Monday, 13 May 2024
เกาะกูด

“บิ๊กอู๊ด” ขนทีมพิสูจน์หลักฐานกลางลงเกาะกูด สางปมโรงแรมหรูไฟไหม้ คาดสรุปสาเหตุได้เร็วๆนี้ จ่อดำเนินคดี

พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้ช่วย ผบ.ตร.(สส 3) นำคณะเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานกลาง ประกอบด้วย พล.ต.ต.ฉัตรชัย นันทมงคล ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง (ผบก.พฐก.) พ.ต.อ.อุทิศ จันทะศรี รอง ผบก.ปส.2 พ.ต.อ.หญิง ศิริประภา รัตตัญญู นวท(สบ4)กสก.พฐก. และ พ.ต.อ.หญิง วิภาวดี เกษมวรภูมิ นวท. (สบ4) กคม.พฐก. เดินทางลงพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด เพื่อตรวจสอบที่เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงแรมโซเนวาคีรี รีสอร์ท วิลล่า รีสอร์ตหรูจนได้รับความเสียหายทั้งหมด เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 มี.ค.65 เวลาประมาณ 06.00 น. ทำให้นักท่องเที่ยวเข้าพักอยู่ผู้บาดเจ็บและทรัพย์สินได้รับความเสียหายหลายรายการ โดยใช้เวลาการตรวจสอบราว 2 ชั่วโมง

พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวว่า รับผิดชอบงานด้านสืบสวนสอบสวนของตำรวจภูธรภาค 2 และได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ รองผบ.ตร. ให้เข้ามาดูแลคดีนี้อย่างใกล้ชิด จึงได้นำเจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานกลางพร้อมด้วยอุปกรณ์มาช่วยในการหาหลักฐานเพื่อให้การทำงานเป็นมืออาชีพตามหลักวิชาการ เพราะมีความเชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือในการตรวจพิสูจน์หลักฐาน รวมทั้งกำชับและกำหนดแนวทางการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานในคดีให้รอบคอบและรัดกุม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

พล.ต.ท.สมพงษ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้สอบปากคำพยานบุคคลไปแล้ว 17 ปาก ประกอบด้วย ผู้เข้าพักจำนวน 8 ปาก , พนักงานโรงแรมฯ 6 ปาก , ผู้จัดการทั่วไป 1 ปาก , ผู้จัดการฝ่ายรักษาความปลอดภัย 1 ปาก , พนักงานช่างไฟฟ้า 1 ปาก ก่อนหน้านี้ได้ตรวจที่เกิดเหตุไปแล้ว 1 รอบ ร่วมกับพิสูจน์หลักฐานภาค 2 โยธาจังหวัดตราด และนายช่างองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะกูด ตนได้สั่งการให้ตรวจสอบด้านภาษีและประกันภัยที่ทำไว้กว่า 900 ล้านบาท ตอนนี้พบว่าต้นเพลิงน่าจะอยู่ที่ ห้องลีฟวิ่งรูม ในอาคารหลักของรีสอร์ท

เบื้องต้นยังไม่ตัดประเด็นในทิ้ง ทั้งประมาท การสูบบุหรี่ และไฟฟ้าลัดวงจร เบื้องต้นพบว่าโครงสร้างของอาคารเป็นไม้ทั้งหมดจึงติดไฟง่าย คาดว่าผลการตรวจสอบจะทราบเร็วๆนี้หลังจากนำหลักฐานไปตรวจในห้องแล็บที่กรุงเทพฯ หากพบใครทำผิดก็จะดำเนินคดีทันที แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะแจ้งข้อหาใครบ้าง เพราะต้องรอผลการตรวจพิสูจน์ก่อน

‘ทช.’ ทุ่มกว่า 25 ล้านบาท ซ่อมสะพานท่าเทียบเรือเกาะกูด หนุนการขนส่ง-การท่องเที่ยว หวังกระจายรายได้สู่ชุมชน

‘ทางหลวงชนบท’ ทุ่ม 25 ล้าน ซ่อมสะพานท่าเทียบเรือ เกาะกูด จ.ตราด เสร็จสมบูรณ์ โชว์ใช้โครงสร้างป้องน้ำเค็ม-สู้สนิมหวังยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน หนุนส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่ง การท่องเที่ยวบนเกาะกูด

1 พ.ค.2566 รายงานข่าวจากกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยว่า ทช.ได้ดำเนินการซ่อมบำรุงสะพานท่าเทียบเรือ (ตร.001) อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เสร็จสมบูรณ์แล้ว ใช้งบประมาณ 25.697 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 360 วัน โดยสะพานท่าเทียบเรือ (ตร.001) เป็นจุดจอดสำหรับเรือลำเลียงสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภค ขนส่งวัสดุก่อสร้างเพื่อใช้ในเกาะกูด และเป็นจุดที่เรือชาวประมงจอดเทียบใช้ในการหลบพายุในช่วงมรสุม ตลอดจนเป็นจุดจอดเรือรบของกองทัพเรือ

