Tuesday, 21 May 2024
เตรียมพัฒน์

‘หยก ธนลภย์’ ยัน ขอเรียนต่อที่ ‘เตรียมพัฒน์’ พร้อมเดินหน้าต่อ เรียกร้องสิทธิพื้นฐาน ทรงผม-สีผม-การแต่งกาย

‘หยก ธนลภย์’  ยืนยันจะเรียนที่โรงเรียนเตรียมพัฒน์ เพราะสอบเข้าที่นี่ได้ และได้มอบตัวไปแล้ว โดยหยกชี้แจงเรื่องมอบตัวว่าได้มอบตัวเสร็จสมบูรณ์ไปแล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2566 โดยได้จ่ายค่าเทอมเรียบร้อยแล้วและได้เรียนมา ประมาณ 1 เดือนแล้วและเดือนหน้าก็กำลังเตรียมตัวจะสอบ แต่ทางโรงเรียนกลับมาบอกว่าให้ออกเพราะไม่ใช่นักเรียน

นอกจากนี้ หยก ยังยืนยันที่จะเดินหน้าเรียกร้องเรื่องทรงผมและสีผม โดยมองว่าทรงผมและสีผมของเราก็ย่อมเป็นสิทธิพื้นฐานทางเนื้อตัวของเรา โดยยกกรณีศึกษาเคสล่าสุด อ้างอิงจากเพจอาณาจักรฟ้าขาว ที่มีเด็กนักเรียน เสียชีวิตจากการที่ถูกครูกดดันเรื่องทรงผม หยกมองว่าเคสนี้ไม่ใช่เคสแรกและก็จะไม่ใช่เคสสุดท้าย ถ้ายังมีกฎระเบียบเรื่องทรงผม และสีผม อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ การแต่งกายก็เป็นสิทธิพื้นฐานของเราเช่นเดียวกัน การแต่งกายนั้นไม่เกี่ยวกับการเรียนหยกยืนยันว่า ถึงจะแต่งชุดไปรเวทก็สามารถเรียนได้ ส่วนเรื่องพิธีกรรมต่างๆที่หยกไม่เข้าร่วมนั้นหยกมองว่าเป็นพิธีกรรมที่สืบทอดอำนาจนิยม อย่างเช่นพิธีไหว้ครูนั้นเราก็จ่ายค่าเรียนค่าเทอมเพื่อให้คุณครูนั้นได้มาสอนเรา การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างนั้นจะต้องมีจุดเริ่มต้น ถ้าหากไม่เริ่มวันนี้แล้วเราจะเริ่มวันไหน เมื่อสมัย 10 ปีก่อนก็มีพี่เนติวิทย์ทำ ช่วง 1-3 ปีที่แล้วก็มีกลุ่มนักเรียนเลวทำ มันไม่ใช่หยกที่เป็นจุดเริ่มต้นเพราะจุดเริ่มต้นนั้นมีมาตั้งนานแล้ว

‘หยก’ โวย ปีนรั้วเข้าโรงเรียนมาตั้ง 3 วันแล้ว ยืนยันเจตนา เดินหน้ายกเลิกการบังคับ แต่งกาย-ทรงผม

19 มิ.ย. 2566 – เพจเฟซบุ๊ก “นักเรียนเลว” โพสต์ข้อความว่า วันนี้ (19 มิ.ย.) เข้าสู่สัปดาห์ที่ 4 ของการย้อมสีผมและทำทรงผมตามสะดวกของหยก และเข้าสู่สัปดาห์ที่ 2 ของการแต่งไปรเวทมาเรียน แม้ทางโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการออกประกาศในช่วงวันหยุด ว่าหยกไม่มีสภาพเป็นนักเรียน ตนยืนยันว่าจะมาเรียน และมีสิทธิชอบธรรมตามที่ กสม. ยืนยันสิทธิดังกล่าว ส่วนตัวยังไม่อยากยื่นฟ้องโรงเรียนต่อศาล เพราะไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม

