Sunday, 12 May 2024
เครซี่ฮอร์ส

‘เจอโรนิโม’ วีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของชาวอินเดียแดง  ผู้ยอมมอบตัว เพื่อปกป้องรักษา ชีวิตของคนทั้งเผ่า 

(3 มี.ค. 67) รองศาสตราจารย์ ดร. สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ชีวประวัติ ของ เจอโรนิโม วีรบุรุษผู้ยอมอดกลั้นทุกอย่าง เพื่อรักษาชีวิตของคนทั้งเผ่า โดยระบุว่า ...

การตัดสินใจ "ไม่ทำสงคราม" มีความสำคัญพอๆหรือสำคัญยิ่งกว่าการตัดสินใจ "ทำสงคราม" ด้วยซ้ำ สิ่งนี้สะท้อนวุฒิภาวะของผู้นำ ที่การตัดสินใจของเขามีอนาคตของเผ่าพันธุ์หรือประเทศของตนเป็นเดิมพัน ในมุมมองของผู้นำทัพสูงสุด สงครามมีแค่สองประเภทเท่านั้น คือ "สงครามที่ไม่ทำสงคราม" กับ "สงครามที่ทำสงคราม"

เครซี่ ฮอร์ส (1840-1877) รู้จักแต่สงครามประเภทหลังเท่านั้น ชีวิตของเขาจึงต้องจบสิ้นตั้งแต่วัยฉกรรจ์

กษัตริย์พม่าพระองค์สุดท้ายก็ทรงรู้จักแต่สงครามประเภทหลังเท่านั้น จึงต้องเสียท่าแก่จักรวรรดินิยมอังกฤษ และทำให้สถาบันกษัตริย์ถึงแก่การล่มสลายในพม่าไปตลอดกาล

ขณะที่กษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีทรงมีพระปรีชาญาณและวิสัยทัศน์ที่มองการณ์ไกล จึงทรงรู้จักสงครามทั้งสองประเภท คือ "สงครามที่ไม่ทำสงคราม" กับ "สงครามที่ทำสงคราม" ทำให้สามารถนำพาบ้านเมืองรอดจากปากเหยี่ยวปากกามาได้ไม่ต้องตกเป็นเมืองขึ้น ... เกาะกูดยังเป็นของไทยก็เพราะเหตุนี้ด้วย

เกริ่นมาเสียยืดยาว ก็เพื่อที่จะแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักเรื่องราวของ "เจอโรนิโม" หนึ่งในสี่ของนักรบชาวพื้นเมืองอเมริกาผู้ยิ่งใหญ่ และสงครามทั้งสองประเภทของเขา 
ในปี ค.ศ. 1858 เจอโรนิโม (1829-1909) ผู้เป็นนักรบอาปาเช่เพิ่งเดินทางกลับจากการไปแลกเปลี่ยนสินค้าที่เม็กซิโก เขาพบว่าแม่ เมีย และลูกทั้งสามคนของเขาถูกพวกทหารสเปนชาวผิวขาวจากเม็กซิโกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม ป่าเถื่อน 

คนขาวเหล่านั้นกระทำกับผู้หญิง คนแก่และเด็กราวกับสัตว์ป่ากระหายเลือด หลังจากนั้นมา เจอโรนิโมได้สาบานกับตัวเองว่าเขาจะฆ่าคนขาวให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และมันก็เป็นจริงตามนั้น

หลังจากนั้นเจอโรนิโมจะใช้ทุกโอกาสที่มีเข้าโจมตีและฆ่าทหารของกองทัพของเม็กซิโก เจอโรนิโมโดนทหารเม็กซิกันจับได้หลายครั้ง แต่เขาก็ใช้ความสามารถเฉพาะตัวหลบหนีออกมาได้ทุกครั้ง และกลับไปล้างแค้นต่อ จนคนขาวเข็ดขยาดในความเก่งกาจและโหดเหี้ยมของนักรบอาปาเช่

