Saturday, 19 April 2025
เทพีเสรีภาพ

'เทพีเสรีภาพ' ภาพลวงตาประชาคมโลกที่เริ่มแดง แย่งชิงดินแดน ขัดแย้งผิวสี ก่อมิคสัญญีลุกลามโลก

การที่อเมริกามีเทพีเสรีภาพตั้งตระหง่านบนเกาะลิเบอร์ตี้จนเป็นโลโก้ของประเทศ ไม่ได้หมายความว่าลุงแซมจะให้เสรีภาพแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกันเสมอไป ตามที่คนไทยจำนวนหนึ่งนำไปกล่าวอ้างอยู่เสมอ

ก่อนหน้าจะกลายเป็นยูไนเต็ดออฟอเมริกานั้น ทั้งแผ่นดินมีแต่อินเดียนแดงอาศัยอยู่อย่างเสรี แม้จะมีการสู้รบระหว่างเผ่าบ้าง แต่ไม่ได้ฆ่าล้างเผ่าพันธ์ เช่นที่คนผิวขาวกระทำต่ออินเดียนแดง  

ช่วงก่อนการเข้ามาของชาวยุโรป คาดว่ามีชนเผ่าอินเดียนแดงอยู่ประมาณ 10-12 ล้าน หลังสงครามกลางเมืองในสหรัฐอเมริกาสงบลง ในปี ค.ศ. 1865 อินเดียนแดงที่เคยมีอยู่นับล้านทั่วประเทศถูกสังหารหมู่ จนลดลงเหลือไม่ถึงสามแสนคน ขณะที่คนขาวหลั่งไหลกันเข้ามาแย่งชิงดินแดนของอินเดียนแดงร่วม 30 ล้านคน

ฉะนั้นจุดเริ่มต้นในการก่อตั้งประเทศอเมริกา ก็เรียกว่าหาความเท่าเทียมกันไม่ได้แล้ว เพราะสร้างชาติบนซากศพอินเดียนแดงมาโดยตลอดตั้งแต่ยุคแรกเริ่มเลยทีเดียว  

ส่วนการที่เทพีเสรีภาพมาสถิตบนแผ่นดินอเมริกาคือ เรื่องการเมืองล้วนๆ โดยย้อนไปในปีค.ศ.1865 เอดูอาร์ด เดอ ลาบูเลย์ ซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านการค้าทาสเสนอว่า ในวาระของการเป็นอิสระจากอังกฤษเกือบ 100 ปี และเพิ่งผ่านสงครามกลางเมืองมาหมาดๆ น่าจะมีอนุสรณ์สถานให้เป็นที่ระลึกถึงบ้าง แต่ความคิดนี้ตกไป ต่อมา เฟรเดอริก ออกุสเต บาร์ทอลดิ ปัดฝุ่นความคิดนี้นำเสนออีกหน ว่าฝรั่งเศสจะเป็นผู้ปั้นเทพีเสรีภาพให้ โดยนายเฟรเดอริก ออกุสเต บาร์ทอลดินั่นแหละที่จะปั้นให้ เพราะมีอาชีพเป็นช่างปั้น แต่ลุงแซมต้องหาที่ยืนของแม่สาวเสรีภาพนี้เองนะ 

อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพหรือ Statue of Liberty มีชื่อเดิมว่า Liberty Enlightening the World ถือเป็นของขวัญชิ้นมหึมาที่ชาวฝรั่งเศสมอบให้แก่ชาวอเมริกันในงานฉลองวันชาติครบ 100 ปี เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ปีค.ศ. 1876 โดยส่งมอบอย่างเป็นทางการในอีก 10 ปีให้หลังคือ ในวันที่ 28 ตุลาคม ปี ค.ศ.1886 โดยมีประธานาธิบดีโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ เป็นผู้รับมอบ     

ฟังดูเหมือนของขวัญอันสะสวยจากรัฐบาลฝรั่งเศสใช่ไหม แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะมีจุดประสงค์แฝงทางการเมือง

