Wednesday, 24 April 2024
เตือนประชาชน

รองโฆษก ตร. ออกโรงเตือนประชาชนระวังมิจฉาชีพออกอุบาย หลอกแจก 'อั่งเปาออนไลน์' ย้ำระมัดระวังอัคคีภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน

วันนี้ (18 ม.ค.66) เวลา 08.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝากประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการหลอกลวงออนไลน์ในช่วงเทศกาลตรุษจีน

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณฯ กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 20-22 มกราคม 2566 จะเป็นช่วงเทศกาลวันตรุษจีน ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยเชื้อสายจีนและปัจจุบันกลุ่มโจรออนไลน์มักจะอาศัยจังหวะตามเทศกาลต่างๆ ฉวยโอกาสหลอกลวงประชาชน โดยในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ มิจฉาชีพอาจชักจูงให้เหยื่อหลงเชื่อว่ามีการ 'แจกอั่งเปาฟรี' แล้วส่งลิงก์เพื่อให้เรากรอกข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ หรืออาจจะหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันที่สามารถควบคุมมือถือระยะไกล หรือ แอปรีโมท แล้วทำการดูดเงินในบัญชี หากเราได้รับ SMS ในลักษณะดังกล่าวห้ามกดลิงก์โดยเด็ดขาด รวมถึงไม่กรอกข้อมูลส่วนตัวใดๆ กรณีมีข้อความเลขรหัสเข้าเครื่องโทรศัพท์ไม่ทราบที่มาที่ไป ห้ามเผยแพร่บุคคลอื่นทราบ หากเผลอกดลิงก์ติดตั้งแอปฯ แปลกปลอมดังกล่าว ให้รีบลบหรือรีเซต เครื่องใหม่ทันที หากโทรศัพท์ไม่ค้างหรือดับ วิธีที่ตัดทุกอย่างคือ 'เปิดโหมดเครื่องบิน' หากเครื่องค้างให้ กดปุ่มเปิด-ปิดแช่ไว้ เป็นการตัดสัญญาณโทรศัพท์เครือข่ายอินเทอร์เน็ตทันที 

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย มิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนให้ทำงานเสริม หรือทำภารกิจออนไลน์ ฝากผู้ปกครองหมั่นตรวจสอบพฤติกรรมของลูกหลาน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ขอฝากเตือนมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนให้ทำงานเสริม หรือทำภารกิจออนไลน์ ดังนี้

ในช่วงที่ผ่านมาปรากฏเป็นเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้ทำงาน หรือทำภารกิจออนไลน์ต่างๆ เพื่อหารายได้เสริมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงจ้างให้กดไลก์ (Like) กดแชร์ (Share) ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ (YouTube) กดรับออร์เดอร์สินค้า หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่มิจฉาชีพออกอุบายประกาศ เชิญชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Tiktok เป็นต้น หรือผ่านทางการส่งความสั้น (SMS) ให้เหยื่อกดลิงก์เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์ เช่น ประกาศรับสมัครด่วนงานดูคลิป YouTube จำนวน 10 คลิป 400 บาท 20 คลิป 800 บาท แต่ต้องมีค่าเงินประกัน 100 บาท หรือให้กดไลก์ กดแชร์เพจ เพิ่มระดับเลเวลเพื่อที่จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่ม แต่ต้องโอนเงินเข้าไปในระบบก่อน หรือเชิญชวนให้ทำภารกิจกดรับออเดอร์สินค้า โดยเริ่มจากสินค้าหลักร้อยและเพิ่มสูงขึ้นไปตามระดับภารกิจ แต่จะบอกว่าเราทำผิดขั้นตอน ให้โอนเงินไปเพิ่ม เป็นต้น

การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว จะเห็นได้ว่าต้องมีการโอนเงินไปยังบัญชีธนาคารของมิจฉาชีพ หรือเติมเงินเข้าไปในระบบที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาเสียก่อนเสมอ โดยในช่วงแรกๆ เราจะได้เงินกลับคืนมาจริง แต่หลังจากนั้นมิจฉาชีพก็จะออกอุบายต่างๆ เพื่อให้เหยื่อเติม หรือโอนเงินเพิ่ม เช่น อ้างว่ายอดเงินในระบบไม่เพียงพอ อ้างว่าเป็นค่าเอกสาร ค่าปิดบัญชี ค่าภาษี เป็นต้น เมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป ยกตัวอย่างคดีอุทาหรณ์ เช่น ในกรณีนักเรียนชั้น ม.3 อายุ 15 ปี ถูกหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหาค่าคอมมิชชั่นจากการทำงานกดรับออเดอร์สินค้า เป็นเหตุให้เครียดและทำอัตวินิบาตกรรม กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ บช.สอท. ได้สืบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน ทำการจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับรวมกว่า 9 ราย ส่ง พงส.ดำเนินคดีตามกฎหมายในเวลาต่อมาตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ทำภารกิจ หรือทำงานออนไลน์เพื่อหารายได้เสริม โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ทำให้มิจฉาชีพเหล่านี้ไม่มีจุดยืนในสังคม เพราะถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ มุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เสียหายที่ยังเป็นเด็ก เยาวชน ยังไม่บรรลุนิติภาวะ อาจจะส่งผลกระทบโดยไม่คาดคิด 

การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน “ โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 มาตรา 14 (1) วรรคท้าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานฉ้อโกง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ” หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยดูจากพฤติการณ์แต่ละกรณีมาประกอบ ซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว หากต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไป

'มิจฉาชีพ' เปลี่ยนรูปแบบ 'หลอกหลอน' ชาวบ้านไม่พักเลย

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วย ผบ.ตร./หัวหน้าคณะทำงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยคณะทำงาน ได้ร่วมกันนำเสนอสถิติการรับแจ้งความออนไลน์รอบสัปดาห์และภัยที่เกิดขึ้นใหม่ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีภูมิป้องกันภัยออนไลน์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (12-18 มี.ค.2566) รวมทั้งสัปดาห์มีผู้แจ้งความ 4,291 เคส/351,191,412.31 บาท สถิติการรับแจ้งลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1,496 เคส/26,093,473.69 บาท โดยสถิติการรับแจ้งความคดีออนไลน์มากที่สุดยังเป็นคดีเดิมๆ 5 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1) คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า 1,500 เคส/14,003,677.05 บาท  2) คดีหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม 578 เคส/71,469,279.03 บาท  3) คดีหลอกลวงทางโทรศัพท์ที่เป็นขบวนการ(call center) 529 เคส/65,547,808.73 บาท 4) คดีหลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 429 เคส/17,113,573.64 บาท  และ 5) คดีหลอกเป็นบุคคลอื่นเพื่อยืมเงิน 236 เคส/10,637,571.37 บาท 

ภัยออนไลน์ที่น่าสนใจและเกิดขึ้นมากในรอบสัปดาห์ เรื่องที่ 1 คือ  คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า นม Thai-Denmark โดยมิจฉาชีพสร้างเพจ Facebook 'Thai-Denmark นมไทยแท้ ส่งทั่วไทย' คล้ายของจริง  เมื่อมีผู้หลงเชื่อมาสอบถามเพื่อขอซื้อนม เพจจะให้ผู้หลงเชื่อโอนเงินให้ก่อน แล้วปิดเพจหนีไป จุดสังเกตุ ของปลอม พบการกดปุ่มโกรธ (angry) จำนวนมาก สถานะของเพจเป็นอสังหาริมทรัพย์ เพิ่งเปิดเพจ และผู้จัดการเพจอยู่ต่างประเทศ  ส่วน ของแท้ เป็นธุรกิจท้องถิ่น และ เปิดมานานและผู้จัดการเพจอยู่ประเทศไทย จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนควรสงสัยไว้ก่อนว่าของดีและถูกเกินกว่าราคาตลาดมากๆ และบัญชีรับโอนเงินบุคคลธรรมดา น่าจะหลอกลวง 

