Monday, 28 April 2025
เที่ยวทะเล

‘หลาน’ สานฝัน!! ‘ปู่วัย 102 ปี’ พาเที่ยวทะเลครั้งแรกในชีวิต พร้อมเผยสาเหตุที่ไม่เคยไป เพราะลูกหลานทำงานกันหมด

(7 พ.ค. 67) จากกรณีผู้ใช้ติ๊กต็อก @userreepij10o4 โพสต์ข้อความสุดน่าประทับใจของคุณปู่ ระบุข้อความว่า “ในเมื่อปู่ของฉันอายุ 102 ปี อยากไปทะเล ลูกหลานก็จัดให้”

ต่อมาล่าสุด นางกนกพิชญ์ (ขอสงวนนามสกุล) ซึ่งเป็นหลานสาว ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอม หลาน ๆ กลับมาจากกรุงเทพฯ มาที่บ้านใน อ.ดงเจริญ จ.พิจิตร จึงมาถามปู่ว่า “อยากไปเที่ยวระยองไหม ไปเที่ยวทะเล” ปู่ก็บอกว่า “กูจะไปเที่ยวไหวไหม ชีวิตนี้กูยังไม่เคยเห็นทะเลสักทีเลย” พวกตนเลยพาปู่ไปเที่ยวทะเลที่อ่าวไข่ จ.ระยอง

เมื่อไปถึงทะเลปู่ก็บอกว่า “คิดว่ามันจะเหมือนแม่น้ำเจ้าพระยาแถวพิจิตรบ้านเรา” แล้วก็ตกใจว่าทำไมทะเลถึงใหญ่ขนาดนี้ แล้วก็ค่อย ๆ เดินลงทะเล เพราะว่ากลัวไม่กล้าลงทะเลไป แต่เมื่อเดินลงไปแล้วคุณปู่ก็มีความสุขมาก ยิ้มตลอด

ตลอดเวลาที่ผ่านมา คุณปู่แข็งแรงมาก ไม่เคยป่วยหรือเข้าโรงพยาบาลเลย มาวันนี้ได้สานฝันให้คุณปู่ ลูกหลานก็รู็สึกปลื้มและประทับใจกันทุกคนที่ได้พาปู่ไปในบั้นปลายชีวิต เพราะปู่ยังไม่เคยไปทะเลสักครั้งในชีวิต

อีกทั้งปู่เคยบอกว่า “ชีวิตนี้ขอให้ได้ไปทะเลสักครั้งเถอะ” พอได้ไปแล้วก็บอกว่า “สมใจแล้ว เดี๋ยวก็แก่ตายแล้ว” แต่ตนเชื่อว่าปู่แข็งแรงยังอยู่กับลูกหลานได้อีกนาน

ทั้งนี้ หลังจากกลับมาจากทะเลคุณปู่ก็พูดแล้วพูดอีกว่า “ดีใจจริง ๆ เนาะได้ไปทะเล ทะเลมันก็สวย กว้างก็กว้าง ของกินก็อร่อย” หลาน ๆ ก็เลยถามปู่ว่าอยากไปอีกไหม ปู่ก็บอกว่า “อยากไป ถ้ามีโอกาสพาไปใหม่นะ” ตนคิดว่าเพราะปู่ไม่เคยไป พอได้ไปก็ติดใจ

ส่วนสาเหตุที่ปู่ไม่เคยไปทะเล เพราะลูกหลานไปทำงานกันหมด แต่พอได้ไปเห็นโลกกว้าง เลยอยากพาปู่ไปบ้าง อีกทั้งปู่เคยบ่นว่าอยากไป เลยอยากพาปู่ไปสักครั้ง

สุดท้ายนี้ อยากฝากบอกลูกหลานทุกคนว่าถ้ามีโอกาส ให้พาไปเถอะ บางทีเขาอยากไปแต่ไม่รู้จะเอ่ยขอลูกหลานยังไง เพราะคิดว่าลูกอาจจะไม่มีเงิน แต่พอได้พาไป ถือว่าคุ้มมากจริง ๆ

ชาวโซเชียลหนุน ‘ทราย สก๊อต’ เพราะไม่เชื่อมั่น ในการทำหน้าที่ของภาครัฐ นักวิชาการ มธ. เสนอ ‘กรมอุทยานฯ’ ใช้ระบบ ‘E-Ticket’ แก้ทุจริตเรื้อรัง

(27 เม.ย. 68) รศ. ดร.สุรศักดิ์ บุญเรือง อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้ช่วยคณบดีคณะนิติศาสตร์ ศูนย์ลำปาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์แรงหนุน-ต้านของสังคมต่อการทำหน้าที่ของ ทราย สก๊อต อดีตที่ปรึกษาอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (อส.) เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มีผู้เข้าข้างหรือเลือกอยู่ฝั่งเดียวกับ ทราย สก๊อต แรงหนุนส่วนหนึ่งอาจไม่ได้เห็นด้วยกับการแสดงออกของ ทราย สก๊อต ในทุกประเด็น แต่เขาเหล่านั้นอยากให้เกิดความตระหนักรู้ทางสังคมและมีการตรวจสอบการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ตรงนี้สะท้อนว่าสังคมกำลังมีความรู้สึกคลางแคลงใจในเรื่องความไม่โปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ และ อส.