อาปาเช่เป็นภาษาของเผ่าชิริคาฮัว ... "อาปาเช่" มีความหมายว่า "คนปากกว้าง" 
เจอโรนิโมเป็นวีรุบุรุษผู้กล้าหาญและหัวหน้าเผ่าชิริคาฮัว อาปาเช่ ในศตวรรษที่ 19 ที่กล้าเปิดสงครามต่อสู้กับทหารอเมริกันและทหารเม็กซิโกที่พยายามขยายดินแดนล่วงล้ำเข้าไปยังดินแดนของอาปาเช่ จนรู้จักกันในชื่อของ "สงครามอาปาเช่" 

เจอโรนิโม (Geronimo) หรือโกยาทเล เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 1829 ในเผ่าอาปาเช่ (Apache) สาขาเบดอนโคเฮ (Bedonkohe) ในดินแดนที่เป็นรัฐนิวเม็กซิโกในปัจจุบันนี้ 
ในเวลานั้น สหรัฐอเมริกากำลังทำสงครามกับเม็กซิโกเพื่อขยายดินแดนไปทางตะวันตก และพยายามขับไล่กวาดล้างชาวพื้นเมืองอเมริกา (อินเดียนแดง) ออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว ทำให้ชาวพื้นเมืองบางส่วนต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนของตนจากผู้รุกราน โดยการดักปล้นเสบียงและอาวุธจากฝ่ายอเมริกา

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เจอโรนิโม (โกยาทเล) กลายมาเป็นนักรบนั้นเกิดขึ้นในปี 1858 ตอนเขาอายุ 29 ปี ขณะที่เขาและผู้ชายชาวอาปาเช่บางส่วนได้เดินทางไปทำการค้าขายในเมืองอยู่นั้น ปรากฏว่ามีกองทหารเม็กซิโกเข้าโจมตีค่ายของอาปาเช่และสังหารคนในค่ายจนหมด ถึงรวมถึงแม่ ภรรยาและลูก ๆ ของเจอโรนิโมด้วย จึงทำให้ชาวเผ่าอาปาเช่สาขาต่าง ๆ ได้แก่ เบดอนโคเฮ โชโกเนน (Chokonen) และเน็ดนี (Nedni) ประกาศร่วมมือกันเพื่อทำสงครามตอบโต้เม็กซิโกตั้งแต่ปี 1859 เป็นต้นมา 

ซึ่งเจอโรนิโมก็ได้เป็นหนึ่งในผู้นำของชาวอาปาเช่ในการเข้าโจมตีและปล้นสะดมชาวเม็กซิโกอย่างต่อเนื่องโดยที่รัฐบาลเม็กซิโกไม่สามารถจับกุมตัวได้ และในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเอง พวกชาวเม็กซิโกก็ตั้งฉายาของโกยาทเลว่า “เจอโรนีโม” ซึ่งกล่าวกันว่าเกิดจากคำอุทานของทหารเม็กซิกันที่มักจะขอความกรุณาจากเซนต์เจโรม (Jerome) นั่นเอง

เจอโรนิโม คือชายผู้ไม่ยอมแพ้แก่อเมริกันชนผู้มาปล้นชิงแผ่นดินเกิด โดยอินเดียแดงบางเผ่าถึงกับถูกคนขาวฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จนไม่เหลือใครสักคนเดียว

ในช่วงปลายสงคราม เหลือชาวอินเดียนแดงอยู่แค่ไม่กี่เผ่าเท่านั้น พวกเขายังคงใช้ชีวิตต่อสู้กับชาวยุโรปตลอดมา และหนึ่งจำนวนนั้นคือ เจอโรนิโม หัวหน้าเผ่าอาปาเช่ ชายที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตในการปกป้องผืนแผ่นดินบ้านเกิด 

เจอโรนิโมเป็นชาวอินเดียนแดงที่สหรัฐและเม็กซิโกต้องการจับตัวมากที่สุด ต้องการขนาดยอมร่วมมือกันเพื่อออกตามล่าตัวเจอโรนิโมอย่างเร่งด่วน เพราะเจอโรนิโมเป็น 1 ในแกนนำของ 3 ชนเผ่าอย่างที่ได้รวมตัวกัน เพื่อต่อสู้ทำสงครามอาปาเช่กับสหรัฐและเม็กซิโกอย่างถึงที่สุด 