เรื่องที่ 2 คดีแก๊งคอลเซนเตอร์ติดต่อร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชันไลน์หลอกสั่งข้าวกล่อง และโอนมัดจำให้ร้านค้าก่อน  วันต่อมา คนร้ายได้โทรศัพท์บอกให้ร้านอาหารสั่งชุดอาหารพิเศษเพิ่ม 7 ชุด และส่ง QR Code มาให้ร้านแอด และบอกว่าจ่ายเงินเพิ่มให้ภายหลัง และอ้างด้วยว่าเป็น QR Code แอดไลน์เท่านั้น แต่เมื่อแสกน QR Code พบว่า หน้าจอค้าง เจ้าของโทรศัพท์จึงรีบเข้าแอปฯ ธนาคาร เพื่อโอนเงินออกไปบัญชีอื่นก่อน และปิดเครื่อง  จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของ  QR Code ให้ดีก่อนที่จะ Scan หรือโอนเงิน

เรื่องที่ 3 คดีกลรักออนไลน์(Romance Scam) ถูกหลอกซ้ำซ้อน คือหลอกให้โอนเงิน 2 ครั้ง และหลอกให้ผู้เสียหายเปิดบัญชีม้าโดยไม่รู้ตัว  เรื่องนี้คนร้ายได้ติดต่อพูดคุยกับผู้เสียหายทาง Facebook จากนั้นอ้างว่าอยากจะมาอยู่เมืองไทย มาใช้ชีวิตคู่กับผู้เสียหาย และส่งสินค้ามีค่ามาให้ โดยให้ผู้เสียหายโอนเงินชำระภาษี ถือเป็นการหลอกให้โอนเงินรอบแรก จากนั้นจะหลอกว่าต้องการทำธุรกิจร่วมกับผู้เสียหาย แล้วให้ผู้เสียหายเปิดบัญชีไว้สำหรับการลงทุน จากนั้นคนร้ายได้หลอกผู้เสียหายคนที่ 2 และให้โอนเงินเข้าบัญชีผู้เสียหายคนแรก และให้ผู้เสียหายคนแรก ซื้อเหรียญคลิปโตให้คนร้าย ทำให้ผู้เสียหายคนแรก กลายเป็นผู้ต้องหาในคดี  จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ รู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อของคนร้าย 

ด้วยความปรารถนาดีจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCT)

คดีหลอกลวงซื้อขายผลิตภัณฑ์สินค้า 'Thai-Denmark นมไทยแท้ ส่งทั่วไทย'
กลโกง จุดสังเกต วิธีป้องกัน
1. สร้างเพจ Facebook ขึ้นมาโดยใช้ชื่อ รูปโปรไฟล์ รูปปก ที่อยู่ ข้อความแนะนำ ใกล้เคียงกับเพจ 'Thai-Denmark' ที่เป็นของจริง  
2. สร้างเป็นเพจ Facebook หรือซื้อโฆษณาเพจเพื่อให้คนเห็นได้จากระบบอินเตอร์เน็ต
3. เมื่อมีผู้หลงเชื่อมาสอบถามเพื่อขอซื้อ เพจจะให้ผู้หลงเชื่อโอนเงินให้ก่อน 
4. เมื่อถึงวันรับสินค้า เหยื่อจะส่งข้อมูลไปสอบถาม คนร้ายจะถ่วงเวลา 
5. เปลี่ยนเป็นเพจใหม่ เพื่อหลอกขายเช่นเดิมไปเรื่อยๆ ของปลอม 
1.พบการกดปุ่มโกรธ (angry) จำนวนมาก
2.สถานะของเพจเป็นอสังหาริมทรัพย์ 
3. เพิ่งเปิดเพจ และผู้จัดการเพจอยู่ต่างประเทศ
ของแท้ 

1.สถานะของเพจเป็นธุรกิจท้องถิ่น
2. เปิดมานานและผู้จัดการเพจอยู่ประเทศไทย
1. ตรวจสอบเพจ Facebook ให้แน่ใจก่อนซื้อ โดยกด เกี่ยวกับ 'ความโปร่งใส' ก็จะเห็นว่าเปิดมานานเท่าใด  ผู้จัดการเพจอยู่ประเทศไทยหรือไม่(อยู่ต่างประเทศ ควรหลีกเลี่ยง)  
2. ดูช่องกดไลค์(มีเครื่องหมาย 'โกรธ' ดูโพสต์เป็นหลัก อย่าดูด้านใต้ชื่อเพียงอย่างเดียว เพราะสามารถซื้อ 'ไลค์' ได้  
3. ลองนำชื่อเพจนั้น ไปใส่ช่องค้นหาใน Facebook ว่ามีเพจอื่นอีกหรือไม่ แล้วนำมาเปรียบเทียบกันดูว่า เพจไหนจริง/ปลอม
4. 'ของดีและถูกเกินกว่าราคาตลาดมากๆ' ให้สงสัยไว้ก่อนว่าหลอกลวง
5. บัญชีรับโอนเงินควรเป็นบัญชีชื่อร้าน หากเป็นบัญชีบุคคลธรรมดา ให้สงสัยไว้ก่อนว่าหลอกลวง

