Sunday, 23 June 2024
อาชญากร

เมื่อ 'YouTuber ชั้นเลว' สูบแสงเพียงเพื่อแลกเงิน ก้มหน้าก้มตาโกยจากการสร้างภาพให้กับฆาตกร

ผมเชื่อว่าใครที่ติดตามความเป็นไปของสังคมไทย เน้นในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ก คงต้องรู้สึกถึงความ ‘เสื่อมต่ำ’ ของคนอาชีพ YouTuber ยุคนี้ไม่มากก็น้อย 

ก่อนหน้าสัก 7-10 ปี คนที่จะยึดอาชีพนี้ในการหาเลี้ยงชีพจริงจังยังมีไม่มาก ส่วนใหญ่เข้ามาเพราะความไม่ตั้งใจ แต่เมื่อคลิปของตนเองเกิดฟลุ้ก และโด่งดังขึ้นมา เริ่มมีคนติดตามมากขึ้น นำมาซึ่งการเกิดรายได้งาม ๆ เข้ากระเป๋า คนที่พอจะเป็นมวยก็รีบฉวยปรับตัวตามสถานการณ์หันมาเอาจริงกับการหาเงินผ่านช่อง YouTube ของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด 

แต่ที่ผิดคือ จำนวนไม่น้อยมักไม่ได้สนใจว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นสังคมจะได้หรือเสียอะไร? คิดแค่ตัวเองได้เงิน ช่องของตัวเองโด่งดังก็เพียงพอแล้ว ความเสื่อมของสังคมไทยจึงเริ่มต้นนับจากบรรทัดนี้

การผันตัวเองมาเป็น YouTuber ของคนประเภทข้างต้นนั้น เกิดขึ้นมากมายในสังคมไทย แต่น้อยถึงน้อยมากที่เราจะเห็น YouTuber ที่พึ่งพาได้จริง ๆ หรือเป็น ‘YouTuber’ ในแนวสร้างสังคมให้เกิดความแข็งแรง หรือคอยปลุกสำนึกให้ผู้คนคิดเป็น 

กลับกันที่มีให้เห็นดาษดื่นคือ YouTuber ที่ขาดความหวังดีต่อโลก แต่ที่น่าเจ็บปวดคือ กลับมีคนไทยชอบ และติดตามสนับสนุนอย่างมหาศาล การจะเห็น ‘YouTuber ชั้นเลว’ โด่งดังในประเทศไทย จึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นแต่อย่างใด

ยุคหนึ่ง หากอยากจะวัดดูว่า คนไทยโง่ หรือ ฉลาด ก็ให้ดูจำนวนคนที่เลือกนักการเมืองเลว ๆ มาเข้าสภา แต่ยุคนี้สามารถดูได้จากจำนวนคนที่ติดตาม ‘YouTuber ชั้นเลว’ ก็จะได้คำตอบไม่แพ้กัน 

‘YouTuber ชั้นเลว’ หรือบางคนเรียกขานว่าเป็น ‘YouTuber ขยะ’ คุณจะเรียกอะไรก็ได้ เพราะพฤติกรรมของ YouTuber สองประเภทนี้จะคล้ายคลึงกันนั่นคือปั้นช่อง YouTube แบบไร้ทิศไร้ทาง อะไรคือ กระแส มีแสง ก็จะวิ่งเข้าหา เกาะติดไปกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่แยกถูกผิด ชั่วดี ไม่มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม ไม่มีสามัญสำนึก ไร้ศีลธรรม ขาดความคิดในเชิงสร้างสรรค์ มองเห็นคอนเทนต์ใดที่ทำแล้วพอจะได้เงิน ก็จะรีบพากันกระโจนเข้าใส่เสมอ 

ไม่กี่ปีที่ผ่านมามีข่าวว่าชายคนหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่าเป็นคนลงมือทำให้หลานสาวตัวน้อยของตัวเองเสียชีวิต เมื่อถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ชายคนนี้ก็โด่งดังขึ้นมา เพียงไม่กี่วันเหล่า YouTuber ก็พากันไปรุมล้อม จำนวนหนึ่งก็ช่วยกันปกป้อง สร้างภาพให้ดูน่าสงสาร ราวกับชายคนนี้เป็นคนดีที่โลกใบนี้ควรโอบอุ้ม 

