Friday, 18 April 2025
เงินหมื่น

จับตาหลังสงกรานต์ เข็นสุด 'ดิจิทัลวอลเล็ต' แม้ทุลักทุเล แต่ล่มไม่ได้ ส่วน 'ชลน่าน-สุทิน' ติดโผร่วง ดัน 'บิ๊กอ้วนคุมหมอ-ขอทหารให้นิด'

เข้าสู่เขตสงกรานต์ จะร้อนตับแล่บขนาดไหนใครต่อใครก็รู้สึกฉ่ำเย็นได้ หากได้สรงน้ำพระ ได้รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ และได้กลับบ้านพบปะพี่น้อง...

เช่นเดียวกับการเมืองที่ว่าร้อน ๆ จากควันหลงที่มีมาตั้งแต่ศึกอภิปรายทั่วไป 3-4 เม.ย. ก็พลอยเจือจางบางเบาไปด้วย...ยกเว้นแต่ที่ทำท่าจะร้อนฉ่าขึ้นมาหน่อยก็เห็นจะเป็น...ควันศึก 'ดิจิทัล วอลเล็ต' ที่รัฐบาลเพิ่งแถลงเมื่อ 10 เม.ย.

จบแต่ไม่จบ...ไม่ตรงปก ไม่สะเด็ดน้ำ มี 2-3 ประเด็นที่จะต้องเถียงกันคอเป็นเอ็น โดยเฉพาะประเด็นแหล่งที่มาของเงิน ก้อนที่ไปล้วงมาจาก ธ.ก.ส. 172,300 ล้านบาท...

รัฐบาลตีลังกายันบอกว่าถูกต้องตามกฎหมาย โดยอาศัยมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยทางการเงินการคลัง 2561 แต่อีกฝ่ายบอกว่าผิดวัตถุประสงค์ธนาคาร ธ.ก.ส. หากเดินหน้าต่อมีโอกาสเข้าคุกๆๆ กันเลยทีเดียว

ประสา 'เล็ก เลียบด่วน' แม้จะขัดหูขัดตาและผิดหวังกับพรรค 'คิดใหญ่ทำเป็น' อย่างเพื่อไทยที่เสียฟอร์มในโครงการนี้มาก แต่ต้องฟันธงว่าสุดท้ายก็จะเดินหน้าโครงการนี้ไปได้...แบบทุลักทุเล...ล่มไม่ได้

นโยบายนี้...เรือธง ห้ามเกยตื้นหรือชนหินโสโครกกลางทะเล...

เหนืออื่นใดมวลมหาสมาชิกพรรคเพื่อไทยได้ฟังกันเต็มสองรูหู กรณีนายใหญ่ประกาศผ่านคลิปสัมภาษณ์ที่เอามาเปิดวันประชุมใหญ่ 5 เม.ย.ว่า...พรรคเพื่อไทยไม่ได้เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมใหม่ แต่เป็นพรรครีฟอร์ม...ทำแต่เรื่องใหม่ ๆ อย่าง 30 บาท รักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน...และที่กำลังทำคือ ดิจิทัล วอลเล็ต ต้องถือว่า 'โคตรใหม่' !!

ฟังกันดั่งว่าแล้ว มีหรือที่สมาชิกจะไม่ช่วยกันตีปี๊ปและตอบโต้คนที่ออกมาตั้งคำถาม ขัดขวางนโยบายเรือธง...ที่เพิ่งโดนหนักก็ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรค ปชป.ที่ออกมากระแทกว่า...การล้วงเอาเงิน ธ.ก.ส. มาใช้ ก็เป็น DNA เดียวกับโครงการรับจำนำข้าวที่ทำบ้านเมืองเสียหายยับเยินมาแล้วในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ยังติดหนี้อยู่ 2 แสนกว่าล้าน ฯลฯ

ข้ามมาที่รายงานข่าวแจ้งว่า...หลังสงกรานต์ จะเข้าเขตการเตรียมปรับ ครม.ที่ปล่อยข่าวประเภท 'ลับ-ลวง-ลือ' กันมานาน ซึ่งความเป็นไปได้มากที่สุด น่าจะเป็นหลังการผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 วันที่ 5-6  มิ.ย. 

