Saturday, 18 May 2024
ออมสิน

‘ทิพานัน’ แจ้งข่าวดีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แบงก์ออมสินปล่อยกู้ 5 หมื่นไม่ต้องมีคนค้ำ ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมขอบคุณแทนชาวจอมทอง รับมอบกล่องยังชีพกว่า 1 พันกล่อง ในโครงการ ‘ออมสินห่วงใย ส่งกำลังใจให้สังคม’

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตผู้สมัครส.ส.กทม.เขตจอมทอง-ธนบุรี อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนในหลายภาคส่วน รัฐบาลได้ออกมาตรการทางการเงิน ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ ช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น โดยการปล่อยสินเชื่อประชารัฐ ผ่านธนาคารออมสินภายใต้โครงการ ‘ธนาคารประชาชน สำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ ให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถกู้เงินผ่านธนาคารออมสินได้ง่ายๆ วงเงินกู้ 50,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 0.75 ต่อเดือน

“รัฐบาลเดินหน้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยเพื่อเสริมสภาพคล่อง บรรเทาความเดือดร้อนและเป็นต้นทุนในการประกอบอาชีพ เพื่อประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤติไปด้วยกัน ฉะนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองช่วยกันประชาสัมพันธ์โครงการดีๆ ของรัฐ ให้กับพี่น้องประชาชนได้เข้าถึงเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน” น.ส.ทิพานัน กล่าว

ลุ้นออมสินออกสินเชื่อใหม่ขายฝากที่ดิน กลางปี 65 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในปี 2565 ธนาคารฯ เตรียมจัดทำโครงการสินเชื่อที่ดินและขายฝาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และหากได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2565 โดยมุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสมเป็นธรรมสำหรับลูกค้ากลุ่มฐานราก 

ขณะเดียวกัน ยังพัฒนา Digital Lending ให้สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบนสมาร์ทโฟนด้วยแอป MyMo ให้สมบูรณ์ หลังจากในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยผ่าน MyMo ได้มากกว่า 1.5 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 24,000 ล้านบาท เช่นเดียวกับการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออมสินเพื่อการเกษียณ ซึ่งธนาคารเตรียมยกระดับการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มฐานรากมีความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยด้วย

'ออมสิน' ดันโครงการช่วยคนตกงานจากพิษโควิด-19 จัดเงินทุน-พื้นที่ค้าขายอ

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน ขยายผลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานหรือขาดรายได้ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นช่วงของการฟื้นฟูและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยธนาคารได้จัดทำโครงการออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ตั้งเป้าหมายสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ที่เดือดร้อนจำนวนมาก ได้มีการปรับตัวและมองเห็นโอกาสใหม่ในการประกอบอาชีพ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส สามารถใช้ความรู้ใหม่และทักษะทางอาชีพที่ได้รับการถ่ายทอด เป็นทางเลือกและช่องทางต่อยอดในการประกอบอาชีพมากขึ้น 

ทั้งนี้ธนาคารได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 18 แห่ง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยในโครงการยุวพัฒน์รักถิ่น 64 แห่ง กว่า 900 ชุมชน และเครือข่าย เชฟชื่อดังระดับมิชลินสตาร์ และเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มากมาย ในการช่วยกันฝึกอบรมและสร้างทักษะอาชีพแก่ประชาชนรวมกว่า 100 หลักสูตร ซึ่งการอบรมอาชีพที่ได้รับจะช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้มีความรู้ติดตัว สามารถใช้ประกอบอาชีพได้จริงต่อไป ให้เงินทุน ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นการให้เงินทุนผ่านมาตรการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดย ครม. มีมติอนุมัติวงเงินชดเชยความเสียหายจาก NPL 30% ของวงเงินสินเชื่อโครงการ เพื่อสนับสนุนผลักดันความสำเร็จของการมอบความช่วยเหลือในระยะแรกของโครงการ ซึ่งในอนาคตจะมีมาตรการสินเชื่ออื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง

‘ออมสิน’ ปล่อยสินเชื่อหนุนผู้ประกอบการอีวี วงเงินรายละ 50 ล้านบาท ดอกเบี้ยต่ำ 3.745% ต่อปี