ทั้งนี้ตั้งอยู่บริเวณบ้านอ่าวใหญ่ ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ต่อเชื่อมกับจุดสิ้นสุดบนถนนทางหลวงชนบทสาย ตร.6042 บ้านอ่าวสลัด-บ้านอ่าวใหญ่ ตำบลเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด ซึ่งโครงสร้างมีการสัมผัสน้ำทะเลตลอดเวลา ทำให้โครงสร้างพื้นเสาและคานของสะพานท่าเทียบเรือได้รับความเสียหาย เกิดสนิมบริเวณเหล็กเสริม ส่งผลให้เกิดการกะเทาะหลุดล่อนของคอนกรีตตลอดชิ้นส่วนของโครงสร้างสะพาน

เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงแข็งแรงให้กับสะพาน ปรับปรุงให้สะพานกลับคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน พร้อมส่งเสริมเศรษฐกิจการขนส่ง การท่องเที่ยวบนเกาะกูด ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน

ทช.จึงได้ดำเนินการซ่อมบำรุงสะพานท่าเทียบเรือฯ โดยคำนึงถึงความแข็งแรงและความคงทนของโครงสร้างต่อสภาวะน้ำเค็ม เน้นวิธีการซ่อมบำรุงที่รวดเร็วอย่างมีคุณภาพ ลดผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ซึ่งตัวสะพานจะมีลักษณะเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก ความกว้างช่วงยาวช่วงละ 5 เมตร ความกว้างช่วงสั้น 2.5 เมตร รวมความยาวสะพาน 100 เมตร
 

‘สว.คำนูณ’ ชวนจับตา!! ‘เส้นเขตผ่ากลางเกาะกูด-แหล่งปิโตรเลียม' หลัง ‘พี่น้องสองแผ่นดิน’ ได้พบปะกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า

(23 ก.พ.67) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง พี่น้องสองแผ่นดิน มีเนื้อหาดังนี้

สมเด็จฯ ฮุนเซนมาเยี่ยมพี่ชายที่คบกันมา 32 ปีนับแต่ยุค IBC Cambodia เมื่อวานซืนนี้ถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า มีข้อดีอยู่อย่างตรงที่ทำให้สังคมไทยหันมาสนใจแผนที่อ่าวไทยลักษณะประมาณนี้อีกครั้ง แล้วเกิดการถามไถ่วิพากษ์วิจารณ์กันตามสมควร

หนึ่งในประเด็นสำคัญคือเกาะกูด!

กัมพูชามาลากเส้นเขตแดนทะเล (เส้นเขตไหล่ทวีป) ผ่ากลางเกาะกูดของไทยมาตั้งแต่ปี 2515 (ค.ศ. 1972) และยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน

คำถามคือเกิดขึ้นได้อย่างไร จะมีผลกระทบต่อสิทธิอธิปไตยของไทยแค่ไหน และเกี่ยวข้องกับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในทรัพยากรปิโตรเลียม (หรือที่นายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันเรียกใหม่ว่าไฮโดรคาร์บอน) มูลค่า 20 ล้านล้านบาทอย่างไร

เพราะเกาะกูดเป็นของไทยอย่างชัดเจนโดยไม่มีข้อโต้แย้ง โดยสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ข้อ 2

เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่กัมพูชาสมัยนายพลลอนนอล

จู่ ๆ ก็ประกาศกฤษฎีกากำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515 โดยลากออกมาจากแผ่นดินบริเวณหลักเขตแดนไทยกัมพูชาที่ 73 บริเวณบ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ตรงลงทะเลมาทางทิศตะวันตกผ่ากลางเกาะกูดตรงไปยังกึ่งกลางอ่าวไทยที่บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์แล้ววกลงใต้ขนานกับแผ่นดินกัมพูชา

พูดตรง ๆ เป็น ‘เส้นฮุบปิโตรเลียม’ โดยแท้!

ภูมิหลังของเรื่องคือไทยกับกัมพูชามีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลและผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งเป็นช่วงที่สองประเทศเริ่มดำเนินการให้สัมปทานบริษัทต่างชาติผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาหมาด ๆ ขณะที่การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควรในยุคสมเด็จนโรดม สีหนุ ก็พอดีเกิดการรัฐประหารเปลี่ยนแปลงใหญ่ในกัมพูชา นายพลลอนนอลขึ้นมามีอำนาจตั้งตนเป็นประธานาธิบดีได้ 2 ปีก็ประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปทันที

เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร บุคคลในประวัติศาสตร์ของไทยท่านหนึ่งทั้งเขียนและเล่าไว้อย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ

พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ ผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มายาวนาน เขียนบทความเรื่อง ‘การเจรจาปัญหาการอ้างเขตไหล่ทวีปทับซ้อนในอ่าวไทยของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน’ เผยแพร่ในเว็บไซต์โครงการจัดการความรู้เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล และนำความทำนองเดียวกันมาเล่าด้วยวาจาในเวทีสัมมนาสาธารณะของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา จัดที่สยามสมาคมเมื่อวันพุธที่ 28 กันยายน 2554 ว่า จอมพลประภาส จารุเสถียรเคยเล่าให้ท่านฟังว่านายพลลอนนอลผู้นำกัมพูชาขณะนั้นบอกท่านว่า เส้นเขตไหล่ทวีปนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและบริษัทเอกชนตะวันตกที่ขอรับสัมปทานแสวงประโยชน์จากปิโตรเลี่ยมในเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาเสนอขึ้นมาให้ โดยตัวนายพลลอนนอลและกัมพูชาไม่มีความมุ่งประสงค์ใด ๆ ทั้งสิ้นต่อเกาะกูดของไทย พร้อมที่จะแก้ไข แต่ขอให้ไทยเห็นใจหน่อยว่าการเมืองภายในกัมพูชามีความเปราะบาง หากรัฐบาลทำการใดทำให้ประชาชนไม่พอใจอาจพังได้ ก็เลยไม่มีการแก้ไขใด ๆ ที่ตอบสนองฝ่ายไทยได้

เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ประกาศออกมาสร้างความตะลึงและไม่สบายใจให้กับรัฐบาลไทยและคนไทยในช่วงนั้นมาก

เพราะเป็นห่วงเกาะกูด!

