Tuesday, 14 May 2024
เกษตร

“เฉลิมชัย” ปธ.ฟรุ้ทบอร์ด ปฏิรูปผลไม้ครั้งใหญ่!! วาง 3 กระทรวง ‘เกษตร-อุตสาหกรรม-พาณิชย์’ เห็นชอบงบประมาณปี 65 ตั้งทีมขับเคลื่อนศูนย์บริหารจัดการมหานครผลไม้และสนามบินจันทบุรี มอบ”อลงกรณ์”เป็นปธ.

วันนี้ (14 ต.ค. 64) ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (หรุ้ทบอร์ด)ครั้งที่ 1/2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล (Video Conference) Application ZOOM Cloud Meetings พร้อมด้วย นายนราพัฒน์ แก้วทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัด กษ. นายประยูร อินสกุล รองปลัด กษ. ดร.สมบัติ ตงเต๊า รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร  นายอนันต์ แก้วกำเนิด รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนผู้ประกอบการ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และนายขจร เราประเสริฐ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ร่วมกันหารือประชุมขับเคลื่อนโดยมีประเด็นผลการดำเนินงานการบริหารจัดการผลไม้ในรอบฤดูกาลผลิตที่ 2/2564 ทั่วประเทศ

ผลการจัดประชุมกลุ่มย่อย Focus group เพื่อวิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้ทั้งระบบ คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ มาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 โดย กระทรวงพาณิชย์ และร่วมกันพิจารณาโครงการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 ที่เสนอโดยสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตามยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” และนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ต่อไป

การบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 ของภาคเหนือ (ลำไย) และภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ในภาพรวมสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการผลไม้ปี 2564 - 2566 โดยจังหวัดสามารถบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง โดยผ่านกลไกของคณะกรรมการเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ.2558 - 2564 และในเชิงปริมาณที่เน้นการจัดสมดุลอุปสงค์และอุปทาน โดยผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปริมาณ 671,308 ตัน และผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปริมาณ 785,459 ตัน มีการกระจายผลผลิตผ่านกลไกตลาดปกติ โดย คพจ. และเกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตในราคาไม่ต่ำกว่าราคาต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลสูงกว่าราคาต้นทุนการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) ในช่วงกลางปีที่ผ่านมา ได้กระทบต่อแผนการบริหารจัดการผลไม้ทำให้ทั้งการส่งออก การแปรรูป และการกระจายในประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน นั้น ได้มีการจัด Focus group วิเคราะห์ปัญหาอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้ โดยร่วมกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคเกษตรกร ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งข้อสังเกตถึง “ปัญหาและอุปสรรค” (Pain Point) ใน ประเด็นโครงสร้าง ระบบ และการบริหารจัดการ Fruit Board ประเด็นกลไกการทำงานในภาวะวิกฤต ประเด็นแผนงาน โครงการ และงบประมาณ รวมไปถึงแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มและแบรนดิ้ง (Branding) ผลไม้ การพัฒนากลไกการค้าผลไม้และการตลาดเชิงรุกทั้งในและต่างประเทศ การบริหารจัดการล้ง การบริหารจัดการระดับ Area based ผลไม้ภาคตะวันออก-ใต้-ใต้ชายแดน การบริหารจัดการระดับ Area based ผลไม้ภาคเหนือ การจัดการปัญหาและอุปสรรคการบริหารจัดการผลไม้รายสินค้า (ทุเรียน, ลำไย, มังคุด, เงาะ, ลองกอง และมะม่วง) โดยข้อมูลดังกล่าวได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รับทราบและพิจารณาใช้ประโยชน์ และนำมาวางแผนเพื่อรับมือวิกฤติการณ์ในรูปแบบต่าง ๆ ในอนาคต คณะกรรมการฯ รับทราบคำสั่งของดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานฟรุ้ทบอร์ดในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ครอบคลุมทั้งระบบ ประกอบด้วย

1. คณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้

 1) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลิต

 2) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

 3) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการตลาด

 4) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลไม้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 5) คณะอนุกรรมการพัฒนาและบริหารการผลไม้ภาคตะวันออก ภาคใต้ ภาคอื่นๆ

2. คณะทำงานภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้

 1) คณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์

 2) คณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย

 3) คณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าทุเรียน

 4) คณะทำงานแก้ไขปัญหาผลไม้ล่วงหน้าทั้งระบบ

ในด้านการรองรับและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นประกอบกับภาพรวมผลไม้ไทยจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3,500,000 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 8% โดยกระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนด 17 มาตรการรองรับผลไม้ ปี 2565 ล่วงหน้า 6 เดือน ประกอบด้วย

