Thursday, 2 May 2024
อาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ตร.เตือน!! โดนโทรทวงหนี้ “อ้างว่าเป็นผู้ค้ำประกัน” ถ้าไม่เคยค้ำ อย่าหลงเชื่อ!!

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มีนโยบายให้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชาชนรู้เท่าทันถึงอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น

สืบเนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการโทรศัพท์มาทวงถามหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีถูกอ้างชื่อว่าเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ ถูกข่มขู่ว่าหากไม่ใช้หนี้แทนผู้กู้ จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ติดเครดิตบูโร ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินกับสถาบันการเงินได้ ฯลฯ โดยที่ไม่เคยรู้เรื่องการค้ำประกันดังกล่าวมาก่อน ซึ่งสาเหตุที่เจ้าหนี้รู้ถึงข้อมูล ชื่อ-นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ ของเรานั้น ก็มักเกิดจากการที่บุคคลที่มีหมายเลขโทรศัพท์มือถือของเราบันทึกไว้ในรายชื่อผู้ติดต่อ ไปโหลดแอปพลิเคชันเงินกู้ และอนุญาตให้แอปพลิเคชันเข้าถึงรายชื่อผู้ติดต่อและหมายเลขโทรศัพท์นั่นเอง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชน หากได้รับโทรศัพท์อ้างว่าท่านได้ไปค้ำประกันเงินกู้ โดยที่ท่านไม่เคยทราบเรื่องดังกล่าว และไม่เคยลงลายมือชื่อค้ำประกันให้กับบุคคลตามที่ถูกกล่าวอ้าง ขอให้ท่านอย่าหลงเชื่อ ไม่ต้องชำระเงินค้ำประกันเงินกู้ตามที่มิจฉาชีพอ้างและไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับความเสียหายหรือถูกฟ้องร้อง หากท่านไม่เคยค้ำประกันให้บุคคลที่ถูกกล่าวอ้างจริง

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดตั้งศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.)ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ

 

รองโฆษก ตร. ชี้!แนวโน้ม’อาชญากรรมทางเทคโนโลยี’ ใน ปี พ.ศ.2565

วันที่ 3 ม.ค.2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งขาติ กล่าวถึงแนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีใน ปี พ.ศ.2565 ว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลจากสถิติการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ศูนย์บริการประชาชน บก.ปอท. ปี พ.ศ. 2561-2564   พบว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือใช้เทคโนโลยีในการกระทำความผิดที่มีประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ยังคงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท 

โดยในปี 2564 มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 698 ราย สาเหตุที่การด่าทอ ให้ร้ายกันในสื่อสังคมออนไลน์ ครองความเป็นอันดับ 1 มาตลอดหลายปี อาจเนื่องมาจาก ประชาชนเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น การโพสต์ การแสดงความคิดเห็น การส่งต่อข้อมูลที่ทำให้ผู้อื่นเสียหายจึงมีมากขึ้น  

แต่ที่น่าสนใจจากสถิติดังกล่าวพบว่า มีผู้ได้รับความเสียหายจากการถูกแฮก เพื่อปรับเปลี่ยน/ขโมย/ทำลายข้อมูลคอมพิวเตอร์ พบเป็นอันดับที่ 2 โดยมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 585 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 67 ล้านบาทแสดงให้เห็นถึง ประชาชนอาจขาดการระวังป้องกันการเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์/ข้อมูลคอมพิวเตอร์จากแฮกเกอร์  

ส่วนการหลอกขายสินค้า/บริการ พบว่ามาเป็นอันดับ 3 โดยมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์จำนวน 445 ราย ความเสียหายรวมประมาณ 45 ล้านบาท 

