Friday, 18 April 2025
อาจารย์ใหญ่

‘นศ.เวชนิทัศน์ ปี 2 ม.ขอนแก่น’ วาดภาพกระดูกอาจารย์ใหญ่ โซเชียลสุดทึ่ง!! เป๊ะทุกสัดส่วน เหมือนจริงราวกับภาพถ่าย

เมื่อไม่นานนี้ ได้เกิดไวรัลในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อเฟซบุ๊ก ‘ชมนาด อุปชิตกุล’ โพสต์ภาพ ‘ผลงานภาพวาดกระดูกอาจารย์ใหญ่ด้วยเทคนิคสีน้ำ’ ของนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่เหมือนจริงราวกับภาพถ่าย จนชาวโซเชียลต่างเข้ามาคอมเมนต์ และแชร์โพสต์ชื่มชนเป็นจำนวนมาก

ดร.ชมนาด อุปชิตกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มข.เปิดเผยว่า ผลงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของวิชาจิตรกรรมขั้นสูงสำหรับเวชนิทัศน์ ซึ่งอยู่ในสาขาวิชาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ แม้จะอยู่ในสังกัดคณะแพทย์ แต่นักศึกษาสาขานี้ไม่ใช่หมอ ซึ่งสาขาเวชทัศน์ คือการเรียนการสอนเพื่อสร้างสื่อทางการแพทย์ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ หุ่นจำลอง วิดีโอ ภาพถ่ายเพื่อเป็นสื่อการศึกษาทางการแพทย์ หรือแม้แต่แอพพลิเคชั่นเพื่อช่วยสื่อสารให้คุณหมอ นักศึกษาแพทย์ และคนไข้เข้าใจกันมากยิ่งขึ้น

“เวชนิทัศน์ เป็นการเรียนหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต 4 ปีจบ ที่นักศึกษาจะได้เรียนทั้งวิชาด้านการแพทย์ เช่น อาการทางคลินิก วิชาปรสิตวิทยา วิชาพยาธิวิทยา หรือ Gross Anatomy จากอาจารย์หมอ ควบคู่กับการเรียนรู้เทคนิคด้านการสร้างสื่อเทคโนโลยี และศิลปะ เราอาจนิยามได้ว่านักศึกษาเราคือ เด็กวิทย์ หัวใจศิลป์ อย่างไรก็ตาม การวาดภาพทางการแพทย์นั้น ต้องใช้เทคนิคที่แตกต่างจากการวาดภาพธรรมดา เพื่อให้เห็นภาพความเป็นจริง ใส่รายละเอียด สัดส่วนที่แม่นยำ ถูกต้อง เพื่อให้ใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการได้ ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ หรือคุณหมอ ไม่ใช่เพื่อความสมจริง และสวยงามเท่านั้น” ดร.ชมนาด กล่าว

ดร.ชมนาดกล่าวอีกว่า ด้วยความตั้งใจที่อยากให้นักศึกษามีกำลังใจในการเรียน และเป็นเหมือนบอร์ดเก็บผลงานลูกศิษย์ ตนจึงตัดสินใจโพสต์ภาพวาดบนโซเชียล แต่ผลตอบรับที่ได้กลับมานั้นเกินความคาดหมาย เพราะยอดไลก์ ยอดแชร์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันอาจารย์หมอ หรืออาจารย์คณะอื่นๆ ก็ติดต่อเข้ามาว่าสนใจให้นักศึกษาไปช่วยวาดภาพวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างๆ เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนด้วย

“ผู้ที่สนใจเข้าศึกษาต่อที่สาขาวิชาเวชนิทัศน์ ไม่จำเป็นต้องวาดภาพเก่ง หรือถนัดทั้งสายวิทย์ และสายศิลป์ แต่ขอให้เป็นคนที่ชื่นชอบการเรียนรู้ผ่านการฝึกปฏิบัติจริง เพราะตั้งแต่ปี 1-2 นักศึกษาจะได้เรียนรู้การสื่อสารสำหรับเวชนิทัศน์ ฝึกฝนการ Drawing พื้นฐานศิลปะ กราฟิก และการปั้น ขึ้นปี 3 จะเริ่มเรียนรู้วิชาหุ่นจำลองทางการแพทย์ ฝึกฝนการทำ Motion Graphic, Coding การวาดการ์ตูนสำหรับเวชนิทัศน์ ไปจนถึงถ่ายภาพทางการแพทย์ เป็นการสร้าง Multi skill ก่อนชั้นปี 4 ได้เรียนรู้วิชานิทรรศการ สร้างโปรเจ็กต์สื่อทางการแพทย์จากสิ่งที่แต่ละคนชื่นชอบ และสนใจ ซึ่งอาจร่วมมือกับอาจารย์ หรือนักศึกษาคณะอื่นๆ เพื่อบูรณาการศาสตร์ต่างๆ ให้นักศึกษาได้เรียนรู้บริบทการทำงานของนักเวชนิทัศน์ในโรงพยาบาล และการสร้างสื่อการเรียนการสอนในสายการศึกษาด้วย” ดร.ชมนาด กล่าว