1.มาตรการเร่งรัดตรวจและรับรอง GAP ซึ่งมีเป้าหมายในปี 2565 ไม่ต่ำกว่า 120,000 แปลง

2.มาตรการช่วยผู้ประกอบการหรือเกษตรกรหรือล้งกระจายผลผลิตผลไม้ออกนอกแหล่งผลิต กิโลกรัมละ 3 บาท ปริมาณ 80,000 ตัน

3.มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ส่งออกโดยจะช่วยเหลือดอกเบี้ยร้อยละ 3 และช่วยผู้ส่งออกที่ส่งออกผลไม้อีกกิโลกรัมละ 5 บาท ปริมาณ 60,000 ตัน

4. กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตร สนับสนุนให้มีการใช้พระราชบัญญัติเกษตรพันธสัญญา การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าด้านผลไม้ โดยจะสนับสนุนให้มีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อเกษตรกรได้ทราบว่าขายผลไม้ได้เท่าไหร่ มีคนซื้อที่มีหลักประกัน เซ็นสัญญาตามกฏหมายชัดเจนไม่ต่ำกว่า 30,000 ตัน

5.มาตรการส่งเสริมการบริโภคผลไม้ในประเทศ ประสานงานกับสายการบินต่าง ๆ เปิดโอกาสให้โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องบินในประเทศไทยฟรี 25 กิโลกรัม ตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2565 เป็นต้นไป

6.มาตรการช่วยสนับสนุนกล่อง พร้อมค่าจัดส่งผลไม้ที่ขายตรงจากเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ไปยังผู้บริโภคโดยตรงโดยสนับสนุนกล่องมากขึ้นกว่าปี 2564 ที่สนับสนุน 200,000 กล่อง ปี 2565 จะสนับสนุนถึง 300,000 กล่อง

7.ในช่วงที่ผลไม้ออกเยอะ กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้มีรถเร่ รถโมบาย ไปรับซื้อผลไม้และนำออกจำหน่ายสู่ผู้บริโภคโดยตรง โดยปี 2557 จะสนับสนุนที่15,000 ตัน

 8.ประสานงานกับห้างท้องถิ่นและปั๊มน้ำมันต่าง ๆ เปิดพื้นที่ระบายผลไม้ให้กับเกษตรกรโดยเพิ่มปริมาณจากปี 2564 ที่ช่วย 1,500 ตัน ปี 2565 จะเพิ่มเป็น 5,000 ตัน

 9.จะทำเซลล์โปรโมชั่นในการส่งเสริมการขายผลไม้ในต่างประเทศซึ่งใช้ชื่อโครงการ Thai Fruits Golden Months ดำเนินการในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 12 เมือง เช่นเดียวกับปี 2564 ซึ่งเป็นมาตรการที่ได้ผลดีมาก

 10.จะจัดการเจรจาจับคู่ซื้อขายผลไม้ทางธุรกิจในระบบออนไลน์หรือที่เรียกว่า OBM มุ่งเน้นตลาดใหม่ เช่น อินเดียและรัสเซียเป็นต้น

จีดีพีเกษตรไตรมาส 3 บวก 6.5% คาดทั้งปีทุกสาขาฟื้นตัว

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์และประมาณการภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 3 ของปี 2564 (ก.ค. – ก.ย. 2564) ว่า เศรษฐกิจการเกษตรขยายตัว 6.5% ปรับตัวดีขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่หดตัว 1.1% เนื่องจากในปี 2563 หลายพื้นที่ของประเทศประสบภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการผลิตทางการเกษตร ขณะที่ในปี 2564 สถานการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายลง ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้กลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

สำหรับปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมในอ่างเก็บน้ำที่สำคัญและในแหล่งน้ำตามธรรมชาติเพิ่มขึ้น รวมถึงสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น และการเริ่มต้นฤดูฝนที่เร็วกว่าปี 2563 ทำให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้มากขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวดีขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต 

ทั้งนี้ แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1.7 – 2.7% โดยสาขาการผลิตสำคัญ ได้แก่ สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากปริมาณฝนที่มีมากขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก ส่งผลให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติมีมากขึ้น เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ และฤดูฝนที่มาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา เกษตรกรเริ่มการเพาะปลูกได้เร็วและขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ประกอบกับการดำเนินนโยบายของภาครัฐในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีการบริหารจัดการการผลิตและการตลาดที่มีประสิทธิภาพ มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิต และยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน 