โดยการปรับ ครม.หนนี้ เป้าหมายของนายใหญ่มองไปถึงการตอบโจทย์รัฐบาล ตอบโจทย์พรรคเพื่อไทยและตอบโจทย์ 'อุ๊งอิ๊ง' แพทองธาร ชินวัตร ผู้เป็นลูกสาว...โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธกิจงานในตำแหน่ง...ประธานคณะกรรมการบริหารพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ...ที่ 'อุ๊งอิ๊ง' ดูแล ยังขับเคลื่อนไม่ออก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเหตุผลการซัพพอร์ตของรัฐมนตรีว่าการ...หมอชลน่าน ศรีแก้ว ที่มีคุณหมอศรีภริยาเป็นเหมือนรัฐมนตรีเงาอยู่ด้วยนั่น ยังไม่เพียงพอ..!?

พลันจึงเกิดกระแสข่าวลือร้อน ๆ มาว่า ถ้าเป็นไปได้อาจหมุนเก้าอี้ว่าการตัวใหม่ให้หมอชลน่าน...แล้วโยก 'บิ๊กอ้วน' ภูมิธรรม เวชยชัย จาก รมว.พาณิชย์ มานั่ง รมว.สาธารณสุข แทน

ส่วนในรายของ สุทิน คลังแสง ข่าวกระแสแรงก็ระบุว่าจะต้องลุกจากเก้าอี้ รมว.กลาโหม เพราะนายกฯเศรษฐาจะลุกจาก รมว.คลัง มานั่งที่นี่...ส่วนรมว.คลังคนใหม่ยังไม่เป็นอื่น...พิชัย ชุณหวชิร...

กรณี สุทิน คลังแสง ถ้าลุกจากกลาโหม แล้วหาที่นั่งใหม่ไม่ได้ ก็ต้องนับว่าน่าเสียดายเป็นที่ยิ่ง..!!

สวัสดี!!

เรื่อง: เล็ก เลียบด่วน

‘ร้านชำ จ.ชัยนาท’ ประกาศไม่เข้าร่วมโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ หวั่น!! ‘ทุนจม-ถอนเงินไม่สะดวก’ เผย รับเงินสดสบายใจกว่า

(31 ก.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อีกไม่กี่ชั่วโมง รัฐบาลจะเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ในวันที่ 1 ส.ค.นี้ ซึ่งในวันนี้มีเสียงสะท้อนจากร้านขายของชำในพื้นที่ จ.ชัยนาท ที่ส่วนใหญ่บอกว่า จะไม่เข้าร่วมโครงการเพราะกังวลกับสารพัดปัญหาที่จะต้องเจอ

รายแรกเจ๊โบ๊ะ แม่ค้าร้านชำประจำหมู่บ้านเขาดิน ต.เขาท่าพระ อ.เมือง จ.ชัยนาท บอกกับทีมข่าวว่า ตนเองจะไม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการอย่างแน่นอน เพราะเป็นการขายที่ไม่ได้รับเป็นเงินสด ซึ่งตนกังวลว่าจะจมทุน เพราะเงินดิจิทัลที่ได้มา ไม่สามารถเอาไปใช้จ่ายอย่างอื่นได้สะดวกนัก เพราะถ้าจะแปลงเป็นเงินสดก็ต้องใช้เวลา ซึ่งตนมองว่าจะเป็นการจมทุนเสียเปล่า ๆ ยิ่งร้านตนเป็นร้านเล็ก ๆ ทุนน้อย ยิ่งจะเอาทุนไปจมกับเงินดิจิทัลก็จะเกิดความเสี่ยง จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมดีกว่า ขายเงินสดก็เพียงพอที่จะมีกำไรและอยู่ได้