โฆษก ตร. เตือน ปชช. ตั้งแต่ 1 เม.ย.66 ผู้ขับขี่ที่มีใบสั่งค้างชำระ ต้องชำระค่าปรับ หากเพิกเฉย ต่อภาษีรถยนต์ประจำปี ได้ใบแทนภาษีชั่วคราวใช้ได้ 30 วัน หากเพิกเฉยพ้นกำหนดอีก มีโทษเพิ่ม ขับรถไม่แสดงแผ่นป้ายเสียภาษี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และตัด 1 คะแนน

(28 มี.ค.66) พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. เปิดเผยว่า  “ตามที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้ลงนามร่วมกรมการขนส่งทางบก เชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก เพื่อลดการกระทำผิดกฎหมาย ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีความห่วงใยต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งมีการแถลงข่าว และประชาสัมพันธ์ไปแล้วนั้น

ที่ผ่านมา ทั้ง 2 หน่วยงาน ได้ร่วมกันกำหนดมาตรการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก จำนวน 2 มาตรการ ได้แก่ 

มาตรการที่ 1 การตัดคะแนนความประพฤติ ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปตั้งแต่ 9 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา 

มาตรการที่ 2 คือมาตรการชะลอการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย.2566  สำหรับรถที่มีใบสั่งค้างชำระ ตาม 141/1 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522  ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อมูลใบอนุญาตขับขี่ ข้อมูลยานพาหนะ และข้อมูลใบสั่งค้างชำระ เพื่อให้เกิดการบูรณาการข้อมูลได้แบบ Real Time

สำหรับมาตรการชะลอเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี จะใช้กับรถยนต์ที่มีใบสั่งจราจรที่ค้างชำระ ซึ่งเพิกเฉยไม่ชำระค่าปรับตามที่กำหนด โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะส่งข้อมูลโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ไปยังนายทะเบียนกรมการขนส่งทางบก เมื่อประชาชนไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นายทะเบียนจะรับต่อภาษีประจำปี แต่ยังไม่ได้รับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษี (ป้ายภาษี) โดยจะได้หลักฐานชั่วคราวแทนป้ายภาษี ซึ่งมีอายุ 30 วัน เพื่อให้ผู้นั้นไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระให้ครบถ้วนภายใน 30 วัน แล้วจึงสามารถมารับป้ายภาษีได้ แต่หากประชาชนต้องการจะชำระค่าปรับในขณะต่อภาษี กฎหมายกำหนดให้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้นายทะเบียนสามารถรับชำระค่าปรับตามใบสั่งพร้อมกับชำระภาษี และรับเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีได้เลยทันที” 
   
โฆษก ตร. กล่าวว่า “ขอย้ำเตือนผู้ขับขี่ที่มีใบสั่งค้างชำระ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป เมื่อไปต่อภาษีรถยนต์ประจำปี นายทะเบียนรถยนต์จะไม่ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี หรือ ป้ายภาษี ให้ ผู้ขับขี่ที่ค้างชำระค่าปรับจะได้ใบแทนเสียภาษีชั่วคราว แทนใบจริง จนกว่าจะชำระค่าปรับให้ครบถ้วน ภายใน 30 วัน หลังรับใบแทน

ศลต.ตร.ย้ำเตือนประชาชนงดสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย มีสัญลักษณ์พรรคการเมือง - ผู้สมัคร เข้าคูหาเลือกตั้ง ส่วนภารกิจขนส่งบัตรเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ถึงที่หมายทั่วประเทศอย่างปลอดภัย