ทำอย่างไรจะให้กัมพูชายกเลิกเส้นเขตไหล่ทวีปนี้ให้ได้ เป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงการต่างประเทศและรัฐบาลไทย

คุณูปการของจอมพลประภาส จารุเสถียรคือท่านลงมากำกับการเจรจาเอง และคุยตรงไปตรงมากับนายพลลอนนอล เพราะเป็นทหารด้วยกัน เดินตามยุทธศาสตร์อเมริกันเหมือนกัน ที่สุดเมื่อคุยไม่เป็นผล ท่านก็รักษาสิทธิของไทยโดยการออกประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเส้นไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและกฎหมายระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516 ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 90 ตอน 60 หน้า 1-2 วันที่ 1 มิถุนายน 2516

เป็นเส้นที่ลากจากหลักเขตที่ 73 ลงทะเลตรงจุดกึ่งกลางระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา

นอกจากประกาศเส้นเขตไหล่ทวีปแล้ว รัฐบาลไทยสมัยนั้นสั่งการให้กองทัพเรือเข้าดูแลรักษาสิทธิในน่านน้ำอ่าวไทยเขตไหล่ทวีปของไทยตามประกาศทันที

นั่นเป็นเหตุการณ์แค่เพียง 5 เดือนก่อนจอมพลประภาส จารุเสถียรพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

การเจรจาระหว่าง 2 ประเทศไม่คืบหน้า

เพราะกัมพูชาตกอยู่ในสภาวะสงครามหลายรูปแบบอยู่ยาวนานจึงค่อยฟื้นคืนสู่สันติภาพ

กว่าจะมาเริ่มเจรจากันจริงจังอีกครั้งก็ปี 2538

ไม่คืบเช่นเคย!

กัมพูชาไม่พยายามจะพูดเรื่องเส้นเขตไหล่ทวีป หรือเรื่องแบ่งเขตแดนทางทะเล จะพูดแต่เฉพาะเรื่องการแบ่งปันปิโตรเลียมใต้ทะเลเท่านั้น ขณะที่ไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศพยายามพูดทั้ง 2 เรื่อง

ในที่สุด MOU 2544 ก็ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544

ลงนามในยุคที่พี่น้อง 2 แผ่นดินต่างขึ้นครองอำนาจทางการเมืองในแผ่นดินของตน

เกิดเป็นกรอบแนวทางการเจรจาตามภาพกราฟิกที่นำมาแสดง

ดูเหมือนการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ในปิโตรเลียมจะคืบหน้าไปมาก จนมีตัวแบบและตัวเลขแบ่งผลประโยชน์ออกมา ขณะที่การเจรจาแบ่งเขตแดนแม้จะถูกจำกัดตามกรอบ MOU 2544 ให้ทำเฉพาะส่วนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือเท่านั้นก็ยังคงไม่คืบหน้าเช่นเดิม

หลังผู้พี่ตกจากบัลลังก์อำนาจฝั่งไทยเมื่อปี 2549 การเจรจาสะดุดไป เพราะมีปัญหาเขตแดนทางบกบริเวณปราสาทพระวิหารเข้ามาแทรกเสียร่วม 10 ปี

วันนี้เมื่อผู้พี่กลับเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าอีกครั้ง และหัวหน้าคณะรัฐบาลที่มีพรรคของลูกสาวเป็นแกนนำประกาศนโยบายพลังงานว่าจะพยายามนำปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ให้ ‘เร็วที่สุด’ โดยบอกว่าจะ ‘แยก’ จากเรื่องเขตแดน แม้ผู้น้องจะเพียงมาเยี่ยมไข้ผู้พี่และถือโอกาสเชิญหลานสาวคนเล็กไปเยือนกัมพูชาเดือนหน้า ไม่ได้คุยเรื่องการเมืองใด ๆ ก็ตาม

แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ปรากฏการณ์พบกันของพี่น้องสองแผ่นดินคู่นี้จะต้องเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่งอยู่ดี

เส้นฮุบปิโตรเลียมจะยังอยู่หรือไม่ ?

สองประเทศจะแบ่งผลประโยชน์จากขุมทรัพย์ 20 ล้านล้านบาทกันได้สำเร็จหรือไม่ตลอดอายุรัฐบาลไทยชุดนี้ และจะมีผลกระทบต่อเขตแดนทางทะเลในอนาคตของไทยหรือไม่อย่างไร ??

