Friday, 18 April 2025
เงินสด

กลุ่มเปราะบางดีใจ ลุ้น 'เงินดิจิทัล' เข้าลอตแรกเร็วๆ นี้ ด้าน 'พ่อค้าแม่ค้า' หวังนำเงินไปใช้จ่ายลงทุนร้านค้าตัวเอง

(11 ก.ย.67) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของประชาชนถึงโครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท หลังมีการจัดตั้งรัฐบาล ‘อุ๊งอิ๊ง1’ เรียบร้อยแล้ว โดยเริ่มจากการแจกจ่ายให้กับกลุ่มเปราะบาง คือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ ‘บัตรคนจน’ และกลุ่มผู้พิการ จำนวนกว่า 14.5 ล้านคน โดยคาดว่าจะโอนเงินให้ได้หลังจากวันที่ 20 ก.ย. เป็นต้นไปท่ามกลางความสนใจของคนไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอรายละเอียดและความชัดเจนจาก ‘น.ส.แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี อีกครั้ง โดยผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ที่ตลาดสดเทศบาล 1 เขตเทศบาลนครขอนแก่น พบว่าพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่ซึ่งล้วนต่างถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ต่างรู้สึกดีใจในความชัดเจนดังกล่าว และส่วนใหญ่จะนำเงินไปใช้จ่ายลงทุนร้านค้าตัวเอง

‘นางหนูกอ นาใต้’ อายุ 71 ปี แม่ค้าขายผักกล่าวว่า ดีใจที่รัฐบาลมีความชัดเจน เพราะตอนนี้การเงินชักหน้าไม่ถึงหลัง บางวันต้องยืมใช้จากเงินนอกระบบมาลงทุนขายผัก ทั้ง ค่าอยู่ ค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าไปโรงเรียนหลาน ถ้าได้มาก็จะได้ใช้จ่ายลงทุนและนำไปปิดหนี้นอกระบบ ซึ่งที่ยืมเพราะไม่มีเงินมาลงทุนค้าขาย บางวันขายไม่ได้ทุนคืนก็มี ก็ต้องยืมรายวันมาลงทุนไปก่อน ถ้าได้เงินตัวนี้มาก็พอช่วยได้ในระดับหนึ่งเพื่อมาลงทุนค้าขาย โดยส่วนตัวเท่าที่ฟังข่าวสารมาไม่มั่นใจว่าจะเป็นเงินสดหรือเงินแบบไหน แต่ถ้าได้เงินสดมาก็จะดี จะได้นำมาใช้ลงทุนต่อ เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ค้าขายก็ได้กำไรน้อย ลูกค้าก็ไม่ค่อยมีเหมือนเดิม คนเคยมาซื้อก็น้อยลงบอกว่าหาเงินยาก ซื้อลดลง และการค้าขายที่ร้านต้องขายให้หมดถึงจะเห็นกำไร

ขณะที่ ‘นางตุ๊กตา ศรีอภัย’ อายุ 57 ปี แม่ค้าขายปลาสด-ปลาปล่อย กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลจ่ายเงินสดจริงจะดีใจมาก เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวถ้าได้เงินมาก็จะมาซื้อข้าวสาร น้ำมันพืช ของใช้ครัวเรือน โดยที่ทุกวันนี้ครอบครัวติดตามข่าวสารมาตลอดก็ทราบว่าจะได้เงินมาเป็นรอบ ลอตแรก 5,000 บาท ซึ่งถ้าได้เงินสดมา เศรษฐกิจดีขึ้นแน่ คนออกมาใช้จ่ายซื้อของกันคึกคัก ทั้งยังคงนำไปจ่ายค่าไฟฟ้า ค่าประปา และใช้จ่ายอื่นๆ จนนำมาสู่เงินหมุนเวียน ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง และในตลาดก็จะดีขึ้นตามไปด้วย

ด้าน ‘นายพลวัฒน์ ดอนตระกูล’ อายุ 36 ปี พ่อค้าขายเครื่องเทศ พริก กระเทียม กล่าวว่า ตนเองไม่ได้อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ไม่มีบัตรประชารัฐ แต่ถ้าถามถึงความหวังนั้นไม่มีหวังอะไร และไม่รู้ว่าสิทธิ์ที่จะใช้เงินนี้จะใช้จ่ายอะไรได้บ้าง แต่ถ้าได้และเป็นเงินสดก็จะเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะสามารถนำไปจ่ายค่าน้ำค่าไฟได้ แต่โครงการนี้ก็ยังคลุมเครือไม่ชัดเจนแต่ถ้าได้มาก็จะดี เพราะเศรษฐกิจตอนนี้ย่ำแย่ อยากให้ทางรัฐบาลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากกว่าการแจกเงิน