ด้านเฮียเป้า เจ้าของร้านขายของชำหน้าวัดท่าช้าง อ.เมืองชัยนาท ก็พูดทำนองเดียวกันว่า ตนเคยเหนื่อยกับโครงการบัตรคนจนมาแล้ว และจะไม่ขอเหนื่อยกับโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ตอีกอย่างแน่นอน เพราะตนมองเห็นปัญหาล่วงหน้า ทั้งระบบการสแกนจ่าย การยืนยันตัวตน ที่ระบบจะมีปัญหาเวลาคนใช้พร้อมกันมาก ๆ และที่สำคัญตนเองจะต้องเอาเงินสดลงทุนไปก่อน จึงจะมาขาย รับเป็นเงินดิจิทัล ที่จะดึงออกมาเป็นเงินสดก็ไม่สะดวกตามที่ต้องการ ดังนั้นตนจึงไม่เข้าร่วมโครงการนี้อย่างเด็ดขาด เพราะเห็นความยุ่งยากลำบากที่กำลังจะเกิดขึ้น

ส่วนลุงจงเจ้าของร้านชำอีกแห่งหนึ่งก็ยอมรับว่า ตนเองมีความกังวลกับการแปลงเงินดิจิทัลเป็นเงินสดในโครงการนี้ แต่เมื่อนึกถึงว่า ลูกค้ามีเงินอยู่ในมือคนละ 10,000 บาท นั่นหมายถึงกำลังซื้อมหาศาลที่รออยู่ จะปฏิเสธรายได้จุดนี้โดยไม่เข้าร่วมก็น่าเสียดาย ตนจึงจะลงทะเบียนร่วมโครงการในวันพรุ่งนี้อย่างแน่นอน แม้จะมีความกังวลอยู่บ้างก็ตาม

'อดีตขุนคลัง' เชื่อ!! 'ดิจิทัลวอลเล็ต' คงปรับมาแจกเป็นเงินสด แต่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เท่า 'คนละครึ่ง-เราเที่ยวด้วยกัน'

(21 ส.ค. 67) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ประธานกรรมการด้านวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ 'ดิจิทัลวอลเล็ตแปลงโฉม' ระบุว่า..

คอลัมน์คนปลายซอย ของเปลวสีเงิน 21 ส.ค. 2567

ทักษิณ 'หลุดปาก' บรรยายเป็นฉาก-เป็นช่อง ที่ทำการพรรคเพื่อไทยชั่วคราวเมื่อวาน จำเป็นบันทึกละเอียดไว้ซักนิด ดังนี้...

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตตอนนี้ นายกฯ กับฝ่ายงบประมาณ ฝ่ายเศรษฐกิจ กำลังคุยกันอยู่

การกระตุ้นเศรษฐกิจต้องทำแน่นอน และต้องทำอย่างเร็วด้วย ช้าไม่ได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจยิ่งไหลลงลึกเท่าไหร่ ก็ดึงขึ้นมายาก

นายกฯ กำลังวางแผนกันอยู่ ทำงานได้เมื่อไหร่ ก็คงสั่งการเลย

"คำว่าดิจิทัล วอลเล็ต มีอยู่ ๓ เรื่อง คือ..."

๑.การกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นหัวใจสำคัญและต้องทำ
๒.การให้ประชาชนมีโอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปข้างหน้า ก็ต้องทำต่อไป แต่ความเร่งด่วนอาจรอได้
๓.อนาคต 'ดิจิทัล วอลเล็ต' เมื่อวางไว้แล้ว สามารถใช้ประโยชน์กับประชาชนกับประเทศ ให้ประชาชนกับรัฐบาลเชื่อมต่อกันได้ทางเศรษฐกิจ