ดร.ชมนาดกล่าวอีกว่า มีนักเรียนสมัครเข้ามามากขึ้น เพราะเราพัฒนาหลักสูตรอย่างต่อเนื่อง นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติจริง เมื่อแต่ละคนไปฝึกสหกิจ ก็ทำให้สถานประกอบการสนใจ และให้ทำงานต่อทันทีกว่า 30% ทั้งในไทย และประเทศอาเซียน ซึ่งพบว่าหลังจากจบการศึกษา มีภาวะว่างงานน้อยในสายงานการตลาดที่หลากหลาย

นายนนทกรณ์ จันทร์หวาน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มข.กล่าวว่า หลังเห็นฟีดแบ็กบนโซเชียลก็ดีใจ ที่มีคนชื่นชอบผลงานภาพวาดครั้งนี้ เพราะเป็นการวาดภาพกระดูกอาจารย์ใหญ่ของจริงครั้งแรก และเป็นภาพวาดที่ใช้เทคนิคสีน้ำขั้นสูงครั้งแรก ก่อนวาดก็จะวัดสัดส่วนกระดูก ดูมุมแสง และเงา เก็บรายละเอียดต่างๆ จนมั่นใจว่าเหมือนจริง และถูกต้องทุกรายละเอียด จึงรังสรรค์มาเป็นผลงานกระดูกแขน และมือ

“ผมเลือกวาดกระดูกส่วนแขน และมือ เพราะเป็นส่วนที่มีรายละเอียดเยอะ ใช้เวลาวาดประมาณ 3-5 ชั่วโมง ผลงานก็ออกมาเป็นที่น่าพอใจ และหวังว่าภาพวาดนี้จะถูกนำไปเป็นสื่อการเรียนการสอน หรือสื่อการศึกษาทางการแพทย์ในอนาคต แม้จะไม่เคยรู้จักสาขาวิชาเวชนิทัศน์มาก่อน แต่ผมเลือกที่จะลองเข้ามาเรียนรู้ เพราะสนใจในหลักสูตรที่บูรณาการทั้งวิทยาศาสตร์ และศิลปะไว้ด้วยกัน โดยหวังว่าการผลิตสื่อทางการแพทย์ของตัวเอง จะไม่ใช่เพียงสื่อที่ให้แพทย์ได้ศึกษาเท่านั้น แต่จะเป็นตัวกลางระหว่างหมอกับคนไข้ ให้สื่อสารเรื่องยากได้เข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น” นายนนทกรณ์ กล่าว

‘นพ.กฤตไท’ อดีตผู้ป่วยมะเร็งปอด อุทิศร่าง!! ให้นักศึกษาได้เรียน ตอนไม่สบาย!! ก็สร้างแรงบันดาลใจ ตอนจากไป ก็ยังให้ความรู้

(8 ธ.ค. 67) ชีวิตและการเดินทางของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล หรือ หมอไท เจ้าของเพจ ‘สู้ดิวะ’ ผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ได้ส่งแรงกระเพื่อมในเชิงบวกต่อสังคม ทั้งปลุกให้ตั้งคำถามถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างฝุ่น PM2.5 ไปจนถึงแนวคิดในการใช้ชีวิต การให้ความรู้และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วไป

ล่าสุด เจ้าของเฟซบุ๊ก ‘Attavit Panyapinyophol’ ได้เผยแพร่ภาพโครงกระดูกอาจารย์ใหญ่ พร้อมข้อความว่า …

น้องอาจารย์นพ.กฤตไท #สู้ดิวะ เป็นคนที่มีบุญมากๆ ตอนยังแข็งแรงก็เป็นหมอช่วยผู้อื่นให้พ้นทุกขเวทนา เป็นครูบาอาจารย์สั่งสอน นศ.แพทย์

ตอนไม่สบายก็สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมากมาย ตอนหลับไปแล้วร่างก็ยังเป็นอาจารย์ให้คุณหมอได้เรียนกัน คุณหมอจากไปแล้ว แต่ความดียังประจักษ์ คนยังระลึกถึงเสมอๆ คุณพ่อน้องท่านต้องเข้มแข็งสุดๆ เลย

ซึ่งได้มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นรำลึกถึง คุณหมอกฤตไท ด้วย เช่นว่า

– น้ำตาคลอเลย คนเรามีเท่านี้จริงๆ ที่เหลือไว้ให้คนคิดถึงก็คงมีแต่ความดีที่เขาทิ้งไว้

– หนังสือของคุณหมอ จะเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนสติในการใช้ชีวิตต่อไปค่ะ มีคุณค่าทางใจมาก

– เหลือไว้เพียงโครงร่าง ให้ไว้ศึกษา สุดยอดคนจริงๆ

– มรณานุสติ คนเราเท่านี้จริงๆ ขอบุญกุศลรักษาหมอกฤตไททุกภพทุกชาติไป

– เห็นแล้วน้ำตาไหล ทั้งคิดถึงทั้งภูมิใจ ทั้งรู้สึกหดหู่ว่าชีวิตไม่แน่นอนเหลือเกิน

– เมื่อวานได้กลับมาอ่านหนังสือของคุณหมออีกครั้ง ขอบคุณคุณหมออีกครั้งครับ ที่เตือนใจ เตือนสติ ในวันที่อ่อนล้า

– ขอถามเป็นความรู้ครับ ทำไมกระดูกซี่โครงถึงมีสภาพเป็นแบบนั้นครับ


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top