Saturday, 18 May 2024
อาหารทะเล

‘อดีตนักเดินเรือเก่า’ แอบหวั่น!! อาหารทะเลนำเข้าจากญี่ปุ่น ความปลอดภัยที่ยังถูกตั้งคำถาม หลังน้ำปนเปื้อนล่องทะเล

(29 ส.ค.66) ข้อมูลของผู้ใช้เฟซบุ๊ก ‘Naruphun Chotechuang’ โดย ‘คุณนฤพันธ์ โชติช่วง’ อดีตนักเรียนวิทยาลัยยามชายฝั่งญี่ปุ่น ได้โพสต์ให้ความรู้กรณีญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกันตรังสีสู่ทะเลไว้ว่า...

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปทานโอโทะโระลายสวย ๆ จากรูปภาพที่ 1 ในราคา 10 ชิ้น 399 บาท (ตกเฉลี่ยชิ้นละ 40 บาท) เมื่อทานแล้วคุณภาพไม่ต่างจากโอโทะโระที่ญี่ปุ่นระดับราคา 3 ชิ้นพันเยนเลย (ตกเฉลี่ยชิ้นละ 33.3 บาท) ก็ถือว่าทานทิ้งทวนก่อนจะลดการทานอาหารทะเลสักพัก อันเนื่องจากข่าวการปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลของประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา

ขอเกริ่นต้นเหตุของเรื่องก่อนนะครับ เมื่อ 12 ปีที่แล้วเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่น จนทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงผลิตไฟฟ้าฟุคุชิมะหมายเลขหนึ่งเกิดการเมลท์ดาวน์ จึงต้องนำที่ใช้หล่อเย็นแกนพลังงานของเตาปฏิกรณ์และน้ำเหล่านั้นก็ปนเปื้อนกัมมันตรังสี ปริมาณน้ำเหล่านั้นคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 30 ปีในการทยอยปล่อยน้ำที่บัดบำแล้วจนกว่าจะหมด แต่ถึงแม้จะได้รับการอนุญาตจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) แล้วว่าปริมาณการปนเปื้อนกัมมันตรังสีนั้นอยู่ใน ‘ระดับที่มองข้ามได้’ ว่าแต่มันปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล ธรรมชาติ และมนุษย์จริงหรือไม่ ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ดี 

แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการลดการทานอาหารทะเลสักพักของผม? ด้วยอาชีพเก่าอย่างนักเดินเรือ ที่จำเป็นต้องเรียนในศาสตร์วิชาอุตุนิยมวิทยา และสมุทรศาสตร์ ให้เข้าใจหลักการพยากรณ์อากาศ การเกิดพายุ การเกิดคลื่น และกระแสน้ำในทะเลเพื่อใช้ในการนำเรืออย่างปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของกระแสน้ำในทะเลบนโลกเรานั้น ผมจำได้ขึ้นใจเนื่องจากตอนสอบภาคทฤษฎีในตำแหน่งนายเรือ และสอบสัมภาษณ์ในตำแหน่งนายประจำเรือเจอคำถามเกี่ยวกับเรื่องกระแสน้ำนี้ด้วย

จากรูปภาพที่ 2 เป็นภาพทิศทางของกระแสน้ำบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกที่แบ่งได้เป็นสองแบบคือ กระแสน้ำอุ่นแทนด้วยสีแดง และกระแสน้ำเย็นแทนด้วยสีน้ำเงิน การปล่อยน้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วลงสู่ทะเล ณ จุดเกิดเหตุมีโอกาสที่กระแสน้ำอุ่นจะพัดเอาน้ำเหล่านั้นไปยังทวีปอเมริกาแล้วแยกออกเป็นสองสาย ไปทางเหนือแล้ววนกลับไปที่ญี่ปุ่น หรือลงทางใต้แล้ววนกลับไปยังเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้) นั่นหมายความว่า มีโอกาสที่สัตว์ทะเลที่อาศัยบริเวณนั้นได้รับกัมมันตรังสี ซึ่งก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัดว่าจะไม่มีการกลายพันธุ์ และมนุษย์ก็จะรับเอาสารกัมมันตรังสีจากสัตว์ทะเลเหล่านั้นมาอีกต่อหนึ่ง 

เพื่อให้เห็นภาพชัด ๆ ผมแคปเอาภาพที่ 3 จากเว็บที่แสดงกระแสน้ำทั่วโลกแบบ Real time มาให้ดูกัน ใครสนใจดูเองเชิญตามลิงก์นี้
https://earth.nullschool.net/#current/ocean/surface/currents/equirectangular=-169.89,11.90,510 

โพสต์นี้ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนแตกตื่น แต่ต้องการให้ตื่นตัวกับสถานการณ์ของโลก ประเทศจีนเองก็มีมาตรการยกเลิกการนำเข้าสัตว์ทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมดแล้ว เกาหลีก็มีการประท้วงต่อรัฐบาลญี่ปุ่นในการทำเช่นนี้ ส่วนไทยที่มีหลายคนรักในปลาส้ม และโอมากาเสะนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นยังอาจไม่รับรู้ถึงเรื่องเหล่านี้ ก็อยากให้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่มี และพิจารณาความเสี่ยงนั้นด้วยตัวเองครับ

ปล. ที่จริงคนเราก็กินสัตว์ทะเลที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกมาสักพักแล้วนะ ต่างประเทศค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้แล้ว แต่ไทยยังทำตัวเหมือนท่านฮุคเพลง ‘ความซื่อสัตย์’ ของบอดี้สแลมต่อไป

