Wednesday, 26 June 2024
เดชอิศม์ขาวทอง

ศึกชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค สะเทือนค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์-เดชอิศม์’ ใครจะได้เป็นผู้กุมบังเหียนประชาธิปัตย์

เริ่มชัดขึ้นแล้วสำหรับศึกชิงหัวหน้าประชาธิปัตย์ มาถึงวันนี้ น่าจะเหลือเพียงสองคนชิงดำกัน ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จ้องจะเข้ามานานแล้ว วนเวียนพูดอยู่ตามเวทีเสวนาต่างๆ กับ ‘เดชอิศม์ ขาวทอง’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้

เดิมมีชื่อปรากฏผู้ที่จะลงชิงอยู่ 3-4 คน ตามที่เคยบอกกล่าวไปบ้างแล้ว นายเดชอิศม์ ขาวทอง หรือ ‘นายกฯ ชาย’ รองหัวหน้าพรรคภาคใต้ ที่กล่าวอ้างว่า มี ส.ส.มากถึง 17 คน ให้การสนับสนุน มีแรงเชียร์จากชัยชนะ เดชเดโช รองเลขาธิการพรรค น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ ‘มาดามเดียร์’ ผู้สนับสนุนเป็นกลุ่มเดียวกับที่เชียร์นายกฯ ชาย ถ้าคนใดคนหนึ่งถอยอีกคนจะสู้แทน แต่มาดาเดียร์น่าจะขาดคุณสมบัติ เพราะเพิ่งเข้าไปเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ครบ 5 ปี ตามข้อบังคับพรรค แต่ข้อบังคับพรรคมีการเปิดช่องให้ยกเว้นการบังคับใช้ได้ด้วยมติ 3/4 ของที่ประชุมใหญ่ แต่ยังถือว่า ‘อ่อนพรรษาทางการเมือง’ ด้วยอายุเพียง 37 ปี และเป็น ส.ส.1 สมัย และไม่ใช่ในนามพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ มาดามเดียร์จึงน่าจะไปสนับสนุนนายอภิสิทธิ์มากุมบังเหียนพรรค

น.ส.จิตภัสร์ กฤดากร ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าใครสนับสนุนบ้าง แต่ภาพลักษณ์ดี เป็นคนรุ่นใหม่ มีคุณสมบัติครบ และ ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ รองเลขาธิการพรรค บารมียังน้อย แต่ทำงานใกล้ชิดนายชวน หลีกภัย ในฐานะเลขานุการประธานรัฐสภา ดร.อิสระ จะโดดเด่นขึ้นมาได้ ต้องได้รับการสนับสนุน หรือแรงเชียร์จากผู้อาวุโสในพรรคเท่านั้น ผลงาน 4 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ปรากฏชัด ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ไม่ใช่ตัวชูโรง ถึงที่สุดแล้ว น่าจะถอยตามคำขอของผู้อาวุโส

โดยทั้งหมดเรียกว่าเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ต้องการให้เข้ามากอบกู้วิกฤตพรรค ก่อนหน้านี้อาจจะมีชื่อ ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ด้วยประวัติส่วนตัวบางอย่างยังคลุมเครือ จึงล่าถอยไปก่อน กลัวจะถูกขุดคุ้ยไม่ต่างจากพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของอดีต ส.ส.และผู้อาวุโสของพรรคทั้งนายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรค ต่างเห็นว่าผู้ที่เหมาะสมจะมากอบกู้ฟื้นฟูพรรคในเวลานี้มีเพียงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายอภิสิทธิ์ได้แจ้งต่อผู้ใหญ่ในพรรคแล้วว่าถ้าจะกลับมานำพาพรรคต้องเป็นฉันทานุมัติของคนในพรรคที่เห็นพ้องกัน และขอให้เชื่อมั่นในทิศทางที่จะนำพาพรรค โดยจะขอทำหน้าที่ฝ่ายค้านเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น

ท่าทีการขอเป็นฝ่ายค้านของนายอภิสิทธิ์ น่าจะตรงกับกระแสส่วนใหญ่ที่อยากเป็นประชาธิปัตย์ถอยมาตั้งหลัก ขบคิดทบทวน ถอดบทเรียนเรื่องราวในอดีต แต่แตกต่างจากท่าทีของกลุ่มหนุนนายเดชอิศม์ ที่ต้องการนำพาพรรคไปสู่การร่วมรัฐบาล เพื่อนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปสู่การปฏิบัติ รับใช้พี่น้องประชาชน