ซึ่งจากสถิติดังกล่าวข้างต้นทำให้สังเกตได้ว่า รูปแบบของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน หากไม่นับความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว พบว่าจะมีอยู่ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ การแฮกข้อมูล และการฉ้อโกงออนไลน์ เป็นหลัก ซึ่งพบว่าอาชญากรรมใน 2 รูปแบบนี้ คนร้ายมักอาศัยโอกาสจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเอื้อประโยชน์ในการกระทำความผิดหรือปกปิดตัวตนไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสืบสวนหาตัวคนร้ายได้โดยง่าย โดยใช้ช่องทางต่างๆ เช่น การปกปิดตัวตนโดยนำภาพหรือชื่อบุคคลอื่นมาสร้างบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอม หรือใช้บัญชีอวตา (Avatar) , การปกปิดที่อยู่ไอพี (ip address) , การใช้ช่องทางสกุลเงินดิจิทัล ในการรับทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือ การซื้อบัญชีธนาคารจากผู้ที่รับจ้างเปิดบัญชีธนาคาร เป็นต้น ซึ่งเป็นการสร้างความยุ่งยากให้กับเจ้าหน้าที่ ในการสืบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย 

ดังนั้นความเห็นส่วนตัวยังเห็นว่า แนวโน้มอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในปี 2565 ยังไม่น่าจะแตกต่างไปจากเดิม แต่คนร้ายอาจนำเทคโนโลยีสมัยใหม่หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่มาใช้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การให้ร้ายหรือระรานทางไซเบอร์(Cyber Bullying) , การหลอกลวงผ่านอีเมล (email scam) , การแฮกเพื่อเอาข้อมูลหรือเงินผ่านการลวงให้กดล่อให้กรอก (Phishing) , มัลแวร์เรียกค่าไถ่ (Ransomware), การหลอกลวงขายสินค้า , การหลอกรักออนไลน์(Romance Scam) , การหลอกรักลวงลงทุน (Hybrid Scam) , การหลอกลวงด้วยการโทรศัพท์โดยแก๊งคอลเซ็นเตอร์ , การหลอกให้ลงทุนในลักษณะแชร์ออนไลน์และแชร์ลูกโซ่ , การขูดรีดดอกเบี้ยเงินกู้และการทวงหนี้ในลักษณะผิดกฎหมายจากแก๊งแอพพลิเคชั่นเงินกู้ , การปล่อยข่าวปลอมในโลกออนไลน์เพื่อหวังผลด้านต่าง ๆ (Fake News) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ประโยคที่ว่า “อาชญากรรมมักทิ้งร่องรอย” ยังคงใช้ได้กับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนติดตามจับกุมคนร้าย ที่อาจพัฒนาตัวเองจากอาชญากรภาคพื้นดิน (On Ground) มาเป็นอาชญากรบนอากาศ (Online) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีการพัฒนาทักษะ ความรู้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทั้งนี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ให้บริการด้านต่างๆ ในการสนับสนุนข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบข้อมูลในการสืบสวนสอบสวน  

"ตำรวจ PCT” แถลงผลการระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 จับกุม ผู้ต้องหากว่า 3,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท!!

วันนี้ (6 ม.ค. 65) เวลา 10.30 น. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร.​ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT, พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร., พล.ต.ท.สุคุณ พรหมายน ผบช.ทท.,พล.ต.ต.ไตรรงค์ ผิวพรรณ รอง ผบช.น.,พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย รอง ผบช.ก. และ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.สส.สตม. ร่วมแถลงผลการระดมกวาดล้างอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทั่วประเทศ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ฯ เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ทุกหน่วยเร่งระดมกวาดล้างอาชญากรรมทั่วไปและอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในช่วงเทศกาลปีใหม่ ตั้งแต่ 25 ธ.ค.64  - 3 ม.ค.65 เพราะเป็นช่วงที่พี่น้องประชาชนเดินทางกลับบ้าน และมีการสังสรรค์ เกรงจะมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งจากผลการระดมกวาดล้าง สามารถจับกุมการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ทั้งสิ้น จำนวน 3,634 ราย โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ การหลอกลวงทางออนไลน์ 238 คดี, การหลอกลวงจำหน่ายสินค้าออนไลน์และสินค้าผิดกฎหมาย 335 คดี, การเผยแพร่ข่าวปลอมและคดีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 878 คดี, การล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหรือสตรีทางอินเทอร์เน็ตและค้ามนุษย์ 194 คดี และ การพนันออนไลน์ อาชญากรรมข้ามชาติ และอื่น ๆ อีก 1,989 คดี รวม มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 356 ล้านบาท โดยพบเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่เกี่ยวกับการพนันออนไลน์ถึง 335 ล้านบาท

