Tuesday, 29 April 2025
เด็กเกิดน้อย

‘คิม จองอึน’ น้ำตาแตก!! วอนคุณแม่เกาหลีเหนือปั๊มลูกเพิ่ม หลังอัตราการเกิดน้อยลง ย้ำ!! เป็นหน้าที่ของทุกคน

เมื่อวานนี้ (6 ธ.ค.66) สำนักข่าว The Independent รายงานว่า ‘คิม จองอึน’ ผู้นำเกาหลีเหนือ ได้หลั่งน้ำตาต่อหน้าคุณแม่ชาวเกาหลีเหนือนับพันคน ที่เข้าร่วมงานวันแม่แห่งชาติ ณ กรุงเปียงยาง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา หลังเขาขอให้พวกเธอช่วยเพิ่มประชากรเด็กแรกเกิด เพื่อหยุดการลดลงของอัตราการเกิดของประเทศ

โดยตอนหนึ่ง ‘คิม จองอึน’ ได้หยิบผ้าเช็ดหน้าขึ้นมาซับที่ดวงตา แล้วกล่าวกับพวกเธอว่า การเพิ่มอัตราการเกิด การดูแลเด็กที่ดี ตลอดจนงานบ้านเป็นหน้าที่ของคุณแม่ ซึ่งในประเทศเกาหลีเหนือคุณแม่ยังมีงานสังคมที่ต้องเข้าร่วมด้วย นั่นก็คือการเลี้ยงดูลูกให้พวกเขาสืบทอดระบบคอมมิวนิสต์ต่อไป สร้างเสริมความสามัคคีในครอบครัวและสังคม หยุดการลดลงของอัตราการเกิด และดูแลเด็กให้ดี ให้การศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) คาดการณ์ว่า อัตราการเจริญพันธุ์ หรือจำนวนเด็กโดยเฉลี่ยที่เกิดจากผู้หญิงในเกาหลีเหนือ อยู่ที่ 1.8 เท่านั้น ท่ามกลางอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่องรับทศวรรษ ทว่ายังคงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านของเกาหลีเหนือที่มีแนวโน้มลดลงคล้ายกัน เช่นที่ เกาหลีใต้ อัตราการเกิดในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 0.78 และประเทศญี่ปุ่น ที่หยุดอยู่ที่ 1.26

โดยอัตราการเกิดที่ลดลงนี้ ส่งผลให้เกาหลีใต้ขาดแคลนกุมารแพทย์ บางเมืองยังได้จัดอีเวนต์จับคู่ เพื่อกระตุ้นอัตราการเกิดของประชากรในประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม สถาบันวิจัยฮุนได ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ รายงานว่า ประเทศเกาหลีเหนือ มีประชากรประมาณ 25 ล้านคน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ซึ่งส่วนมากมาจากการเผชิญภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้พืชผลเสียหาย กระทบต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ประกอบกับในช่วงปี 1970-1980 เกาหลีเหนือยังได้กำหนดโครงการคุมกำเนิด เพื่อชะลอการเติบโตของประชากรหลังสงคราม และความอดอยากได้ฆ่าประชากรไปมากกว่าแสนคน

ขณะที่ในปัจจุบันเกาหลีเหนือยังขาดแคลนทรัพยากร และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จึงอาจเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นฟูและพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต หากไม่มีการจัดหาแรงงานที่เพียงพอ

'วราวุธ' ชี้!! 'ไทย' ก้าวสู่ภาวะเสี่ยงจากปัญหาโครงสร้างประชากร  'เด็กเกิดใหม่น้อย-วัยแรงงานลด-สูงวัยเพิ่ม' ทุกภาคส่วนต้องตื่นตัว

(12 ม.ค.67) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดโครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง 'ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศไทย' ที่มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารโลก วิทยาลัยประชากรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