วันนี้ (10 พฤษภาคม 2566) พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการประจำสำนักงาน ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติศลต.ตร. เปิดเผยว่า พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พล.ต.อ.รอย  อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร./ผอ.ศลต.ตร. มีความห่วงใยเรื่องการหาเสียงของพรรคการเมือง และผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 นี้  สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย ศลต.ตร. จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนว่าการหาเสียงขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พุทธศักราช 2561 มาตรา 79 ห้ามมิให้ผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงโดยวิธีการใดไม่ว่าจะเป็นหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนการเลือกตั้งหนึ่งวัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง นั่นคือสามารถโฆษณาหาเสียงได้ถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 เท่านั้น

นอกจากนี้ ศลต.ตร. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน ตามที่กรมประชาสัมพันธ์ได้ประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนทราบ โดยเน้นย้ำในเรื่องของการงดเว้นแสดงสัญลักษณ์ที่เข้าข่ายเป็นการโฆษณาหาเสียง โดยการสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย กระเป๋า หมวก ที่มีโลโก้ หมายเลข สัญลักษณ์พรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ส.ส. ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พฤษภาคม 2566 โดยเฉพาะเมื่อเข้าไปในบริเวณหน่วยเลือกตั้ง และคูหาเลือกตั้ง เพราะอาจถือเป็นการโฆษณาหาเสียง เข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พล.ต.ท.นิธิธร ฯ กล่าวด้วยว่า วันนี้ (10 พฤษภาคม 2566) ภารกิจในการขนส่งบัตรเลือกตั้งเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จากศูนย์ไปรษณีย์ เขตหลักสี่ กทม. ไปยังจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศเรียบร้อยแล้ว โดยตั้งแต่เช้าวันนี้รถตำรวจทางหลวงได้นำขบวนรถไปรษณีย์ขนบัตรเลือกตั้งไปยังจังหวัดภาคกลาง กทม. และปริมณฑล ซึ่งเป็นชุดสุดท้าย ถึงที่หมายอย่างปลอดภัยแล้ว โดยรถไปรษณีย์ขนบัตรเลือกตั้งทุกคันมีตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมอาวุธ และเสื้อเกราะทำหน้าที่ดูแลคุ้มกัน มีรถตำรวจทางหลวงนำ และปิดท้ายขบวน มีกำลังตำรวจท้องที่คอยดูแลระหว่างจอดพัก และคอยดูแลความปลอดภัยตลอดเส้นทาง และยังควบคุมการเดินทางโดยระบบ GPS ติดตาม แจ้งพิกัดแบบเรียลไทม์ อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ (11 พฤษภาคม 2566) จะเป็นวันแรกของการส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ลงคะแนนแล้ว ผ่านการคัดแยกเรียบร้อยไปยังหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศ โดย ศลต.ตร.สนับสนุนภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พี่น้องประชาชน   

ทั้งนี้ หากประชาชนมีเบาะแส ข้อมูล สามารถส่งมาได้ที่เฟซบุ๊ก ศูนย์โซเชียลมีเดีย ศปก.ตร. หรือสามารถแจ้งตำรวจได้ที่สถานีตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธร ทุกแห่ง หรือ โทร.191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ แจ้งสายด่วน กกต. 1444