แต่เมื่อต่อสู้กันในชั้นศาลยาวนาน จนที่สุดหลักฐานมัดว่าเขาคือคนผิด หรือ ‘ฆาตกรฆ่าหลาน’ เหล่า YouTuber ที่เสริมส่งให้คนผิดมีที่ยืนตลอดมา หรือช่วยให้ได้รับโอกาสดี ๆ อันมากมายจากสังคมไทยทั้ง ๆ ที่ไม่เคยยอมรับในความผิด ก็ไม่ต่างจาก ‘YouTube ชั้นเลว’ หรือ ‘YouTuber ขยะ’ มองมุมไหนก็ไม่มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม นั่นก็รวมถึงนักร้องลูกทุ่งบางคน สินค้าบางชนิด หรือช่องข่าวบางช่องที่เคยสนับสนุน ‘ชายผู้ฆ่าหลาน’ คนนี้โดยไม่ลืมหูลืมตา 

วิงวอนคนไทยอย่าลืมคนเหล่านี้เชียว เลิกสนับสนุนได้...คือดี 

‘ดีอี’ ทลายอาชญากรไซเบอร์เพิ่มอีก ‘3 คดี’ รวด บุกจับแก๊งคอลเซนเตอร์ - ขบวนการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล-เครือข่ายพนันออนไลน์ ‘ประเสริฐ’ เผยเตรียมปรับกฎหมายเพิ่มโทษ หวังปราบอาชญากรรมไซเบอร์เด็ดขาด

วันที่15 กุมภาพันธ์ 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แถลงข่าวการขยายผลการจับกุมผู้กระทำผิดในการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงดีอี , สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) หรือ PDPC ,กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) และ สำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ซึ่งในครั้งนี้นับเป็น EP.7 โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาตามฐานความผิดที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมด 9 คน อยู่ระหว่างติดตามจับกุมอีก 2 คน 

นายประเสริฐ กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล PDPC Eagle Eye และตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและขยายผลดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบ ซึ่งปัจจุบันได้มีการตรวจสอบและขยายผลไปสู่การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดตั้งแต่ EP.1 จนถึง ครั้งนี้เป็น EP.7

นายประเสริฐ กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยในข้อมูลส่วนบุคคลของพี่น้องประชาชนที่อาจมีการรั่วไหลไปยังกลุ่มมิจฉาชีพเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการหลอกลวง อันเป็นภัยร้ายที่ทางรัฐบาลเร่งปราบปรามอย่างจริงจังตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะกรณีข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลและมีการซื้อ – ขายในรูปแบบต่างๆที่สร้างความเสียหายให้กับพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงดีอีเร่งให้มีการปรับกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อกลุ่มบุคคลใดที่มีพฤติกรรมในการซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนให้มีโทษที่เด็ดขาดและรุนแรงยิ่งขึ้น ดังนั้นหากประชาชนผู้เป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลท่านใดที่ได้รับความเสียหายจากการรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคลสามารถร้องเรียนกับ PDPC ได้เพื่อนำเรื่องให้คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาทางปกครอง และยังสามารถฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีทางแพ่งได้อีกทางหนึ่งด้วย 

นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีได้ผลักดันให้การแก้ปัญหาภัยออนไลน์ ถือเป็น 1 ใน 7 Flagships ที่เป็นนโยบายหลักของกระทรวง และหนึ่งในมาตรการดังกล่าวคือการประสานงานความร่วมมือและบูรณาการการทำงานอย่างใกล้ชิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำมาสู่การจับกุมในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ‘คดีแรก’ ขยายผลสืบสวนจับกุม ผู้ต้องหารายที่ 9 เครือข่ายขบวนการขายข้อมูลส่วนบุคคลให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทำมานาน 1-2 ปี มีรายชื่อประชาชนกลุ่มลูกค้าเครดิตดี ถูกส่งต่อเป็นจำนวนมาก ส่วน ‘คดีที่สอง’ สืบสวนจับกุมเครือข่ายหลอกลวงคนไทยบังคับทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดน และ ‘คดีที่สาม’ ทลายเครือข่ายการพนันออนไลน์ จำนวน 2 เครือข่าย ได้แก่ ramruay.net และ pok9.com ตรวจยึดของกลางและ ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง มูลค่ากว่า 40 ล้านบาท พบยอดเงินหมุนเวียนเดือนละกว่า 300 ล้านบาท จับผู้ต้องหาได้เบื้องต้น 5 ราย ส่วนที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างติดตามจับกุมเพิ่มเติม 

