รู้จัก 'ทเวตส์' ธารน้ำแข็งแห่งวันสิ้นโลก กับการละลายที่ 'โลก-ไทย' ต้องหวั่นเกรง
ทีมวิจัยจากสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ซึ่งทำการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของธารน้ำแข็งทเวตส์ ธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในทวีปแอนตาร์กติกา แถลงในการประชุมประจำปีของ American Geophysical Union (AGU) โดยเตือนว่าธารน้ำแข็งกำลังละลายลงอย่างรวดเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และละลายเร็วขึ้นถึง 2 เท่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจพังทลายลงในไม่กี่ปีข้างหน้า
รายงานระบุว่า ธารน้ำแข็งทเวตส์ ซึ่งมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับสหราชอาณาจักรหรือฟลอริดา มีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร และลึกประมาณ 800 ถึง 1,200 เมตร บางครั้งถูกเรียกว่า "ธารน้ำแข็งแห่งวันสิ้นโลก" (Doomsday Glacier) เพราะการพังทลายของมันอาจทำให้ธารน้ำแข็งอื่น ๆ ในแอนตาร์กติกาพังทลายไปด้วย ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 3 เมตร!!
“ทเวตส์” สูญเสียน้ำแข็งไปประมาณ 595,000 ล้านตัน (540,000 ล้านเมตริกตัน) ตั้งแต่ปี 1980 ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4% นับแต่นั้นเป็นต้นมา
การศึกษาที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร The Cryosphere ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ระบุว่าธารน้ำแข็งทเวตส์และธารน้ำแข็งเกาะไพน์มีส่วนประมาณ 10% ของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลทั่วโลก
ขณะนี้ น้ำทะเลที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นไม่เพียงแต่จะทำให้ธารน้ำแข็งทเวตส์ละลายเท่านั้น แต่ยังทำให้การยึดเกาะของธารน้ำแข็งใต้ทะเลสั่นคลอนยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อธารน้ำแข็งอ่อนตัวลงก็มีแนวโน้มที่จะมีน้ำแข็งแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ หรือหลุดออกจากแนวสันดอนภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ โดยภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นรอยแยกใหม่บนพื้นผิวของน้ำแข็ง
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในแอนตาร์กติกาอาจเกิดขึ้นภายใน 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า โดย ดร.เอริน เพตติต จากมหาวิทยาลัย Oregon State University อธิบายว่ารอยแตกของน้ำแข็งคล้ายกับรอยร้าวบนกระจกรถ ซึ่งรอยร้าวจะค่อย ๆ ขยายขึ้นเรื่อย ๆ และหากได้รับการกระทบกระเทือนมันก็จะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ
>> สะเทือนถึงไทยไหม?
อย่างที่ทราบกันว่ากรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของเรา อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 ถึง 2 เมตร ดังนั้นหากถึงวันที่ธารน้ำแข็งทเวตส์พังทลายลง ซึ่งนักวิจัยชี้ว่าจะทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น 3 เมตร ก็มีความเป็นไปได้ที่กรุงเทพมหานครจะได้รับผลกระทบไปด้วย
นอกจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว แผ่นดินก็กำลังทรุดตัวลงทุกปี ๆ ซึ่งนอกจากการเสื่อมสภาพตามธรรมชาติเองแล้ว การสูบน้ำบาดาล และการเติบโตของเมืองยิ่งส่งผลให้แผ่นดินกรุงเทพทรุดตัวเร็วขึ้น ประกอบกับพื้นดินซึ่งเป็นดินเหนียวที่มีความหนาแน่น ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดน้ำท่วมมากขึ้น