สงครามอาปาเช่นี้เริ่มต้นในปี 1859 จนถึงปี 1862 มีแกนนำหลายคนเสียชีวิตและถูกจับกุมตัว แต่มีเพียง เจอโรนิโมเท่านั้นที่ยังคงหยัดยืนเป็นแกนนำหลักของทั้ง 3 เผ่าทำสงครามอาปาเช่อย่างไม่หยุดหย่อน จนกลางปี 1862 สหรัฐและเม็กซิโกได้เสนอการทำสนธิสัญญาสันติภาพเพื่อขอสงบศึกกับทั้ง 3 เผ่าอินเดียนแดง 

หัวหน้าเผ่าทุกคนยอมรับข้อเสนอดังกล่าว แต่ทั้งนี้มีข้อแม้ว่าหัวหัวหน้าเผ่าโชโกเนนจะไม่เดินทางไปทำสนธิสัญญาด้วย จะมีเพียงหัวหน้าเผ่าของเบคอนโคเฮกับหัวหน้าเผ่าเน็ดนีเดินทางไปเท่านั้น

ตัวแทนจากทั้ง 2 เผ่าออกเดินทางไปทำสนธิสัญญา และก็เป็นไปตามคาดคณะของหัวหน้าเผ่าทั้งสองที่ยกไปทำสนธิสัญญาสงบศึกได้ถูกลอบสังหารจนหมดสิ้น
จากนั้นยังกองทหารสหรัฐ-เม็กซิโกยังยกทัพไปกวาดล้างชนเผ่าอาปาเช่ต่อ
ครั้นพอทราบข่าวหัวหน้าเผ่าโชโกเนน เขาจึงฝากฝังเจอโรนิโมให้พาเด็กและสตรีหลบหนีไปก่อน ส่วนเขาได้ยกพวกเข้าต่อสู้กับทหารอเมริกันจนเสียชีวิตในสนามรบ
ทำให้เจอโรนิโมกลายเป็นหัวหน้าเผ่าของอาปาเช่เพียงคนเดียวที่เหลือรอดอยู่ในปี 1862 ตอนนั้นเจอโรนิโมอายุ 33 ปี

ภารกิจหนึ่งเดียวที่เหลือหลังจากนั้นของเจอโรนิโมในฐานะผู้นำสูงสุดของเผ่าอาปาเช่ คือต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อปกป้องชนเผ่าที่เหลือให้อยู่รอดให้จงได้ 
เจอโรนีโมต้องพาคนในเผ่าของเขาการอพยพย้ายที่อยู่บ่อยครั้ง เพื่อหนีการตามไล่ล่าของพวกทหารผิวขาว

เจอโรนีโมได้พยายามปกป้องชาวอาปาเช่ที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงน้อยนิดอย่างกล้าหาญ แม้จะต้องอพยพหลบหนีภัยสงครามอยู่หลายครั้ง ทำให้ฝ่ายเม็กซิโกและอเมริกาที่ต้องการจับตัวของเจอโรนีโมต้องใช้เวลาตามล่าและพบกับความสูญเสียไปไม่น้อย กว่าที่นายพลเนลสัน ไมลส์ จะนำกำลังเข้าล้อมจับชาวอาปาเช่ได้ที่สเกเลตัน แคนยอน รัฐอริโซนา เมื่อปีกันยายน ปี 1886 ขณะนั้นเจอโรนิโมอายุ 57 ปี

ถึงจะรบไม่เคยแพ้ แต่เจอโรนิโม กลับยอมมอบตัว แต่โดยดี
เจอโรนีโมจำต้องยอมให้ทหารอเมริกันจับกุมตัวเพื่อรักษาชีวิตของชาวอาปาเช่ที่เหลือทั้งหมด ... นี่คือ "สงครามที่ที่ไม่สู้สงคราม" ของเจอโรนิโม

เมื่อนายพลเนลสัน ไมลส์ ให้สัญญาลมๆ แล้งๆ ว่า จะได้กลับไปอยู่ร่วมกับครอบครัวใหม่และสมาชิกในเผ่า ซึ่งถูกบังคับให้ต้องเดินทางไกลย้ายถิ่นฐานจากเขตสงวนในรัฐอริโซนาไปที่รัฐฟลอริดา อันเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางของน้ำตาและความตาย 

