Friday, 5 July 2024
อวดรวย

'พงศ์พรหม' ห่วง!! บางสื่อโซเชียลชี้คนนิยมหรูเพื่ออวด ก่อวัฒนธรรมเกินตัว!! ลงเอย 'ปล้น-โกง-เครียด-ฆ่าตัวตาย'

นายพงศ์พรหม ยามะรัต รองโฆษกพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pongprom Yamarat ระบุว่า...

มีคนรู้จักมาบ่นเรื่องญาติออกรถ G-class รุ่นใหม่ สีดำ ให้ฟังครับ ประเด็นคือเป็นครอบครัว 4 คน ฐานะกลางๆ ค่อนไปทางน้อย แต่ไม่ได้ลำบากอะไร

3-4 ปีมานี้หัวหน้าครอบครัวเสพติดโซเชียลมากขึ้น ตามแนวทาง 'ของมันต้องมี' และ 'ใครๆ เค้าก็มีกัน'

เมื่อต้นปีไปขายที่ดินที่มีอยู่ผืนเดียวในราคา 10 กว่าล้านบาท เอามาซื้อรถราคาเกือบ 10 ล้านบาท คือ G-class รุ่นนี้ สีดำ

แต่ที่ญาติๆ ห่วงคือ ยังให้ลูกเรียนโรงเรียนประชาบาลใกล้บ้าน ชีวิตนี้ลูกไม่เคยได้รู้จักคำว่าพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ไม่สนใจในการลงทุนพัฒนาตัวเอง หรือลูกๆ ไม่มีการคิดว่าจะเอาเงิน 10 กว่าล้านนั้น ไปสร้างคุณภาพชีวิตให้ครอบครัว หรือเก็บออมเพื่ออนาคตการศึกษา หรือยามเจ็บป่วยอย่างไร

แถมยังบอกว่า บ้านอื่น ๆ ตามท้องไร่ท้องนา ก็ขายที่ดินออก Alphard กันตั้งเยอะ

จริงครับ เพื่อนผมขายรถ ปัจจุบัน Alphard กลายเป็นขวัญใจคนภูธรไปเรียบร้อย ต่อจาก Fortuner 

ปัญหาขายที่ดินมาออกรถ เอาเงินอนาคตมาแต่งกระบะบ้าง รถยนต์บ้าง อยากมีของแพง ๆ เหมือนคนอื่นบ้าง กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยครับ

ปัญหานี้หลาย ๆ คนเรียกว่าการขาด Financial Literacy

10 ล้านไม่ใช่เงินเยอะ ถ้าจะมอง 'ครอบครัว' เป็นตัวตั้ง

ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ และคนในประเทศที่เจริญแล้วในโลกนั้น...

1. ต่อให้มีเงินไม่ถึงแสน เค้าจะคิดถึงการศึกษาก่อน
เพราะการศึกษาสามารถหาเงินได้มากกว่า 10 ล้านบาท

2. ครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ จะแบ่งเงินเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในอนาคต

3. นำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ แต่ได้ผลตอบแทนบ้าง แล้วค่อยนำผลนั้นมาใช้

4. และเอาเงินส่วนนึง มาซื้อการเรียนรู้ในโลก เช่นไปผจญภัยตามป่าเขา หรือศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์อะไรแล้วตามแต่

ส่วนเงินซื้อของฟุ่มเฟือย จะเอามาจาก 'ผลของเงินต้น' เช่น...

เอาเงิน 8 ล้านบาท มาซื้อพันธบัตรคุณภาพดี เอาซัก B+ ก็ได้ เพื่อรับ yield ซัก 4% นั่นคือเงินฟรี ๆ ปีละ 320,000 บาท ที่จะเอาไปเผาทิ้งก็ไม่มีใครว่า

'จีน' ล้อมคอก!! แบนเนื้อหาโอ้อวดความรวยบนโซเชียล ตอบโต้ความลุ่มหลงผู้คน 'บูชาเงินทอง-สิ่งฟุ่มเฟือย'

เมื่อวานนี้ (26 พ.ค.67) นสพ.The Star ของมาเลเซีย รายงานข่าว ‘Influencers who flaunt wealth see their online accounts suspended’ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศจีนกำลังมีนโยบายจัดระเบียบการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) โดยห้ามเผยแพร่เนื้อหาประเภท ‘อวดร่ำอวดรวย’ ซึ่งหลายคนถูกลบเนื้อหาออกจากระบบ ถูกระงับกรใช้งาน ไปจนถึงถูกลบบัญชีบนแพลตฟอร์ม

อาทิ ผู้ใช้ชื่อว่า ‘หวัง หงฉวน ซิง (Wang Hongquan Xing)’ ถูกระงับการใช้แพลตฟอร์ม Douyin (Tiktok เวอร์ชั่นที่ใช้ในจีน) และ Weibo รวมถึงถูกลบบัญชีใน Xiaohongshu เนื่องจากผู้ใช้ชื่อดังกล่าว ซึ่งมียอดผู้ติดตามถึง 4 ล้านคน มีพฤติกรรมชอบแสดงให้เห็นชีวิตแบบฟุ่มเฟือย มีทั้งกระเป๋าถือของดีไซเนอร์ คอลเลกชั่นเครื่องประดับที่หรูหรา และการปรากฏตัวบ่อยครั้งในกิจกรรมของแบรนด์หรู

