Friday, 3 May 2024
เงินเฟ้อไทย

‘กอบศักดิ์’ จับตาสัปดาห์นี้ถึงจุดเปลี่ยนศก.ไทย คาด กนง.จะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25%

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า สัปดาห์นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเศรษฐกิจไทย จบยุคดอกเบี้ยต่ำของไทยที่เกิดขึ้นมาหลายปี สู่จุดเริ่มต้นของการปรับขึ้นดอกเบี้ยกลับไปสู่ปกติ 

ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทยจะปรับขึ้นเท่าไร ไปจบลงที่ตรงจุดไหนในช่วงต่อไปนั้น คงต้องรอคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจ โดยคาดว่าจะขยับขึ้นราว 0.25% โดยมีปัจจัยหลักที่จะเป็นหัวใจสำคัญกำหนดดอกเบี้ยต่อไป คือ แนวโน้มของเงินเฟ้อ ที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต้องแข่งกันปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรกที่ผ่านมา และสำหรับไทยจะเกิดขึ้นในช่วงต่อไปเช่นกัน 

ในประเด็นนี้ ต้องถือว่าเป็น "ข่าวดี" ที่ไทยกำลังจะปรับขึ้นดอกเบี้ย ในช่วงเงินเฟ้อกำลังแผ่วลงบ้าง หลังจากที่ในเดือนล่าสุด (กรกฎาคม) เป็นครั้งแรกของปี ที่เงินเฟ้อลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากเคยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างน่ากังวลใจจากเดือนก่อนหน้า (MoM) เฉลี่ยเดือนละ +0.9% มาตลอด เทียบกับปีก่อนหน้า (YoY) เงินเฟ้อไทยเดือนนี้ก็ลดลงเช่นกัน อยู่ที่ +7.61% จาก +7.66% ในเดือนก่อนหน้า แม้จะลดลงเพียงนิดเดียว แต่ก็ยังน่าดีใจ

เพราะภาพจำของทุกคนสำหรับครึ่งแรกของปีคือ เงินเฟ้อพุ่งทะยาน สูงแล้ว สูงอีก ไม่รู้จะไปจบที่ตรงไหน แต่เดือนนี้ มีข่าวดีเล็ก ๆ เรื่องราคาสินค้าต่าง ๆ พร้อมกันลดหลายจุด 

โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
เงินเฟ้อทั่วไป -0.16% 
ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) -1.3%
ดัชนีราคาก่อสร้าง -0.7%

จะมีก็เพียงเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังบวกเพิ่มอีก +0.5% จากการที่ราคาของสินค้าต่างๆ เริ่มปรับตัวขึ้น จากราคาหมวดพลังงาน และการขนส่ง ที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา 

หากเราไปดูรายละเอียดขององค์ประกอบสำคัญของเงินเฟ้อ จะพบว่า ที่ดีขึ้นคือ 

หมวดที่ไม่ใช่อาหาร +7.6% ลดลงจาก +8.5% 

- พลังงาน +33.8% ลดลงจาก +40.0%

- พาหนะการขนส่ง +10.2% ลดลงจาก 14.8%

สะท้อนราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา

ส่วนหมวดที่แย่ลง ก็คือ 

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ +8.0% เพิ่มขึ้นจาก +6.4% 

- เนื้อสัตว์ เป็นไก่ สัตว์น้ำ +13.7% จาก 13.0%

- ผัก ผลไม้ +5.8% จาก 0.4%

- อาหารบริโภค-ในบ้าน +8.7% จาก +7.3%

- อาหารบริโภค-นอกบ้าน +8.4% จาก 6.5%

สะท้อนถึงภาระต้นทุนที่เพิ่มในช่วงที่ผ่านมา ที่กดดันให้ทุกคนต้องปรับเพิ่มราคาสินค้าต่างๆ เพื่อส่งผ่านภาระบางส่วนให้แก่ผู้บริโภค


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top