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ฯ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้ พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผบก.สส.สตม. หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 1 พร้อมกำลัง สืบสวนปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์  รวมถึงการลักลอบจำหน่ายสิ่งของผิดกฎหมายต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น ยาเสพติด อาวุธปืน ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าร้านค้าออนไลน์หลายรายได้จำหน่ายสิ่งเทียมอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ส่วนประกอบอาวุธปืน ออกไปแล้วจำนวนมาก

หลังจากได้เป้าหมายแล้ว ได้ประสานไปยังตำรวจภูธร ภาค 1-9 ตำรวจนครบาล ตรวจคนเข้าเมือง และตำรวจท่องเที่ยว ร่วมปิดล้อมตรวจค้นเป้าหมาย โดยเน้นไปยังกลุ่มที่สั่งซื้อสิ่งเทียมอาวุธปืน(บีบีกัน) ส่วนประกอบอาวุธปืน เช่น ลำกล้อง ชุดอุปกรณ์ลั่นไก เพื่อนำไปดัดแปลงให้สามารถยิงกระสุนจริงออกมาได้ และกลุ่มที่สั่งซื้อเครื่องกระสุนปืนเพื่อนำไปใช้กับอาวุธปืนผิดกฎหมายได้ใช้การประกาศโฆษณาขายสินค้าโดยทำการอำพรางชื่อเพื่อป้องกันการถูกตรวจสอบ

โดยในวันที่ 3 ม.ค.65 ได้ทำการปิดล้อมตรวจค้น จำนวน 60 เป้าหมาย สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ จำนวน 31 ราย พร้อมของกลาง 5 รายการ ดังนี้

1. อาวุธปืนสงคราม จำนวน 1 กระบอก

2. อาวุธปืน จำนวน 49 กระบอก

3. เครื่องกระสุนปืน จำนวน 1,566 นัด

4. ยาบ้า จำนวน 203 เม็ด

5. ยาไอซ์ จำนวน 2.85 กรัม

6. กัญชาอัดแท่ง จำนวน 15 กรัม

ซึ่งการปิดล้อมตรวจค้นในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 พ.ย.64 ชุดปฏิบัติเดียวกันนี้ ได้เข้าปิดล้อมตรวจค้นไปแล้ว จำนวน 40 เป้าหมาย สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ 24 ราย พร้อมของกลาง 6 รายการ คือ

1. อาวุธปืน จำนวน 23 กระบอก

2. เครื่องกระสุนปืน จำนวน 1,005 นัด

3. วัตถุระเบิดปิงปอง จำนวน 1 ลูก

4. ยาบ้า จำนวน 9,902 เม็ด

5. ยาไอซ์ จำนวน 0.94 กรัม

6. กัญชาอัดแท่ง จำนวน 6.34 กรัม

ภาพรวมขณะนี้ได้ทำการตรวจค้นเป้าหมายลักลอบขายอาวุธปืนทางออนไลน์ไปแล้ว 100 เป้าหมาย จับกุมผู้ต้องหาทั้งสิ้น 55 ราย ตรวจยึดของกลางเป็น อาวุธปืนสงคราม 1 กระบอก , อาวุธปืน 72 กระบอก ,วัตถุระเบิดปิงปอง  จำนวน 1 ลูก , เครื่องกระสุนปืน จำนวน 2,571 นัด และยาบ้าอีกจำนวน 10,105 เม็ด ยาไอซ์ 3.79 กรัม, กัญชาอัดแท่ง จำนวน 21.34 กรัม โดยหลังจากนี้ จะได้ขยายผลไปยังร้านค้าที่ลักลอบขายปืนบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่อไป

ผบ.ตร.โชว์ผลงานรอบ 2 เดือน เน้นนโยบาย 5 ด้าน เร่งด่วน แก้ปัญหาผู้เสพ- จับกุมปืน- กวาดล้างยาเสพติด-พนันฟุตบอล ทลายเครือข่ายนายทุนจีน แก็งต่างชาติ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี สร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน

วันนี้ (30 พ.ย. 65 ) เวลา 11.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เปิดเผยว่า “ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านอาชญากรรม ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ด้านปัญหายาเสพติด อาวุธปืน สถานบริการ การพนัน คดีออนไลน์ และเครือข่ายคนต่างด้าวที่กระทำผิดกฎหมายในประเทศไทย อย่างเฉียบขาด จริงจัง และต่อเนื่อง โดยบังคับใช้ทุกมาตรการทางกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอแถลงผลการดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. – 28 พ.ย. 65 จำนวน 5 ด้าน ดังนี้

1. สถิติอาชญากรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (1 ต.ค.- 28 พ.ย. 65) รับคำร้องทุกข์ 142,740 คดี จับกุมได้ 131,349 คดี  คิดเป็น ร้อยละ 92
1.1 จับกุม อาวุธปืนและวัตถุระเบิด  22,027 คดี 20,316 คน (ปืนสงคราม 220 คดี, ปืนไม่มีทะเบียน 6,466 คดี, ปืนมีทะเบียน 529 คดี )
1.2 คดีเกี่ยวกับการพนัน 15,407 คดี ผู้ต้องหา 18,170 คน จับกุมกรณี บ่อนการพนัน (20 คนขึ้นไป) 4 คดี ผู้ต้องหา 108 คน
โดยศูนย์ป้องกันและปราบปรามการลักลอบเล่นการพนันทายผลฟุตบอลโลก (World Cup 2022) มีผลปฏิบัติ จับกุมเจ้ามือ จำนวน 104 ราย (เจ้ามือ 57 ราย เจ้ามือออนไลน์ 47 ราย) ผู้เล่น 4,975 ราย (ผู้เล่นทั่วไป 4,559 ราย ผู้เล่นออนไลน์ 416 ราย) เดินโพย 22 ราย รวม จำนวนทั้งสิ้น 5,101 ราย โดยยึดของกลางโพยบอล 7,064 ใบ เงินสด 98,140 บาท รวมมูลค่า 1,268,000 บาท
1.3 จับกุมความผิดเกี่ยวกับสถานบริการ 1,032 คดี ผู้ต้องหา 1,024 คน
2. ด้านการป้องกันปราบปรามยาเสพติด

2.1 ค้นหาและนำผู้สมัครใจเข้าสู่กระบวนการบำบัดฯ จำนวน 72,716 ราย และผู้เสพที่มีอาการ   ทางจิตประสาท จำนวน 21,143 ราย รวมทั้งสิ้น 93,859 ราย
2.2 ผู้เสพไม่สมัครใจบำบัดหรือกระทำผิดซ้ำ จับกุม จำนวน 46,980 ราย (กลุ่มฐานความผิดร้ายแรง (ผู้จำหน่าย ครอบครองเพื่อการค้า ซึ่งทำให้เกิดการแพร่กระจายในหมู่ประชาชน) จำนวน 9,329 ราย
โดยสามารถนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย รวมทั้งสิ้น จำนวน 140,839 ราย ระยะเวลา ต.ค.-พ.ย.65 คิดเป็นร้อยละ 54 เมื่อเทียบกับปีงบประมาณ พ.ศ.2565
2.3 จับกุมยาเสพติด 47,310 คดี  ผู้ต้องหา 46,453 คน ปริมาณของกลางยาบ้า 34,827,953 เม็ด ไอซ์ 67.88 กิโลกรัม เฮโรอีน 125.9 กิโลกรัม เคตามีน 406.5 กิโลกรัม  โคเคน 2.4 กิโลกรัม  และ ยาอี 1,217 เม็ด,ดำเนินการตามยึดทรัพย์ ตามมาตรการฟอกเงิน 3 ราย
2.4 ดำเนินโครงการชุมชนยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดแบบครบวงจรในพื้นที่ 1,483 หมู่บ้าน/ชุมชน จำนวนไม่น้อยกว่า 15,000 ราย โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในห้วง ม.ค.-เม.ย.2566
3. ด้านการแจ้งความออนไลน์ และ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี
สถิติการรับแจ้งความออนไลน์ตั้งแต่ 1 มี.ค. – 29 พ.ย.65   รับแจ้งความ 134,268 คดี พบว่า ข้อมูล 5 กลโกงที่พบการรับแจ้งมากที่สุด ( 1.คดีหลอกลวงซื้อขายสินค้า 2.โอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม 3. หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน 4. หลอกให้ลงทุน 5. หลอกลวงทางโทรศัพท์แบบเป็นขบวนการ/Call Center)

