Monday, 13 May 2024
อาหารฮาลาล

‘ก.อุตฯ’ กาง 8 มาตรการ ดันอาหารฮาลาลไทยสู่ตลาดโลก พร้อมตั้งเป้ายก ‘ไทย’ เป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค

(16 ต.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กระทรวงให้ความสำคัญ โดยตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 136,503 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ ในขณะที่กลุ่มอาหารที่ต้องผ่านการรับรอง เช่น เนื้อสัตว์-อาหารทะเล อาหารแปรรูป ฯลฯ มีอัตราการเติบโตลดลง 7.5% และ 10.3% ตามลำดับ

โดยไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ดังนั้น หากจะผลักดันให้อาหารฮาลาลของไทยขยายตลาดมากขึ้น และเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จึงได้เตรียมมาตรการและแผนงาน รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลสำหรับรองรับการท่องเที่ยวและผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง อาเซียน และเอเชียใต้ เป็นต้น

โดยมีมาตรการที่สำคัญ 8 มาตรการ ได้แก่

1. ขับเคลื่อน Soft Power สู่การยกระดับอาหารฮาลาล ท้องถิ่นภาคใต้ของไทย เช่น แกงปูใบชะพลู ข้าวยำปักษ์ใต้ แกงเหลือง สะตอผัดกุ้ง และอาหารฮาลาลไทยต้นตำรับ เช่น ต้มยำกุ้ง มัสมั่นเนื้อ ข้าวซอยไก่ โดยสนับสนุนให้เป็นอาหารแนะนำที่เสิร์ฟบนเครื่องบินเพื่อเป็นการโปรโมต

2. เชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮาลาลที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิมกับแหล่งอาหารฮาลาลในพื้นที่ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม การขนส่ง ฯลฯ โดยประสานกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแนะนำและขึ้นทะเบียนเมนูอาหารตลอดจนส่งเสริมอาหารฮาลาลในเทศกาลต่าง ๆ เพื่อโปรโมตและสร้างชื่อเสียงให้เป็นที่รู้จัก

3. ลดข้อจำกัดและปรับปรุงแก้ไขอุปสรรคเกี่ยวกับการขอรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล โดยให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการรับรอง

4. เจรจา MOU เพื่อเปิดตลาดสินค้าอาหารฮาลาลใหม่ในต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และสาธารณรัฐทูร์เคีย เช่น มาตรการทางด้านภาษี มาตรการการตรวจปล่อยสินค้าให้มีความรวดเร็วมากขึ้น

5. พัฒนาผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทยตอบโจทย์ผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ เช่น ขนมขบเคี้ยว และอาหารเพื่อสุขภาพ โดยมีการสนับสนุนพื้นที่ในห้างโมเดิร์นเทรด

6. สร้างเครือข่ายความร่วมมืออาหารฮาลาลไทย กับประเทศเป้าหมาย โดยประสานความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ roadshow ในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น อาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้

7. พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของ กนอ. ร่วมกับ ศอ.บต. ในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งยกระดับศูนย์พัฒนาสินค้าอาหารของสถาบันอาหารใน จ.สงขลา ให้ครอบคลุมการพัฒนาสินค้าอาหารฮาลาลต้นแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดเชิงพาณิชย์

8. พัฒนาและจัดทำ role model ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เช่น โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ ฯลฯ ให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์วัวใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกไปยังประเทศที่มีกำลังซื้อสูง

ทั้งนี้ ในการดำเนินการจะร่วมเป็นเครือข่ายกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมในภูมิภาค โดยทั้งหมดจะเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นการลงทุน ยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล เพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางฮาลาลภูมิภาคอย่างยั่งยืน

'รัดเกล้า' ย้ำ!! ภารกิจใหญ่รัฐบาล ดันไทย 'ศูนย์กลางอาหารฮาลาล' เล็งเดินหน้า 8 มาตรการ พาอาหารฮาลาลไทยสู่เวทีโลก

(18 ต.ค. 66) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) พร้อมมุ่งหน้าผลักดันนโยบายหลักด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลโลก ซึ่งไทยมีความพร้อมทั้งด้านวัตถุดิบและมีศักยภาพ ที่จะเดินหน้าสู่การเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลเติมเต็มความต้องการของหลายประเทศทั่วโลก

นางรัดเกล้ากล่าวว่า ตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตเฉลี่ย 13.5% ตามสัดส่วนประชากรมุสลิมโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย อก. ได้จัดทำ 8 มาตรการสำคัญ เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของไทยสู่ตลาดโลก โดยเชื่อมโยงกับ Soft Power ในท้องถิ่น ได้แก่

1.ขับเคลื่อน Soft Power ยกระดับอาหารฮาลาลท้องถิ่นภาคใต้ของไทย เป็นอาหารแนะนำเสิร์ฟบนเครื่องบิน 

2. เชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฮาลาล กับแหล่งอาหารฮาลาลในพื้นที่ พร้อมร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แนะนำ และขึ้นทะเบียนเมนูอาหาร ตลอดจนส่งเสริมอาหารฮาลาลในเทศกาลต่าง ๆ 

3.ลดข้อจำกัด และอุปสรรคเกี่ยวกับการขอรับรองตราสัญลักษณ์ฮาลาล โดยร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อลดข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการรับรอง 

4.เจรจาความตกลง (MOU) เพื่อเปิดตลาดสินค้าอาหารฮาลาลใหม่ ๆ ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐทูร์เคีย

5.พัฒนาผู้ผลิตอาหารฮาลาลไทย ให้สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคมุสลิมรุ่นใหม่ 

6.สร้างเครือข่ายความร่วมมืออาหารฮาลาลไทยกับประเทศเป้าหมาย โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์เดินสาย road show ในตลาดศักยภาพ อาทิ อาเซียน ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ 

7.พัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อยกระดับศูนย์พัฒนาสินค้าอาหารของสถาบันอาหารในจังหวัดสงขลา 

8.พัฒนาและจัดทำต้นแบบ (Role Model) ในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อยกระดับสถานประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ให้ได้มาตรฐานฮาลาลเพื่อการส่งออก รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์วัวใหม่ ๆ ที่มีคุณภาพสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการส่งออกสู่ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง

“นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน เน้นย้ำเสมอถึงความสำคัญของความมั่นคงทางอาหาร ไทยมีวัตถุดิบ และมีศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาคุณภาพของอาหารได้ (Food Technology) เพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารฮาลาลของหลายประเทศ เชื่อมตลาดไทยสู่ตลาดโลก ปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางสำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย” นางรัดเกล้ากล่าว

‘นายกฯ เศรษฐา’ เล็งตั้ง ‘กรมฮาลาล’ ใช้ขับเคลื่อน ‘อาหารฮาลาล’ ส่งออกทั่วโลก

(7 พ.ย. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการยกระดับอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ว่า มีหน่วยงานในกรมหนึ่งของกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐบาลนี้ตระหนักดีถึงความสำคัญของอาหารฮาลาล เป็นอาหารเศรษฐกิจที่สามารถส่งออกได้ไปยังพื้นที่ที่มีชาวมุสลิม ทั้งตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา ก็อยากจะยกระดับความสำคัญของงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม ก็มีการสั่งการไป และมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ดูเรื่องการยกระดับของหน่วยงานนี้ขึ้นมาให้เป็นกรม จะได้พัฒนาต่อไปได้

ก.อุตฯ ผุด 8 มาตรการรองรับกระแส ‘ฮาลาล’ คาด!! ดัน GDP โต 2.0%

เทรนด์ ‘ฮาลาล’ กำลังมาแรง รัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญกับกระแสนี้อยู่ไม่น้อย โดยได้ออกมาตรการ 8 ข้อเพื่อขับเคลื่อนอาหารฮาลาล หวังดันไทยสู่ศูนย์กลางการผลิต นอกจากนี้ยังเตรียมก่อตั้ง ‘กรมฮาลาล’ เพื่อใช้ในการกำกับดูแลมาตรฐาน ประสิทธิภาพ อุตสาหกรรมฮาลาลของไทยอีกด้วย

ส่วนมาตรการทั้ง 8 ข้อที่กระทรวงอุตสาหกรรม ประกาศออกมาจะมีอะไรบ้าง วันนี้ THE STATES TIMES สรุปรวมมาให้แล้ว มาดูกัน!!

'รมว.ปุ้ย' เตรียมชง ครม.พิจารณายกร่างฯ ตั้ง 'อกฮช.' ระดมหัวกะทิ 4 กระทรวง ขับเคลื่อนฮาลาลไทยเชื่อมโลก

(13 ธ.ค. 66) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางสาวไพลิน เทียนสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายภาสกร ชัยรัตน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นางสาวศิริเพ็ญ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ให้คณะผู้บริการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) เข้าพบ โดยมี นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรม ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, นายพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และผู้บริหาร ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ สำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

รมว.พิมพ์ภัทรา กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาล โดยล่าสุดได้จัดทำร่างข้อเสนอกลไกในการบริหารจัดการ 'องค์การอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ' หรือ อกฮช. ซึ่งมีประเด็นสำคัญ อาทิ การเสนอแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทย การกำหนดอำนาจหน้าที่ และบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าฮาลาลระหว่างประเทศ ส่งเสริมการผลิตและการขอรับมาตรฐานฮาลาล โดยเบื้องต้นกำหนดใช้พื้นที่ของสถาบันอาหารในระยะเริ่มต้นดำเนินการ และเสนอของบประมาณจัดตั้ง จำนวน 630 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ เตรียมเสนอขอสนับสนุนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมฮาลาลจาก 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 27 อัตรา เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะเริ่มต้น 