ขณะที่ พ.ต.อ.สุรพงศ์ เปล่งขำ ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแลศูนย์ PDPC Eagle Eye และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย PDPA ได้ประสานข้อมูลการสืบสวนร่วมกับ บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท., พล.ต.ต.จิระวัฒน์ พยุงธรรม รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท. ในการตรวจสอบขยายผลเพื่อดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ทั้งในแหล่งข้อมูลที่มีการรั่วไหลและผู้ที่ทำให้เกิดการรั่วไหลของข้อมูลจนสืบทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายสินเชื่อสถาบันการเงินภาคเอกชนแห่งหนึ่ง คือ นายสุวรรณฯ (นามสมมุติ) อายุ 42 ปี มีพฤติกรรมลักลอบนำข้อมูลลูกค้าของสถาบันการเงินของตนเองมาดัดแปลง แก้ไข และนำไปจำหน่ายต่อให้กลุ่มที่สนใจ อาทิ ตัวแทนสินเชื่อ ตัวแทนประกัน ซึ่งบางกรณีตกไปอยู่ในมือของกลุ่มมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์

พ.ต.อ.สุรพงศ์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 3 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 ได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติศาลออกหมายจับ นายสุวรรณฯ ในความผิดฐาน ‘ล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้นำไปเปิดเผยแก่ผู้อื่น, ทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ’  ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่2) พ.ศ. 2560  ตามหมายจับศาลอาญาที่ 506/2567 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 และได้ดำเนินการจับกุมในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567

“สถิตินับตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 จนถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ศูนย์ PDPC Eagle Eye ได้ตรวจพบการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลประชาชนบนเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ อย่างเกินความจำเป็นหรือไม่มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยที่เหมาะสมจำนวน 5,869 หน่วย ซึ่งได้มีการเตือนและแก้ไขแล้ว มีการตรวจพบการประกาศซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟสบุ๊ค (Facebook) และได้มีการปิดกั้นแล้ว จำนวน 54 เรื่อง และได้มีการร่วมมือกับ บช.สอท. ในการตรวจสอบขยายผลจากการจับกุมผู้ลักลอบซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคลรายก่อนหน้า จนส่งผลให้เกิดการตรวจสอบและขยายผลนำไปสู่การจับกุมได้ในวันนี้อีก 1 รายและอยู่ระหว่างการจับกุมอีก 2 ราย” ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบและกำกับดูแล PDPC กล่าว

ด้าน ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าว PDPC ให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลตามนโยบายของท่านรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาภัยออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง โดยจะเร่งรัดและเคร่งครัดในการตรวจ ปราบปราม ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล และ การลักลอบซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งได้มีการทำงานร่วมกันระหว่าง PDPC Eagle Eye และ บช.สอท. กับ สกมช. อย่างเข้มข้นในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา โดยในช่วงดังกล่าว มีกรณีที่ศาลได้ตัดสินลงโทษจำคุกผู้กระทำความผิด 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา นอกจากนี้สำนักงานยังคงเดินหน้าเพื่อสนองรับนโยบายในการมีมาตรการในการจัดการกับหน่วยงานที่ไม่มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เดินสายให้ความรู้แก่ประชาชน ตลอดจนถึงการเร่งปรับแก้การบังคับใช้กฎหมายให้มีบทลงโทษที่หนักยิ่งขึ้นสำหรับการลักลอบซื้อขายข้อมูลส่วนบุคคล 

นักแสดงหนุ่มถูกยิงดับ เพื่อหยุดโจรไม่ให้ขโมยรถ สะท้อนปัญหาใหญ่แห่งมหานครลอสแอนเจลิส