ล้วนเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ

'ดร.อานนท์' งัดหลักฐาน ยัน!! ‘เกาะกูด’ เป็นของไทยทั้งเกาะ ลั่น!! ดินแดนของไทย จะสูญเสียไม่ได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว

(29 ก.พ. 67) ผศ.ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ‘เกาะกูด (Koh-Kut) ทั้งเกาะคือดินแดนของไทย เสียไปไม่ได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว’ โดยระบุข้อความว่า…

สยามยอมเสียเขมรอันเป็นประเทศราชของสยามไปเกือบค่อนประเทศคือพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ เพื่อแลกกับการที่สยามจะได้จังหวัดตราดไปจนถึงสุดชายแดนที่บ้านหาดเล็กและได้เกาะกูดกลับคืนมา โดยมิได้ปัจจันตคีรีเขตหรือเกาะกงกลับคืนมา

ให้อ่านข้อ 1 และ ข้อ 2 ของสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส เมื่อรัตนโกสินทร์ศก 125 หรือ คริสตศักราช 1907 มีสัญญาบ่งบอกไว้ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของสยามอย่างแน่นอน

ส่วนในข้อ 5 นั้นสยามหรือไทย พยายามแก้ไขปัญหาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตซึ่งคนในบังคับของฝรั่งเศสไม่ต้องขึ้นศาลไทยเลย ให้เป็นว่าคนในบังคับของฝรั่งเศสหรือซับเยกของฝรั่งเศสหลัง รัตนโกสินทร์ศก 122 (ค.ศ.1904) ต้องมาขึ้นศาลไทย แต่ไทยต้องแก้ไขกฎหมายให้เป็นสากลเสียก่อน 

ในคราวนั้น คศ. 1907-1908 ได้มีคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมกันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ได้ทำแผนที่อัตราส่วน 1:200,000 แสดงดินแดนของไทยที่จังหวัดตราด อันแคบขนานริมทะเลไปตามสันปันน้ำของเทือกเขาบรรทัดจนสุดชายแดนที่บ้านหาดเล็กดังรูปในแผนที่นี้ ตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญาตามข้อ 4

เมื่อคุณลุง ศ.ดร. สมปอง สุจริตกุล ยังมีชีวิตอยู่ได้อธิบายว่าสัญญา รศ. 125 หรือ ค.ศ. 1907 นี้เป็นสัญญาประธาน ข้อตกลงความเข้าใจร่วมกัน (Memorandum of understanding: MOU) ข้ออ้างอิง (Term of reference: TOR) การสื่อสารร่วม (Joint Communique) หรือ การจัดเตรียมชั่วคราว (Provisional arrangement: PA) ใด ๆ ก็ตามย่อมไม่อาจจะขัดแย้งกับสัญญาประธานอันเป็นลายลักษณ์อักษรได้ 

ดังนั้นเกาะกูดจึงเป็นดินแดนของไทยทั้งเกาะ กัมพูชาไม่มีสิทธิ์ขีดเส้นบนแผนที่ลากเฉือนแบ่งเกาะกูดออกเป็นสองฝั่งยึดครองไปเป็นของกัมพูชาและอ้างอธิปไตยของดินแดนไทยเพื่อครอบครองพื้นที่ในทะเลอ่าวไทยว่าเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (Joint development area: JDA) หรือ พื้นที่ทับซ้อนใด ๆ ก็มิได้ทั้งสิ้น ขัดกับสัญญาประธาน ที่เคยทำไว้กับประเทศไทย

ดินแดนของไทย และบูรณภาพแห่งดินแดนจะสูญเสียไปไม่ได้แม้แต่ตารางนิ้วเดียว

‘ผบ.ทร.’ ยัน!! ‘เกาะกูด’ เป็นของไทย ไม่มีทางเป็นของ ‘กัมพูชา’ เด็ดขาด

จากกรณีการหาผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชา ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษณ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ ว่าอาจทำไทยส่อสูญเสียเกาะกูด จ.ตราด ล่าสุด พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. ได้แสดงจุดยืนที่หนักแน่น ยืนยันเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ไม่มีทางเป็นของกัมพูชาเด็ดขาด โดยระบุว่า…

“อย่าง ‘เกาะกูด’ เพื่ออธิบายให้ท่านเข้าใจ สนธิสัญญา ‘ไทย-ฝรั่งเศส’ เกาะกูดเป็นของไทย ไม่มีทางเป็นอื่น เพราะสนธิสัญญาไทยฝรั่งเศสเขียนไว้อย่างนั้น ฉะนั้นไม่ต้องกังวล เกาะกูดไม่มีทางไปเป็นของประเทศกัมพูชาเด็ดขาด”

ส่อง 'เขมร' จัด 'เรือรบ' พร้อมทหารกล้า เตรียมล่าขุมทรัพย์ไทย ส่วนประเทศไทยมี 'เรือประมงสู้' พร้อมนักการเมืองส้มชักธงรบ

ประเด็น 'เกาะกูด' ที่คนไทยถูก 'มนต์เขมร' อ้างอีกครั้งว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อน หวังจะตะกายฮุบไปครองเพื่อ 'สมบัติใต้ทะเลลึก' ในอนาคต ผมคิดว่ายังไงก็เป็นได้แค่ 'ปาหี่ยี่ห้อเขมร' ที่ถนัดแต่แสวงหาสมบัติของคนอื่นมาเป็นของตัวเองหน้าตาเฉย