เป็นช่องหน้าต่างให้ประชาชนทำธุรกิจผ่านวอลเล็ต เป็นเรื่องเทคนิคที่ต้องมีต่อไป

“แต่ ๒-๓ รอได้ อันที่ ๑ รอไม่ได้ รูปแบบอาจจะอิงเทคโนโลยีบ้างหรือไม่ ไม่อิงบ้างก็ได้ แต่ต้องถูกกฎหมาย และไม่ขัดแย้งกับคนที่เห็นต่างเยอะเกินไป”

ส่วนเรื่องการอัดฉีด "เท่าที่เดินผ่านไปเห็นนายกฯ คุยกับฝ่ายงบประมาณ" ก็บอกว่า "ควรจะต้องทำ" ผมก็ช่วยให้คำแนะนำ แต่การตัดสินใจเป็นของนายกฯ และคณะรัฐมนตรี แต่ผมให้คำแนะนำได้

จะเปลี่ยนเป็น ‘แจกเงินสด’ หรือไม่?

ข้อดีแจกเงินสดคือมันเร็ว แต่ข้อเสีย กลัวว่าจะใช้ในสิ่งที่กระตุ้นเศรษฐกิจไม่เต็มที่

ผมขอให้ข้อคิดต่อไปนี้...

1.การกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากเงินที่ใช้แจก โยกมาจากงบประมาณอื่น ดังนั้น ผลบวกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็จะต้องหักตัวเลขผลลบที่การใช้จ่ายงบประมาณอื่นจะกระตุ้นเศรษฐกิจออกไปเสียก่อน

ดังที่ ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรมช.คลัง เคยอธิบายไว้ว่า...

ถ้าเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทย เป็นคนไข้ที่ซูบซีด ขาดเลือด ที่ต้องฉีดเลือดเข้าไปเพิ่มเติมด้วยแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต คือสูบเลือดเข้าทางแขนซ้าย

แต่โครงการใช้เงินตามงบประมาณอื่นที่มีอยู่เดิม ที่ต้องชะลอไป เพราะถูกโยกเงินไปใช้แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ก็จะทำให้ผลดีต่อการขยายตัวเศรษฐกิจในส่วนนี้ลดลง คือสูบเลือดออกทางแขนขวา

สรุปแล้ว สูบเลือดออกไป เพื่อสูบกลับเข้ามา ดังนั้น โดยตรรกะทางเศรษฐศาสตร์ จึงไม่มีผลกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนัยสำคัญ

มีข้อแตกต่างเพียงอย่างเดียว คือประชาชนกลุ่มที่ได้รับเงิน ที่โยกออกมาจากโครงการงบประมาณเดิม เมื่อได้รับเงินเข้าไปในกระเป๋า ก็จะรู้สึกดีขึ้น

แต่สำหรับโครงการงบประมาณเดิมที่ถูกชะลอไว้ก่อนนั้น ผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่ประเทศและแก่ประชาชนโดยรวม ก็ถูกเลื่อนออกไป

2.การแจกเป็นเงินสด ผมเคยแสดงความเห็นชัดเจนว่า การแจกเงินเป็นดิจิทัลนั้น มีอุปสรรคทางเทคนิคที่ไม่สามารถแก้ไขได้หลายประการ (ก) ความมั่นคงปลอดภัยของระบบซูเปอร์แอป (ข) ปัญหาการไม่สามารถเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารพาณิชย์ และ (ค) ปัญหาฝ่าฝืนกฎหมายเงินตรา เป็นต้น

และยังมีข้อวิจารณ์ อาจมีความเสี่ยงในการหาประโยชน์ส่วนตน ทั้งในการพัฒนาโปรแกรม ทั้งอาจมีการปั่นเงินดิจิทัล และอาจมีการนำเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชนหลายสิบล้านคนไปหาประโยชน์เชิงธุรกิจ

การแจกเป็นเงินสดโดยผ่านระบบเป๋าตัง จะไม่มีปัญหาข้างต้น แต่ไม่สามารถคุมวิธีการใช้เงินได้เลย