(28 พ.ค. 67) เพจ 'BrandThink' ได้เผยรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศ ระบุว่า ‘จอห์นนี แวกเตอร์’ (Johnny Wactor) นักแสดงหนุ่มชาวอเมริกัน ถูกยิงเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 37 ปี ในเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ขณะพยายามเข้าไปหยุดโจรไม่ให้ขโมยชิ้นส่วนรถยนต์ จากรถของเขาในช่วงเช้าของวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ตามรายงานระบุว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบริเวณหัวมุมถนนเวสต์พิโกบูเลอวาร์ดและถนนเซาท์โฮปสตรีท ในย่านดาวน์ทาวน์ของมหานครลอสแอนเจลิส โดยเกิดขึ้นขณะที่แวกเตอร์กําลังกลับไปที่รถหลังจากเลิกงาน แล้วพบว่ามีชายคนหนึ่งกําลังทำอะไรบางอย่างกับรถของเขา ซึ่งขณะนั้นแวกเตอร์คิดว่าชายผู้นี้อาจไม่ได้มีพิษมีภัยอะไร จึงเดินเข้าไปถามว่าเกิดอะไรขึ้น แต่แล้วจู่ ๆ ชายคนนี้ก็กลับชักปืนขึ้นมายิงไปที่นักแสดงหนุ่มทันที ก่อนจะหลบหนีไปพร้อมกับโจรอีกสองราย ที่ขณะนี้ตำรวจก็ยังไม่สามารถจับกุมตัวได้

ด้าน ‘สการ์เลตต์ แวกเตอร์’ ผู้เป็นแม่ของนักแสดงหนุ่มให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เธอรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างมาก เพราะสิ่งที่พวกโจรกระทำกับลูกของเธอ เป็นการกระทำที่ ‘ไร้หัวใจ’ ในขณะที่ ‘แกรนด์ แวกเตอร์’ น้องชายของอดีตนักแสดงระบุว่า ในวันที่เกิดเหตุนั้นแวกเตอร์ได้ไปทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ในร้านแห่งหนึ่ง และกำลังเดินไปส่งเพื่อนร่วมงานหญิงที่รถของเธอ สำหรับเขา พี่ชายเป็นบุคคลที่มีเสน่ห์ที่สุดคนหนึ่งเท่าที่เขาเคยรู้จัก เพราะไม่ว่าเขาจะพูดหรือฟังอะไรก็ตาม เขาจะทำสิ่งนั้นออกมาจากใจจริง ๆ 

ทั้งนี้สำหรับ จอห์นนี่ แวกเตอร์ ถือเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงอยู่ไม่น้อย เพราะได้ฝากผลงานการแสดงทั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ รวมทั้งสิ้นกว่า 44 เรื่อง โดยบทที่ทำให้เขาโด่งดังคือการแสดงเป็น ‘แบรนโด คอร์บิน’ (Brando Corbin) ในละครเรื่อง ‘General Hospital’ ที่ฉายทางสถานีโทรทัศน์ ABC ของอเมริกา โดยเรื่องนี้ได้รับการจดทะเบียนใน Guinness World Records ว่าเป็นละครอเมริกันที่ออกอากาศยาวนานที่สุดในโลก (ออกฉาย 61 ตอน) ซึ่งผลงานที่มากมายเช่นนี้ ทำให้แฟนคลับของเขาเสียใจอย่างมากที่อนาคตของนักแสดงหนุ่มต้องมาดับไปภายในเพียงเสี้ยววินาที จากฝีมือของโจรไร้ศีลธรรมและไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม 

อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของแวกเตอร์นี้ ได้สะท้อนปัญหาใหญ่ที่แก้ไขไม่ได้สักทีของมหานครลอสแอนเจลิส อย่างปัญหาเรื่อง ‘อาชญากร’ ที่ทำให้เมืองนี้ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในเมืองที่อันตรายมากที่สุดของสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2023 ที่ผ่านมานั้น จากสถิติพบว่าอัตราการก่ออาชญากรรมต่อทรัพย์สินในนครลอสแอนเจลิสอยู่ที่ 27.53 ต่อประชากร 1,000 คน และมีจำนวนอาชญากรรมรุนแรงที่เกิดขึ้นเฉลี่ย 32,000 ครั้งต่อปี เลยทีเดียว 

และในส่วนตัวเลขของอาชญากรรมต่อทรัพย์สินนั้น มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปี 2022 ถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์ และตัวเลขด้านการโจรกรรมยานยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ โดยมีทรัพย์สินที่ถูกขโมยไปแล้วรวมมูลค่ากว่า 150,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 5.5 ล้านบาท แต่กลับจับกุมผู้ต้องหาได้เพียง 128 ราย และยึดอาวุธปืนได้ 15 กระบอกจากทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์หลังจากนี้ของลอสแอนเจลิสจะเป็นเช่นไร ก็เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายเป็นกังวลและเรียกร้องให้รัฐแคลิฟอร์เนียออกมาจัดการกับปัญหานี้อย่างเป็นจริงเป็นจังเสียที


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top