เอากันให้ชัดๆ สรุปว่า เวลานี้เหลือชิงดำกันระหว่าง ‘อภิสิทธิ์’ กับ ‘นายกฯ ชาย’ เท่านั้น

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เริ่มปรากฏภาพความเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นเมื่อ นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายเกียรติ สิทธีอมร อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ น.ส.วทันยา บุนนาค เป็นต้น รวมถึงนายเชาว์ มีขวด และ ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง ไปปรากฏตัวในงานเลี้ยงวันเกิดคุณติ๊งต่าง

‘คุณติ๊งต่าง’ คือใคร? คือ นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ‘ติ๊งต่าง’ เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม​ชาวไทยหัวใจรักสงบ แม่ยกสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์

ในงานเลี้ยงของแม่ยกประชาธิปัตย์ที่มีผู้อาวุโส ผู้มากบารมีทางการเมืองไปร่วม คงไม่คุยกันเรื่องการทำนา ราคาทุเรียน หรือรับเหมาก่อสร้างเป็นแน่แท้ จริงไหมโฆษกขวด เชื่อมั่นว่าจะต้องคุยกันถึงเรื่องการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และจะเชียร์ใคร ถ้าไม่ใช่นายอภิสิทธิ์ที่นั่งอยู่ในวงด้วย และคนในวงนี้ทั้งหมดเชียร์นายอภิสิทธิ์ทั้งนั้น

ไม่ต้องพูดถึงนายชวน-บัญญัติ-คุณหญิงกัลยา เชาว์ มีขวด เข้าสู่แวดวงการเมือง เพราะคำชักชวนของนายอภิสิทธิ์ เกียรติ์ สิทธีอมร ได้ดิบได้ดี เพราะนายอภิสิทธิ์สนับสนุนมิใช่หรือ

9 กรกฎาคมก็จะรู้ว่า ใครจะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ระหว่าง ‘อภิสิทธิ์’ กับ ‘นายกฯ ชาย’ แต่ก่อนถึงวันนั้นให้ติดตามการขับเคลื่อนของมวลสมาชิก เพื่อเดินไปสู่เป้าหมาย และให้จับตา ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ ว่าจะขยับไปหนุนช่วยฝั่งไหน

วิเคราะห์ทิศทาง ศึกชิง ‘หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์’  จับตาเดือด ‘อภิสิทธิ์-นายกฯชาย’ ใครจะได้นั่งตำแหน่งนี้

แทน-ชัยชนะ เดชเดโช รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมายืนยันผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่มีการล็อคสเปก ว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แทนจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ลาออกรับผิดชอบต่อผลการเลือกตั้งที่ล้มเหลว

ก่อนหน้านี้มีนักวิเคราะห์ทางการเมืองออกมาระบุว่า มีการล็อคสเปก ว่าที่หัวพรรคคนใหม่ โดยอดีตกลุ่มผู้บริหารบางกลุ่ม เพื่อให้เป็นไปตามที่กลุ่มเขาต้องการ และจะสามารถเข้ามากุมทิศทางของพรรคได้

แน่นอนว่า ถึงแม้นจะมีใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งพยายามจะล็อคสเป็คว่าที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ แต่ไม่ใข่เรื่องง่ายในการเดินไปสู่ชัยชนะ เพราะระเบียบพรรคประชาธิปัตย์ในกำหนดเรื่องการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคไว้ค่อนข้างละเอียด โดยมีโหวตเตอร์หลากหลายกลุ่ม

โหวตเตอร์กลุ่มแรกคือ ส.ส.ชุดปัจจุบัน 25 คน มีน้ำหนัก 70% ที่เหลืออีก 30 เปอร์เซนต์ เป็นอดีต ส.ส. อดีตรัฐมนตรี ประธานสาขาพรรค ตัวแทนพรรคในแต่ละจังหวัด ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นี้คือกลุ่มของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ของประชาธิปัตย์

กล่าวสำหรับกลุ่มแรก เป็นกลุ่มเป็นก้อนอยู่ทางภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ นับตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ 2 คน นครศรีธรรมราช 6 คน พัทลุง 2 คน สงขลา 6 คน ปัตตานี 1 คน ตรัง 2 คน ส่วนที่เหลือเป็นแม่ฮ่องสอน 1 คน สกลนคร 1 คน อุบลราชธานี 1 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน คือ ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 