ถ้าเทียบกับโครงการในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ถึงแม้รัฐเสียรายได้ในโครงการแบบนี้ แต่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่า เพราะกระตุ้นให้ประชาชนควักกระเป๋าออกมาใช้จ่ายสนับสนุนการใช้เงินของรัฐ

ยิ่งการแจกดิจิทัลวอลเล็ต ที่เปลี่ยนไปเป็นเงินสดฟรี ๆ นั้น ในส่วนที่เอาไปชำระหนี้นอกระบบ ในส่วนที่เอาไปซื้อสินค้านำเข้า เติมน้ำมัน ฯลฯ คงไม่สามารถหวังให้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับเดียวกับโครงการในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์

นอกจากนี้ ผู้ที่คิดริเริ่มโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ควรจะคิดเตรียมหาคำตอบว่า โครงการเรือธงที่นำไปหาเสียงใหญ่โตนั้น มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ในขั้นตอนการคิดริเริ่ม ได้สืบค้นตรวจสอบวิธีการให้รอบคอบอย่างไร เพื่อเป็นบทเรียนแก่พรรคการเมืองที่จะเตรียมคิดนโยบายหาเสียงในอนาคต

‘คนขอนแก่น’ หนุนแจกเงินสด แทน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เชื่อ!! ตอบโจทย์ความต้องการ - ใช้จ่ายสะดวกกว่า

(22 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ภายในตลาดสดเทศบาล1 เขตเทศบาลนครขอนแก่น เพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนชาวขอนแก่น หลังจากมีกระแสข่าวมาว่ารัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเปลี่ยนจากเงินดิจิทัลเป็นเงินสด 10,000 บาท

นางตุ๊กตา สรีอภัย อายุ 57 ปี แม่ค้าขายปลา กล่าวว่า ถ้าได้เป็นเงินสดจริง ๆ จะดีมากเพราะเงินส่วนนี้จะได้เอาไปเสียค่าน้ำค่าไฟ ให้ลูกไปโรงเรียน เพราะเมื่อดูตามข้อเท็จจริงแล้วถ้าได้เป็นเงินดิจิทัล 10,000 บาทน่าจะใช้ได้ยาก แต่ถ้าเป็นเงินสดจะใช้ง่ายและจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีขึ้นด้วยเพราะจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง ๆ สามารถใช้เติมน้ำมันได้ ให้ลูกไปโรงเรียนได้

"เดี๋ยวนี้ประชาชนกำลังเดือดร้อนเศรษฐกิจไม่ดีทุกคนต้องการเงินสด ถ้าได้เงินส่วนนี้มาจะนำไปเสียค่าน้ำ ค่าไฟ เพราะติดมา 2 เดือนแล้วเพราะขาดสภาพคล่องที่จะนำเงินไปใช้จ่าย ขายของก็ยากลำบากคนซื้อก็ซื้อยากพฤติกรรมคนซื้อเปลี่ยนไปไม่เหมือนก่อน ตอนนี้ยังไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าจะได้เงิน 10,000 บาท ถ้าทำสำเร็จและได้เงินจริง ๆ ตอนนั้นถึงจะเชื่อมั่นในตัวรัฐบาลจริง ๆ ตราบใดที่ยังไม่เห็นเงินก็ไม่มีทางเชื่อ ถ้าได้เงินสดอยากจะได้เป็นงวดเดียวไม่ต้องแบ่งจ่าย ค่าน้ำก็แพง ค่าไฟก็แพง ค่าน้ำมันรถ ให้ลูกไปโรงเรียน เงิน 10,000 บาท ใช้ได้ไม่กี่วันก็หมด"