รูปปั้นนี้หนัก 254 ตัน ออกแบบเป็นรูปสตรีสวมเสื้อผ้าคลุมร่างแบบกรีก ตั้งแต่ไหล่ลงมาจรดปลายเท้า สวมมงกุฎที่ศีรษะ มือขวาถือคบเพลิงชูเหนือศีรษะ ส่วนมือซ้ายถือหนังสือคำประกาศอิสรภาพที่จารึกว่า 'JULY IV MDCCLXXVI' หรือวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 ที่อนุสรณ์สถานมีทางเดินจากป้อมเข้าสู่ส่วนฐาน ตรงทางเข้ามีแผ่นบรอนซ์จารึกคำประพันธ์ซอนเนท แต่งโดย เอมมา ลาซารัส เมื่อ ค.ศ.1883 โดยใจความกล่าวต้อนรับผู้อพยพมาสู่โลกใหม่ทุกคน ที่ปลายเท้าเทพีมีโซ่หักขาดชำรุด ซึ่งแสดงความหมายของความเป็นไทและมีเสรีภาพจากอังกฤษ

เงินทุนในการสร้างเทพีเสรีภาพ ส่วนหนึ่งมาจากนายทุนฝรั่งเศสที่อยากเข้ามาลงทุนขุดคลองปานามา แต่จะพุ่งไปตรงที่โคลอมเบียเลยก็น่าเกลียด เพราะพี่เบิ้มอเมริกานั่งกระดิกเท้าขวางหน้าอยู่ เลยต้องเดินเข้าไปบีบแข้งบีบขาทุบหลังเอาใจลุงแซมก่อน หวังอยากให้ลุงแซมไฟเขียวให้เข้าไปขุดคลองปานามาในโคลอมเบียนั่นเอง     

เรื่องนี้คือ เรื่องผลประโยชน์อันมหาศาลของฝรั่งเศสนั่นแหละ ต่อมาโกงกันสะบั้นหั่นแหลกถึงขั้นที่บริษัทฝรั่งเศสล้มละลาย อเมริกาจึงเจ้ามารับช่วงทำต่อ

หลังจากนั้น เทพีเสรีภาพ จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของอเมริกาไปโดยปริยาย เนื่องจากผู้อพยพจากยุโรปยุคแรกๆ จะต้องเดินทางเข้าสู่อเมริกาทางเรือ โดยสิ่งแรกที่เห็นบนแผ่นดินอเมริกาก็คือ เทพีเสรีภาพยืนตระหง่านอยู่บนเกาะ Liberty ก่อนที่เรือทุกลำจะจอดเทียบท่าที่ Ellis Island เพื่อให้กลุ่มชนอพยพจากแผ่นดินอื่นเข้าบันทึกข้อมูลในการเดินทางเข้าอเมริกาในยุคที่ยังไม่มีเครื่องบิน

นักการเมืองฝรั่งเศส จี้สหรัฐฯ คืนรูปปั้น ‘เทพีเสรีภาพ’ หลังมองว่าอเมริกาเปลี่ยนไปจากอุดมการณ์เดิม

(17 มี.ค. 68) ราฟาเอล กลุกส์มันน์ (Raphaël Glucksmann) นักการเมืองฝ่ายกลางซ้ายจากพรรค Place Publique และสมาชิกรัฐสภายุโรป (European Parliament) ได้กล่าวระหว่างการประชุมพรรคว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ควรคืนเทพีเสรีภาพให้กับฝรั่งเศส โดยให้เหตุผลว่าสหรัฐฯ ในปัจจุบันไม่ได้เป็นตัวแทนของค่านิยมประชาธิปไตยและเสรีภาพ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ฝรั่งเศสยึดถือเมื่อครั้งที่มอบอนุสาวรีย์ดังกล่าวให้กับอเมริกา