ที่ผ่านมาก็ลักเอาทรัพย์สินทางปัญญา, ศิลปะการต่อสู้, แผ่นดิน บัดนี้ก็ถึงเวลาของท้องทะเลไกล 

แต่งานนี้ 'เป็นไปได้' ที่มี 'คนไทยนิสัยขายชาติ' รวมหัวเล่นบทตีสองหน้า แฝงหัวใจเป็น 'พ่อค้าสินในน้ำ' เพราะไม่ใช่จะมีแค่เพชร, พลอย หรือปะการังแปลก ๆ งาม ๆ แต่คือ แหล่งน้ำมันใต้ทะเลไทย ที่หากใครครอบครองได้ก็จะร่ำรวย มีเงินมากกว่า 'Bernard Arnault' และ 'Elon Musk' รวมกันเป็นแรงจูงใจให้คิดทรยศชาติตัวเอง 

แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็จะหายไปกับสายลม เมื่อคนไทยตื่น และตระหนักถึงความหวงแหนแผ่นดิน...โจรต่างชาติอย่างเขมร ก็ต้องคิดหนัก

อย่างไรเสีย ก็มีข่าวโปรยออกมาสักพักแล้วว่า 'นักลักชาวเขมร' ได้เตรียมเรือรบ ทหารกล้า อาวุธหนัก มาตรึงกำลังใกล้เราแค่จมูก หวังขู่ให้คนไทยกลัว แต่คนไทยอย่างพวกเรามี 'กองทัพเรือประมง' ที่อดีตหัวหน้าพรรคการเมืองล้มสถาบัน คอยใช้อวน สุ่ม เบ็ด ตาข่าย และแห เป็นอาวุธประจำเรือ ก็ยากที่ 'เขมรหิว' จะฝ่าด่าน 'เรือประมงส้ม' ของนายพล พิธา จมูกยาว ผู้บัญชาการประมงคนปัจจุบันเข้ามาได้

เขมรใช้เรือรบ ใช้ปืน ใช้ทหาร แต่เราชาวไทยตะโกนถามเขมรกลับไปดังก้องทะเลว่า “ทหารมีไว้ทำไม?” ทำให้เขมรสามสี่ห้าฝ่าย งง จนต้องหยุดชะงักแผนการกลืนเกาะของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเราลงชั่วคราว 

'มหาโจรยึดเกาะ' ต่างสงสัยในคำถาม “ทหารมีไว้ทำไม?” จนต้องเอา 'ปริศนาธรรม' ของ 'นายพลส้ม' มาขบคิดต่อถึงความปราดเปรื่องเรื่องการปกป้องผืนทะเลไทย 

เรื่องราวของ 'เกาะกูด' ที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ แม้จะยังไม่มีบทสรุปออกมาในเนื้อข่าว แต่เดาได้ง่าย ๆ ว่า สิ่งใดที่เป็นของคนไทย ก็จะเป็นของไทยวันยังค่ำ สิ่งใดที่ฉลาดล้ำ ก็จะไม่มีทางโง่เง่าเต่าตุ่น 

'ทหารมีไว้ทำไม?' ไม่เห็นต้องเก็บเอาไปคิดเลย

'ดร.อานนท์' แฉ!! เหตุ 'กัมพูชา' กล้าลากเส้นพาดเกาะกูด รู้ดีว่าขัดสัญญาหลัก แต่เพราะมีนักการเมืองปั้น MOU ยืนยันให้

(6 มี.ค.67) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์สาขาวิชาพลเมืองวิทยาการข้อมูล สาขาวิชาสถิติศาสตร์สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุเนื้อหาดังนี้...

ผมยังยืนยันตามคุณลุง ศาสตราจารย์ ดร. สมปอง สุจริตกุล ว่าสัญญาประธานคือ สนธิสัญญาระหว่างสยาม-อินโดจีนฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 หรือ รัตนโกสินทร์ศก 125 เกาะกูดเป็นของไทยแน่นอนตามสัญญาประธานนี้

หลักคือ สัญญาอุปกรณ์จะขัดแย้งกับสัญญาประธานไม่ได้เลย ไม่ได้ต่างจากรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กฎหมายใดๆ จะขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้

สัญญาใดๆ ที่ตามหลังมาจาก ‘สัญญาประธาน’ เรียกว่า ‘สัญญาอุปกรณ์’ ไม่ว่าจะ Term of reference (TOR) MOU (Memorandum of Understanding) PA (Provisional Arrangement) หรือ JC (Joint Communique) ต่างก็เป็นสัญญาอุปกรณ์ จะขัดแย้งกับสัญญาประธานไม่ได้โดยเด็ดขาด

นายพลลอนนอล ในปี 2515 ประกาศเส้นเขตแดน ล้ำเข้ามาในไหล่ทวีปของไทย ผ่ากลางเกาะกูดไปอย่างประหลาดเหลือเชื่อ ขัดกับสัญญาประธาน ระหว่างสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศส ร.ศ. 125 อย่างแน่นอน และไม่เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 

ที่ประหลาดมากคือ ลากเส้นจากหลักเขตแดนบนบกหลักที่ 73 บ้านหาดเล็กพาดตรงไปบนยอดเขาที่สูงสุดบนเกาะกูด เฉือนเกาะกูดเป็นสองฝั่ง ได้ทะเลในอ่าวไทยไปมากมาย ที่เอาเคลมกันทีหลังว่าพื้นที่ทับซ้อนหรือพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (JDA: Joint Development Area) อันไม่มีอยู่จริง