อาทิตย์หน้าจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าใครจะลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์บ้าง แต่เบื้องหลังเห็นชื่ออยู่ 4 คน แต่เจ้าตัวเองไม่เคยออกมาพูดว่าจะลงชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่นักข่าว นักวิเคราะห์เห็นร่องรอยของการเคลื่อนไหว และความพยายาม เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้า นายกฯชาย เดชอิศม์ ขาวทอง อดีตรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ วทันยา บุนนาค หรือตั๊ก จิตภัสร์ กฤษดากร เป็นต้น หรือแม้กระทั่ง ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

แต่เข้าใจว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคต้องการให้เห็นความเป็นเอกภาพ มีผู้สมัครจำนวนน้อย แต่เพื่อให้เห็นความเป็นประชาธิปไตยในพรรค ก็อาจจะมีคนลงชิง 2-3 คน แต่ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันที่ 9 กรกฎาคม หลังจากประเมินการหยั่งเสียงแล้ว น่าจะมีคนทยอยถอนตัว หรืออาจจะเกิดจากการล็อบบี้ของผู้อาวุโสที่มากบารมี 

แต่ถ้าให้สวยงาม อภิสิทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรค มีนายกฯชายเป็นเลขาธิการ ส่วนแทน-ชัยชนะ ในฐานะนำทีมนครศรีธรรมราชเข้ามาถึง 5 คน ก็ก้าวขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้แทนนายกฯชาย ประเด็นคือนายกฯชายก็อยากเป็นหัวหน้าพรรคและจากการประเมินเสียงน่าจะสู้จริง ผู้ใหญ่ในพรรคคงต้องล็อบบี้กันหนัก ให้นายกฯชายไม่ลง รอหัวหน้าพรรคคนใหม่เสนอชิงเลขาธิการพรรค

ที่สำคัญทีมบริหารพรรคชุดใหม่ต้องให้เห็นภาพว่า เป็นคนรุ่นใหม่ ใหม่จริงๆ ไม่ใช่แค่ทีมใหม่ ดร.อิสระ / ดร.เอ้ / ตั๊น / วทันยา / แทน /ร่มธรรม เป็นต้น ต้องเข้ามาเป็นกรรมการบริหาร เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพรรค กำหนดแนวทาง ทิศทางของพรรค ให้ทันสมัยขึ้น พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ส่วนคนเก่าๆก็ต้องไม่ทิ้ง ตะเคียนทองที่ถูกฝังอยู่ใต้น้ำก็ต้องขุดขึ้นมาใช้งาน แล้วแต่ผู้บริหารชุดใหม่จะวางบทบาทอะไรให้ทำ ถ้าเป็นที่ปรึกษาก็ต้องปรึกษาจริง ไม่ใช่ตั้งไว้ลอยๆ แล้วไม่เคยปรึกษาเลย 

ถ้าวิเคราะห์กันอย่างตรงไปตรงมาถึงปัจจัยแพ้ชนะ ส.ส.ปัจจุบันมีสัดส่วนน้ำหนักมากถึง 70%
-ทีมนายกฯชาย ส.ส.น่าจะมีแค่ 14-16 คือ 
-ประจวบคีรีขันธ์ 2
-นครศรีธรรมราช 5
-สงขลา 3
-ตรัง 2
-พัทลุง 2 (ไม่ชัวร์ว่าฝ่ายไหน)
-ที่เหลือนึกไม่ออกว่ายังจะมีใครอีก

ทีมชวน-อภิสิทธิ์
-ชวน-บัญญัติ-จุรินทร์ (3)
-นครศรีธรรมราช 1
-สงขลา 3
-ปัตตานี 1
-อิสาน 2 (อุบลราชธานี-สกลนคร)
-แม่ฮ่องสอน 1
-ที่เหลือนึกไม่ออกว่าจะมีเพิ่มตรงไหนอีก

ถ้าพิจารณาตามข้อมูลที่ #นายหัวไทร จะเห็นว่า ทีมนายกฯชาย น่าจะมีอยู่ 14 เสียง ทีมของชวน-อภิสิทธิ์ น่าจะมีอยู่ 11 เสียง ยังอยู่ในสถานการณ์ที่เสียงเปรียบ

