พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ของพวกคุณธนาธร คุณพิธา เขาเดือดร้อนขนาดนั้นเลยหรือ? เดือดร้อนถึงขั้นต้องมาเอาเงินจากภาษีของพี่น้องประชาชนที่ร่วมกันจ่ายเลยหรือ?”

“เพราะฉะนั้น ‘ความเท่าเทียม’ ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องได้เบี้ยคนชรา เมื่อมีอายุครบเกณฑ์แล้ว แต่หมายความว่า เมื่ออายุเข้าสู่ผู้สูงวัยแล้วนั้นจะต้องมีการดูแลให้ใกล้เคียง หรือมีโอกาสมีชีวิตอยู่ต่อ เหมือนกับผู้สูงอายที่มีรายได้ มีฐานทางเศรษฐกิจที่ดีอยู่แล้ว”

มันก็อาจจะก่อเกิดความคิดที่ว่า คนที่ยังต้องดูแล อาจจะได้เม็ดเงินเพิ่มขึ้นก็ได้ หากบริหารจัดการจากเม็ดเงินตรงนี้ดีๆ ก็จะได้ประโยชน์อย่างเป็นถาวร เป็นนิรันดร์ เศรษฐกิจต่างๆ มันก็อาจจะฟื้นตัวดีขึ้นได้ แต่เราเจอนักเมืองที่ไม่ประสีประสาเรื่องนโนยบายการเงิน การคลังของประเทศ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประสีประสามากน้อยแค่ไหน? คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประสีประสามากน้อยแค่ไหนกันเชียว? กับเรื่องงบประมาณการเงิน การคลังของประเทศในภาพรวมทั้งหมด พูดแต่วิธีจ่ายเงินออกไปทั้งนั้นเลย วิธีหายรายได้ให้ประเทศ พูดเป็นไหม? พูดได้ไหม?

กระจ่าง!! 'แก้เกณฑ์เบี้ยคนชรา' ลดภาระ 'คลัง-รบ.ใหม่' หลังผู้แตะวัย 60 เพิ่มพุ่ง ส่วนผู้รับเบี้ยซ้ำซ้อนก็มีอยู่มาก

เมื่อไม่นานมานี้ TikTok บัญชี @thestandardwealth ได้โพสต์คลิปบทสนทนาของ ‘คุณประกิต สิริวัฒนเกตุ’ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ ที่ได้ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหา ‘เบี้ยคนชรา’ ในอีกมุมมองหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ ซึ่งจะส่งผลถึงสถานะการคลัง จนต้องมีการแก้เกณฑ์เบี้ยคนชรา โดย คุณประกิต ได้เล่าให้ฟังว่า…

ถ้าบอกว่าเบี้ยคนชราตอนนี้ กระทบการคลังในปัจจุบันหรือยัง? ผมคิดว่ายัง…เพราะว่าผู้ที่เคยได้รับอยู่แล้ว ก็ยังคงได้รับต่อไป โดยเกณฑ์ใหม่นี้จะเป็นเกณฑ์ของคนที่อายุต่ำกว่า 60 ที่กําลังจะเข้าสู่อายุ 60 ที่ต้องไปรอลุ้นว่ามันมีเงื่อนไขอะไรบ้าง ซึ่งขึ้นอยู่กับคณะกรรมการผู้สูงอายุเป็นคนกําหนดเกณฑ์

ทีนี้หากถามว่า แล้วทําไมต้องมีการปรับเปลี่ยนด้วย นั่นก็เพราะภาครัฐเขารู้แล้วว่า หากแนวโน้มผู้สูงอายุยังเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ (เพิ่มขึ้น) อนาคตตายแน่…เพราะถ้าลองคํานวณดูอัตราการเสียชีวิตของประชากรเทียบกับคนที่จะมีอายุ 60 เข้ามาเติมในระบบ มันมีช่องว่างที่น่าสนใจ โดยในแต่ละปี เราจะมีคนที่อายุ 60 เข้ามาสู่ระบบราวๆ 8-9 แสนคน ขณะเดียวกันประชากรที่เสียชีวิตในแต่ละปีมีอยู่ประมาณ 5-6 แสนคน แปลว่าจะมีช่องว่างจากผู้ที่ไม่ได้รับเบี้ย 900,000 – 600,000 อยู่ที่ประมาณ 3 แสนกว่าคน”

แล้วในอนาคตตัวเลขก็จะไปในทิศทางนี้ คือ การเติมผู้ได้รับสิทธิเข้ามาเฉลี่ยปีละ 6 แสนบ้าง 7 แสนบ้าง 8 แสนคนบ้าง ซึ่งนั่นแปลว่าภาระของรัฐบาลจะมีเพิ่มมากขึ้น การคลังของเราจะเจอปัญหาหนักมาก นั่นก็เพราะในอดีตเรากู้มาเยอะตอนดอกเบี้ยต่ำ แต่ในอนาคตดอกเบี้ยมันอาจจะสูงขึ้น หากมีการเดินหน้าโครงการต่อไปในขณะที่ดอกเบี้ยต่ำ ก็ยังไม่มีปัญหา แต่ในอนาคตเมื่อภาระดอกเบี้ยตรงนี้มันสูงขึ้นเมื่อไร รัฐบาลก็ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้นตาม

ฉะนั้นการปรับแก้เกณฑ์ของรัฐบาล (ประยุทธ์) จึงเหมือนกับยอมที่จะโดนด่าแต่เนิ่นๆ เพราะเขามองออกว่าถ้ายังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ในอนาคตรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาดูแลต่อลําบากแน่ๆ จึงต้องรีบจัดการตั้งแต่ตอนนี้”

นอกจากนี้ การแก้เกณฑ์ดังกล่าว มันเป็นการเข้าไปเขย่าปัญหาหมักหมมของตัวเบี้ยผู้สูงอายุในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเดิมมีผู้รับเบี้ยซ้ำซ้อนเยอะ หลายคนได้รับสวัสดิการด้านอื่นๆ อยู่แล้ว ได้รับบําเหน็จบํานาญด้านอื่นๆ และก็ยังขอตัวเบี้ยผู้สูงอายุ ซ้ำๆ เติมๆ เข้าไป เพราะเกณฑ์ก่อนที่จะมีการแก้ไข มันมีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ที่ได้รับอย่างไม่ละเอียดมากพอ

การล้างไพ่ใหม่ แล้วตรวจสอบสิทธิใหม่ จึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่เขาคิดว่าต้องๆ ทำและต้องแก้ไข ดังนั้น อย่าเพิ่งไปมองว่าเราจะไม่ได้หรือคนที่สูงอายุ 60 ปี จะไม่ได้สิทธิ เขาแค่อยากจะล้างเกณฑ์เดิม เพราะว่ามันมีช่องโหว่อยู่ เพื่อไม่ทำให้เกิดการรับเบี้ยซ้ำซ้อน จนกระทบภาวะการคลัง ซึ่งจะทำให้ในอนาคตระยะยาวผู้ที่ควรได้รับสิทธิที่เหมาะสมจริงๆ ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top