(21 ส.ค. 66) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารออมสิน ให้ความสำคัญในการสนับสนุนยุทธศาสตร์การใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน โดยล่าสุด ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ ภายใต้การบันทึกความร่วมมือกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ในการส่งเสริมและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า Electric Vehicle (EV) และผู้ประกอบการ Supply Chain ของอุตสาหกรรม EV ซึ่งเป็นการผลิตยานยนต์ใช้พลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลพิษทางอากาศ โดยคาดหวังให้ความร่วมมือดังกล่าวเป็นฟันเฟืองสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการผลักดันประเทศไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และเคลื่อนที่สู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ได้ตามแผนและนโยบายของประเทศ

สินเชื่อ ‘GSB EV Supply Chain’ สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ Supply Chain ได้แก่ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบยานยนต์ไฟฟ้า (OEM) ผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อหมุนเวียนทำธุรกิจ หรือลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และ Re-Finance ภายใต้ ‘โครงการสินเชื่อธุรกิจ GSB EV Supply Chain’ โดยเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเก็จ ‘สินเชื่อ Green Loan’ ซึ่งเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเศรษฐกิจสีเขียว วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 3.745 % ต่อปี (MOR/MLR-3 % ต่อปี) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 2 ปี และสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการวงเงินมากกว่า 50 ล้านบาท สามารถใช้วงเงินสินเชื่อ ‘โครงการ GSB For BCG Economy’ ได้ ซึ่งไม่จำกัดวงเงินกู้

อนึ่ง ที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ออกสินเชื่อเพื่อรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคตามกระแสอนุรักษ์พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ สินเชื่อ GSB Green Home Loan สำหรับผู้บริโภครายย่อยที่มีความต้องการซื้อบ้านประหยัดพลังงาน สินเชื่อ GSB Go Green ตอบสนองผู้ที่ต้องการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดภาระค่าไฟ หรือติดตั้งแผงโซล่าร์ หรือซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และสินเชื่อ GSB for BCG Economy สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนในการทำธุรกิจตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG รวมถึง สินเชื่อ GSB Green Biz สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ด้าน นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพการดำเนินธุรกิจให้แก่สมาชิกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้า โดยอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนเข้าถึงความรู้ในการจัดการทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และ Start up เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ให้เติบโต อย่างมั่นคง

“ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้า ตามที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายสนับสนุนให้มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 จากการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในประเทศภายในปี 2573 และตั้งเป้าในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เดินไปข้างหน้าคือ การระดมเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท กลไกทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจด้านยานยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนได้อย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต” นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กล่าว

ออมสิน ช่วยลูกหนี้ NPL จากสินเชื่อสู้ภัยโควิด ตั้งต้นผ่อนเดือนละร้อย ดึงบัญชีกลับมาเป็นปกติ

(15 ก.ย. 66) นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่ก่อนหน้านี้ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายใต้โครงการ ‘สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19’ วงเงินรายละไม่เกิน 10,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 20,000 ล้านบาท และสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงินไม่เกินรายละ 10,000 บาท วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวให้กับประชาชนที่ขาดรายได้ช่วงวิกฤติที่ผ่านมา ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ธนาคารได้ขยายระยะเวลาเข้าร่วมโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ถึงเดือนตุลาคม 2567

อย่างไรก็ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยังอยู่ในระยะเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับค่าครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือแก้ไขเครดิตแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ลูกหนี้บัญชี 21) ที่มีสถานะเป็น NPL ให้กลับมามีสถานะหนี้ปกติ 

ธนาคารออมสินจึงออกมาตรการ ‘ไม่คิดดอกเบี้ย ลดดอกเบี้ยค้างชำระทั้งหมด และนำเงินที่ชำระไปตัดเงินต้นทั้งจำนวน’ สำหรับโครงการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 โดยให้ลูกหนี้เริ่มผ่อนชำระเพียง 100 บาทต่อเดือนสำหรับงวดที่ 1-6 หลังจากนั้นงวดที่ 7-12 ผ่อนชำระ 300 บาทต่อเดือน และขยายระยะเวลาการชำระจนถึงเดือนตุลาคม 2567

สำหรับลูกหนี้สินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ที่ได้รับผลกระทบ สามารถลงทะเบียนสมัครเข้ามาตรการช่วยเหลือดังกล่าวได้ที่ช่องทาง MyMo หรือ www.gsb.or.th สำหรับลูกหนี้ที่ไม่มี MyMo สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางเว็บไซต์ธนาคาร www.gsb.or.th ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top