Sunday, 30 June 2024
องค์การนาซา

‘นาซา’ พบ 'คาร์บอน-น้ำ' จากตัวอย่างดาวเบนนู ข้อบ่งชี้ ‘ต้นกำเนิด-รากฐาน’ สิ่งมีชีวิตบนโลก 

(12 ต.ค.66) สำนักข่าวซินหัว เผยว่า เมื่อวันพุธที่ 11 ต.ค.66 องค์การนาซาได้แสดงผลการศึกษาเบื้องต้นของตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) อายุ 4.5 พันล้านปี ซึ่งนาซาเก็บรวบรวมมาจากอวกาศและนำกลับสู่โลก ได้เปิดเผยปริมาณคาร์บอนสูง และน้ำที่อยู่ในตัวอย่างดังกล่าว ซึ่งองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้อาจบ่งชี้ว่ารากฐานของสิ่งมีชีวิตบนโลก มาจากตัวอย่างเหล่านี้

ดังนั้น จึงถือเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากมีทฤษฎีว่า ดาวเคราะห์น้อยที่อุดมไปด้วยคาร์บอนกับน้ำลักษณะเดียวกับ เบนนู อาจเป็นสิ่งที่นำองค์ประกอบสำคัญมายังโลกวัยเยาว์เมื่อ 4.5 พันล้านปีก่อน โดยมันอาจเป็นสาเหตุที่โลกได้รับน้ำในมหาสมุทร รวมถึงองค์ประกอบบางอย่างที่จำเป็นสำหรับการกระตุ้นกระบวนการสร้างชีวิต

อนึ่ง ยานอวกาศโอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-Rex) ของนาซา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเก็บตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยครั้งแรกของสหรัฐฯ กลับถึงโลกพร้อมตัวอย่างจากดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา

โดยบิล เนลสัน ผู้บริหารของนาซา กล่าวว่าตัวอย่างจากภารกิจโอไซริส-เร็กซ์ เป็นตัวอย่างดาวเคราะห์น้อยซึ่งอุดมด้วยคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยถูกส่งกลับมายังโลก ซึ่งจะช่วยให้คณะนักวิทยาศาสตร์สืบค้นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตบนโลกเพื่อคนรุ่นต่อไป

“เกือบทุกสิ่งอย่างที่พวกเขาทำที่นาซาเป็นการหาคำตอบของคำถามที่ว่าพวกเราเป็นใครและพวกเรามาจากไหน ซึ่งภารกิจของนาซาอย่างภารกิจโอไซริส-เร็กซ์ จะช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยที่อาจเป็นภัยคุกคามโลก ทั้งยังช่วยเปิดเปลือยถึงบางสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า โดยตัวอย่างนี้ได้ถูกส่งกลับมายังโลกแล้ว ทว่ายังมีวิทยาศาสตร์อีกมากมายที่รอคอยการค้นพบ วิทยาศาสตร์ที่พวกเราไม่เคยพบเห็นมาก่อน” เนลสัน ทิ้งท้าย

‘นาซา’ เผย อุณหภูมิทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น เป็นประวัติการณ์ อย่างไม่เคยเกิดขึ้น ชี้!! เป็นผลมาจากการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ส่งผลกระทบ ระบบนิเวศ

(15 มิ.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงาน ผลการวิเคราะห์จากองค์การนาซา (NASA) ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (11 มิ.ย.) ระบุว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกช่วง 12 เดือนก่อนแต่ละเดือน พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สิ่งนี้บ่งชี้ชัดเจนว่าเรากำลังประสบกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ บิล เนลสัน ผู้บริหารของนาซากล่าว พร้อมเสริมว่าชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลกรับรู้ได้ถึงความร้อนสุดขั้วในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกช่วง 12 เดือนก่อนอยู่ที่ 2.34 องศาฟาเรนไฮต์ (1.30 องศาเซลเซียส) สูงกว่าค่าฐานของช่วงศตวรรษที่ 20 (ปี 1951-1980)

เมื่อพิจารณาค่าอุณหภูมิจากเครือข่ายสถานีตรวจอากาศขนาดใหญ่บนบก และอุปกรณ์ในมหาสมุทร คณะนักวิทยาศาสตร์พบว่าระดับอุณหภูมิสูงทุบสถิติที่บันทึกได้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มการเกิดภาวะโลกร้อนในระยะยาว ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เรากำลังเผชิญกับวันที่มีอากาศร้อนมากขึ้น เดือนที่ร้อนมากขึ้น และปีที่ร้อนมากขึ้น เคท คาลวิน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และที่ปรึกษาอาวุโสด้านสภาพอากาศของนาซากล่าว โดยชี้ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้เป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนและระบบนิเวศทั่วโลก

แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดสี่ทศวรรษ โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ที่เป็นช่วง 10 ปีที่ร้อนที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกอุณหภูมิในช่วงปลายศตวรรษที่ 19


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top