'รศ.ดร.นงนุช' ชี้!! หากนำเงินไปฝากแบงก์-ได้ดอกเบี้ย = ผู้ฝากเงินเป็นเจ้าหนี้ สะท้อนมุม 'เงินสด' ไม่ใช่หนี้-อยู่ฝั่งสินทรัพย์ ส่วน 'หนี้' ก็ไม่มีทางเป็นรายได้

(17 ก.ย. 67) รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ และ Visiting Academic, School of Electronics & Computer Science, University of Southampton ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ 'เงินสดคือหนี้ เงินกู้คือรายได้….จริงหรือไม่ ถูกหรือผิด' ระบุว่า...

ต่อไปนี้จะเป็นคำอธิบายจากคนที่อยู่กับเศรษฐศาสตร์มาปีนี้ ปีที่ 30 เป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่ทำทั้ง Macro Economic Model, Policy and Research มา 20 ปี และทำงานที่เกี่ยวกับสายการเงินการธนาคารมาตั้งแต่ปี 1998 ทั้งสอน วิจัย และทำงานตั้งแต่ฝึกงานยันบริหารทีม

📌 เวลาสอนวิชาการเงิน (Finance) 

เงินสด (Cash) คือ เงิน (Money) และเงินกู้ (Loan) คือ หนี้ (Debt)

📌 เวลาสอน Balance Sheet ให้กับคนเรียน Corporate Finance

เงินสด (Cash) อยู่ฝั่งสินทรัพย์ (Assets) ส่วนเงินที่ยืมเขามาใช้ดำเนินกิจการหรือลงทุน ไม่ว่าจะอยู่ในรูปเงินกู้ (Loan) หรือตราสารหนี้ (Debenture) เช่น หุ้นกู้ จะอยู่ฝั่งหนี้สิน (Liabilities) ค่ะ

📌 เวลาสอน Balance Sheet ให้กับคนเรียนสายธนาคาร Banking

เงินสด (Cash) อยู่ฝั่งสินทรัพย์ (Assets) เงินที่ธนาคารให้กู้ (Loans) ก็อยู่ฝั่งสินทรัพย์ (Assets) ค่ะ ส่วนเงินฝาก (Deposits) หรือก็คือเงินที่ธนาคารยืมมาจากผู้ฝากเงินอยู่ฝั่งหนี้สิน (Liabilities)

📌 เวลาสอนหรือทำวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ (Economics) 

เงินสด (Cash: Currency and Notes) รวมเหรียญและธนบัตร คือ ส่วนหนึ่งของอุปทานเงิน (Money Supply)

เงินกู้ (Loan) คือ เงินที่ผู้มีความต้องการใช้เงินกู้ยืมจากผู้มีเงินส่วนเกิน โดยมีกำหนดจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยที่ถือเป็นการตอบแทนการให้ใช้เงิน จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของอุปสงค์ต่อเงิน (Money Demand)

เงินสดจึงไม่ใช่หนี้ เพราะผู้ถือเงินสด อยู่ในฝั่ง Money Supply ที่จะได้ดอกเบี้ยหากนำไปให้ผู้อื่นใช้ เช่น เอาเงินไปฝาก ก็ได้ดอกเบี้ยจากธนาคารค่ะ ผู้ฝากเงิน ถือเป็นเจ้าหนี้

ในขณะที่ผู้ที่ก่อหนี้ เป็นลูกหนี้ที่มีภาระจ่ายคืนหนี้พร้อมดอกเบี้ย ส่วนจะเอาหนี้ที่ก่อไปทำอะไร สร้างรายได้เพิ่มหรือผลาญเล่น มันก็อยู่ที่คนก่อหนี้ค่ะ…แต่ยังไงซะ หนี้ (Debt) ไม่มีทางเป็นรายได้ (Income) เป็นได้แค่ตัวที่อาจสามารถนำไปใช้เพื่อทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเท่านั้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top