แต่แล้วกองทัพสหรัฐก็กลืนน้ำลายตัวเอง ไม่ได้รักษาคำสัญญานั้น กลับจับวีรบุรุษผู้กล้าของอาปาเช่อย่างเจอโรนิโมไปขังคุกในฐานะเชลยสงคราม แถมยังขยันย้ายคุกไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นว่าเจอโรนิโมแก่ตัวไร้พิษสงและเขี้ยวเล็บแล้วจึงถูกย้ายไปอยู่ที่ฟอร์ท ฮิลล์ รัฐโอคลาโฮมาเป็นแห่งสุดท้าย 

เจอโรนีโมได้ถูกนำตัวออกแสดงต่อสาธารณชนที่ต้องการชมหัวหน้าชาวอาปาเช่ผู้มีชื่อเสียงอยู่หลายครั้ง รวมถึงในปี 1905 เจอโรนีโม ยังได้เขียนบันทึกอัตชีวประวัติของตัวเขาเองเอาไว้เกี่ยวกับประวัติชีวิตและยุทธวิธีในการรบของเขา

เจโรนิโม ปล่อยให้ชีวิตผ่านไปวันๆ อย่างดีก็แค่ไปร่วมงานฉลองเล็กๆ น้อยๆ ของอินเดียนแดง ระหว่างนั้นเขาเคยปรารภหลายครั้งว่าสิ่งเดียวที่เสียใจที่สุดในชีวิตก็คือการหลงเชื่อน้ำคำของนายพลอเมริกันจนสมัครใจยอมแพ้แล้วถูกหักหลัง ทำให้ตัวเขาไม่ได้ตายในสนามรบอย่างกล้าหาญ 

สิ่งเดียวที่ปลอบประโลมใจเขาไว้ได้ คือการที่เขาสามารถรักษาชีวิตของคนในเผ่าอาปาเช่ที่เหลืออยู่น้อยนิดไม่ให้ถูกกวาดล้างจนสิ้นเผ่าพันธุ์ได้ เพราะเขาเลือกที่จะไม่ต่อสู้จนตัวตายในสนามรบเอง

และแล้ววันหนึ่งในปี 1909 ขณะขี่ม้ากลับบ้าน เจอโรนิโม ผู้ชราในวัย 80 ปีก็ถูกม้าสลัดตกต้องนอนกลางดินท่ามกลางความหนาวเย็นถึงหนึ่งคืนกว่าจะได้รับการช่วยเหลือ แต่เจอโรนิโม ก็เสียชีวิตหลังจากนั้นด้วยโรคปอดบวม หลังจากที่ต้องอยู่ในฐานะนักโทษของอเมริกาเป็นเวลากว่า 23 ปี เป็นการปิดตำนานของนักรบผู้ปกป้องพื้นแผ่นดินชาวอินเดียนแดงคนสุดท้ายแต่เพียงเท่านี้

เครซี่ ฮอร์ส เป็นนักรบอินเดียนแดงที่ยิ่งใหญ่ เพราะไร้พ่ายก็จริง
แต่เจอโรนิโม เป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่กว่าเครซี่ ฮอร์ส อีก 
เพราะ เขา ‘ปกป้องชีวิต’ และ ‘รักษาชีวิต’ ของเผ่าพันธุ์เอาไว้ได้ ด้วยการทำ ‘สงครามที่ไม่สู้สงคราม’

แถมยังสามารถเขียนบันทึกอัตชีวประวัติของตนเองให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความโหดร้ายและความยากลำบากชนิดเลือดตาแทบกระเด็นของการปกป้องแผ่นดินเกิดและการรักษาเผ่าพันธุ์

นิยามของวีรบุรุษ มี 2 แบบ วีรบุรุษระห่ำที่ไม่กลัวตาย ไม่เสียดายชีวิต กับวีรบุรุษผู้ยอมอดกลั้นทุกอย่างเพื่อความผาสุกของคนทั้งหมด

ผู้มีปัญญาย่อมรู้เองว่า วีรษรุษแบบไหนคือวีรบุรุษที่แท้จริง

ด้วยจิตคารวะ

สุวินัย ภรณวลัย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top