ข้าวหอมมะลิ-มันสำปะหลัง-ปาล์มน้ำมัน เตรียมราคาพุ่ง 

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม ธ.ก.ส. คาดการณ์ราคาสินค้าเกษตรในเดือนพ.ย. 2564 โดยสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาอยู่ที่ 10,237 - 10,462 บาท/ตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.02 - 7.32% เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่สำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง 

ส่วนมันสำปะหลัง ราคาอยู่ที่ 2.17 - 2.22 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 4.85 - 7.25% เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูกาลผลิตมันสำปะหลังปีการผลิต 2564/65 ทำให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดไม่มาก ขณะที่ปาล์มน้ำมัน ราคาอยู่ที่ 7.62 - 7.72 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.24 - 2.30% เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ภาวะการค้าน้ำมันปาล์มภายในประเทศอาจชะลอตัวลงบางส่วนโดยเฉพาะการใช้พลังงานทดแทน 

ขณะที่ สุกร ราคาอยู่ที่ 67.67 - 68.14 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.09 - 2.53% เนื่องจากความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลาย มาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐในช่วงต้นเดือนพ.ย. 2564 ทำให้ร้านอาหาร โรงเรียน และสถานประกอบการอื่นๆ กลับมาเปิดให้บริการตามปกติ เช่นเดียวกับกุ้งขาวแวนนาไม ราคาอยู่ที่ 128.27 – 129.78 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.80 – 3% และโคเนื้อ ราคาอยู่ที่ 95.40 – 95.62 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.11 - 0.34%

เกษตรฯ เปิดแผนเตรียมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งเกษตรฯ เปิดแผนเตรียมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมฯ ได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ตามปริมาณน้ำต้นทุนและความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ โดยกำหนดแผนพื้นที่การเพาะปลูกทั้งประเทศ จำนวน 11.65 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 9.02 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 6.41 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.61 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 2.63 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.09 ล้านไร่ สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด พื้นที่รวม 4.98 ล้านไร่ แบ่งเป็น 

ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 4.26 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 2.81 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 1.45 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 0.72 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.06 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.66 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด พื้นที่รวม 1.10 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.86 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.84 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.02 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 0.24 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.17 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.07 ล้านไร่

“ โฆษกรัฐบาล” สวน “หญิงหน่อย” ถ้านโยบายดีจริง ชาวนาไม่ต้องทนทุกข์ตั้งแต่รัฐบาลก่อน 

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณีที่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ระบุว่า นโยบายประกันราคาข้าวไม่สามารถแก้ปัญหาข้าวเปลือกตกต่ำ เป็นความทุกข์ซ้ำซากของชาวนา หากพรรคไทยสร้างไทยได้เป็นรัฐบาล จะเร่งแก้ไขปัญหาเพื่อให้ชาวนาหายจนหมดหนี้ มีรายได้อย่างมั่นคง ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยืนยันมาตลอดว่าจะดูแลเกษตรกรทั่วประเทศ ขณะนี้เร่งให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันวิเคราะห์แนวโน้มราคาพืชผลทางการเกษตร เพื่อหามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเหมาะสม และไม่เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด รวมถึงเร่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างเป็นระบบด้วย

นอกจากนี้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการประกันราคาข้าว รวมทั้งยังส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอินทรีย์ชุมชน และโรงสีข้าวอินทรีย์ของเครือข่าย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุนราคา ให้ข้าวไทยสามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นวิธีที่อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน

นายธนกร กล่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ชี้แจงชัดเจนแล้วว่าราคาข้าวจะขึ้นอยู่กับปริมาณความชื้น ดังนั้นจะเอาข้าวที่มีความชื้นมาเทียบราคาข้าวแห้งที่ไม่มีความชื้นไม่ได้ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติโครงการประกันรายได้ ปี 2564/65 และมาตรการคู่ขนานอื่น วงเงิน 18,000 ล้านบาท ขณะที่เงินประกันรายได้นั้นจะจ่ายให้ 33 งวด งวดที่ 1 และ 2 จ่ายไปแล้วเมื่อวันที่ 9-10 พ.ย.ที่ผ่านมา วงเงิน 13,000 ล้านบาท ส่วนงวดที่เหลือจะจ่ายสัปดาห์ละครั้ง แต่จะจ่ายครั้งละเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับราคาข้าวที่เป็นจริงในขณะนั้นด้วย ส่วนการแก้ปัญหาระยะกลางและยาวนั้น รัฐบาลได้วางยุทธศาสตร์ข้าวระยะ 5 ปี จะลดต้นทุนการทำนาของชาวนาจาก 6,000 บาทต่อไร่ เหลือ 3,000 บาทต่อไร่ภายใน 5 ปี รวมถึงภายในปี 2567 จะเร่งพัฒนาส่งเสริมในการใช้พันธุ์ข้าว 12 ชนิด ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่เป็นไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์การตลาดนำการผลิต 