ข้อมูล 5 กลโกงที่พบความเสียหายสูงสุด ( 1.หลอกให้ลงทุน (6.4 ลบ.) 2.หลอกลวงทางโทรศัพท์แบบ เป็นขบวนการ (2.1 ลบ.) 3. โอนเงินเพื่อหารายได้จากกิจกรรม (2.0 ลบ.) 4. หลอกให้รักแล้วลงทุน (0.99 ลบ.) 5. หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (0.67 ลบ.) สามารถติดตามอายัดบัญชี 49,765 บัญชี สามารถอายัดได้ทัน 385,759,583 บาท
4. ด้านเครือข่ายคนต่างด้าวกระทำผิดกฎหมาย ผบ.ตร. สั่งการให้ ผบช.สตม. ดำเนินการเพิ่มความเข้มในการคัดกรอง กวาดล้างและจัดระเบียบ  คนต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย กระทำความผิดลักษณะเป็นเครือข่ายคนต่างด้าวกระทำผิดกฎหมายในประเทศไทย ดังนี้
4.1 คัดกรองคนต่างด้าวมีการปฏิเสธคนต่างด้าวเข้าเมือง จำนวน 3,395 ราย คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 2,005 ราย ช่วยเหลือ ซ่อนเร้น 21 ราย และจัดระเบียบคนต่างด้าวในประเทศ ไม่รายงานตัวฯ 582 ราย (มาตรา 37) ไม่แจ้งที่พักอาศัยคนต่างด้าว 8,770 ราย (มาตรา 38) และจับกุมคนต่างด้าวอนุญาตสิ้นสุด (Overstay) จำนวน 1,073 ราย
4.2 ขยายจับกุมเครือข่ายนายทุนจีนผิดกฎหมาย จากกรณี ร้านผับจินหลิง คดีที่เมื่อวันที่ 26 ต.ค.65 เข้าตรวจค้น  พบผู้ใช้ยาเสพติดกว่า 104 ราย และพบยาเสพติดจำนวนมาก พร้อมตรวจยึดรถยนต์หรู จำนวน 35 คัน จากการขยายผลพบเพิ่มอีก 4 กรณี ได้แก่
1. ร้านคลับวันพัทยา พื้นที่ สภ.เมืองพัทยา หลังการตรวจค้น พบยาเสพติดจำนวนมาก ผู้ต้องหา 4 ราย

โฆษก ตร.แจ้งกฎหมายใหม่ พ.ร.ก.อาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ

จัดหนักเอาผิดบัญชีม้าจำคุกไม่เกิน 3 ปี ส่วนคนจัดหาจำคุก 2-5 ปี พร้อมให้อำนาจสถานบันการเงินอายัด แลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทันที  กำชับพนักงานสอบสวนทั่วประเทศรับคดี ไม่ว่าเหตุเกิดที่ใด ส่วนระบบแจ้งความออนไลน์พร้อมเปิดระบบ 20 มี.ค. 66

เมื่อวันที่ 19 มี.ค.66 พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษก ตร. กล่าวว่า “ตามที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแผ่ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีผลบังคับไปแล้วเมื่อ 17มี.ค.66  โดยกฎหมายฉบับนี้ ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จากการถูกหลอกหลวงฉ้อโกงออนไลน์ ตามดำริของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นเจ้าภาพ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร.สั่งการตำรวจทั่วประเทศ ในฐานะหน่วยหลักการบังคับใช้กฎหมาย ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวแล้ว พร้อมกับแจ้งข้อกฎหมาย แนวทางการปฏิบัติให้ประชาชนรับทราบ 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์ แจ้งให้ประชาชนรับทราบ เข้าใจหลักการตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ดังนี้
1) อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ คดีออนไลน์เพื่อฉ้อโกง กรรโชก และรีดเอาทรัพย์ ถือเป็นคดีที่ต้องอยู่บังคับของกฎหมายฉบับนี้ 