ที่ผ่านมา หวัง เคยกล่าวถึงความชอบของตนต่อเสื้อผ้าราคาแพง และการเดินทางต้องไปพร้อมกับเครื่องประดับสุดหรู ครั้งหนึ่งเขาเคยกล่าวไว้ว่า ตนจะไม่ออกจากบ้านเว้นแต่ว่าหาเสื้อผ้าสวมใส่ยกชุดแล้วจะมีราคารวมทั้งชุดอย่างน้อยแปดหลัก ซึ่งเมื่อถามถึงเหตุผล หวัง ระบุว่า วิถีชีวิตฟุ่มเฟือยของตนเกิดจากความรู้สึกไม่มั่นคง นอกจากนี้ หวังยังจุดชนวนความขัดแย้งด้วยการอ้างว่าเป็นเจ้าของบ้านหรู 7 หลังในชุมชนในกรุงปักกิ่ง รวมถึงคฤหาสน์ขนาด 991 ตร.ม. ที่ว่างเปล่าเนื่องจากมีแสงแดดไม่เพียงพอ

ไม่ต่างจากผู้ใช้ชื่อว่า ‘เป่าหยู เจียจี (Baoyu Jiajie)’ อินฟลูเอนเซอร์หญิงซึ่งเป็นที่รู้จักจากการนำเสนอชีวิตในสังคมไฮโซ มีชื่อเสียงจากการอวดคฤหาสน์ขนาด 2,000 ตารางเมตรของเธอ และเดินเล่นสบาย ๆ ผ่านสวนส่วนตัวของเธอ และมีผู้ติดตามบน Douyin มากกว่า 2 ล้านคน ก็กำลังเผชิญกับมาตรการเดียวกัน โดยบัญชี Douyin และ Xiaohongshu ถูกระงับการใช้งาน รวมถึง ‘ป๋อ กงซี (Bo Gongzi)’ ที่มักนำเสนอตนเองท่ามกลางสินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงเสื้อผ้าของดีไซเนอร์ รถยนต์แปลกใหม่ และความชื่นชอบในแบรนด์ Hermes ถูกระงับการใช้งานบัญชี Weibo และ Xiaohongshu

สื่อมาเลเซีย รายงานต่อไปว่า การระงับดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ของจีนเปิดตัวแคมเปญเพื่อกำหนดเป้าหมายพฤติกรรมที่อวดความมั่งคั่ง โดยเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2567 Weibo เป็นแพลตฟอร์มแรกที่ออกประกาศ โดยระบุว่าจะดำเนินการพิเศษกับเนื้อหาต่าง ๆ เช่น ‘การสนับสนุนความฟุ่มเฟือยและความสูญเปล่า’ และ ‘การแสดงความมั่งคั่งและการบูชาเงินทอง’ จากนั้นในวันเดียวกัน แพลตฟอร์มอื่น ๆ ทั้ง Douyin, Xiaohongshu และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้เปิดตัวการดำเนินงานที่มุ่งเป้าไปที่เนื้อหาเดียวกัน

“Weibo มุ่งมั่นที่จะสร้างชุมชนที่มีอารยธรรม มีสุขภาพดี และมีความสามัคคี โดยสนับสนุนให้ผู้ใช้สร้างหรือแบ่งปันเนื้อหาคุณภาพสูง น่าเชื่อถือ และเป็นบวกบนแพลตฟอร์ม ตลอดจนส่งเสริมคุณค่าที่มีเหตุผลและดีต่อสุขภาพเกี่ยวกับการบริโภค” ประกาศของ Weibo ระบุ

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 นสพ.Shanghai Daily สื่อท้องถิ่นในเมืองเซี่ยงไฮ้ของจีน ได้รายงานข่าว ‘Influencers silenced as platforms crack down on displays of wealth’ เกี่ยวกับมาตรการแบนเนื้อหาอวดร่ำอวดรวยที่ทุกแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ในจีนบังคับใช้ ว่า ตั้งแต่ปี 2564 หน่วยงานกำกับดูแลอินเตอร์เน็ตของจีนได้เปิดตัวแคมเปญทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าไปที่ ‘การโอ้อวดความมั่งคั่งมากเกินไป’ เป็นประเด็นสำคัญ และมีการปราบปรามแนวโน้มนี้ ซึ่งทางการได้ตอบโต้ความต้องการที่จะประสบความสำเร็จและปล่อยตัวลุ่มหลงโดยง่าย ด้วยการลบโพสต์ที่อวดความมั่งคั่งอย่างไม่เหมาะสมกว่า 60,000 โพสต์ ปิดห้องสตรีมสด 1,174 ห้อง และแบนบัญชี 3,609 บัญชี


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top