นายวราวุธ กล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้ประเทศไทยอาจจะยังไม่ค่อยตื่นตัว ไม่ค่อยตื่นเต้น ไม่ค่อยตระหนักรู้ ว่าปัญหาโครงสร้างประชากรต่อความมั่นคงของมนุษย์ของประเทศไทยนั้นหนักหนาเพียงใด ซึ่งต้องขอขอบคุณปลัด พม. เพื่อนข้าราชการกระทรวง พม. ที่ทำให้รู้สึกว่านี่คือ คลื่นลูกใหญ่ที่มีความหนักหนาไม่แพ้ปัญหาอื่นๆ

นายวราวุธ กล่าวว่า อีก 10 ถึง 20 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน เพราะจะเชื่อมไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนไทยทั้ง 65 ล้านคนในวันนี้ ไปจนถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ สังคม จุดยืนของประเทศไทย ศักยภาพทางการค้าของประเทศไทย จะอยู่ที่ตรงไหน 

เหล่านี้คือ ปัญหาที่อีกไม่นานเกินรอพวกเราคนไทยจะได้รับรู้ และเป็นหน้าที่ของกระทรวงพม. และผู้เชี่ยวชาญ ต้องมากระตุกต่อมให้คนไทยได้รับรู้ก่อนว่ามันคือ ระเบิดเวลาลูกใหญ่ไม่แพ้อีกหลายๆ ปัญหา 

นายวราวุธ กล่าวว่า สถาบันอนาคตไทยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรนั้นมีความท้าทายต่อการพัฒนาและออกแบบนโยบายด้านสังคมเป็นอย่างมาก ประชากรน้อยลง ในขณะที่ผู้สูงอายุมีมากขึ้น แล้วใครจะมาเป็นคนจ่ายเงินเข้ากระเป๋าสำนักงบประมาณ ตนเคยให้สัมภาษณ์ว่าเงินเข้าไม่มี เพราะจากคนเสียภาษีในประเทศไทย 65 ล้านคน เสียภาษีอยู่ 4.5 ล้านคน แล้วจะเอาเงินจากไหน ดราม่าก็บังเกิด แต่นี่คือเรื่องจริง และเป็นสิ่งที่คนไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงประชากรจะเป็นตัวกระทบและกำหนดนโยบายทางด้านสังคม สวัสดิการ และเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้

นายวราวุธ กล่าวว่า "วันนี้เรามีอัตราเด็กแรกเกิดที่น้อยลง อีกไม่นานปัญหาเรื่องแรงงานก็จะเข้ามา ในขณะที่ผู้สูงอายุหรือ ผู้มากประสบการณ์ ก็จะมีมากขึ้น คนใช้สวัสดิการมากขึ้นแต่คนเอาเงินเข้ากองทุนน้อย แล้วเราจะเอาคนกลุ่มไหนมาจ่ายเงินให้กับสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพราะแหล่งรายได้เดียวของประเทศ คือภาษี ในเมื่อคนทำงานน้อยลงแล้วเราจะเอาใครมาจ่าย วันนี้จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวง พม. 

"ดังนั้นงบประมาณปี 2568 ต้องเป็นกรอบงานของกระทรวง พม. เราจะต้องเปลี่ยนบริบท การทำงานของกระทรวงไม่ใช่กระทรวงสังคมสงเคราะห์ แต่มีหน้าที่สร้างศักยภาพให้กับคนกลุ่มเปราะบาง คนสูงอายุผู้มากประสบการณ์ คนพิการ"

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า "คนสูงอายุผู้มากประสบการณ์นั้นก็มีแบ่งช่วงได้ 3 ช่วง ต้น กลาง ปลาย แต่ศักยภาพของคนกลุ่มนี้ 60-75 ปี ยังมีทั้งกำลังกายและกำลังสมอง เหลือเพียงอย่างเดียวคือกำลังใจที่จะเข้ามาทำงาน ดังนั้นเป็นหน้าที่ของพวกเราในการสร้างความตระหนักให้ทุกหน่วยงานของภาครัฐ เพราะ พม. เพียงกระทรวงเดียวทำงานไม่ได้ต้องร่วมมือ กับกระทรวงแรงงาน มหาดไทย หน่วยงานราชการต่างๆ 