ขณะที่นางเพ็ชรัตน์ กองพล 58 ปี แม่ค้าขายไส้กรอก กล่าวว่า เงินสดที่รัฐบาลจะให้ ตนเองคิดว่าดีเพราะทุกคนมีรายจ่ายครอบครัวตนเองคนแก่อยู่บ้านก็ถามมาว่าจะได้จริงไหม ตนเองก็ได้แต่บอกให้ใจเย็น ๆ จะพาทำ และเชื่อว่าจะต้องได้อย่างแน่นอน เพราะรายจ่ายก็มีมาก ถ้าได้เงินตัวนี้เข้ามาจะสามารถช่วยเหลือคนเฒ่าคนแก่เหล่านี้ได้อย่างมาก ความหวังตอนนี้เชื่อว่าทำได้

"ที่ผ่านมาในรัฐบาลลุงตู่สามารถทำได้มาแล้ว ไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็น่าจะทำได้ เพราะมีทีมงานของตัวเองทุกอย่างสามารถจัดการได้หมด ขนาด 30 บาทรักษาทุกโรคก็ยังสามารถทำได้ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะรัฐบาลที่จะช่วยกันผลักดันไม่ขัดแย้งกันก็จะสามารถทำได้อย่างแน่นอน"

นางเพ็ชรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า หากได้เงินจริงอันดับแรกจะนำไปซื้อข้าวสารไว้ในครัวเรือน รวมทั้งของใช้จำเป็น เพราะเงินที่ได้มาแม้ว่ามีข้อแม้ก็จะไปซื้อของใช้จำเป็นเหล่านี้ เงินอื่น ๆ ที่เราหาเองก็ค่อยไปซื้อสิ่งของอื่น ๆ แทน เพราะเงินที่ให้มาเป็นเงินที่ทางรัฐบาลให้มาใช้จ่ายในการดำรงชีพ อาจจะจ่ายแบบรายงวดก็ได้ ถ้าเป็น 2 งวดก็จะดี ถ้าได้ก้อนเดียวลูกหลานก็จะมาขอไปหมดทำให้ไม่ได้ใช้

ด้านนาง ทิวารัตน์ สร้อยสุวรรณ์ อายุ 42 ปี แม่ค้าขายผลไม้ กล่าวว่า ตนเองไม่ได้ลงทะเบียนไว้ตอนที่จะแจกเป็นเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เพราะกลัวว่าไม่มีสิทธิ์ไปซื้อร้านค้าที่ต้องการซื้อ เพราะอาศัยอยู่ในเมืองแต่ทะเบียนบ้านอยู่นอกเมือง ก็ต้องกลับบ้านไปซื้อของ มันทำให้เกิดความลำบากในการซื้อของ ไม่เหมือนเงินประชารัฐ แม้ซื้อของข้ามจังหวัดขอแค่มีธงฟ้าติดอยู่ก็จะสามารถซื้อได้ทุกร้าน และสามารถซื้อเป็นของฝากหรือซื้อขนมให้ลูกหลานได้ในแต่ละที่

"พอมีกระแสข่าวว่าจะมีการแจกเป็นเงินสด ก็จะลงทะเบียนด้วย ถ้าได้เป็นเงินสดจะมีมาก จะดีทั้งคนซื้อ คนขาย เป็นอิสระในการซื้อของ ไม่จำกัดขอบเขต ไม่จำกัดระยะทาง ไม่จำกัดสถานที่ซื้อ ถ้าคนใช้เงินเป็นก็จะถูกวัตถุประสงค์ แต่ถ้าคนใช้ไม่ถูกหลักก็คงนำไปซื้อของที่ไม่จำเป็น เช่นซื้อหุ้น ซื้อหวย ถ้าตนเองได้เงินมาก็จะนำไปซื้อของเข้าร้านมาค้าขาย เพราะตอนนี้เงินไม่มีหมุน อย่างไรก็ดีส่วนตัวก็ยังมองว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะเป็นจำนวนเงินที่เยอะ แต่ถ้าได้จริงก็อยากให้แจกจ่ายเป็นงวด งวดละ 2,000 บาท เพราะคนไทยใช้เงินไม่เป็น ขนาดคนถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลรางวัลที่ 1 ก็ยังกลับมาจนเหมือนเดิมได้ ถ้าได้เป็นก้อนก็คงแปปเดียวหมด"

