Friday, 31 May 2024
เจ้าหน้าที่รัฐ

‘โฆษกรัฐบาล’ แจงปมขึ้นเงินเดือน ‘ขรก.-จนท.’ อยู่ระหว่างศึกษา อาจจะทำหรือไม่ทำก็ได้ ต้องพิจารณาอย่างเหมาะสม

(5 พ.ย.66) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่มี
รายงานข่าวว่าสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ส่งหนังสือถึงกระทรวงและหน่วยงานราชการให้ศึกษาเรื่องการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการปรับอัตราเงินเดือนสำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้พิจารณาถึงความเหมาะสมถึงแนวทางความเป็นไปได้ และกรอบระยะเวลา ผลกระทบของการปรับอัตราเงินดือนฯ กับหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ชัดเจน และรายงานผลให้ครม.ทราบภายในเดือน พ.ย.นี้ ว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่มติคณะรัฐมนตรีแต่เป็นเพียงข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ในที่ประชุม
ครม.โดยมอบหมายให้นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ไปศึกษาแนวทางว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ ทำได้แค่ไหน โดยให้พิจารณาอย่างรอบด้านและให้รายงานกลับมาให้ทราบเท่านั้น 

เวลานี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษา ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร และเมื่อผลออกมาแล้วนำเสนอให้นายกฯ ก็ยังไม่รู้ว่าแนวทางที่ศึกษาจะทำได้แค่ไหนอย่างไร และอาจจะทำหรือไม่ทำตามก็ได้ ขอย้ำว่าเรื่องนี้ยังเป็นเพียงการศึกษาแนวทางความเป็นไปได้เท่านั้น 

'นายกฯ' ยัน!! สั่งศึกษาขึ้นเงินเดือน ‘ข้าราชการ-จนท.รัฐ’ เหตุไม่ได้ปรับขึ้นมานานแล้ว ขีดเส้นสิ้นเดือนนี้ได้ข้อสรุป

(6 พ.ย. 66) ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคลัง กล่าวถึงการพิจารณาปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและอัตราเงินเดือนข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า เรื่องดังกล่าวมีเอกสารสั่งการใช้ศึกษาเรื่องความเป็นไปได้ ในการที่จะดูในเรื่องของเงินเดือน ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำอยู่ ถ้าจะยกระดับก็ต้องดูทั้งหมดในทุกภาคส่วน ได้มอบให้คณะทำงานศึกษาและมารายงานภายในสิ้นเดือนนี้ว่า มีความเป็นไปได้อย่างไร

เมื่อถามว่า นอกจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการขึ้นค่าแรง หลังศึกษาแล้วจะมีกรอบหรือไม่ ว่าจะปรับขึ้นภายในปีงบประมาณใด นายเศรษฐา กล่าวว่า ต้องมาดูอีกครั้งถึงจะบอกได้ว่าต้องมีการศึกษาเกิดขึ้น ซึ่งสืบเนื่องตามที่เคยพูดไปแล้วว่าเงินเดือนของข้าราชการและค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้ขึ้นมานานแล้ว และปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้นมาก เราก็เป็นห่วงพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำและเงินเดือนข้าราชการด้วย

เมื่อถามว่า จะสอดรับในเรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นนโยบายของรัฐบาลด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า หลักการถือว่าสอดคล้อง แต่จำนวนเงินเปอร์เซ็นต์ที่ขึ้นก็ต้องว่ากันไปแต่ละภาคส่วน

เมื่อถามว่า ในส่วนของแรงงานจะขยับขึ้นได้เมื่อไร เพราะนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ออกมาระบุว่า อาจจะไม่ได้ขึ้นเป็น 400 บาทในทุกพื้นที่ นายเศรษฐา กล่าวว่า เดี๋ยวต้องฟังรมว.แรงงาน อีกครั้ง ถึงได้บอกว่าต้องมีการศึกษาอีกครั้งทั้งหมด

‘นิด้าโพล’ เปิดมุมมอง สะท้อนความคิดเห็น ‘ขรก.-จนท.รัฐ’ เบื่อขั้นตอนมากมาย-เบื่อเจ้านาย แต่ ‘ไม่อยากย้าย-ไม่อยากออก’

(31 มี.ค.67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เบื่ออะไร?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14-18 มีนาคม 2567 จากข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความรู้สึกเบื่อของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐต่อระบบราชการไทย เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้รู้สึกเบื่อในระบบ หรืองานราชการ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 39.47 ระบุว่า ขั้นตอนการปฏิบัติราชการที่มากมายและยุ่งยากซับซ้อน , รองลงมา ร้อยละ 31.53 ระบุว่า ระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการ , ร้อยละ 28.24 ระบุว่า เงินเดือนน้อย , ร้อยละ 22.44 ระบุว่า ตัวชี้วัดทั้งหลาย , ร้อยละ 20.38 ระบุว่า โครงสร้าง การปกครองหรือสั่งการตามลำดับชั้น

ร้อยละ 18.93 ระบุว่า การประสานงานที่ไม่เป็นระบบ , ร้อยละ 17.02 ระบุว่า การแข่งขันกันเพื่อแย่งชิง ความดีความชอบและตำแหน่งที่สำคัญ , ร้อยละ 16.49 ระบุว่า การคอร์รัปชันในระบบราชการ , ร้อยละ 16.18 ระบุว่า เจ้านาย , ร้อยละ 15.73 ระบุว่า ไม่เบื่ออะไรเลย , ร้อยละ 14.05 ระบุว่า เพื่อนร่วมงาน , ร้อยละ 11.07 ระบุว่า การทำงานแบบผักชีโรยหน้า , ร้อยละ 10.23 ระบุว่า การแทรกแซง ของนักการเมือง ผู้มีอิทธิพล , ร้อยละ 8.47 ระบุว่า ลูกน้อง , ร้อยละ 7.25 ระบุว่า งานที่มีความเสี่ยงจะผิดกฎระเบียบ และร้อยละ 6.41 ระบุว่า ประชาชนที่ไม่เข้าใจในระบบงาน กฎระเบียบของราชการ

ด้านความศรัทธาต่อระบบราชการไทย พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 49.47 ระบุว่า ค่อนข้างศรัทธา , รองลงมา ร้อยละ 22.52 ระบุว่า ศรัทธามาก , ร้อยละ 21.53 ระบุว่า ไม่ค่อยศรัทธา , ร้อยละ 6.34 ระบุว่า ไม่ศรัทธาเลย และร้อยละ 0.14 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการลาออก หรือการย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นของรัฐ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 63.04 ระบุว่า ไม่อยากลาออกและไม่อยากย้ายหน่วยงาน , รองลงมา ร้อยละ 14.89 ระบุว่า อยากลาออกจากหน่วยงานของรัฐ , ร้อยละ 13.44 ระบุว่า อยากย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่นของรัฐ , ร้อยละ 8.32 ระบุว่า ลาออกหรือย้ายหน่วยงานก็ได้ และร้อยละ 0.31 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top