“ในปี 2567 อส. มีรายได้จากการจัดเก็บค่าเข้าชมของนักท่องเที่ยวทั้งประเทศราว 2,200 ล้านบาท เกินกว่าครึ่ง เป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าเข้าอุทยานแห่งชาติทางทะเลอันสะท้อนว่าพื้นที่ทางทะเลเป็นพื้นที่ที่มีผลประโยชน์สูง ซึ่งที่ผ่านมาสังคมแทบไม่มีโอกาสได้รับรู้เลยว่ารายได้เหล่านั้นถูกนำไปใช้อย่างอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่า อส. ควรพลิกเหตุการณ์ครั้งนี้ให้กลายเป็นโอกาสในการปรับปรุง และแสดงให้เห็นถึงความโปรงใส่ในการทำงานของ อส. จนกลับมาสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เพื่อนำไปสู่การร่วมไม้ร่วมมือจากภาคประชาชนและภาคเอกชน สำหรับอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่อไป” รศ. ดร.สุรศักดิ์ กล่าว

นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่อไปอีกว่า แม้ว่าปัจจุบันอาจมีการใช้ระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ (E-Ticket) ในอุทยานแห่งชาติบางแห่ง แต่ยังพบปัญหาข้อติดขัดหลายประการ เช่น การใช้ E-ticket กับตั๋วหมู่คณะที่ซื้อทัวร์มาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล จึงควรมีการปรับปรุงระบบดังกล่าวและนำมาใช้กับพื้นที่อุทยานต่างๆ ให้มากขึ้น ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงปัญหาการคอร์รัปชันกรณีจำหน่ายตั๋วเข้าอุทยานฯ ที่นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานเรื้อรังลงได้ 

มากไปกว่านั้น หากในอนาคตมีกระบวนการจัดเก็บรายได้ที่โปร่งใสแล้ว ลำดับถัดไปก็ควรจะมีการจัดสรรรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อจัดสวัสดิการต่างๆ ให้พนักงานและเจ้าหน้าที่อุทยานในระดับปฏิบัติการให้ดีกว่าที่ได้รับ เช่น การใช้เป็นค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเครื่องมือหรือปัจจัยขั้นพื้นฐานสำหรับใช้ในการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเงินค่าตอบแทนจากการทำงาน ที่มีความเหมาะสมกับหน้างานที่รับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการลดเหตุจูงใจให้เจ้าหน้าที่กระทำการทุจริต ทั้งยังเป็นขวัญกำลังในการปฏิบัติหน้าที่

รศ. ดร.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนตัวเชื่อว่าข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายสนับสนุน ทราย สก๊อต กับพนักงานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ รวมไปถึงผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ เกิดจากการมีแนวคิดและจุดยืน หรือนิยามการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งแตกต่างกัน กล่าวคือฝ่ายหนึ่งมีแนวคิดโน้มเอียงไปแบบอนุรักษ์สุดโต่ง (Deep Green) ที่เชื่อว่าการดำรงอยู่ของอารยธรรมอุตสาหกรรมเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ จึงเรียกร้องให้รื้อถอนและหวนคืนความเป็นปกติให้กับสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด 
ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง มีแนวคิดสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลอย่างหลากหลายและเต็มรูปแบบตามแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน สิ่งเหล่านี้จึงนำไปสู่ความเห็นที่ไม่ตรงกันและความขัดแย้ง

ทั้งนี้ เพื่อป้องกันความสับสนและไม่ให้เหตุการณ์ดังที่ปรากฏตามสื่อเกิดขึ้นซ้ำรอย อส. ควรมีการทบทวนและสร้างระเบียบหรือมาตรการที่ชัดเจนว่าเส้นแบ่งของภาคประชาชน ภาคเอกชน ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการปกป้องและอนุรักษ์ธรรมชาติมากน้อยแค่ไหน ยกกรณีตัวอย่างเช่น หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดกฎระเบียบอย่างชัดเจน บทบาทหน้าที่ในฐานะพลเมืองดี ที่จะกระทำการเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ทำได้แค่ไหน สามารถถ่ายคลิปวิดีโอการคนที่ทำผิดนั้น โพสต์ลงโซเชียลมีเดียได้หรือไม่ เป็นต้น พร้อมกันนี้ควรกำหนดกฎระเบียบข้อควรปฏิบัติในการใช้พื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเลให้ชัดเจน มีการเขียนป้ายทั้งในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่นๆ เพื่อความเข้าใจร่วมกัน ทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ไปจนถึงผู้ประกอบการในพื้นที่เช่นกัน


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top