Monday, 20 May 2024
อานนท์_นำภา

ศาลรธน. ชี้ รุ้ง-ไมค์-อานนท์ ล้มล้างการปกครอง ยัน!! ให้เลิกการกระทำในอนาคต

ศาลรธน. อ่านคำวินิจฉัย การชุมนุมปราศรัย ‘รุ้ง-ไมค์-อานนท์’ กระทำเป็นขบวนการล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม รธน.มาตรา 49

10 พ.ย. 64 เวลาประมาณ 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัย คำร้องขอให้ศาลรธน. วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีที่ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตาม รธน. มาตรา 49 ว่า การกระทำของ นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก (ไมค์), น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (รุ้ง), นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), น.ส.จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, น.ส.สิริพัชระ จึงธีรพานิช, นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และน.ส.อาทิตยา พรพรม รวม 8 คน ชุมนุมปราศรัยเพื่อเสนอข้อเรียกร้องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

‘4 แกนนำสามนิ้ว’ ลั่นไม่ขอยื่นประกันตัวอีก ชี้! มติศาลไม่ให้ประกันตัว=ปิดโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์!

(28 ธ.ค. 64) นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ถึงกรณีการคุมขังผู้ต้องขังทางการเมือง โดยระบุว่า...

ผมในฐานะทนายความของผู้ต้องขังทางการเมือง 4 คน อันประกอบด้วย ทนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ระยอง และ นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ได้เข้าเยี่ยมพวกเขาทั้งสี่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และได้รับการร้องขอจากพวกเขาทั้งสี่ ให้แจ้งข้อความดังต่อไปนี้ให้แก่พ่อแม่ญาติพี่น้อง และบรรดามิตรสหายเพื่อนฝูงรวมทั้งสื่อมวลชนให้ทราบว่า

1.) ภายหลังจากที่ผู้บริหารของศาลอาญาได้มีมติไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) พวกเขาในระหว่างการพิจารณาคดีตามคำร้องขอของทนายความเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2564 นั้น พวกเขาเห็นว่าเหตุผลของศาลอาญาไม่ชอบด้วยหลักกฎหมาย หลักยุติธรรม และไม่เป็นไปตามกติการะหว่างประเทศที่ไทยได้ให้สัตยาบันรับรองไว้ พวกเขาทั้งสี่เชื่อว่าการไม่อนุญาตให้เขาได้รับการประกันตัวไปสู้คดีอย่างเต็มที่นั้น เป็นการปิดโอกาสที่เขาจะสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของเขาและเป็นการพิพากษาเสียล่วงหน้าแล้วว่าพวกเขาเป็นผู้กระทำความผิด

ด้วยเหตุผลข้างต้น พวกเขาทั้งสี่จึงขอประกาศว่า นับจากนี้พวกเขาจะไม่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว (ประกันตัว) ในระหว่างพิจารณาคดีต่อศาลอาญาอีก และจะไม่อนุญาตให้ทนายความและบุคคลใดไปดำเนินการดังกล่าวทั้งสิ้น

'ผศ.ดร.อานนท์' โพสต์!! เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดี กรณี 'อานนท์ นำภา' ถูกจำคุก 112 ไม่รอลงอาญา 4 ปี

(27 ก.ย. 66) ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'Arnond Sakworawich' ระบุว่า...

คดีที่อานนท์ นำภา ถูกศาลพิพากษาจำคุกมาตรา 112 ป.อาญา ไม่รอลงอาญา 4 ปีนั้น อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีนี้เองครับ และทนายอานนท์ นำภา เป็นทนายความว่าความให้ตัวเองด้วยตัวเองด้วยครับ

นอกจากนี้ ผศ.ดร.อานนท์ ยังได้ยกข้อความปราศรัยช่วงหนึ่งของนายอานนท์ นำภา อีกด้วย ระบุว่า…

นอกจากนี้ อัยการยังเห็นว่าอานนท์ปราศรัยเข้าข่ายความ ผิดตามมาตรา 112 โดยกล่าวคำปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงในพื้นที่ชุมนุมว่า "ข้อที่ 3 มาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมีสามข้อเท่านั้น วันนี้ จะไม่เหมือนเมื่อวานเพราะพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดทยอยมาสมทบกันเรื่อย ๆ และ นิสิตนักศึกษาก็ทยอยมาเรื่อย ๆ ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือ ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด"

"อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้นอกจาก…"

“อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือ…ให้รู้ไว้เช่นนั้น"

ข้อความข้างต้น อัยการเห็นว่าไม่ใช่การกระทำหรือเป็นการแสดงความคิดเห็นและติชมโดยสุจริต เป็นการใส่ร้ายกษัตริย์ ทำให้กษัตริย์เสื่อมเสีย ถูกเกลียดชัง และทำให้ประชาชนหลงเชื่อข้อความที่จำเลยได้พูดออกไป ทำให้ไม่เป็นที่เคารพสักการะต่อกษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

'อานนท์' โวย!! ศาลอาญา ไม่อนุญาตให้เป็นทนายจำเลยช่วย 'ทอปัด' อ้าง!! ทั้งที่ยังมีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะเป็นทนายความ เหตุคดียังไม่ถึงที่สุด

'อานนท์' ยื่นคำร้องคัดค้าน ภายหลังศาลอาญาไม่อนุญาตให้เบิกตัวมาทำหน้าที่ทนายจำเลยในคดี 112 ของ 'ทอปัด' ระบุ ยังมีศักดิ์และสิทธิ์ที่จะเป็นทนายความ เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.66 นายอานนท์ นำภา ทนายความและผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของศาลอาญาที่ไม่อนุญาตให้เบิกตัวอานนท์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาทำหน้าที่ทนายจำเลยในนัดสืบพยานคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ของ ทอปัด อัฒอนันต์ อายุ 28 ปี ศิลปินนักวาดภาพอิสระ จากการวาดภาพรัชกาลที่ 10 เผยแพร่ในอินสตาแกรม ซึ่งจะมีการสืบพยานในวันที่ 1, 15 ธ.ค. 2566 และ 31 ม.ค. 2567  