ทั้งนี้ สำหรับการพิจารณาความเหมาะสมของการจัดตั้งว่าจะเป็นองค์การมหาชน หรือ หน่วยงานระดับกรม ให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. เป็นผู้ประเมินต่อไป

สำหรับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศมุสลิมในฐานะผู้บริโภค กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED เตรียมจัดงาน Thailand International Halal Expo 2024 เพื่อเชื่อมโยงตลาดสินค้าฮาลาลทั่วโลก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศจำนวน 57 ประเทศ ซึ่งจะมีเวทีสำหรับการจับคู่ธุรกิจ การให้ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและการขอรับมาตรฐานฮาลาล การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการจัดแสดงสินค้าฮาลาลในธุรกิจอาหาร ธุรกิจบริการ และธุรกิจโรงแรม เพื่อแสดงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทย รวมทั้งเป็นการกระตุ้นการลงทุนจากประเทศมุสลิมในอนาคต

‘รมว.ปุ้ย’ เชิญ ‘สถาบันมาตรฐานซาอุฯ’ เยือนไทย รับรองมาตรฐาน ‘ฮาลาลไทย’ หวังต่อยอดสู่ตลาดโลก

เมื่อวานนี้ (15 ม.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าพบคณะผู้บริหารองค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพ แห่งซาอุดีอาระเบีย (The Saudi Standards Metrology and Quality Organization : SASO) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ณ กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ด้านการมาตรฐาน ส่งเสริมการค้าการลงทุนและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบีย พร้อมเชิญผู้บริหาร SASO เยือนไทย เพื่อทำแผนงานความร่วมมือและลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) 

“ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับนายซาอูด บิน ราชิด อัล อัสการ์ รองผู้อำนวยการองค์กรมาตรฐาน มาตรวิทยา และคุณภาพแห่งซาอุดิอาระเบีย หรือ SASO ในระหว่างงาน Future Mineral Forum 2024 ณ ศูนย์การประชุมนานาชาติคิงอับดุลลาซิส กรุงริยาด โดยทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันที่จะยกระดับความสัมพันธ์ด้านการมาตรฐาน การยอมรับผลการตรวจสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียให้เพิ่มขึ้น 

ทั้งนี้ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ มูลค่าการค้าของไทยกับซาอุดีอาระเบียได้เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 23 ใกล้แตะมูลค่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น จึงเสนอให้พัฒนาความร่วมมือในเชิงเทคนิคระหว่างกัน โดยได้เชิญผู้บริหารจาก SASO มาเยือนไทยเพื่อขับเคลื่อนในเชิงรุกกับ สมอ. โดยเริ่มต้นจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อเป็นหมุดหมายแรกแห่งความร่วมมือ 

นอกจากนี้ ยังได้ขอให้ SASO สนับสนุนการให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย โดยสินค้าฮาลาลของไทย แม้ว่าจะเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ แต่ปัญหาอุปสรรคหนึ่งในด้านการค้าคือ การยอมรับผลการตรวจสอบรับรองและเครื่องหมายรับรอง โดยมูลค่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยไปยังซาอุดีอาระเบีย นับว่ายังมีมูลค่าน้อยและมีส่วนแบ่งตลาดเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 ของมูลค่าการนำเข้าของซาอุดีอาระเบีย จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตลาดได้อีกมาก หากมีการยกระดับความร่วมมือด้านการมาตรฐานระหว่างกัน ทั้งนี้ การผลักดันอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาลเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ซาอุดีอาระเบียนับเป็นตลาดฮาลาลที่ใหญ่ จึงเริ่มต้นก่อน และมีแผนที่จะขยายความร่วมมือไปถึงพหุภูมิภาคอื่นด้วย” รมต.พิมพ์ภัทราฯ กล่าว

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ.ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐบาล ได้เตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล ทั้งในด้านกระบวนการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลของประเทศไทย และกลุ่มประเทศคู่ค้าที่สำคัญ รวมทั้งโอกาสในการเพิ่มการส่งออกอาหารฮาลาลของไทย โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานด้านการมาตรฐาน อาทิ หน่วยตรวจรับรองที่มีความพร้อมในการตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลตามกระบวนการที่ประเทศคู่ค้ากำหนด ผู้ตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลที่เชี่ยวชาญตามกระบวนการตรวจสอบตามระบบ ISO/IEC 17020 และบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมอาหารที่มีทักษะในการพัฒนาสถานประกอบการให้มีมาตรฐานฮาลาลตามข้อกำหนดของประเทศคู่ค้า ตลอดจนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อให้สามารถขยายตลาดส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าว นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะยกระดับงานด้านการมาตรฐานฮาลาลของทั้ง 2 ประเทศ ให้เกิดการยอมรับผลการตรวจสอบรับรองสินค้าฮาลาล เพื่อผลักดันสินค้าไทยสู่ตลาดมุสลิมโลก เลขาธิการ สมอ. กล่าว