นายวราวุธ กล่าวว่า ตนขอบคุณปลัดพม.ที่ได้เซ็นต์ MOU กับกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ประกอบด้วย 5 มหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ ตนจึงอยากให้โครงการนี้สำเร็จให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2567 และในปีงบประมาณ 2568 ตนฝันไว้ว่า พม. กับ อว. เซ็นต์ MOU กับ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ แล้วทำให้ผู้พิการปีละกว่าแสนคนได้มีงานทำขึ้นมา นี่คือการทำให้คนกลุ่มเปราะบางเป็นคนไม่เปราะบางอีกต่อไป 

”คนกลุ่มเปราะบาง คนพิการ หรือผู้สูงอายุ ผู้มากประสบการณ์ ไม่ใช่คนด้อยโอกาส แต่เราต้องหาโอกาสให้เขา และนำคนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย จะบอกว่าอายุมากแล้ว เกษียณแล้ว แล้วยังต้องจับมาทำงานอีกหรือ ถ้าพูดแบบกำปั้นทุบดินก็คงใช่ เพราะไม่มีใครทำงานแล้ว แต่ถ้าเทียบกับบางประเทศในยุโรปหลายคนคงทราบว่าเขาเจอปัญหานี้แล้ว รัฐสวัสดิการในบางประเทศที่ดูแลดีมาก คนเจ็นวาย ที่เป็นคนจ่ายเงินภาษีอย่างมหาศาล 30-40% บอกว่าฉนไม่ทำแล้ว ขอรีไทร์ดีกว่าเพื่อไปใช้รัฐสวัสดิการ หากทุกคนรีไทร์ไปหมดแล้วใครจะทำงาน นำเงินมาเข้ากระเป๋าภาครัฐ” นายวราวุธ กล่าว

“ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของกระทรวง พม. ที่จะต้องทำอย่างไรเพื่อกระตุ้นต่อม ความตระหนักรับรู้ ให้สังคมได้เข้าใจว่าปัญหาที่เรากำลังจะพบเจอในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไม่ใช่เพียงปัญหาเด็กเกิดใหม่น้อย ไม่ใช่เพียงแต่จะทำให้เด็กเกิดใหม่เป็นวาระสำคัญของรัฐบาล แค่นั้นไม่พอ การที่จะทำให้คนรุ่นใหม่มีความอยากที่จะมีครอบครัว มีความอยากมีลูกมีผู้สืบสกุลต่อไป แต่ต้องพูดถึงสังคมที่มีความอบอุ่น สังคมที่มีความ มีการศึกษาที่ดี เติบโตขึ้นมาแล้วจะเป็นบุคลากร เป็นทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยที่สำคัญ เมื่อองค์ประกอบต่างๆ ครบ คนรุ่นใหม่ไม่ว่าเจนไหน อยากมีลูกกันทั้งนั้น อยากมีผู้สืบสกุลต่อไป คงไม่มีใครอยากให้ครอบครัวเราจบที่รุ่นเรา เรื่องประชากรอย่าให้จบที่รุ่นเรา อย่าง ศิลปอาชา ของผมตอนนี้มี 3 คนแล้ว ดังนั้นปลอดภัย ศิลปอาชา ยังมีต่อ สำหรับครอบครัวอื่นเราต้องมาสร้างความเข้าใจและให้กำลังใจกัน ปัญหาประชากรจะแก้เมื่อเกิดขึ้นแล้วคงไม่ทัน ต้องแก้ปัญหาก่อนที่จะเกิด ดังนั้นสิ่งที่เราทำคือเรากำลังจะมาป้องกันไม่ให้ปัญหาโครงสร้างประชากรกลายเป็นปัญหาที่บั่นทอนศักยภาพของประเทศไทยบนเวทีโลก“ นายวราวุธ กล่าว


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top