โหวตเตอร์ อีกกลุ่มที่น่าสนใจว่าจะอยู่สายไหน ทั้งสายตัวแทนจังหวัด / ประธานสาขา / ผู้บริหารท้องถิ่นที่ลงสมัครในนามพรรค/ อดีต ส.ส./อดีตรัฐมนตรี 90% อยู่สายชวน
แต่ต้องจับตาดูว่า นิพนธ์ บุญญามณี ที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มนี้สูงในฐานะอดีตรองหัวหน้าพรรคฝ่ายกิจการสาขา จะช่วยทีมไหน จะเอาเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด หรือจะเอานายหัวเก่า นายหัวไทรเชื่อว่าช่วยอภิสิทธิ์

การปรากฏตัวของชวน หลีกภัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เชาร์ มีขวด และผู้อาวุโสอีกหลายท่านในงานวันเกิดของแฟนคลับประชาธิปัตย์ผู้เหนียวแน่น ไม่ใช่เป็นการปรากฏตัวขึ้นธรรมดาแบบไปร่วมงานเลี้ยงวันเกิดธรรมดาเป็นแน่แท้ ต้องมีอะไรมากกว่านั้น คือการหารือถึงการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคคนใหม่

อาทิตย์หน้าบรรยากาศความเป็นประชาธิปไตยในพรรคประชาธิปัตย์จะคึกคักขึ้นกับบรรยากาศของการเดินสายหาเสียงกับโหวตเตอร์ทั้งหลาย ขออย่าให้ได้ยินเสียงอีกนะครับว่า ใช้เงินหว่านซื้อเสียงให้เข้าหูอีก เพราะนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตยสุจริต
นายหัวไทร

‘เดชอิศม์’ นำทีม 16 สส.ปชป. แจงหลังแหกมติพรรคโหวตนายกฯ ชี้!! ไม่อยากเอาความแค้นในอดีตมากำหนดอนาคตประเทศชาติ

(24 ส.ค. 66) นายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมเพื่อน สส.กลุ่ม 16 (ยกมือเลือกเศรษฐา ทวีสิน สวนมติพรรค) ร่วมกันแถลงข่าวถึงการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ต้องขอโทษสื่อมวลชนที่ติดต่อขอสัมภาษณ์ แต่ติดต่อไม่ได้ เนื่องจากติดภารกิจสำคัญ

นายเดชอิศม์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์เริ่มไม่มีเอกภาพมาตั้งแต่การประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ มีการล้มการประชุมถึงสองครั้ง ซึ่งเป็นเจตนาของใครบางคนที่ต้องการให้ล่ม สร้างความเสียหายให้กับพรรค สมาชิกพรรคที่ต้องเดินทางมาประชุม พรรคก็เสียหาย ต้องจ่ายค่าจัดการประชุมครั้งละ 3 ล้านบาท จนถึงขณะนี้เราก็ยังกำหนดวันประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ไม่ได้

นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า มาถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีการประชุม สส.ของพรรคเพื่อกำหนดแนวทางในการโหวต ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นออกเป็นสองแนวทาง คือไม่เห็นชอบ และงดออกเสียง

“ฝ่ายไม่เห็นชอบก็ยกเหตุผลจากความโกรธแค้นในอดีตที่รัฐบาลในยุคก่อนจัดสรรงบประมาณอย่างไม่เป็นธรรม จัดงบพัฒนาภาคใต้ แต่ สส.น้อง ๆ รุ่นใหม่ เสนอให้แยกเรื่องความแค้นกับการเดินหน้าทางการเมืองออกจากกัน ฝ่ายที่เสนอให้เห็นชอบก็มองว่า เมื่อประเทศมาถึงทางตัน จึงควรจะมีทางออก บ้านเมืองจะเกิดศูนย์ยากาศทางการเมืองนานไม่ได้ แต่เสียงจำนวนมาก เห็นว่าควรงดออกเสียง”

นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า เมื่อมาถึงจุดนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรคจึงตัดบทว่า เรื่องนี้ไม่อยากให้มีการโหวต การลงมติเป็นเอกสิทธิ์ของ สส. วันนั้นจึงไม่มีการโหวต จึงไม่รู้ว่ามติเป็นอย่างไร

“วันโหวตพวกเราส่วนใหญ่มานั่งคุยกันถึงคุณสมบัติของนายเศรษฐา พร้อม ๆ กับนั่งดูการโหวตไปด้วย นายจุรินทร์โหวตงดออกเสียง นายชวน นายบัญญัติ โหวตไม่เห็นชอบ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การโหวตไปคนละทิศคนละทางกัน”