ที่ว่าขัดกฎหมายระหว่างประเทศคือ เอาขีดเส้นโดยใช้ equidistant line ตามหลักสากล ต้องไม่พาดผ่านเกาะกูด แล้วไทยต้องได้พื้นที่ทางทะเลรอบเกาะกูดไปกี่ไมล์ทะเล ก็อาจจะเจรจากันได้

จอมพลถนอม กิตติขจร กับ จอมพลประภาส จารุเสถียร ได้แก้ไขปัญหานี้ โดยพึ่งพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้ทรงมีประกาศพระบรมราชโองการเกี่ยวกับไหล่ทวีปของไทยในปี 2516 และจอมพลถนอมได้ให้กองทัพเรือไทยเข้าไปดูแลพื้นที่ในทะเลดังกล่าวไม่ให้กัมพูชามารุกรานอธิปไตยทางทะเลของไทย

MOU44 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ก็เกิดขึ้น กลายเป็นไปยืนยันเส้นเขตแดนที่ผิดในปี 2515 ที่ลอนนอลประกาศ แต่ว่าก็รู้ดีว่า MOU44 เป็นสัญญาอุปกรณ์ ไม่ใช่สัญญาประธานจะขัดแย้งสัญญาประธานไม่ได้

กัมพูชาเลยเจรจาตาม MOU44 ในปี พ.ศ. 2545 ลากเส้นในแนวใกล้เคียงกับแนวเดิมที่นายพลลอนนอลเคยประกาศเอาไว้ในปี 2515 แต่ลากเส้นอ้อมเป็นวงกลมรอบเกาะกูด เพื่อให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนมากที่สุด แต่เลี่ยงบาลีไม่ให้ขัดกับสัญญาประธานเพราะเกาะกูดเป็นของไทย

ที่ตลกคือ ลากเส้นปักปันเขตแดนเป็นเส้นโค้งรอบเกาะกูด หลบสัญญาประธาน แต่จะกินที่เข้าไปในอ่าวไทยให้มากที่สุดไม่ได้ยึดถือ equidistant line ระหว่างสองประเทศตามหลักสากลของอนุสัญญาทะเล 1982 หรือกฎหมายสากล

ผมได้แนบภาพแผนที่แสดงผลการเจรจาปักปันเขตแดนทางทะเลของไทยกับกัมพูชาในพ.ศ. 2545 ภาพนี้มาจาก powerpoint ประกอบการบรรยายของ พลเรือโทศิริชัย เนยทอง ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้ว แต่เคยรับราชการที่กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ซึ่งมีภารกิจในการดูแลเขตแดนทางทะเลของไทยโดยตรงครับ

เห็นภาพแล้วผมก็ได้แต่หัวเราะว่า กัมพูชา พยายามเคลมมาก แต่เลี่ยงบาลีไม่ให้ขัดกับสัญญาประธาน ร.ศ. 125 

ยกเลิก MOU44. และ JC 44. เถิดครับ

อย่าให้ประเทศไทยต้องเสียดินแดนไปแม้แต่ตารางนิ้วเดียว

ถ้าไอ้อีนักการเมืองไหนจะขายชาติทำ MOU67 หรือ JC67 มันจะไม่มีแผ่นดินอยู่และต้องถูกประหารชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119

โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง!!!

‘ตาหลอย’ ดีใจได้ขึ้นเรือ โต้คลื่นลม ไปชมเกาะกูด   พรุ่งนี้ขี่ซาเล้งกลับ อย่างปลอดภัย เจ้าของร้านซ่อมให้ พร้อมออกเดินทาง

(10 มี.ค.67) นายพรชัย เขมะพรรค์พงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจ.ตราด ได้มอบหมายให้นางสาวพลับพลึง เพิ่มทรัพย์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.ตราด นำตาหลอย เดินทางจากโรงแรมที่พักแล้วเดินทางไปยังท่าเรือบางเบ้า ต.เกาะช้างใต้

เพื่อขึ้นเรือโดยสารบุญศิริ ที่เดินทางจากอำเภอเกาะช้าง ไปยังอำเภอเกาะกูด และผ่านเกาะหมาก ท่ามกลางคลื่นลมแรง ซึ่งเรือบุญศิริเดินทางถึงเกาะกูดในเวลา 10.30 น. และมีผู้ประกอบการเกาะกูดเดินทางมาต้อนรับและนำรถซาเล้ง 1 คันมาให้ตาหลอยใช้ขับเพื่อท่องเที่ยวในอำเภอเกาะกูดด้วย

ซึ่งมีนายเดชาธร จันทร์อบ นายกอบต.เกาะกูด และเจ้าของโรงแรมสวนย่ารีสอร์ทดูและให้ที่พักพร้อมอาหารให้กับตาหลอยทั้งหมด และยังพาไปเที่ยวเกาะกูดในสถานที่ต่างๆด้วย

ระหว่างทางที่เดินทางไปเกาะกูด ตาหลอยยังได้เข้าไปพบกัปตันเรือบุญศิริและพูดคุย และสอบถามถึงการขับเรือโดยสารจากกัปตันเรือด้วยความสนใจ

