Wednesday, 8 May 2024
อติคุณ_ทองแตง

ความ ‘สมดุล’ ตามรอย ‘ศาสตร์แห่งพระราชา’ ‘ปลูกชีวิต’ ด้วยพลังงานธรรมชาติ ปราศจากมลพิษ

ในระหว่างที่สังคมโลกกำลังให้ความสำคัญกับการต่อสู้กับภาวะเรือนกระจกในหลายๆ บริบทของสังคมทั้งในระดับโลก ประเทศ และชุมชน เพื่อจรรโลงโลกกลมๆ แห่งนี้ให้อยู่คู่มนุษยชาติได้นานๆ นั้น

ปรากฏการณ์ของกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ ที่ต้องการสร้างสังคมสีเขียว ปลอดมลพิษ และลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล รวมถึงลดเลิกการใช้สารเคมีต่างๆ เพื่อต้านทานกับภัยคุกคามจากภาวะเรือนกระจก ก็เริ่มก่อตัวเพิ่มมากขึ้นตามเช่นกัน

‘Somdul Agroforestry Home’ หรือ ที่ใครหลายคนคุ้นเคยกับคำว่า ‘สมดุล’ เป็นหนึ่งในหน่วยเล็กๆ ทางสังคม ที่ออกแบบสิ่งแวดล้อมแสนสมดุลของตน ไว้ในหมวดธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้การผูกรัดตนเองไว้กับวิถีแห่งการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่ อัมพวา สมุทรสงคราม

‘สมดุล’ ประกอบไปด้วยพื้นที่สีเขียว ที่แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ อยู่ติดริมแม่น้ำแม่กลอง มีบรรยากาศที่ชวนให้รู้สึกผ่อนคลาย เป็นเหมือนสวนที่เปิดรับให้ทุกคนได้มาพักผ่อน แถมยังพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนได้เรียนรู้ พร้อมๆ ไปกับ คาเฟ่, อาหาร และเครื่องดื่ม รวมไปถึงผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ต่อยอดขึ้นมาจากแนวคิด ‘อยู่อย่างเกื้อกูลธรรมชาติ’

เป้าหมายของ ‘สมดุล’ ที่แม้นจะฟังดูเหมือนลมๆ ลอยๆ แต่ ‘อติคุณ ทองแตง’ ผู้ร่วมก่อตั้งสวนสมดุล ก็บอกเสมอว่า “ความสุขอย่างยั่งยืน” คือนิยามที่ ‘สมดุล’ อยากส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจไปสู่สังคมวงกว้าง

ย้อนกลับไปสักเล็กน้อย ‘อติคุณ’ เล่าว่า สวนสมดุลแห่งนี้ เกิดมาจากแรงบันดาลใจในปรัชญาของพ่อเลี่ยม บุตรจันทา ปราชญ์ชาวบ้านแห่งบ้านสวนออนซอน จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มีส่วนสำคัญในถ่ายทอดปรัชญาแห่งความสมดุลในสวนนี้ เป็นมรดกให้เขาให้นำไปสานต่อ 

โดยสาระสำคัญของปรัชญาดังกล่าว สะท้อนไปสู่ ‘การปลูกชีวิต’ โดยเฉพาะชีวิตแห่งพืชพันธุ์ให้สามารถเกื้อกูลพึ่งพิงอาศัยซึ่งกันและกัน ด้วยองค์ประกอบ ดิน, น้ำ, ลม และ แสงแดดที่เหมาะสม จนเกิดความสมบูรณ์ตามรูปแบบของธรรมชาติ  

มาถึงตรงนี้ รู้สึกได้ว่า ปรัชญา ดังกล่าวที่สะท้อนมาสู่จุดเริ่มต้นของ ‘สมดุล’ ช่างดูคุ้นเคย...

ใช่แล้ว!! เพราะนี่คือปรัชญาเพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนตามแนวทาง ‘ศาสตร์พระราชา’

‘สมดุล’ ไม่ใช่สังคมสีเขียวที่ไร้แก่นสาร หรือแค่วาดลานแลนด์สเคปเขียวๆ ให้คนรู้สึกถึงคอนเซปต์แบบเขียวๆ ให้รู้สึกว่าอินเทรนด์ แต่ ‘สมดุล’ ถูกปัดหมุดด้วยความคิดของผู้ร่วมก่อตั้ง ที่สอดรับกับรอยต่อแห่ง ‘ศาสตร์พระราชา’ ซึ่งมิได้ปฏิเสธเทคโนโลยี เพียงแต่ไม่ยอมรับการครอบงำจากเทคโนโลยี  