เกษตรฯ บี้ ยกระดับทำเกษตรแปลงใหญ่ลดต้นทุน สั่งสิ้นปีต้องเสร็จ

นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานโครงการยกระดับแปลงใหญ่ ว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้หน่วยงานเจ้าของสินค้าที่มีปัญหาในการดำเนินการที่คาดว่าจะแล้วเสร็จช้ากว่าแผนที่กำหนด ให้ติดตามเร่งรัดอย่างใกล้ชิด และรายงานความก้าวหน้าให้ทราบอย่างต่อเนื่อง และส่งรายงานเอกสารบัญชีกลุ่มแปลงใหญ่ที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ให้ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์เข้าไปตรวจสอบให้ทันตามแผน ซึ่งทุกกิจกรรมต้องเสร็จภายในเดือนธ.ค. 2564 

สำหรับการเบิกจ่ายเงินของกลุ่มแปลงใหญ่ โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาดโครงการส่วนใหญ่ถือได้ว่าเป็นไปตามแผนเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 3,044 แปลง คงเหลือ 220 แปลง กลุ่มแปลงใหญ่ดำเนินการเบิกจ่ายเงินแล้ว จำนวน 3,269 แปลง จากเป้าหมาย 3,379 แปลง โดยผลการเบิกจ่ายดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ จำนวน 110 แปลง ซึ่งมีกำหนดเสร็จตามแผนส่วนใหญ่ 

ขณะเดียวกันที่ประชุมได้รับทราบผลจากการลงพื้นที่จังหวัดสระบุรีเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการฯ สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดหาปัจจัย วัสดุอุปกรณ์การผลิต เครื่องจักรกล เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตของกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ตามแผนการบริหารจัดการกลุ่ม 

เปิดจีดีพีเกษตรฯ ทั้งปีนี้โต 1.5% คาดปีหน้าพุ่งต่อ 2 – 3%  

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2564 พบว่า ขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุน จากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 ซึ่งเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช และประมง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ปรับตัวดีขึ้นจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มการผลิตและบำรุงรักษาที่ดี รวมไปถึงการดำเนินนโยบายและมาตรการของภาครัฐ นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ขยายตัวมากขึ้นเช่นกัน

ทั้งนี้หากพิจารณาในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ในปี 2564 ขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยพืชสำคัญที่มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปรัง มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2564 มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก รวมถึงการปลูกทดแทนพืชชนิดอื่น อาทิ อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และในบางพื้นที่สามารถเพาะปลูกข้าวนาปรังได้ 2 รอบ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการดูแลรักษาที่ดี ควบคุมและกำจัดหนอนกระทู้ได้ดีขึ้น ประกอบกับมีปริมาณน้ำเพียงพอ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 

ส่วน มันสำปะหลัง ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคามันสำปะหลังปรับตัวเพิ่ม เช่นเดียวกับยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นยางสมบูรณ์ดี ขณะที่ ปาล์มน้ำมัน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตสำคัญทางภาคใต้มีปริมาณน้ำฝนมากขึ้นในช่วงปลายปี 2563 ประกอบกับในปี 2564 มีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันที่ให้ผลผลิตในช่วงกลางปีถึงปลายปี 2564 มีทะลายสมบูรณ์ดี 

เปิดแผนลดต้นทุนปุ๋ยเคมีช่วยเกษตรกร ลดค่าใช้จ่ายแล้ว 244 ล้านบาท

นางอัญชลี สุวจิตตานนท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการของศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน (ศดปช.) ที่ได้เข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในการทำการเกษตรสำหรับการปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเกษตรกรจำนวน 108,036 ราย จาก 394 ศูนย์ ใน 63 จังหวัด พื้นที่ 1.3 ล้านไร่ ได้รับประโยชน์ ปริมาณการใช้ปุ๋ยลดลง 59,047.37 ตัน คิดเป็น 49% 