ตำรวจไซเบอร์ เตือนประชาชน CF สินค้าผ่านไลฟ์สดเฟซบุ๊ก ระวังถูกเพจปลอมสวมรอยหลอกให้โอนเงิน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่าที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายรายตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ จากการถูกหลอกลวงขายสินค้าผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบของการซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า เนื่องจากผู้เสียหายถูกมิจฉาชีพใช้เพจร้านค้าปลอมที่สร้างเลียนแบบเพจร้านค้าจริงติดต่อมาหลังจากที่ผู้เสียหายได้ทำการสั่งซื้อสินค้าในระหว่างการไลฟ์สดของเพจร้านค้าต่างๆ โดยผู้เสียหายจะพิมพ์รหัสสินค้าที่ต้องการจะจองสั่งซื้อ (CF, Confirm) หากผู้เสียหายเป็นผู้ได้รับสิทธิในการซื้อสินค้าดังกล่าว จะมีข้อความจากระบบตอบรับอัตโนมัติของเพจจริงแจ้งมายังกล่องข้อความ (Inbox) บัญชีเฟซบุ๊กของผู้เสียหาย เพื่อยืนยันคำสั่งซื้อสินค้า แจ้งรหัสการสั่งซื้อ ราคา และช่องทางการชำระเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้มิจฉาชีพได้แฝงตัวอยู่ในเพจจริงดังกล่าว เมื่อเห็นผู้เสียหายสั่งซื้อสินค้าแล้วจะฉวยโอกาสใช้เพจปลอมติดต่อไปยังบัญชีเฟซบุ๊กผู้เสียหาย โดยแอบอ้างเป็นร้านค้าจริง ส่งหมายเลขบัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ที่เตรียมไว้ให้ผู้เสียหายทำการโอนเงิน เมื่อผู้เสียหายไม่ได้ระมัดระวัง เพราะเห็นว่าเป็นชื่อเพจ รูปโปรไฟล์เพจใกล้เคียงหรือเหมือนกับเพจจริง จึงทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเพจร้านค้าจริง จึงทำการโอนเงินชำระค่าสินค้าไปให้มิจฉาชีพ กระทั่งภายหลังทราบว่าถูกหลอกลวงและได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้ จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 - วันที่ 14 ต.ค.66 พบว่า การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 137,719 เรื่อง หรือคิดเป็น 40.12% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 1 โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 4 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รองลงมาจากการหลอกลวงให้ลงทุน การข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) และการหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงาน

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. โดยกำชับการขับเคลื่อนนโยบายในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว มิจฉาชีพมักจะมองหาเพจขายสินค้าที่มีชื่อเสียง หรือมีผู้ติดตามจำนวนมาก แล้วคัดลอกภาพโปรไฟล์ ตั้งชื่อเลียนแบบ หรือตั้งชื่อคล้ายกับเพจจริง เพื่อหลอกลวงประชาชน ที่ผ่านมา บช.สอท. ได้เร่งปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง มีคดีสำคัญๆ หลายคดี สามารถทำการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้หลายราย ตรวจยึดของกลางได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ถึงแม้จะมีข้อดีหลายๆ ประการ แต่ก็เป็นช่องทางหนึ่งให้มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ

จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ พร้อมแนวทางการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้

1.พึงระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ หลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง
2.ระวังการได้รับแจ้งว่าเป็นผู้โชคดี ได้รับสิทธิพิเศษ หรือได้รับรางวัลต่างๆ แต่มีการให้โอนเงินไปก่อนถึงจะได้รับสินค้า โดยมีการอ้างว่าเป็นค่าภาษี ค่าธรรมเนียม ฯลฯ อย่าได้โอนเงินเด็ดขาด
3.ระวังช่องทางขายสินค้าปลอม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพจเฟซบุ๊กปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบเพจจริง โดยเพจจริงควรจะมีผู้ติดตามสูง มีการสร้างขึ้นมานานแล้ว มีรายละเอียดการติดต่อร้านชัดเจนสามารถโทรศัพท์ไปสอบถามได้
4.หากต้องการซื้อสินค้ากับเพจเฟซบุ๊กใด ให้ไปที่ความโปร่งใสของเพจ เพื่อตรวจสอบก่อนว่าเพจนั้นมีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ มีผู้จัดการเพจ หรือผู้ดูแลอยู่ในประเทศหรือไม่
5.เมื่อสนใจต้องการซื้อสินค้ากับเพจใดๆ ควรจะส่งข้อความไปยังเพจจริงนั้นก่อน ระหว่างหรือหลังการไลฟ์สดหากมีเพจใดๆ ติดต่อมาแล้วไม่มีประวัติการสนทนา เชื่อได้ว่าเป็นเพจปลอมของมิจฉาชีพอย่างแน่นอน
6.ทุกครั้งก่อนโอนชำระเงินค่าสินค้า ให้ตรวจสอบประวัติของร้าน และชื่อหมายเลขบัญชีธนาคารที่รับโอนเงิน ว่าเป็นช่องทางการรับเงินจริงหรือไม่ มีประวัติไม่ดีหรือไม่ โดยตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ค้นหาทั่วไป เช่น Google, Blacklistseller เป็นต้น
7.กดรายงานบัญชี หรือเพจในเฟซบุ๊กปลอม เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นหลงเชื่อ และตกเป็นเหยื่อ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top