นัย นี้น่าสนใจ!! เพราะ ‘สมดุล’ รู้จักการควบคุมและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับเป้าประสงค์ของการเป็นเกษตรสมดุล โดยผสานองค์ความรู้จากปรัชญาของการเกษตรไทย กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยการทำให้เกิดสมดุลของดิน, น้ำ และสิ่งแวดล้อม นั่นคือ นำเอาศาสตร์แห่งดิน, ศาสตร์แห่งน้ำ และ การเคลื่อนคล้อยของลม แสงแดด และอุณหภูมิที่เหมาะสม มาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นแนวทางใหม่ คล้ายเป็นนวัตกรรม...หากแต่เป็นนวัตกรรมจากรากเหง้าเกษตรไทย ที่อุดมด้วยองค์ความรู้อันหลากหลายอยู่แล้ว

นอกจากนี้ สวนสมดุล ยังปฏิเสธสารเคมีทุกชนิด โดยผืนดินทุกตารางนิ้ว จะถูกปรับปรุงคุณภาพให้ปลอดภัยทั้งสารพิษ สารเคมี อย่างน้ำที่ใช้ในสวน ก็จะผ่านการกรองด้วยระบบกรองตามมาตรฐานคุณภาพที่สวนฯ กำหนดขึ้น ทำให้ ต้นไม้ พันธุ์พืช และผักทุกชนิด จึงปลอดภัยจากมวลสารที่อาจเป็นพิษภัยต่อมนุษย์ สัตว์ และพืช...ทุกสิ่งล้วน ‘ออแกนิค’ (Organic)

ในแง่ของพลังงาน สวนสมดุลแห่งนี้ ได้สมดุลด้านพลังงานผ่าน ‘พลังงานสะอาด’ (Green Energy) ด้วยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ มาเป็นพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ที่ใช้ในทุกพื้นที่ของสวน

จากข้อมูลช่วงย้อนไปราว 5 ปีก่อน อติคุณ เล่าว่า “เราเริ่มต้นด้วยการติดตั้งแผง Transparent PV Solar Cell จำนวน 208 แผงแบบ on-Grid บนหลังคาที่จอดรถหน้าสวน มีขนาดกำลังติดตั้ง 60.14 kw สามารถผลิตพลังงานสะอาดได้ปีละ 88,454 Kwh หรือ 88,454 หน่วยนั่นเอง ด้วยสมการนี้เราจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 391,090.50 บาท หรือตกเดือนละ 32,590.87 บาท จึงเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงในทางหนึ่ง ขณะเดียวกันยังสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซหลักและตัวการสำคัญที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อนลงได้ปีละ 68.90 ตัน เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ที่มีอายุกว่า 10 ปี จำนวน 1,034 ต้นต่อปี หรือเทียบเท่ากับพื้นที่ป่าสีเขียวขนาด 184 ไร่ และเทียบเท่ากับการลดการเผาถ่านหินจำนวน 30,771.90 กิโลกรัมต่อปี หรือเท่ากับการขับรถเป็นระยะทาง 244,696 กิโลเมตรต่อปี”

อติคุณ เผยอีกว่า ผลพวงจากพลังงานสะอาดที่ผลิตจากแสงอาทิตย์นี้ ได้ถูกนำไปใช้ในร้านกาแฟ ‘Agro  forestry Café’ ไม่ว่าจะในส่วนของระบบแสงสว่าง เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องชงกาแฟ และอุปกรณ์ประกอบการปรุงอาหารทุกชนิด เป็นการการันตีว่า ทุกเมนูกาแฟ หรือ อาหาร รวมทั้งเครื่องดื่ม น้ำดื่มต่างๆ ที่ลูกค้าได้เข้ามาใช้บริการ 

เรียกได้ว่าทุกโสตสัมผัสในบรรยากาศแห่ง สวนสมดุล ผู้คนจะมั่นใจ และสบายใจได้ว่า สิ่งแวดล้อมที่ปรากฏรายล้อมรอบพวกเขา นอกจากจะกอปรไปด้วยวัตถุดิบที่เป็นออแกนิคแล้ว ยังปราศจากมลพิษ อย่างสิ้นเชิงอีกด้วย

“เราอยากให้สวนแห่งนี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยต้นทุนด้านการเกษตร เพื่อพัฒนาเกษตรกรไทย ให้มีความเข้มแข็ง มั่นคงในอาชีพ เกษตรกรไทยไม่ควรต้องอ่อนด้วย ต้อยต่ำ อีกต่อไป” นี่คืออีกหนึ่งฝันของ อติคุณ ที่ไม่ใช่แค่เนรมิต ‘สมดุล’ ขึ้นมาเป็นเพียงแค่ที่พักผ่อนหย่อนใจ

ในขณะที่สภาวะเรือนกระจกกำลังคุกคามโลกของเราอยู่ แค่ธุรกิจที่มองเห็นและหยิบจับวัฏจักรแห่ง Green มาไหลเวียนแค่ธุรกิจเดียว ยังสร้างผลลัพธ์ในการเซฟโลกของเราได้มากขนาดนี้ แล้ว ‘คุณ’ จะไม่ลองเริ่มหันมาสร้าง ‘สมดุล’ ให้กับโลกกันบ้างหน่อยหรือ?

‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome 

รู้จัก ‘สวนสมดุล’ แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติแห่งอัมพวา บอกทุกที่มา ‘อาหาร-พลังงาน’ ที่ผู้บริโภคมีสิทธิ์ต้องได้รู้

บรรยากาศริมน้ำแม่กลองที่ไหลเอื่อยยามสาย ช่างดูเงียบสงบงดงามเหลือเกิน เมื่อได้เมียงมองจากพื้นที่ร่มรื่นใต้เงาไม้ของ ‘สมดุล’ (Somdul Agroforestry Home) สถานที่ที่ผสมผสานทั้งความเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร ศูนย์เรียนรู้ และวนเกษตร ซึ่งเป็นหมุดหมายของนักเดินทางที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน 

‘สมดุล’ หรือ ‘Somdul Agroforestry Home’ เปรียบตนเองเป็นบ้านที่มีความฝันจะบาลานซ์ไลฟ์สไตล์ ระหว่างชีวิตคนเมืองกับธรรมชาติให้อยู่ตรงกลาง ผ่านการทำเกษตรกรรมเชิง ‘วนเกษตร’ แบบเกษตรอินทรีย์ โดยปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก แล้วถ่ายทอดออกมาในรูปแบบการบริการ อาหาร, เครื่องดื่ม, เบเกอรี ผลิตภัณฑ์แปรรูปในโซนคาเฟ่ เปิดโอกาสให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ผ่านการศึกษาภาคปฏิบัติในกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ และถ่ายทอดวิถีชีวิตองค์ความรู้ของศาสตร์วนเกษตร เพื่อให้เห็นผลลัพธ์ที่เรียกว่า ‘ความสุขอย่างยั่งยืน’

จุดหมายปลายทางแห่งนี้ เริ่มต้นจากนักศึกษาในชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเอแบค จำนวน 6 คน ได้แก่ เอี่ยม-อติคุณ ทองแตง, เม-เมธาพร ทองแตง, อู๋-บุญชู อู๋, กันต์-กันต์ คงสินทรัพย์, ไอซ์-รังสิมันตุ์ ตันติวุฒิ และเจมส์-พงศกร โควะวินทวีวัฒน์ ซึ่งทุกคนมีความสนใจในงานด้านอนุรักษ์ และใช้พื้นที่ที่มีทำการเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง จนกระทั่งมาลงตัวที่ ‘วนเกษตร’ หรือ การเกษตรบนพื้นที่ป่า ก่อนจะขยายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน 

อติคุณ ทองแตง หนึ่งในผู้ก่อตั้งอธิบายว่า “ทุกการบริโภคในสมดุล ล้วนมีที่มาที่ไป ตั้งแต่กระบวนการผลิต อาหาร และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในคาเฟ่ จะถูกอธิบายว่ามาจากที่ไหนบ้าง มีความปลอดภัยอย่างไร เรามีฟาร์มเทเบิลส่วนหนึ่งที่ผลิตเอง และมีเครือข่ายเกษตรที่เรามั่นใจได้ในความปลอดภัย อาหารมีที่มาที่ไปอย่างไร อาหารส่วนหนึ่งเป็นออร์แกนิก ไม่มีสารเคมี และนี่คือสิ่งที่เราพยายามสื่อสาร เพราะเราเน้นเรื่องความจริงใจ ที่มาของอาหารที่จับต้องได้ ผู้บริโภคมีสิทธิ์ต้องรู้...

“เราเน้นใช้จาน แก้ว เพราะล้างได้ ใช้กระดาษ หลอดย่อยสลายได้ รวมถึงกระป๋อง อลูมิเนียม เพราะนำไปรีไซเคิลได้ 100% โดยมีจุดแยกขยะและเครื่องบีบอัดกระป๋อง ส่วนพลาสติกที่จำเป็นจริงๆ จากพวกแพ็คเกจ เราต้องคัดแยก ไม่ได้ไปทิ้งขยะรวมกับขยะทั่วไป โดยแยกไปรีไซเคิล เพื่อนำมาใช้ใหม่ ส่วนขยะที่รีไซเคิลยากจริงๆ เราส่งไปโครงการที่ผลิตพลาสติกเพื่อแปรรูปมาทำพลังงาน”

