Monday, 6 May 2024
เครื่องบินจีน

C919 เครื่องบินโดยสารฝีมือจีน คว้าใบอนุญาตการผลิตแล้ว

(30 พ.ย.65) สำนักข่าวซินหัว รายงาน สำนักบริหารการบินพลเรือนแห่งประเทศจีน ได้ออกใบอนุญาตการผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่ รุ่นซี919 (C919) ซึ่งถูกพัฒนาภายในประเทศ โดยบริษัทอากาศยานพาณิชย์แห่งประเทศจีนหรือโคแมก (COMAC) ผู้พัฒนาเครื่องบินรุ่นดังกล่าว ได้รับใบอนุญาตการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) จากสำนักบริหารฯ ระดับภูมิภาคจีนตะวันออก

สำหรับเครื่องบินรุ่นนี้ ได้ทำการบินเที่ยวแรกสำเร็จในปี 2017 และได้รับใบรับรองแบบอากาศยานเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่าการออกแบบผ่านมาตรฐานความสมควรเดินอากาศและข้อกำหนดทางสิ่งแวดล้อม

ARJ21 นกเหล็กสายพันธุ์จีน บุกตลาดต่างแดนครั้งแรกแล้ว

(19 ธ.ค. 65) สำนักข่าวซินหัว เผย บริษัทอากาศยานพาณิชย์แห่งประเทศจีน (COMAC) ได้ส่งมอบเครื่องบินโดยสารระดับภูมิภาค รุ่นเออาร์เจ21 (ARJ21) แก่ลูกค้าในต่างประเทศรายแรกอย่าง สายการบินทรานส์นูซา (TransNusa) ของอินโดนีเซีย เมื่อวันอาทิตย์ (18 ธ.ค.) ที่ผ่านมา

รายงานระบุว่าเครื่องบินโดยสารระดับภูมิภาค รุ่นเออาร์เจ21 ที่ส่งมอบสู่ตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรกนี้ ถูกออกแบบให้มีที่นั่งโดยสารชั้นประหยัด จำนวน 95 ที่นั่ง ส่วนรูปลักษณ์ภายนอกตัวเครื่องถูกทาสีน้ำเงิน สีเหลือง และสีเขียว

อนึ่ง เครื่องบินโดยสารระดับภูมิภาค รุ่นเออาร์เจ21 ที่จีนพัฒนาภายในประเทศ มีพิสัยการบินระยะไกลถึง 3,700 กิโลเมตร สามารถทำการบินผ่านภูมิภาคเทือกเขาสูงชันและที่ราบสูง และสามารถปรับการดำเนินงานเข้ากับท่าอากาศยานต่าง ๆ

'จีน' วัดพลังเจ้าเวหา คลอดเครื่องบินพาณิชย์ Made in China  ไม่หวั่น 'Airbus-Boeing' แม้ตอนนี้จะยังช่วงชิงส่วนแบ่งยาก

จีนเปิดตัวเครื่องบินพาณิชย์ Made in China แท้ ๆ รุ่น C919 ของบริษัท COMAC (Commercial Aircraft Corporation of China) ผู้พัฒนาอากาศยานเชิงพาณิชย์ของรัฐบาลจีน ในงาน Singapore Airshow 2024 ที่ผ่านมา เป็นงานจัดแสดงอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย ที่จะจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี และปีนี้เป็นการจัดงานครั้งแรกหลังผ่านพ้นวิกฤติการระบาด Covid-19 

โดยจีนได้ส่ง เครื่องบินพาณิชย์ของ COMAC รุ่น C919 มาจัดแสดงในงานนี้ด้วย เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการพัฒนาเครื่องบินขนส่งพาณิชย์ของจีน ที่พร้อมตีตลาดคู่แข่งยักษ์ใหญ่ตลอดกาลอย่าง บริษัท Airbus ในรุ่นขายดี A320 และ Boeing ในรุ่น 737 MAX 

COMAC - C919 เป็นเครื่องบินลำตัวแคบ ระยะบินใกล้ถึงปานกลาง ในระยะทางไม่เกิน 3,600 ไมล์ (5,644 กิโลเมตร) สามารถจุผู้โดยสารได้ถึง 192 คน เหมาะกับเที่ยวบินระยะสั้น ภายในประเทศ ซึ่งได้รับการรับรองการใช้งานอย่างเป็นทางการจากสำนักงานการบินพลเรือนของจีนแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2022 

ปัจจุบัน เครื่องบินรุ่น C919 เริ่มให้บริการผู้โดยสารแล้วโดยสายการบิน China Eastern เมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 นอกจากนี้ยังมีสายการบินทิเบต แอร์ไลน์ ที่ได้สั่งซื้อเครื่องบิน C919 แล้วจำนวน 40 ลำแล้วเช่นกัน