'รมว.ปุ้ย' กางผลลัพธ์ส่งออก 'ฮาลาลไทย' แตะ 216,698 ล้านบาท โต 2.6% เชื่อ!! ยังไปได้อีกไกล หลัง 'ก.อุตฯ' เปิดฉากรุกตลาดกำลังซื้อสูงต่อเนื่อง

(27 ก.พ. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสถาบันอาหาร, นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร, นายชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ, นายพิตรพิบูล ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พร้อมทั้งผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าร่วมกิจกรรมประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยแก่คณะรัฐมนตรี ณ บริเวณตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย พร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาลหวังส่งเสริมและขยายตลาดฮาลาลให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค

นางสาวพิมพ์ภัทรา เปิดเผยว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ศักยภาพอุตสาหกรรม ฮาลาลแก่คณะรัฐมนตรี รวมถึงเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมฮาลาลในตลาดโลก ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ โดยในตลาดโลกมีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงปี 2567 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนแบ่งอยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด ซึ่งคาดว่าในปี 2567 การเติบโตของตลาดอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งหมด จะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.5 โดยในส่วนของกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.1

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวอีกว่า สำหรับประเทศไทยมีมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลในปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) จำนวน 216,698 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาหารฮาลาล โดยธรรมชาติ เช่น ข้าว ธัญพืช น้ำตาลทราย ฯลฯ และมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,043 ราย มีร้านอาหารฮาลาลมากกว่า 3,500 ร้าน ซึ่งยังมีโอกาสเพิ่มสัดส่วนการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดที่มีกำลังซื้อสูงได้อีกมาก

ทั้งนี้ กิจกรรมประชาสัมพันธ์ดังกล่าว จะเป็นการกระตุ้นการรับรู้ความสำคัญของอุตสาหกรรมฮาลาลไทยพร้อมนำเสนอสินค้าตัวอย่างความร่วมมือในเครือข่ายฮาลาล และมุ่งหวังการส่งเสริมและขยายตลาดฮาลาลให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค โดยรูปแบบการจัดงาน ประกอบด้วยการจัดคูหาเพื่อแสดงตัวอย่างแสดงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาล อาทิ อาหาร, เครื่องสำอาง, เครื่องนุ่งหุ่ม, เสื้อผ้ามุสลิม, การจัดแสดงสาธิตการทำอาหาร 'เนื้อไทยแองกัสสิชล ฮาลาล ย่างซอสคั่วกลิ้งและใบเหลียงผัดกระเทียม' โดยเชฟชุมพล (นายชุมพล แจ้งไพร) ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ การจัดแสดงอาหารบนเครื่องบินจาก TG Inflight Catering Halal Food Center โดย ครัวการบิน การบินไทย รวมถึงการให้ข้อมูลที่สำคัญของโครงการศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย (Thai Halal Industry Center)

‘รมว.ปุ้ย’ นำ ‘นายกฯ เศรษฐา’ ดูบูธผลิตภัณฑ์ฮาลาล ชื่นชม!! เสื้อผ้า-อาหารว่างแปรรูป แนะต่อยอดสู่ออนไลน์

(27 ก.พ.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล โดยก่อนเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ชมบูธผลิตภัณฑ์ฮาลาล โดยศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาล กระทรวงอุตสาหกรรม มี น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รมว.อุตสาหกรรม นำคณะประชาสัมพันธ์แนะนำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มาจากการพัฒนาส่งเสริมศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาล 

โดยนายกฯ สนใจสอบถามเรื่องของแฟชั่นเครื่องแต่งกาย พร้อมแนะนำให้เปิดตลาดทางออนไลน์ และปรับปรุงการออกแบบดีไซน์ให้ทันสมัย จากนั้นได้ชมผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล ที่แปรรูปเป็นอาหารว่าง อาทิ ข้าวเกรียบปลากรือโป๊ะ มันฝรั่งทอด ทูน่าหยอง และชมการสาธิตการปรุงอาหารจากเนื้อแองกัส สายพันธุ์ไทย ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์พื้นเมืองสิชล จ.นครศรีธรรมราช กับสายพันธุ์ต่างประเทศ โดยเชฟชุมพล แจ้งไพร ย่างสเต็กเนื้อซอสคั่วกลิ้งฮาลาล เป็นการผสมผสานอาหารพื้นถิ่นมาเป็นเมนูใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างเยี่ยมชมบูธผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล นายกฯ สนใจสอบถาม ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปมาเป็นอาหารว่าง 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top