ไม่เพียงบทบาทในการมอบความสุขให้กับผู้มาเยี่ยมเยียน ‘สมดุล’ เท่านั้น หมวกอีกใบของ ‘สมดุล’ ยังให้ความสำคัญกับการเป็น ‘พลเมืองสีเขียว’ ที่คอยช่วยเหลือชุมชนโดยรอบผ่านองค์ความรู้ที่ได้จากคอนเนกชันของกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่ม

“เราเป็นกลุ่มนักอนุรักษ์ ที่หันมาทำธุรกิจ จึงอยากทำธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน และการอนุรักษ์ เราเปิดที่นี่ขึ้นมาเพื่อให้เห็นว่าการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนทำอย่างไร โดยมีคอนเนกชันกับกลุ่มอนุรักษ์หลายกลุ่ม ก็นำข้อมูลมาเผยแพร่ให้คนอื่นได้เรียนรู้...

“อย่างแนวคิดเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่เป็นหนึ่งในแกนกลางสำคัญของการขับเคลื่อน เราก็ทำในรูปแบบวนเกษตร โดยใช้ภูมิปัญญาเกษตรแบบร่องสวน ทำปุ๋ยเอง เน้นเรื่อง Zero Waste โดยใช้อาหารที่เหลือจากคาเฟ่ ขยะเศษอาหาร จะนำไปแยกน้ำ แยกกาก เอาไปทำเป็นปุ๋ยหมัก และมีวิธีการจัดการการแยกขยะ เพราะขยะที่ขายไม่ได้เทศบาลจะนำไปฝังกลบ เราจึงมีเป้าหมายว่าขยะจะต้องนำไปถูกฝังกลบให้น้อยที่สุด ด้วยการคัดแยกขยะ
ขยะ เน้นเรื่องที่มาและที่ไป บรรจุภัณฑ์แบบไหนให้ปลอดภัยและจัดการง่าย เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง เป็นต้น” 

อีกหนึ่งในไฮไลต์ที่ อติคุณ มักจะนำเสนอต่อทุกคนที่มาเยือน ‘สมดุล’ คือ การให้ผู้มาเยือนได้มาศึกษาเรียนรู้ การเลี้ยง ‘ผึ้งชันโรง’ แมลงตัวจิ๋วที่เสมือนเป็นเครื่องมือรับรองคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม

สำหรับ ‘ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว’ (Stingless bees) เป็นแมลงผสมเกสรจำพวกผึ้งแต่ไม่มีเหล็กไน ‘ชันโรง’ ถือเป็นแมลงที่มีวิวัฒนาการสูงกว่าผึ้งป่า และยังให้น้ำผึ้งได้อีกด้วย โดยน้ำผึ้งและเกสรของชันโรงมีราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เพราะมีปริมาณน้อยกว่า และหายาก เชื่อกันว่ามีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งปกติ 

ความสำคัญที่มีต่อการเกษตรของชันโรงจะช่วยผสมเกสรพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงสามารถบินลอยตัวอยู่ได้นานโดยไม่จับเกาะอะไร ทำให้กระพือปีกได้นานบินร่อนลงเก็บเกสร และดูดน้ำหวานเป็นไปอย่างนุ่มนวลไม่ทำให้กลีบดอกช้ำ ขณะเดียวกัน ‘ผึ้งชันโรง’ ยังเป็นแมลงที่สามารถต้านทานเคมีได้ต่ำ เมื่อมีผึ้งชนิดนี้ในพื้นที่ไหนมี ก็เป็นการการันตีเรื่องระบบนิเวศได้ว่า ไม่มีสารเคมี สอดคล้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพืชและดิน

หากใครที่อยากสัมผัสกับเสน่ห์แห่งวิถีธรรมชาติที่ปราศจากมลภาวะอย่างแท้จริง การเจียดเวลามา ‘สมดุล’ ชีวิตที่ ‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home ก็อาจจะทำให้คุณได้แรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการพลิกตนให้ผู้พิทักษ์สังคมจากภัยคุกคามของภาวะเรือนกระจกได้ไม่มากก็น้อย ก็เป็นได้...

‘สวนสมดุล’ Somdul Agroforestry Home
ตั้งอยู่ในตำบลบางพรม อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม
ไม่ไกลจากตลาดน้ำอัมพวา จากวัดบางพลับ มาอีกประมาณ 500 เมตร
เปิด วันจันทร์-อังคาร 09.00-17.00 น. วันพุธ-อาทิตย์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันพฤหัสบดี)
สอบถาม โทร. 098-362-9894 หรือ facebook.com/somdulhome 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top