ตาหลอย ได้กล่าวกับเกาะกูดว่า ดีใจ และขอบคุณทุกคนมากที่ให้การต้อนรับและช่วยเหลือจนสามารถมาเที่ยวเกาะช้างและเกาะกูดได้

โดยในวันพรุ่งนี้ (11 มี.ค.67) ตาหลอย จะเดินทางกลับ จ.อุบลราชธานี ส่วน รถซาเล้งของตาหลอยที่มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ทั้งล้อ ทั้งยาง และอุปกรณ์บางส่วนนั้น ทางเจ้าของร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ได้เปลี่ยนล้อ เปลี่ยนยางให้ทั้งหมด เพื่อให้อยู่ในสภาพดีและเดินทางไปยังภูมิลำเนาโดยปลอดภัยด้วย

'มูลนิธิพระราหู' ลงพื้นที่ 'เกาะกูด' เยี่ยม 'ทหาร-ตำรวจ' พร้อมมอบถุงยังชีพ เพื่อกระตุ้นขวัญกำลังใจ พร้อมยกย่อง ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ดูแลปกป้องชายแดน

เมื่อวานนี้ (15 มี.ค.67) เวลา 15.00 น.ที่หน่วยปฏิบัติการ เกาะกูด (นปก.เกาะกูด) อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด มูลนิธิพระราหู โดย ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู พร้อมด้วย พล.ท.ปธาน ทองขุนนา ที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู และคณะ เดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพ มอบเงิน ให้แก่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ราชการชายแดนเกาะกูด จ.ตราด 

โดยมี พล.ร.ต.นิรัตน์ ทากุดเรือ ผู้บัญชาการศูนย์การฝึก หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน/ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารนาวิกโยธินฯ พร้อมด้วย พ.ต.อ.ธนกฤษ พาภิรมย์ รอง ผบก.ภ.จว.ตราด พร้อมทั้งหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด นำโดย น.ท.อนุรักษ์ คงคา (รน.),หน่วย ชพส. 1305ฯ นำโดย น.ต.ไพศาล ไคร่ครวญ (รน.), ชุดเฝ้าตรวจนาวิกโยธิน พื้นที่เกาะกูด นำโดย ร.ท.สุเมธ สีอินมน (รน.) และสภ.เกาะกูด นำโดย พ.ต.ท.คมสัน ศรีงิ้ว รอง ผกก.(ป) นำกำลังพลของหน่วยปฏิบัติการเกาะกูดและข้าราชการตำรวจ สภ.เกาะกูด ร่วมให้การต้อนรับและร่วมรับมอบถุงยังชีพ 

ในโอกาสนี้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ได้กล่าวทักทายและชื่นชมกำลังพล การปฏิบัติงานของหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด สุจริตจริงใจ จากนั้นได้ขับกล่อมบทเพลง 'สุดแผ่นดิน' เพื่อเป็นกำลังใจ แด่ข้าราชการ ทหาร ที่ปฏิบัติหน้าที่ รักษาอธิปไตย น่านน้ำทะเลไทยพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด ราชอาณาจักรไทย รวมทั้ง กล่าวให้กำลังใจข้าราชการตำรวจ สภ.เกาะกูด ที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่ ด้วยความสงบเรียบร้อยโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น

สำหรับในส่วนของ หน่วยปฏิบัติการเกาะกูด (นปก.) เป็นหน่วยเฉพาะกิจของ หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ที่ขึ้นการควบคุมทางยุทธการกับกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรีและตราด มีที่ตั้งหน่วยบนเกาะกูด อำเภอเกาะกูด จังหวัดตราดโดยกองทัพเรือจัดตั้งหน่วยตรวจการณ์พิเศษที่ 1 บนเกาะกูด เมื่อปี พ.ศ.2521 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2529 กองทัพเรือได้อนุมัติเปลี่ยนชื่อจากหน่วยตรวจการณ์พิเศษที่ 1เป็นหน่วยปฏิบัติการเกาะกูด จนถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ.2534 สอ.รฝ.อนุมัติให้ กรมรักษาฝั่งที่ 1 เป็นหน่วยรับผิดชอบในการจัดกำลัง

ทั้งนี้ นปก.มีภารกิจ ได้แก่ การป้องกันการคุกคามทางทะเล และทางอากาศ คุ้มครองเรือประมงไทย สนับสนุนการปฏิบัติการของเรือและกำลังทางบก ปฏิบัติการจิตวิทยา และประชาสัมพันธ์กับส่วนราชการ และราษฎรในพื้นที่เกาะกูด สนับสนุนและร่วมกับหน่วยงานราชการ ประชาชนร่วมทำจิตอาสาพัฒนาชุมชน บ้าน วัด โรงเรียน ซึ่ง นปก.มีความสัมพันธ์อันดีและประสานการปฏิบัติงานร่วมกัน มาอย่างต่อเนื่อง

2 รองนายกฯ ลั่น!! ไม่มีวันเอาเขตแดนไปแลกผลประโยชน์ อาณาเขตของประเทศไทยเป็นอย่างไร ก็ต้องเป็นอย่างนั้น

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค.67) ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาการอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 นั้น