การยื่นคำร้องคัดค้านเกิดขึ้นภายหลังเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2566 ศาลอาญามีคำสั่ง ‘ยกคำร้อง’ ต่อคำร้องในคดีของทอปัด ที่อานนท์ยื่นขอให้เบิกตัวมาทำหน้าที่ทนายความของจำเลย ร่วมกระบวนการพิจารณาสืบพยานในวันที่ 1, 15 ธ.ค. 2566 และ 31 ม.ค. 2567

ทั้งนี้ อานนท์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 หลังศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 จากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ให้จำคุก 4 ปี และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ แม้จะยื่นประกันแล้ว 3 ครั้ง รวมถึงศาลฎีกาก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันหลังทนายความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน จนถึงปัจจุบัน (30 พ.ย. 2566) อานนท์ถูกคุมขังมาแล้ว 66 วัน

🔴 คำร้องคัดค้านคำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้เบิกตัวทนายอานนท์มาในคดีของทอปัดมีเนื้อหาดังนี้...

คดีนี้ศาลนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 1 ธ.ค. 2566 ทนายความจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลเบิกตัวทนายจำเลย ซึ่งถูกขังโดยอำนาจของศาลนี้มาปฏิบัติหน้าที่ทนายความ ศาลมีคำสั่งยกคำร้องและไม่เบิกตัวทนายความจำเลยมาปฏิบัติหน้าที่โดยให้เหตุผลว่า ทนายความจำเลยถูกพิพากษาว่ามีความผิดในคดีอาญา (คดีมาตรา 112) มีโทษจำคุก 4 ปี จึงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทนายได้ 

ทนายจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้...

1. ทนายความจำเลยยังมีศักดิ์และมีสิทธิ์ในวิชาชีพทนายความอย่างสมบูรณ์ตาม พ.ร.บ.ทนายความ เพราะคดีการเมืองที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ยังไม่ถึงที่สุด ซึ่งตามรัฐธรรมนูญย่อมถือว่าทนายความจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งการสิ้นสุดลงของการเป็นทนายความย่อมเป็นไปตามกฏหมายว่าด้วยทนายความ ซึ่งทนายความจำเลยยังมีชื่อเป็นทนายความ ไม่ได้ถูกเพิกถอนการเป็นทนายความแต่อย่างใด ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ อันเป็นการขัดขวางไม่ให้ทนายความได้ปฏิบัติหน้าที่ในคดีได้

2. การที่ศาลมีคำสั่งไม่ให้ทนายความจำเลยมาศาลเพื่อทำหน้าที่ ทั้งที่ทนายความจำเลยถูกขังโดยอำนาจศาล ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่า ในการสืบพยานโจทก์จะไม่มีทนายความที่จำเลยไว้วางใจและแต่งตั้งมาทำหน้าที่ กระบวนการพิจารณาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นความผิดในหมวดความมั่นคงและเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ย่อมไม่อาจดำเนินไปด้วยความยุติธรรมได้ 

ทั้งนี้ กระบวนพิจารณาคดีมาตรา 112 ได้ถูกจับตาโดยประชาคมโลกมาโดยตลอด รวมทั้งเนติบัณฑิตแห่งสหภาพยุโรปได้เคยทำหนังสือแสดงความกังวลในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความจำเลย ซึ่งถูกละเมิดจากการแสดงออกอย่างสันติทางการเมืองจนกระทบต่อการทำหน้าที่ ซึ่งหนังสือดังกล่าวถูกส่งไปยังสภาทนายและถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 โดยตรง

การออกคำสั่งของศาลในคดีนี้ยังตอกย้ำถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีมาตรา 112 อย่างชัดเจนว่า มีความไม่ปกติ และอาจเกิดความไม่ยุติธรรมในการพิจารณาคดี

3. หากศาลเห็นว่า การแต่งกายในชุดนักโทษไม่เหมาะสมที่จะสวมครุยเนติบัณฑิตว่าความในห้องพิจารณา เหมือนในการพิจารณาคดีของศาลนี้ในหลายคดี หากศาลมีคำสั่งห้ามสวมชุดครุย ทนายความจำเลยก็ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งแม้จะไม่เห็นด้วย 

การที่ทนายความจำเลยไม่อาจแต่งกายด้วยชุดสุภาพแบบสากลนิยม แต่ต้องสวมชุดนักโทษ ก็เพราะศาลนี้และศาลอุทธรณ์ ตลอดจนศาลฎีกา ไม่ได้มีคำสั่งให้ประกันทนายความจำเลย ไม่ใช่เรื่องที่ทนายความแต่งกายไม่ถูกระเบียบเอง ทั้งการไม่อาจสวมครุยก็ไม่กระทบต่อการทำหน้าที่ ถึงขนาดจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เพราะหากทนายความปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยความยุติธรรม แม้อยู่ในชุดนักโทษก็สามารถทำให้เกิดความยุติธรรมได้ แต่หากทำหน้าที่ไปด้วยอคติหรือมิจฉาทิฐิ แม้จะสวมชุดครุยที่ทอด้วยไหมก็คงไม่มีค่าอันใด

ด้วยเหตุผลที่ทนายความจำเลยกล่าวมาข้างต้นทนายความจำเลยจึงขอแถลงคัดค้านคำสั่งศาลดังกล่าวไว้ 

อานนท์ นำภา
ทนายความจำเลย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top