ทั้งนี้สามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีเฉลี่ยในพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 36.91% คิดเป็นมูลค่ามากถึง 244 ล้านบาท และเพิ่มผลผลิตได้จริง โดยผลผลิตของเกษตรกรที่ใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 10% ช่วยสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และเกิดการจ้างงานในธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ประมาณ 2,600 คน 

'ไทย' ร่วมโชว์นวัตกรรม 'อาหาร-เกษตร' สานต่อ ซอฟต์พาวเวอร์ ในงาน 'พืชสวนโลก' เนเธอร์แลนด์

ไทยร่วมแสดงความก้าวหน้านวัตกรรมอาหารและเกษตรในงานพืชสวนโลก ที่เนเธอร์แลนด์ ตั้งแต่วันนี้ถึง 9 ต.ค. 65 โชว์ศักยภาพประเทศต่อเนื่องหลังประสบความสำเร็จจาก World Expo ที่ดูไบ ดึงคนเข้าชมศาลาไทย 2.3 ล้านคน

14 เม.ย. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 14 เม.ย. - 9 ต.ค. 2565 ประเทศไทยได้เข้าร่วมการจัดแสดงนวัตกรรมด้านอาหาร สินค้าเกษตร การพัฒนากระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน สู่สายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากทั่วโลก ในงานมหกรรมพืชสวนโลก ครั้งที่ 7 The International Horticultural Exposition 2022 หรือ EXPO 2022 Floriade Almere ณ เมือง Almere ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ ซึ่งครั้งนี้มี 50 ประเทศ และ 60 องค์กรเข้าร่วม ซึ่งการเข้าร่วมแสดงนิทรรศการระดับโลกในครั้งนี้ต่อเนื่องจากการเข้าร่วมงาน World Expo 2020 ที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 ซึ่งนับว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างยิ่งซึ่ง Thailand Pavilion หรือศาลาไทยมีผู้เข้าชมถึง 2.3 ล้านคน ตลอดระยะเวลา 6 เดือนของการจัดแสดง ติดท็อป 5 ของ Pavilion ที่มีผู้เข้าชมมากที่สุดจากทั้งหมด 192 ประเทศที่เข้าร่วม

“World Expo ที่ดูไบที่เพิ่งจบลงจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่จะต่อยอดมูลค่าเพิ่มให้ประเทศไม่ว่าจะเป็นภาคการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมภาพยนตร์และบันเทิง บริการด้านสุขภาพ ส่วนการเข้าร่วมมหกรรมพืชสวนโลก ครั้งนี้จะเป็นการโชว์ศักยภาพนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหารซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย ซึ่งคาดว่าตลอด 6 เดือนของการจัดแสดงจะเป็นการให้ความรู้ ข้อมูลที่สามารถดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่และอาหารซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การส่งเสริมมากขึ้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

“รัฐมนตรีเฉลิมชัย” เดินหน้าจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่อง ยอดทะลุกว่า 70,000 คน ตั้งเป้า75,000 คน หวังสร้างรายได้ทดแทนให้เกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง

ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้ดำเนินการโครงการจ้างแรงงานชลประทาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อซ่อมแซม บำรุงรักษา ขุดลอก ปรับปรุงงานชลประทาน โครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อสร้างแหล่งน้ำ และระบบส่งน้ำเพื่อชุมชน/ชนบท แก้มลิง การจัดการคุณภาพน้ำ และโครงการป้องกันและบรรเทาภัยจากน้ำ สำหรับหลักเกณฑ์การจ้างแรงงาน จะพิจารณาจ้างแรงงานตามลำดับ ได้แก่ เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรหรือเกษตรกรในพื้นที่สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำของกรมชลประทานในพื้นที่ และประชาชนและผู้ใช้แรงงานทั่วไปในพื้นที่ หากแรงงานที่ต้องการในพื้นที่เป้าหมายมีไม่เพียงพอจะพิจารณาจ้างเกษตรหรือแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงตามลำดับ

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สำหรับปี 2565 นี้ มีแผนจัดจ้างแรงงานทั้งสิ้น 75,000 คน วงเงินงบประมาณ 4,465 ล้านบาท ระยะเวลาการจ้างแรงงานอยู่ระหว่าง 1 - 10 เดือน วงเงินจ้างแรงงาน/คน จะอยู่ที่ประมาณ 8,700 – 87,000 บาท(ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ้าง/คน) ปัจจุบันมีการจ้างแรงงานแล้ว 70,113 คน จังหวัดที่มีผลการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 ลำดับ คือ จังหวัดสกลนคร 5,389 คน จังหวัดอุบลราชธานี 3,787 คน และจังหวัดเชียงใหม่ 3,038 คน


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top