Friday, 5 July 2024
อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

‘รมว.ปุ้ย’ ตั้งเป้า!! ดึงต่างชาติลงทุนในไทย หนุนโอกาสทางธุรกิจ เล็งนำร่อง ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ ฟื้น ศก.-เพิ่มขีดการแข่งขัน

เมื่อไม่นานนี้ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้ตั้งเป้าหมาย เร่งดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ และตรึงให้ผู้ประกอบการในประเทศให้ดำเนินกิจการได้อย่างแข็งแกร่ง ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กำลังรวบรวมและประมวลผล ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมที่กำลังโดนผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวมีจำนวนกี่ราย ใครบ้าง เพื่อส่งสัญญาณให้ต้องมีการปรับตัว โดยมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย คอยช่วยเหลือ เพื่อให้เกิดการปรับตัว เพราะบางอุตสาหกรรมมีเครื่องจักรที่ทำงานได้หลายอย่าง จึงเสนอไปว่าอาจปรับไปผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ควบคู่กับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมที่เป็นโอกาส แต่เอ่ยชื่อไป หลายคนอาจจะตกใจ คือ ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ หมายถึง การผลิตยุทโธปกรณ์ อาทิ รถถัง, เรือรบ, ปืน หรือแม้แต่กระสุน แล้วส่งออกได้จำนวนมาก จึงเป็นอุตสาหกรรมอีกประเภทที่ควรจะต้องส่งเสริม เพื่อให้เกิดการสนับสนุนที่มากขึ้น คงต้องไปหารือกับกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกระทรวงกลาโหม ในการดูเรื่องภาษี อาทิ รถถัง นำเข้าทั้งคันภาษีถูกกว่าการนำเข้ามาประกอบ

ดังนั้น จึงต้องไปดูเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม หรือเพิ่มขีดการแข่งขัน ผู้ผลิตในประเทศจะได้มีโอกาสแข่งขันกับผู้นำเข้าได้

‘รมว.ปุ้ย’ หนุน ‘อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ’ สร้างรายได้เข้าชาติ นำร่อง 4 กลุ่ม ‘พาหนะรบ-ต่อเรือ-อากาศยานไร้คนขับ-ปืน’

(18 มิ.ย. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการยกระดับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ทั้ง First S-curve และ New S-curve ที่มีศักยภาพในการเติบโตและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่ได้มีการหารือกับนายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา และมีความเห็นตรงกันในการพัฒนาและส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมป้องกันประเทศในอันดับต้น ๆ ของอาเซียน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพเบื้องต้นนำร่อง 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.) กลุ่มยานพาหนะรบ 2.) กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือ 3.) กลุ่มอากาศยานไร้คนขับ และ 4.) กลุ่มอาวุธและกระสุนปืนสำหรับการป้องกันประเทศและกีฬา 

การยกระดับอุตสาหกรรมดังกล่าว จำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐาน เช่น ห้องแล็บสำหรับทดสอบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสากล รวมถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักกติกาสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

ล่าสุด สมอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการรับรองห้องแล็บระหว่างประเทศที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ได้ให้การรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐาน มอก. 17025-2561 หรือ ISO/IEC 17025 : 2017 แก่หน่วยงานใน 3 อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ 1.) อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ คือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ 2.) อุตสาหกรรมปิโตรเลียม คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ 3.) อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ คือ บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด จึงทำให้ห้องแล็บที่ได้รับการรับรองจาก สมอ. ได้รับความเชื่อมั่นและเชื่อถือในระดับสากลด้วยเช่นกัน 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ สมอ. ได้มอบใบรับรองความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบ ตามมาตรฐาน ISO/IEC 17025 : 2017 ให้แก่ 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1.) สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็นองค์การมหาชนสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่มีภารกิจด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้รับการรับรองในสาขาโยธาและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ  โดยนำผลทดสอบไปใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาวุธปืน กระสุน แผ่นเกราะ กระจกกันกระสุน โล่นิรภัย รถกันกระสุน เส้นใยป้องกันการติดไฟ อากาศยานไร้คนขับ เป็นต้น     

2.) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ได้รับการรับรองในสาขาปิโตรเลียม โดยนำผลทดสอบไปใช้ประกอบในการสำรวจแหล่งปิโตรเลียม และการวิจัยเพื่อเพิ่มอัตราการผลิตน้ำมัน    

และ 3.) บริษัท วชิรแล็บเพื่อสังคม จำกัด เป็นบริษัทที่ร่วมทุนระหว่างมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ให้บริการวิเคราะห์ สุ่มตรวจ และรับรองอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในรูปแบบวิสาหกิจเพื่อสังคม ได้รับการรับรองในสาขาวัสดุและอุปกรณ์ทางการแพทย์ สำหรับการทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว และหน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N95 โดยนำผลทดสอบไปใช้เพื่อการผลิตหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์การแพทย์ที่มีคุณภาพ 

ทั้งนี้ การได้รับการรับรองจะช่วยให้ผู้ประกอบการ สามารถลดต้นทุนและลดระยะเวลาในการทดสอบ เพราะไม่ต้องส่งสินค้าไปทดสอบซ้ำอีกในต่างประเทศ เนื่องจาก สมอ. ได้ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม (Mutual Recognition Arrangement : MRA) กับองค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการรับรองห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีประเทศสมาชิกที่ลงนามในข้อตกลงการยอมรับร่วม จำนวน 118 ประเทศ จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสในการเจรจาต่อรองทางการค้าของผู้ประกอบการไทยด้วย เลขาธิการ สมอ. กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top