วันนี้หยกได้เดินเข้าโรงเรียนตามปกติ ไม่ต้องปีนเข้าอย่างที่ผ่านมา ขณะที่มีรายงานว่ามีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเดินเข้าโรงเรียน โดยยังไม่ทราบถึงเจตนา ตามที่ปรากฎบนสื่อเป็นชุดจับกุมหญิง มาพร้อมกับรถจับกุม เดินเข้าโรงเรียนจำนวนหลายนาย แต่โรงเรียนไม่ได้มีท่าทีปิดกั้นแต่อย่างใด
หยก ระบุว่า วันนี้ถูกผู้ปกครองของนักเรียนคนอื่นๆ ตำหนิระหว่างทางไปโรงเรียน และได้รับรู้ถึงกระแสการวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ ขอบคุณที่สังคมได้มีการโต้แย้งกัน ไม่ว่าจะโต้กันด้วยเหตุผลหรือไม่ก็ตาม ยืนยันเจตนาของการยกเลิก ‘บังคับ’ การแต่งกาย-ทรงผม ไม่ได้จะบังคับให้ถูกคนยกเลิกเหมือนที่ตนคิด

หยก กล่าวเสริมว่า หากวันนี้โรงเรียนมีการประชาพิจารณ์ ให้เด็กมีส่วนร่วมกับการออกแบบกฎระเบียบใหม่ โดยมีเงื่อนไขว่านักเรียนทุกคนต้องได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง แล้วหากผลออกมาให้คงไว้ซึ่งระเบียบเดิม ตนก็ยินดีที่จะทำตามเสียงส่วนมากนั้น เพราะที่ผ่านมามีปัญหากับการที่กฎระเบียบในโรงเรียนที่ถูกเขียนขึ้นโดยครูและผู้ใหญ่ มิใช่นักเรียนผู้ต้องรับคำสั่ง ปฏิบัติตามกฎนั้น ซึ่งไม่สมเหตุสมผล

ก่อนจบการสัมภาษณ์ หยกได้ให้ความเห็นถึงการออกแถลงการณ์ของพรรคก้าวไกลว่า ค่อนข้างล่าช้า ในขณะที่ตนปีนเข้าโรงเรียนมา 3 วันแล้ว ทั้งๆ ที่ทางพรรคก้าวไกลมีนโยบายชัดเจนเรื่องการแก้ไขให้กฎระเบียบการแต่งกายของนักเรียนนั้นยืดหยุ่นผ่อนปรนมากขึ้น

‘คุณปลื้ม’ ชี้ ‘หยก’ ต้องเรียนวิชา ‘จริยศาสตร์’ มองเป็นสิ่งที่ขาดอยู่ ในหมู่นักเคลื่อนไหว ไม่เคารพกติกา-ไร้มรรยาท

วันที่ 20 มิ.ย. 2566-หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือ “คุณปลื้ม” พิธีกร และผู้ดำเนินรายการข่าว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก M.l. Nattakorn Devakula แสดงความคิดเห็น กรณี “หยก ธนลภย์” ระบุว่า ไม่ต้องการเรียนวิชาศีลธรรมเพราะผู้ใหญ่เรียนกันมาก็ยังทุจริตคอรัปชั่น? เป็นบทสรุปที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ การศึกษาทุกยุคทุกสมัย ทุกชาติ ทุกภาษา ต่างให้ความสำคัญในการสอนวิชาในกลุ่ม “จริยศาสตร์” (Ethics) กันทั้งนั้น

เด็กซึ่่งเรียนในระบบการศึกษาไทยนั้นโชคดีที่ได้มีหลักสูตรด้านนี้ตั้งเเต่ช่วงมัธยมทั้งที่ในหลายประเทศกว่าจะได้มีโอกาสเลือกวิชาประเภทนี้คือช่วงเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเเล้วบังเอิญอาจได้เลือกเรียนวิชาทางด้านปรัชญาหรือศาสนา เอาจริงๆเเล้วมันคือหนึ่งในเเขนงวิชาที่สำคัญที่สุดสำหรับเด็กที่ต้องเติบโตขึ้นมาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสังคมมีเเต่ผู้ใหญ่ที่พร้อมใช้โอกาสเเสวงหาอำนาจเเละความนิยมให้กับตนเอง

จริยศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยความดี ความชั่ว ความถูก ความผิด สิ่งที่ควรเว้นสิ่งที่ควรทำ

เอาง่าย ๆ มันคือวิทยาศาสตร์เเห่งความผิดชอบชั่วดี ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่ขาดอย่างมากในหมู่นักเคลื่อนไหวซึ่งไม่เคารพกติกาเเละไร้มรรยาทอยู่ ณ เวลานี้ มันคือศาสตร์ที่ว่าด้วยศีลธรรมหลักศีลธรรมเเละกฎที่ว่าด้วยความประพฤติและพฤติกรรม

นอกเหนือไปจากนั้น ถึงเเม้ว่าผู้ใหญ่ทางการเมืองเเละเอ็นจีโอหลายท่านไม่ได้มีโอกาสสอนเด็กๆเรื่องนี้ เยาวชนควรมองให้เห็นคุณค่าของวัฒนธรรมในการจะช่วยจรรโลงโลก จรรโลงศีลธรรม จริยธรรม ด้วยหัวใจสำคัญที่เราเรียกกันว่า “รสนิยม” รสนิยมสะสมคือผลพวงจากการปลูกฝังทางด้าน ศิลปะวัฒนธรรม (ศิลปะวัฒนธรรมที่หลากหลายในทุกแขนง) รสนิยมสะสมนี้จะช่วยชี้ทางผิดชอบชั่วดี และที่สำคัญที่สุดก็คือ รสนิยมสะสมนี้ จะช่วยบอกเราเรื่อง “กาลเทศะ” และ “อะไรควร อะไรไม่ควร” และ “ความพอเหมาะพอดี” สิ่งเหล่านี้เป็น อัตวิสัย (Subjectivity) ที่จะใช้กำกับกรอบแห่งความพอเหมาะพอดี ที่เราจะต้องมีสำนึกขึ้นมาเพื่อควบคุมตนเองให้อยู่ในความพอเหมาะได้

ในชีวิตนี้จะมีแต่คำว่าสิทธิเสรีภาพอย่างเดียวไม่ได้ กรุณาหากรอบความคิดที่ครบถ้วนกระบวนความเเละรอบด้านกว่านี้ ที่เหมาะสมเสียกว่า เเล้วร่วมกันถ่ายทอดสิ่งนั้นถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน การรู้ดีเเละเฮ้าเลี่ยนด้าน “เสรีภาพ” เพียงอย่างเดียวมันไปไม่รอด ทั้งในตัวบุคคลเเละสังคม นี่ผมไม่ได้เทศนาเด็กวัย 15 ปีอยู่เเต่กำลังสื่อสารถึงบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ที่อาบน้ำร้อนมาก่อนเเต่ในวันนี้กลับคิดไม่เป็นเพราะไม่กล้าเสียสิ่งที่เรียกว่า ‘Personal Popularity’ เเละ ‘Political Convenience’

‘หยก’ แจง เหตุตัดสินใจไปค่าย เพราะเห็นว่าโรงเรียนทำไม่ถูกต้อง รับ ตกใจที่ครูให้ นร.มีส่วนร่วม พร้อมเปรียบ เหตุการณ์นี้เหมือน 6 ตุลา 19

(1 ก.ย. 66) จากกรณี ‘หยก น.ส.ธนลภย์’ อายุ 15 ปี เยาวชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง สมาชิกกลุ่มทะลุวัง อดีตผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุด ต้องการไปขึ้นรถบัสไปค่ายเรียนภาษาจีน ของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ แต่ทางครูไม่ให้หยกไป เพราะหยกไม่มีสถานภาพนักเรียนและไม่ได้จ่ายค่าเทอม (เพราะคืนค่าเทอมไปแล้ว) จึงพยายามให้หยกลงจากรถ เพื่อนหยกจึงช่วยกันอุ้มลงจากรถ

‘หยก น.ส.ธนลภย์’ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า…

“หนูตัดสินใจไปค่ายเพราะหนูยังคงเห็นว่าโรงเรียนทำไม่ถูกที่คืนเงินมาเงียบๆ แล้วถือว่าหนูไม่ใช่นักเรียนแล้ว หนูยืนยันว่าโรงเรียนไม่เคยมีหนังสือทางการแจ้งหนู ไม่เคยไล่หนูออก มีแต่ไปป่าวประกาศกับสังคม ไม่เคยให้มีส่วนร่วม