‘คนไทย’ ขอบคุณรัฐ จัด ‘เงินหมื่น’ ยื่นโอกาสกระตุ้นจับจ่าย พร้อมใจแห่กดเงินหน้าตู้ ด้าน ‘ผู้สูงอายุ’ ตื่นเต้นจนเป็นลม

(25 ก.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานที่บริเวณหน้าตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย สาขาท่ามะเขือ-คลองขลุง ต.ท่ามะเขือ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ประชาชนกลุ่มแรกที่ได้รับเงินหมื่น ได้เดินทางมารอกดเงินสด 10,000 บาท กันตั้งแต่เช้าโดยเงินก็ทยอยเข้าบัญชีของผู้พิการและผู้ที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกันอย่างต่อเนื่อง โดยบางรายยังสับสนอยู่ว่าตนเองได้ผูกบัญชีพร้อมเพย์กับธนาคารใดกันแน่ ก็ขับรถวนไปวนมาเพื่อเช็กยอดเงินในแต่ละธนาคาร ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำอยู่หน้าธนาคาร 

ทั้งนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ที่ได้รับเงินในวันนี้ ต่างพากันดีใจที่รัฐบาลทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ โดยส่วนใหญ่จะนำไปซื้อข้าวสารอาหารแห้ง จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ พร้อมนำเงินไปซ่อมแซมต่อเติมบ้านที่ชำรุด และนำเงินไปใช้หนี้ที่หยิบยืมมา นับว่าเป็นวันโชคดีของหลายคนที่ได้เงินครั้งนี้ โดยส่วนใหญ่บอกว่าจะกดเงินทั้งหมดออกจากบัญชีเพื่อไปใช้จ่ายทันที โดยบางรายตื่นเต้นจนเป็นลมต้องหยิบยาดมขึ้นมาดมระหว่างรอกดเงินหน้าตู้ ATM

นางจำเนียร เงินงาม อายุ 50 ปี ผู้พิการชาวบ้าน ม.4 ต.วังบัว อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร เล่าว่า เมื่อตนได้เงินแล้วจะนำไปซื้อของใช้ในครัวเรือนตุนเก็บไว้ในบ้านตนดีใจมากที่รัฐบาลได้แจกเงิน 10,000 บาทครั้งนี้

นางแมค วงษ์มี อายุ 64 ปี ผู้พิการ ชาวบ้าน ม.4 ต.ท่ามะเขือ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร เล่าว่า หลังจากที่ตนได้เงินแล้วจะนำไปซื้อข้าวสารและหม้อหุงข้าวเนื่องจากหม้อหุงข้าวเสียพอดี โดยจะกดเงิน 10,000 บาทออกจากบัญชีทั้งหมด ซึ่งสามีก็ป่วยติดเตียงก็ได้รับเงินเช่นเดียวกันดีใจมากที่ได้เงินจากรัฐบาลที่ให้สัญญาไว้

นางบุญ สาระอุม อายุ 74 ปี คนพิการชาวบ้าน ม.1 ต.วังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร เล่าว่า หลังจากได้เงินแล้วตนจะนำไปซื้อข้าวสาร ของใช้ในบ้านที่จำเป็น จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่าปุ๋ย รู้สึกดีใจมากที่ได้เงินจากรัฐบาลก้อนนี้ ซึ่งก็จะกดเงินทั้งหมดทันที โดยวันนี้ตนได้มารอตั้งแต่เช้าและขอให้คนอื่นช่วยกดเงินให้