นายเดชอิศม์ กล่าวอีกว่า พวกเรามานั่งพูดคุยกัน ก็เห็นตรงกันว่า การจัดตั้งรัฐบาล รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลสมานฉันท์ จะทำให้ชาติเดินหน้าไปได้ จึงควรสนับสนุนนายเศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี

“วันนี้เราเป็นฝ่ายค้านเต็มตัว เราไม่กระเหี้ยนกระหือรือเป็นรัฐบาล การร่วมรัฐบาลต้องเป็นไปตามระเบียบพรรค มติเป็นอย่างไรทุกคนต้องปฏิบัติตามนั้น หลักของเรายังเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง”

เมื่อถูกถามว่า เมื่อการโหวตเป็นการโหวตสวนมติพรรค ไม่กลัวจะถูกขับออกจากพรรคหรือ นายเดชอิศม์ กล่าวว่า ตามระเบียบพรรค การขับสมาชิกพรรคต้องใช้เสียง สส. 3 ใน 4

“ตอนนี้เสียงส่วนใหญ่อยู่ฝั่งนี้หมดแล้ว แล้วใครจะขับใครเราไม่อยากให้เอาความแค้นในอดีตมาส่งมอบให้กับพวกเราคนรุ่นใหม่ แต่ถ้าเป็นนโยบายดี ๆ เรายินดีรับต่อ” นายเดชอิศม์ กล่าว

‘สส.เดชอิศม์-ภรรยา’ ฟ้องหมิ่นประมาท ‘ไฮโซติ๊งต่าง’ ฐานโพสต์วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรคประชาธิปัตย์

(13 ธ.ค. 66) นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ‘ไฮโซติ๊งต่าง’ แม่ยกพรรคและแฟนคลับประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวว่า ตนได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน เนื่องจากนายเดชอิศม์ ขาวทอง สส.เขต 5 จังหวัดสงขลา เลขาธิการพรรค ปชป. และ นางสาวสุภาพร กำเนิดผล สส.เขต 6 จังหวัดสงขลา ปชป. (ภรรยานายเดชอิศม์) แจ้งความดำเนินคดีกับตน สืบเนื่องมาจากที่ตนได้วิจารณ์การทำงานของพรรค ปชป. ตั้งแต่กรณี 16 สส.งูเห่า แหกมติพรรคโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี และการทำงานของ สส. และผู้บริหารพรรคชุดใหม่ที่ไม่ยึดอุดมการณ์เดิมของพรรคประชาธิปัตย์

'เดชอิศม์' เละ!! ถูกโซเชียลจับโป๊ะกลางรายการ หลังบอกผู้ใหญ่ใน ปชป.ไม่หนุนโหวต 'มาดามเดียร์'

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.66 นายเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ปชป. ให้สัมภาษณ์ในรายการคมชัดลึก ประเด็นที่มีความพยายามสกัดกั้นคุณวทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ ไม่ให้ผ่านคุณสมบัติในการลงสมัครหัวหน้าพรรค ปชป. เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมา ว่า...

ตนและกลุ่ม สส.ปชป. เกือบทั้งหมดยกมือสนับสนุนมาดามเดียร์ในการลงสมัคร แต่ผู้ใหญ่ในพรรค ปชป. ไม่สนับสนุนมาดามเดียร์ 

อย่างไรก็ตาม ชาวโซเชียลต่างวิจารณ์นายเดชอิศม์ เป็นอย่างมากว่า 'พูดเท็จ' กลางรายการ เนื่องจากมีภาพวิดีโอในวันเลือกหัวหน้าพรรค ปชป. อย่างชัดเจนว่า ผู้ใหญ่ในพรรค ปชป. โดยเฉพาะท่านชวน หลีกภัย เป็นผู้ลุกขึ้นยืนขอเสียงสนับสนุนให้มาดามเดียร์ แต่กลับเป็น สส.กลุ่มนายเฉลิมชัย และ นายเดชอิศม์ รวมถึง นางสาวสุภาพร กำเนิดผล (ภรรยา นายเดชอิศม์) เอง ที่กลับนั่งเฉยก้มหน้าไม่ยกมือให้มาดามเดียร์ลงสมัครหัวหน้าพรรค ทำให้ชาวเน็ตต่างวิพากษ์วิจารณ์คำพูดที่ไม่เป็นความจริงของเลขาธิการพรรค ปชป. เป็นอย่างมาก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top