“เราควรนำเทพีเสรีภาพกลับคืนมา เพราะสหรัฐฯ ไม่ได้สะท้อนคุณค่าที่ทำให้เราตัดสินใจมอบอนุสาวรีย์นี้ให้พวกเขาอีกต่อไป” กลุกส์มันน์ กล่าวในที่ประชุม พร้อมระบุว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทิศทางทางการเมืองของสหรัฐฯ มีแนวโน้มถดถอยจากแนวคิดประชาธิปไตยและความเป็นเสรีนิยม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการมอบเทพีเสรีภาพให้เป็นของขวัญแก่สหรัฐฯ ในปี ค.ศ.1886

เทพีเสรีภาพ (Statue of Liberty) เป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งฝรั่งเศสได้มอบให้แก่สหรัฐฯ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพระหว่างทั้งสองชาติ และเป็นอนุสรณ์ถึงอุดมการณ์เสรีภาพที่ทั้งสองประเทศเคยมีร่วมกัน

การเรียกร้องของกลุกส์มันน์สะท้อนถึงความกังวลของนักการเมืองบางส่วนในยุโรปที่มองว่า บทบาทของสหรัฐฯ ในเวทีโลกกำลังเปลี่ยนไป และอาจไม่ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพและประชาธิปไตยเช่นในอดีต อย่างไรก็ตาม คำกล่าวของเขาก็อาจกลายเป็นประเด็นถกเถียงทั้งในฝรั่งเศสและในสหรัฐฯ เกี่ยวกับสถานะของเทพีเสรีภาพในฐานะสัญลักษณ์ของเสรีภาพระดับโลก

อย่างไรก็ตามยังไม่มีปฏิกิริยาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อคำเรียกร้องของกลุกส์มันน์ แต่แน่นอนว่าความคิดเห็นดังกล่าวอาจกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำประชาธิปไตยของโลกในยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ กลุกส์มันน์ เคยออกมาโจมตี การตัดงบประมาณด้านวิจัยของสหรัฐฯ ในยุครัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ โดยระบุว่าการลดงบสนับสนุนสถาบันวิจัยและโครงการทางวิทยาศาสตร์ของอเมริกาทำให้เกิด ความเสียหายต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก

“การตัดงบประมาณในสถาบันวิจัยของสหรัฐฯ เป็นการทำลายรากฐานของนวัตกรรมและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งขัดแย้งกับคุณค่าของความก้าวหน้าทางปัญญาที่เราควรปกป้อง” กลุกส์มันน์กล่าว

ผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลฝรั่งเศสเริ่มเดินหน้าดึงดูดนักวิจัยจากสหรัฐฯ ให้เข้ามาทำงานในฝรั่งเศส โดยมีการริเริ่มโครงการให้ เงินทุนสนับสนุนและโอกาสด้านการวิจัยที่มั่นคงมากขึ้น สำหรับนักวิทยาศาสตร์ที่ได้รับผลกระทบจากการลดงบประมาณในอเมริกา

แผนการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของฝรั่งเศสที่ต้องการยกระดับบทบาทของประเทศในฐานะศูนย์กลางด้านการวิจัยและนวัตกรรมของยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่บางประเทศกำลังลดการลงทุนในภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นโยบายดึงดูดนักวิจัยต่างชาติของฝรั่งเศสไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในยุครัฐบาลปัจจุบัน ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ก็เคยประกาศโครงการ "Make Our Planet Great Again" เพื่อเชิญชวนนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก โดยเฉพาะนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของทรัมป์ ให้มาทำงานในฝรั่งเศส

ขณะที่การตัดงบประมาณด้านวิจัยของสหรัฐฯ กลายเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายวงการ กลุกส์มันน์ชี้ว่า ฝรั่งเศสควรฉวยโอกาสนี้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางวิทยาศาสตร์ของตัวเอง และต้อนรับนักวิจัยที่กำลังมองหาสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทำงานอย่างแท้จริง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top