นางฉะลอ คำสิงค์ อายุ 61 ปี คนพิการชาวบ้าน ม.2 ต.ท่ามะเขือ อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร เล่าว่า ตนให้ลูกสาวพามาต่อแถวกดเงินที่หน้าตู้ตั้งแต่เช้า ซึ่งหากได้เงินแล้วจะนำไปต่อท่อประปาภายในบ้านและซ่อมแซมต่อเติมบ้านที่ชำรุด ซึ่งตนตื่นเต้นและดีใจมากที่ได้เงิน 10,000 บาท จนเป็นลมเมื่อเช้าที่บ้านไป 1 รอบ ไม่คิดว่าจะได้เงินจากรัฐบาลก้อนนี้จริง ๆ ดีใจอย่างมากจนเป็นลมรอบ 2 หน้าธนาคาร อยากขอบคุณนายกฯ อุ๊งอิ๊งที่เข้ามาช่วยเหลือคนยากคนจนคนพิการครั้งนี้

‘นิด้าโพล’ เปิดผลสำรวจพบหลังรับเงินสด 1 หมื่น อึ้ง! พบประชาชนสนับสนุน รบ. เพิ่ม 30%

(6 ต.ค. 67) ศูนย์สำรวจความคิดเห็น ‘นิด้าโพล’ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “รับเงินสด 10,000 บาท แล้วจะสนับสนุนรัฐบาลไหม” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-3 ตุลาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ทั้งตนเอง และ/หรือคนในครอบครัว ได้รับเงิน 10,000 บาทจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการได้รับเงินสด 10,000 บาท จากรัฐบาล การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงการนำเงินไปใช้จ่ายของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือ คนในครอบครัวได้รับเงิน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 86.79 ระบุว่า ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (รวมค่าน้ำ ค่าไฟ น้ำมันเชื้อเพลิง) รองลงมา ร้อยละ 16.49 ระบุว่า เก็บออมไว้สำหรับอนาคต ร้อยละ 14.35 ระบุว่า ใช้หนี้ ร้อยละ 13.59 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ (เช่น ซื้อยารักษาโรค หาหมอ) ร้อยละ 8.24 ระบุว่า ใช้ลงทุนการค้า ร้อยละ 7.48 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการศึกษา ร้อยละ 1.37 ระบุว่า ใช้ซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ร้อยละ 1.07 ระบุว่า ใช้ซื้อหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล ร้อยละ 0.99 ระบุว่า ใช้ซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มือถือ และเครื่องมือสื่อสาร ร้อยละ 0.69 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการบันเทิง (เช่น เลี้ยงสังสรรค์ ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ เป็นต้น) ร้อยละ 0.31 ระบุว่า ใช้จ่ายเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว ร้อยละ 0.15 ระบุว่า ใช้ซื้อทองคำ เพชร พลอย อัญมณี และร้อยละ 0.99 ระบุว่า ไม่ตอบ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการสนับสนุนรัฐบาลของผู้ที่ได้รับเงิน 10,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นตนเอง และ/หรือ คนในครอบครัวได้รับผลประโยชน์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 34.35 ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าจะตัดสินใจอย่างไร รองลงมา ร้อยละ 30.31 ระบุว่า มีส่วนทำให้สนับสนุนรัฐบาล ร้อยละ 20.38 ระบุว่า จะมีหรือไม่มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ก็สนับสนุนรัฐบาลอยู่แล้ว ร้อยละ 13.13 ระบุว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่สนับสนุนรัฐบาล และร้อยละ 1.83 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 7.34 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 19.08 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.25 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 36.18 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.05 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.10 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 47.79 เป็นเพศชาย และร้อยละ 52.21 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่าง ร้อยละ 13.44 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 18.47 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 19.08 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 24.81 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.20 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 95.73 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.82 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.45 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ

ตัวอย่าง ร้อยละ 34.05 สถานภาพโสด ร้อยละ 63.28 สมรส และร้อยละ 2.67 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 30.61 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 41.76 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.72 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 19.08 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.83 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ตัวอย่าง ร้อยละ 5.65 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 12.44 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 19.62 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 15.80 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 21.30 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 18.24 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 6.95 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

ตัวอย่าง ร้อยละ 24.05 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 28.17 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 30.15 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 7.40 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 2.06 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 1.45 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 6.72 ไม่ระบุรายได้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top