ต่อมา เวลา 20.10 น. นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ชี้แจงว่า ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกิดขึ้นมาช้านานแล้ว มีการแบ่งเขตไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชาเริ่มมาตั้งแต่ปี 2513 จนกระทั่งทั้งสองประเทศไม่สามารถตกลงเรื่องไล่ทวีปได้ เพราะต่างคนต่างไปกำหนดเขตไหล่ทวีปกันเอง โดยกัมพูชาเริ่มก่อน โดยกำหนดเมื่อ พ.ศ. 2515 ส่วนประเทศไทยได้กำหนดในปี 2516 ต่อมาในปี 2544 ได้มีการลงนามบันทึกความตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทย และกัมพูชา และได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างไทยกัมพูชาด้านเทคนิคหรือเจทีซี ในปี 2557 รัฐบาลได้อนุมัติการเจรจาบนพื้นฐานเอ็มโอยู 2544 ซึ่งเอ็มโอยูยังคงดำรงต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ และทำไมการเจรจาไม่เสร็จสิ้นใช้เวลายาวนานมาก ซึ่งนายคำนูณพูดว่าตรงนี้เป็นขุมทรัพย์ทางทะเลที่มีมูลค่ามหาศาล อาจจะเป็นเพราะเนื้อหาในการเจรจามีประเด็นที่ละเอียดอ่อนซับซ้อน และอ่อนไหวทั้งทางการเมืองภายในและระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องดินแดนและผลประโยชน์ของชาติ

นายปานปรีย์ กล่าวต่อว่า ตนทราบมาว่า ภายหลังปี 2544 มีการเจรจาที่เป็นทางการเพียง 4 ครั้ง และไม่เป็นทางการอีก 8 ครั้ง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด และเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นโอกาสที่นายกฯ กัมพูชา มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ และได้มีการหารือเจรจาในเรื่องของทวิภาคีหลายเรื่องระหว่างประเทศ ในเรื่องโอซีเอ ก็ได้มีการพูดคุยกันและสองฝ่ายก็มีการตกลงกันว่าเห็นพ้องที่จะประสานการหารือเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรใต้ทะเล ในพื้นที่ทับซ้อน โดยหารือควบคู่กับการแบ่งเขตทะเล ซึ่งคิดว่า มีความชัดเจนในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการด้านเทคนิคที่จะต้องพิจารณาว่าการเดินต่อตามเอ็มโอยูจะเดินต่อหรือไม่ ส่วนเรื่องแบ่งเขตแดน จะต้องเจรจาควบคู่กับการแบ่งผลประโยชน์หรือไม่ ตนคิดว่าควรจะเจรจาควบคู่กันไป ซึ่งเวลานี้กระทรวงการต่างประเทศไม่มีอำนาจในการที่จะเข้าไปตัดสินใจหรือจะให้ความเห็นใด ๆ เนื่องจากคณะกรรมการเจรจายังไม่ได้รับการแต่งตั้งเพราะต้องผ่าน ครม.

รมว.ต่างประเทศ กล่าวต่อว่า ส่วนเขตหลักทะเลเส้นลาดผ่านทับเกาะกูดนั้น ไม่มีข้อสงสัยอยู่แล้ว เนื่องจากหนังสือยืนยันระหว่างกรุงสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ.​1907 ข้อ 2 ระบุชัดเจนว่ารัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนด้านซ้ายและเมืองตราด เกาะทั้งหลาย ซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ไปจนถึงเกาะกูดนั้น ตนคิดว่าจึงไม่มีประเด็นโต้แย้งใด ๆ เหนือเกาะกูดของไทย ดังนั้นเกาะกูดเป็นของไทยแน่นอน และคงต้องแบ่งเขตไล่ทวีปให้ชัดแน่นอน เพราะถ้าแบ่งไม่ชัดก็จะไม่มีใครทราบว่า พื้นที่ของของกัมพูชาหรือของไทย ส่วนที่เป็นห่วงว่า จะมีขายชาติ เสียดินแดน ละเมิดอธิปไตย สิ่งเหล่านี้ตนเชื่อว่าจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน รักชาติเท่ากันหมด ไม่มีใครคิดที่จะเอาชาติไทย หรือดินแดนของไทยไปยกให้ใครทั้งสิ้น และการที่เราจะใช้พลังงานที่อยู่ใต้ทะเลนำขึ้นมาใช้คงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 ปี ในเวลานี้เรื่องพลังงานเราก็กำลังมีปัญหาอยู่ เพราะฉะนั้นการเจรจาจะต้องเร่งดำเนินการภายใต้ความรอบคอบ ไม่ให้เราเสียผลประโยชน์ของชาติต่อไป

ด้าน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงว่า ขอยืนยันไม่ว่าจะเป็นตนหรือนายกฯ รองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เราทุกคนรักประเทศไทยและเราก็หวงดินแดนไทย โดยเฉพาะตน วันนี้ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่ต้องห่วงตน จะไม่มีวันเอาทรัพยากรของชาติมาแลกกับเส้นเขตแดน ผลประโยชน์ของชาติ ความเป็นไทย เขตแดน อาณาเขตของประเทศไทยเป็นอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น ตนทราบว่า ปัญหาเรื่องพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ สำหรับประเทศ การต้องเตรียมพร้อมเรื่องความพร้อมของพลังงาน แก๊ส เป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ว่าจะสำคัญอย่างไร ขอให้ท่านมั่นใจว่า ไม่มีอะไรสำคัญกว่าความเป็นไทย เอกราชและอาณาเขตของประเทศไทย 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top