2) กรณีเพื่อการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ มีเหตุสงสัยว่าอาจจะมีการทำผิดทางเทคโนโลยี สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยไม่ถือว่าบัญชีม้าเป็นข้อมูลที่ได้รับรองตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล  ดังนั้นข้อมูลบัญชีม้า จะถูกธนาคารและเจ้าหน้าที่ส่งต่อให้กัน เพื่อระงับช่องทางการทำธุรกรรมและอายัดบัญชีด้วยความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ช่วยระงับความเสียหายของผู้เสียหายได้

3) ผู้ให้บริการโทรคมนาคม มีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูล ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปง. และหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเข้าถึงข้อมูลที่มีการแลกเปลี่ยนได้

4) ผู้เสียหายสามารถแจ้งข้อมูลไปยังสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจเพื่อแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว จากนั้นให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 72 ชั่วโมง โดยมีการระบุขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรม ไว้ชัดเจน และรวดเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้คนร้ายทำธุรกรรมได้ง่ายเหมือนแต่ก่อน และเมื่อผู้เสียหายไปร้องทุกข์แล้ว พนักงานสอบสวนจะพิจารณาดำเนินการกับบัญชีธนาคารดังกล่าวภายใน 7 วัน        

5) มีการเพิ่มช่องทางการแจ้งเหตุ โดยกำหนดให้ผู้เสียหายแจ้งข้อมูลโดยง่ายและเร็ว สามารถแจ้งข้อมูลหรือหลักฐาน ทางโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์กับสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจได้

6) ผู้เสียหาย สามารถแจ้งความร้องทุกข์กับ พงส.ที่ใดก็ได้ โดยไม่ต้องถามว่าเหตุเกิดที่ใดในประเทศไทย หรือแจ้งผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ถือว่าเป็นการร้องทุกข์ และ พงส.นั้นมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ อาญา 

ซึ่ง ตร.ได้มีวิทยุสั่งการไปยังพนักงานสอบสวนทั่วประเทศให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ จากพี่น้องประชาชนที่เดินทางมาแจ้งความที่สถานีตำรวจ โดยถือว่าเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าเหตุจะเกิดที่ไหน ต้องอำนวยความสะดวกผู้เสียหาย เร่งช่วยเหลือ

7) มีบทลงโทษเครือข่ายอาจจะทำที่รุนแรงขึ้นทั้งบัญชีม้า คนจัดหาบัญชีม้า  
7.1 ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตน และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตนในทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย  ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (บัญชีม้า) 

7.2 ห้ามไม่ให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใด ๆ เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,0000 บาท ถึง 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (คนจัดหาบัญชีม้า) “ 

โฆษก ตร.กล่าวอีกว่า “ ผบ.ตร.ได้เน้นย้ำ กำชับหน่วยในการปฏิบัติตาม พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566  เพื่อขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล แก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนจากอาชญากรรมคดีออนไลน์

'ตำรวจไซเบอร์' พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. ขอประชาสัมพันธ์ชี้แจงกรณี ตำรวจไซเบอร์พร้อมปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ดังนี้

ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้มีการประกาศเผยแพร่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ซึ่งกำหนดให้มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 มี.ค.66 ที่ผ่านมานั้น ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อคุ้มครองประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ป้องกันการสูญเสียทรัพย์สินผ่านการหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ และเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าวให้ลดน้อยลง หรือหมดสิ้นไปโดยเร็ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์พร้อมปฏิบัติหน้าที่ เพื่ออำนวยความสะดวก และความยุติธรรมให้กับประชาชน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยอาชญากรรมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบรับจ้างการเปิดบัญชีธนาคาร และปัญหาการครอบครองหมายเลขโทรศัพท์ โดยได้ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ร่วมกันวางมาตรการในการป้องกันปราบปราม คุ้มครองประชาชนจากมิจฉาชีพโดยเร็ว