‘ญี่ปุ่น’ เผย ยอดนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น ใน ‘จีน’ ลดฮวบ 67% ผลกระทบการปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะสู่ทะเล

(20 ก.ย. 66) สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า นับตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มทยอยปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จนเกิดกระแสไม่พอใจและเกิดการต่อต้านการนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น เนื่องจากความกังวลด้านความปลอดภัยนั้น มีรายงานว่า การนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นของจีนในช่วงเดือนเดียวกันนั้น ลดฮวบลงไปถึง 67.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว จากการเปิดเผยของศุลกากรจีน

จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและประมงของญี่ปุ่นระบุว่า จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นรายใหญ่ที่สุด โดยในปีที่แล้วจีนได้นำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น มีมูลค่า 84,400 ล้านเยน (ราว 20,556 ล้านบาท)

ทั้งนี้ เริ่มเห็นจีนนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่นลดลงมาตั้งแต่ที่ญี่ปุ่นเตรียมการจะปล่อยน้ำบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ จนกระทั่งมีการปล่อยน้ำจริงๆ ในวันที่ 24 สิงหาคม ส่งผลให้ทางการจีนประกาศแบนนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งหมด ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นยืนยันว่าแผนการปล่อยน้ำดังกล่าวมีความปลอดภัย และยังได้รับการรับรองจากทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แล้วก็ตาม

จีนยังประท้วงคัดค้านการปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะอย่างแข็งกร้าว ขณะที่มีการบิดเบือนข้อมูลเกิดขึ้น ที่นำไปสู่การก่อเหตุโจมตีโรงเรียนญี่ปุ่นในประเทศจีน และการโทรศัพท์ป่วนภาคธุรกิจในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก จนทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นออกประกาศเตือนพลเมืองของตนเองที่เดินทางไปจีน ให้ระมัดระวังตัว และเลี่ยงการพูดภาษาญี่ปุ่นเสียงดังในที่สาธารณะ เพื่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของตนเอง

‘รัสเซีย’ เล็งแบนนำเข้าอาหารทะเลญี่ปุ่น ปมปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีสู่ทะเล

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซีย (Rosselkhoznadzor) ระบุในวันอังคาร (26 ก.ย.) ว่า รัสเซียกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการตามจีนในการสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเล หลังจากรัฐบาลญี่ปุ่นปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในวันพฤหัสบดีที่ 24 ส.ค. และวางแผนที่จะหารือเรื่องดังกล่าวกับญี่ปุ่น

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากจีน หลังปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลในเดือนที่ผ่านมา โดยจีนได้ตอบโต้การดำเนินการดังกล่าวด้วยการสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจากญี่ปุ่น

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า รัสเซียได้หารือเรื่องการส่งออกอาหารญี่ปุ่นกับจีน โดยรัสเซียเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์อาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของจีน และกำลังพยายามเพิ่มส่วนแบ่งตลาด

“เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในอาหารแล้ว สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียจึงพิจารณาที่จะจำกัดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากปลาของญี่ปุ่นเช่นเดียวกับจีน” สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุในแถลงการณ์ พร้อมกล่าวเสริมว่า “รัสเซียจะสรุปการตัดสินใจหลังเจรจากับทางญี่ปุ่นแล้ว”

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า ได้ส่งจดหมายถึงญี่ปุ่นแล้ว เพื่อขอนัดหมายการประชุม พร้อมขอให้ญี่ปุ่นส่งข้อมูลการทดสอบรังสีในผลิตภัณฑ์ปลาส่งออกของญี่ปุ่นภายในวันที่ 16 ต.ค ซึ่งรวมถึงสารทริเทียม

สำนักงานกำกับดูแลความปลอดภัยทางอาหารของรัสเซียระบุว่า รัสเซียนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นทั้งสิ้น 118 ตันในปีนี้

ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นระบุว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีนั้นปลอดภัยดี เนื่องจากได้รับการบำบัดเพื่อขจัดสารรังสีออกไปเกือบทั้งหมดแล้ว เหลือเพียงแค่สารทริเทียมเท่านั้น เนื่องจากเป็นสารที่ยากที่จะแยกออกจากน้ำได้ และการปล่อยน้ำปนเปื้อนดังกล่าวสอดคล้องกับมาตรฐานสากล

ญี่ปุ่นระบุว่า ข้อครหาจากรัสเซียและจีนนั้นไม่เป็นไปตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

‘นครเซินเจิ้น’ เจ๋ง!! เปิดบริการใช้ ‘โดรน’ ส่ง ‘อาหารทะเล’ สามารถทะยานสู่ฟ้ารับน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 20 กิโลกรัม

เมื่อวานนี้ (7 ก.พ.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เส้นทางการจัดส่งอาหารทะเลด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือ ‘โดรน’ เปิดดำเนินงานแล้วโดยเชื่อมระหว่างท่าเรือหนานอ้าวซวงยง ทางตะวันออกของนครเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน และเขตหลงกั่งภายในเมือง

โดรนขนส่งซีฟู้ดสามารถทะยานขึ้นบินด้วยน้ำหนักบรรทุกสูงสุด 20 กิโลกรัม โดยอาหารทะเลจะถูกส่งไปยังบริษัทขนส่งในพื้นที่ ก่อนส่งต่อถึงมือลูกค้าในที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top