ครูไม่ให้หนูไปค่ายและบอกว่าหนูไม่ใช่นักเรียนแล้ว เพราะคืนเงินมาแล้ว ครูให้เพื่อนๆ ช่วยกันอุ้มหนูลงมาจากรถ ครูถามเพื่อนว่ามีใครยังอยากให้หยกเรียนต่อมั้ย เพื่อนๆ ร่วมกันตอบว่า “ไม่” มีคนปรบมือดีใจ ตอนที่เพื่อนอุ้มหนูลงจากรถ

หนูรู้สึกตกใจ หน้าเสียกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่พยายามยิ้ม หนูตกใจที่ครูให้เพื่อนเข้ามามีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ และให้เพื่อนเข้ามาเป็นคนออกหน้า รวมถึงใช้วิธีให้เพื่อนๆ ทำอะไรแบบนี้

วันนี้โรงเรียนเอาตำรวจมากำจัดหนูด้วยเช่นกัน ตำรวจช่วยโรงเรียนกันหนูออกหลังจากครูให้เพื่อนเป็นคนมาอุ้ม กำจัดหนูออกจากรถและเพื่อนหลายๆ คนตบมือ หรือยิ้มดีใจเห็นด้วย

สวัสดีวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ณ โรงเรียนเตรียมพัฒน์

ขอบคุณโรงเรียน พี่ตำรวจและครูมากๆ ค่ะ บทเรียนนี้หนูจะไม่ลืม

‘หยก’ โพสต์ทวงความชัดเจนสถานภาพจากโรงเรียน จี้ถาม “ทำไมคุณครูปล่อยเพื่อนๆ ทำอะไรต่างๆ กับหนู”

เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 66 จากเฟซบุ๊ก ‘Thanalop Phalanchai’ ของ ‘หยก ธนลภย์’ เยาวชนนักเคลื่อนไหวการเมืองและผู้ต้องหา ม.112 อายุ 15 ปี ได้โพสต์ข้อความระบุว่า...

โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ 6 กันยายน 2566

วันนี้หนูมาโรงเรียน ที่โรงเรียนให้หนูเข้ามาที่ห้อง แต่ห้องปิดไฟ ดับไฟ ไม่มีใครอยู่ในห้อง แต่ห้องข้างๆ เรียนกันอยู่ แต่ห้องหนูเพื่อนหายไปหมด หนูมาทราบทีหลัง ผู้ปกครอง-ครู บอกว่า “เพื่อนไม่สบาย”

หนูเลยนั่งเรียนพยายามอ่านหนังสือไปเอง ไม่ได้ไปตามหาว่าเพื่อนไปไหน สักพักจากนั้นผู้ปกครองของเด็กที่อุ้มหนูก็เข้ามา ผู้ปกครองคนอื่นก็เข้ามา รอง 2 คนของโรงเรียนก็เข้ามา เขาเริ่มพูดถึงด้วยการว่าพี่บุ้ง และบอกว่าคนแบบนี้สุดท้ายเป็นยังไง ก็ต้องลี้ภัย จนหนูทนไม่ไหวเลยไปนั่งริมหน้าต่าง แล้วบอกให้เขาออกไป ตอนแรกเขาก็ออก แต่ต่อมาก็เอาครูคนอื่นมาพูดใส่หนู หนูเลยใส่หูฟังนอนก้มหน้าหลับตาไป

ช่วงประมาณก่อนเที่ยง หนูหลับไป อาจเป็นเพราะไม่ค่อยสบาย พี่คนนึงที่มาก็ขึ้นมาดูหนู แต่หนูไม่รู้ หนูหลับอยู่ พี่อีกคนที่ตามมาดูหนูก็เดินเข้ามา หนูถามว่าเข้ามาได้ไง พี่เค้าก็เล่าว่าหน้าโรงเรียนมีคนให้เข้ามาเลย พอผ่านประตูมาก็มีครูมารับแล้วพาเดินมาหาหนู หนูก็นั่งในห้องเรียน พี่เค้าอยู่ด้วย ส่วนครูกับผู้ปกครองที่เคยเดินเข้ามาว่าก็ไม่มาแล้วพอพี่เขามา ต่อมาก็มีเพื่อนนักเรียนผู้หญิงสองคนนั่งเฝ้าหน้าห้อง แต่หนูไม่รู้ว่ามาเองหรือโรงเรียนให้มานั่งเฝ้า จนบ่ายสามโมง เวลาเลิกเรียนหนูก็ออกมา