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานป้องกันปราบปราม ได้กำชับสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการตาม พ.ร.ก.ดังกล่าว อย่างเคร่งครัด รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมประเภทดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยับยั้งความเสียหายได้ทันท่วงที รวมถึงสร้างการรับรู้ให้กับภาคประชาชนเพื่อป้องกันการตกเป็นเหยื่อของอาชญากรไซเบอร์

กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการเร่งรัดปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร และใช้หมายเลขโทรศัพท์ รวมถึงเป็นธุระจัดหา หรือโฆษณา มาดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป รวมถึงกำชับให้พนักงานสอบสวนรับคำร้องทุกข์ และดำเนินการตามกฎหมาย ภายใต้กรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ พ.ร.ก. ดังกล่าว มีประเด็นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องปฏิบัติ และประเด็นที่ประชานควรรับทราบ ดังต่อไปนี้

1. เมื่อประชาชนถูกหลอกลวง หรือสงสัยว่าตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ (มาตรา 7, 8) ให้รีบดำเนินการแจ้งธนาคาร หรือสถาบันการเงินผ่านหมายเลขศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพทันที เพื่อเป็นการยับยั้งการทำธุรกรรมการเงินที่ต้องสงสัย หรือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดชั่วคราว จากนั้นให้เร่งดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจได้ทุกท้องที่ทั่วประเทศ หรือพนักงานสอบสวน บช.สอท. ไม่ว่าความผิดนั้นจะเกิดที่ใดในราชอาณาจักรก็ตาม หรือแจ้งผ่านระบบการรับแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com ภายในระยะเวลา 72 ชม. เพื่อให้พนักงานสอบสวนดำเนินการส่งหมายอายัดเงินในบัญชีให้กับสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจ ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับคำร้องทุกข์ โดยให้ถือว่าการร้องทุกข์ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว

2. กำหนดให้มีระบบการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูล (มาตรา 4, 5) ระหว่างสถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจ (กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์) และระหว่างผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม หรือผู้ให้บริการอื่น โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีอำนาจนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อแก้ไขปัญหาการรับจ้างเปิดบัญชีเงินฝาก การครอบครองหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ไม่สามารถระบุผู้ใช้บริการได้ ป้องกันมิจฉาชีพเข้าถึงประชาชนในช่องทางต่างๆ และช่วยเหลือ ยับยั้ง ติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

รอง ผบช.ภ.2 เปิดโครงการฝึกอบรม ครู ข.ไข่ สร้างภาคีเครือข่ายป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี

วันนี้ 19 เมย.66 เวลา 10.00 น. พล.ต.ต.สุรจิต ชิงนวรรณ์ รอง ผบช.ภ.2 ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรม ครู ข.ไข่ เพื่อสร้างภาคีเครือข่ายป้องกันภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และสร้างเสริมองค์ความรู้ ถ่ายทอดให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ณ โรงแรม Golden City เมืองระยอง ตามนโยบาย ผบ.ตร.และ ผอ.ศปอส.ตร.

พล.ต.ต.สุรจิต ชิงนวรรณ์ รอง ผบช.ภ.2 กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างภาคีเครือข่ายปัองกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การหลอกขายสินค้าออนไลน์ หลอกให้ทำงานเสริมผ่านออนไลน์ หลอกเงินกู้ออนไลน์ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัว (คอลเซ็นเตอร์) หลอกลงทุนในรูปแบบต่างๆ หลอกให้รักแล้วลงทุน แชร์ลูกโซ่ พนันออนไลน์ ฯลฯ และการเข้าร่วมเป็นอาสาไซเบอร์วัคซีน การแจ้งความออนไลน์เฉพาะคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการถูกหลอก รวมถึงการส่งต่อความรู้ให้กับครอบครัว และคนรอบข้างไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี

ตำรวจไซเบอร์ จับกุมขบวนการ Hybrid Scam : Bidget-coins ตุ๋นเหยื่อสูญเงินกว่า 2.5 ล้าน

กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 จับกุมขบวนการ แอบอ้างเป็นหญิงสาวหน้าตาดี เข้ามาตีสนิทผ่านโลกออนไลน์ จากนั้นชักชวนลงทุนเทรดเงินดิจิทัล ผลตอบแทนสูงร้อยละ 50 จนเหยื่อหลงเชื่อ สูญเงินรวมกว่า 2.5 ล้านบาท

สืบเนื่องจากเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีประชาชนซึ่งตกเป็นผู้เสียหาย จากการถูกกลุ่มขบวนการ Hybrid Scam หลอกให้รักแล้วลงทุน ใช้โปรไฟล์หญิงสาวหน้าตาดี เข้ามาทักทายตีสนิทผ่านทางเฟสบุ๊ค จากนั้นได้มีการพูดคุยติดต่อกันทางแอปพลิเคชั่น ไลน์ เรื่อยมาประมาณ 1 เดือน และได้เริ่มชักชวนให้ผู้เสียหายลงทุนเทรด ซื้อขายเงินสกุลดิจิทัล USDT ซึ่งมีผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 50 ของเงินลงทุน เมื่อผู้เสียหายสนใจ คนร้ายได้ส่งแพลตฟอร์ม Bidget-coins เพื่อให้ผู้เสียหายสมัครสมาชิกเข้าไปลงทุน ซึ่งในช่วงแรกสามารถทำกำไรและเบิกถอนเงินได้ตามปกติ จนกระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีคนร้าย จำนวน 7 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 2,588,000 บาท ต่อมาไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ โดยคนร้ายใช้ข้ออ้างต่างๆ เช่น ต้องชำระค่าภาษีหรือค่าธรรมเนียม หรือ ต้องเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้น จึงจะถอนเงินได้ เมื่อผู้เสียหายรู้ตัวว่าถูกหลอกจึงได้มาร้องทุกข์กับ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 

ตร. เผย สถิติอายัดเงินทัน สูงขึ้น 6 เท่า! อายัดได้รวม 1,789 ล้านบาท หลัง พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้

วันนี้ (12 มกราคม 2567) พล.ต.ต.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยการออกกฎหมายดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน จากการถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยกฎหมายได้ให้อำนาจธนาคารในการอายัดเงินชั่วคราวเป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง ทันทีที่มีผู้เสียหายแจ้งว่าถูกหลอกลวงจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก่อนที่ผู้เสียหายจะไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีและพนักงานสอบสวนจะแจ้งให้ธนาคารทราบเพื่ออายัดเงินจำนวนดังกล่าวต่อไป ซึ่งปัจจุบันผู้เสียหายสามารถแจ้งเหตุเบื้องต้นเพื่อให้ดำเนินการอายัดบัญชีชั่วคราวได้ที่สายด่วน 1441 นั้น

สำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า สถิติการอายัดเงินที่ผู้เสียหายโอนให้กับกลุ่มมิจฉาชีพสูงขึ้นจากเดิมกว่า 6 เท่า โดยก่อนหน้าที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 16 มีนาคม 2566) สถิติการขออายัดเงินรวม 1,346 ล้านบาท อายัดเงินได้ทันเพียง 53 ล้านบาท “คิดเป็นร้อยละ 3.9” ของจำนวนเงินที่ขออายัด

ส่วนสถิติหลังจากที่ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 มีผลบังคับใช้ (ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม - 31 ธันวาคม 2566) มีสถิติการขออายัดเงินรวม 7,496 ล้านบาท อายัดเงินได้ทัน 1,789 ล้านบาท “คิดเป็นร้อยละ 23.9” ของจำนวนเงินที่ขออายัด ซึ่งสูงกว่าเดิมถึง 6 เท่า

อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอเรียนว่า แม้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 จะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถอายัดเงินที่ผู้เสียหายโอนให้กลุ่มมิจฉาชีพได้มากขึ้น แต่ก็ยังมีเงินอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถอายัดได้ทัน จึงขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังไม่หลงเชื่อสิ่งที่เห็น หรือได้ยินบนโลกออนไลน์ ตามหลัก “ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน” เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ

สุดท้ายนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ บนเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.go.th หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top