ถึงแม้ว่า ปัจจุบันตลาดเครื่องบินพาณิชย์ COMAC จะยังคงจำกัดอยู่ในประเทศจีน แต่การเปิดตัวเครื่องรุ่น C919 ในงาน Singapore Air Show ในปีนี้เป็นครั้งแรก เป็นการประกาศถึงความพร้อมของจีน ที่ต้องการตีตลาดเครื่องบินพาณิชย์ ที่เคยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ผูกขาดอยู่เพียง 2 บริษัทคือ Airbus และ Boeing โดยจีนเล็งไปที่ตลาดที่ธุรกิจการบินกำลังกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลัง Covid-19 และอยู่ไม่ห่างจากจีนมากนั้น นั้นก็คือ ย่านอาเซียน

แม้นักวิเคราะห์ด้านธุรกิจการบินมองว่า เครื่องบินพาณิชย์สัญชาติจีนยังแข่งขัน แย่งชิงส่วนแบ่งของ 2 เจ้าตลาดโลกได้ยากมากในเวลานี้ แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยในอนาคต เมื่อดูจากผลตอบรับในงาน Singapore Air Show เครื่องบินจีนได้รับความสนใจอย่างมาก การออกแบบตัวเครื่องทำได้ดี บินได้นิ่ง และเงียบ 

ส่วนด้านเทคนิค ภายในตัวเครื่อง C919 กว่าครึ่งยังใช้เครื่องยนต์นำเข้าของ CFM International บริษัทผู้พัฒนาเครื่องยนต์อากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีศักยภาพเทียบชั้นได้กับเครื่องยนต์ของ Airbus และ Boeing เช่นกัน 

และด้วยสถานการณ์ของเครื่องบิน Boeing 737 Max 9 ที่ถูกสั่งห้ามบินในสหรัฐฯ หลังเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคกับเครื่องของสายการบิน Alaska Airlines ที่เป็นรุ่นคู่แข่งโดยตรงของ C919 ก็ถือเป็นโอกาสการเข้าทำตลาดของเครื่องบินน้องใหม่สัญชาติจีนลำนี้ 

และหลังจากงาน Singapore Air Show แล้ว COMAC วางแผนที่จะลุยตลาดต่อในประเทศเวียดนาม, กัมพูชา, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และ ไทย เนื่องจากเป็นตลาดที่มีความใกล้ชิดทางการค้ากับจีน และมีนักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าตลาดการบินในย่านนี้จะโตขึ้นได้อีกอย่างรวดเร็ว 

แต่สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ COMAC ไม่ได้ต้องการขายเครื่องบินราคาถูก เพื่อตัดราคาในท้องตลาด โดย C919 ตั้งราคาไว้ที่ลำละ 100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งแทบไม่ต่างจากราคาเครื่องบินของ Airbus หรือ Boeing ในรุ่นใกล้เคียงกันเลย เพียงแต่สิ่งที่ COMAC คำนึงในตอนนี้คือ คุณภาพการให้บริการแบบจัดเต็ม ระบบซ่อมบำรุง ฝึกอบรม และอื่น ๆ ที่มาในแพ็กเกจ พร้อมข้อเสนอราคาพิเศษเมื่อซื้อล็อตใหญ่ตั้งแต่ 40 ลำขึ้นไป อีกทั้งยังเป็นการทดลองเปิดตลาดต่างประเทศ ที่ทางจีนไม่ได้คาดหวังในการทำกำไรทันทีในรุ่นนี้ 

และหากพิจารณาจากโอกาสในการเติบโตของเครื่องบินจีน ประเทศที่มีธุรกิจการบินในประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองจากสหรัฐฯ รัฐบาลจีนได้ตั้งเป้าที่จะพัฒนาเครื่องยนต์พาณิชย์ของตัวเอง เพื่อลดการพึ่งพาเครื่องยนต์จากประเทศตะวันตกอย่างจริงจัง และเชื่อมั่นว่าจะสามารถยกระดับเทคโนโลยีด้านการบินของตนให้สามารถแข่งขันกับเครื่องบินของชาติตะวันตกได้อย่างทัดเทียมกันในอนาคตอันใกล้ อย่างที่จีนเคยทำได้ในตลาดสินค้าเทคโนโลยีอื่น ๆ มาแล้ว 

ดังนั้น อนาคตธุรกิจเครื่องบินพาณิชย์ของจีนนั้น คงไม่จบแค่บทเดียว แต่ต้องจับตามองกันต่อในระยะยาว ถ้าจีนไม่ถอดใจไปเสียก่อน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top