หนูเห็นสมาคมผู้ปกครองโรงเรียนออกจดหมายถึงหนู หนูเห็นด้วยกับสิ่งที่เค้าเรียกร้องกับโรงเรียน เรื่องขอความชัดเจนในสถานะของหนู เพราะหนูก็อยากรู้ หนูก็เห็นว่าการไม่แจ้งอะไรเป็นตัวหนังสือหลักฐานมาเลย แต่ก็อ้างว่าอยากช่วย ‘เด็กที่ไม่มีชื่อในระบบ’ ให้เริ่มต้นใหม่ คือการให้หนูมาเจออะไรแบบนี้เหรอ ทำไมหนูถึงไม่มีชื่อ เป็นความผิดใคร มอบตัวแล้วเกิดความผิดพลาดไม่ให้เรียนอยู่ๆ ก็คืนเงินได้เลยใช่ไหม โรงเรียนมีแผนการอะไรหรือให้ความชัดเจนอะไรได้ และทำไมมันถึงไม่มีความชัดเจนมาจนวันนี้ คือโรงเรียนอาจจะเคยไปบอกเพื่อนๆ ลับหลังหนูว่าหนูไม่ใช่นักเรียน แต่หนูไม่เคยได้เอกสารแจ้งชัดเจนเลยนะคะ และไม่มีการอธิบายด้วยว่าเพราะอะไรถึงมอบตัวไม่สำเร็จ แค่เพราะไม่มีผู้ปกครองมาใช่ไหม

นอกจากเห็นด้วยกับสมาคมผู้ปกครองในเรื่องนี้แล้ว หนูอยากเรียกร้องพ่อแม่ของเพื่อนๆ คนอื่นเหมือนกัน ว่าบางทีครูอาจจะทำไม่ถูก บางเรื่องที่เป็นความไม่ปลอดภัยหรือการสนับสนุนพฤติกรรมของนักเรียน คุณครูไม่น่าจะทำ และคุณพ่อคุณแม่ของเพื่อนๆ น่าจะต้องเป็นกังวลกับเรื่องนี้ ที่คุณครูปล่อยหรือสนับสนุนให้เพื่อนๆ ทำอะไรต่างๆ กับหนู

สุดท้าย จดหมายที่สมาคมผู้ปกครองบอกให้หนู “ขอโทษ” หนูไม่เห็นด้วยเลย หนูเองไม่เคยได้รับคำอธิบายจากศาลเยาวชนฯ จากบ้านปรานีฯ จากโรงเรียน จากคุณครู ไม่เคยมีใครบอกอะไรกับหนู และไม่เคยมีใครมาขอโทษหนูเหมือนกัน กับทุกๆ เรื่องที่ผ่านมา และหนูคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นกับหนูไม่ใช่เรื่องปกติ และนอกจากหนูในโรงเรียนนี้แล้วก็มีเด็กคนอื่นๆ ที่เจอเรื่องแบบนี้อยู่ทั่วประเทศ เช่นเด็กที่ถูกพักการเรียน 1 ปี เพราะใส่ชุดไปรเวท 1 วัน หรือเด็กที่โรงเรียนทำให้ออกจากโรงเรียน เพราะโดนมาตรา 112

หนูไม่ใช่คนไม่กล้าที่จะพูดคำว่าขอโทษ หนูเคยพูดคำนี้ในชีวิตมาแล้ว เมื่อพิจารณาแล้วมีเหตุผลสมควรที่จะพูด คำว่าขอโทษ ถ้าสมควรจะพูดหนูก็สามารถพูดได้ ไม่ต้องใช้ความกล้าหาญใดๆ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top