Sunday, 20 April 2025
ห้องสมุดมนุษย์

‘ห้องสมุดมนุษย์’ อ่านเพื่อนมนุษย์จากมุมคิดและตัวตนที่แท้จริง แนวคิดสุดเจ๋ง! ช่วยลดอคติต่อกัน – ทำให้เข้าใจผู้คนที่หลากหลาย

(5 มี.ค. 68) ห้องสมุดมนุษย์ เมื่อผู้คนอาสาสมัครมาเป็น “หนังสือ” ให้เพื่อนมนุษย์อ่าน เพื่อแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆ นำไปสู่ความเข้าใจและโอบกอดจิตวิญญาณซึ่งกันและกัน 

เมื่อพูดถึงห้องสมุด สิ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็คือสถานที่ที่เต็มไปด้วยหนังสือต่างๆ แบ่งเป็นหมวดหมู่อย่างเรียบร้อย ให้เราสามารถเข้าไปนั่งอ่าน ปลดปล่อยจิตใจและสมองไปกับเนื้อหาของหนังสือเล่มต่างๆที่อยู่ตรงหน้า ทั้งอ่านเพื่อเอาความรู้และอ่านเพื่อความบันเทิง หลายๆคนก็มีห้องสมุดเป็นทั้งที่หลบภัยจากความวุ่นวาย ความกังวล และเรื่องราวต่างๆที่บีบคั้นในชีวิต รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่เราจะได้ปล่อยวางภาระและความตึงเครียดต่างๆลงได้ชั่วคราวเปิดโอกาสให้เราได้สัมผัสกับความสงบสุขในชีวิตได้ในราคาย่อมเยาหรือไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

นี่คือ concept ของห้องสมุดทั่ว ๆ ไปที่เราคุ้นเคยกันดี แต่จะดีแค่ไหนหากมีห้องสมุดซักแห่งหนึ่งที่มี “เพื่อนมนุษย์” ที่มีประสบการณ์หลากหลายมานั่งเป็น “หนังสือ” ให้เราอ่านประสบการณ์ที่ผ่านมาของพวกเขาเหล่านั้น รวมทั้งแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวที่น่าสนใจ ให้กับผู้คนผ่าน “การอ่าน” ในลักษณะของการพูดคุยตัวต่อตัวหรือกลุ่มเล็กๆ นอกจากนี้ “หนังสือมนุษย์” เหล่านี้ก็พร้อมที่จะรับฟังโดยไม่ตัดสินและเปิดใจคุยกับ “ผู้อ่าน” ทุกคนแม้ว่าจะเป็นผู้ที่เคยถูกบุลลี่ ถูกเลือกปฏิบัติ หรือถูกดูหมิ่นเหยียดหยามไม่ว่าจากสาเหตุใดๆมาก่อนก็ตาม 

ห้องสมุดมนุษย์ที่เหมือนจะมีอยู่แค่ในโลกแห่งอุดมคตินี้แท้จริงแล้วมีอยู่จริงๆในโลกของเราครับ 

โดยแนวคิดของห้องสมุดมนุษย์นี้ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2000 ที่ประเทศเดนมาร์ก โดยผู้ริเริ่มและก่อตั้งได้แค่คุณ รอนนี่ อเบอเกลและทีมงาน โดยมีความคิดตั้งต้นและความตั้งใจที่จะต่อสู้กับความอยุติธรรม, การเลือกปฏิบัติ และส่งเสริมความเข้าใจกันของเพื่อนมนุษย์ทุกคนผ่านการเล่าเรื่องและแบ่งปันเรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆให้กัน โดยผ่านแนวคิดการยืมหนังสือในห้องสมุดที่ทุกคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่แทนที่ผู้มาเยือน หรือ “ผู้อ่าน” จะยืมหนังสือเป็นเล่มๆตามปรกติ แต่ที่ห้องสมุดมนุษย์นี้จะให้บริการยืม “คนจริงๆ” มานั่งคุยกันแทน 

หลักการทำงานของห้องสมุดมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร? 

จริงๆแล้วหลักการทำงานของห้องสมุดมนุษย์นั้นเรียบง่ายและไม่ซับซ้อนเลยครับ โดยเริ่มจากการรับสมัครผู้คนที่มีภูมิหลังและประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลายมาเป็น “หนังสือมนุษย์” โดยอาสาสมัครเหล่านี้มีความหลากหลายมาก มีทั้ง คนไร้บ้าน, คนพิการ, ผู้อพยพ, LGBTQ+, อดีตผู้ป่วยทางจิต, คนติดยา, ผู้เคร่งศาสนา, คนไม่มีศาสนา หรือผู้ที่มีปัญหาอื่นๆทางสังคม 

เมื่อได้อาสาสมัครจำนวนหนึ่งแล้ว ทีมงานของคุณรอนนี่ก็จะจัดอีเว้นท์ “ห้องสมุดมนุษย์” ขึ้นตามสถานที่ต่างๆเช่น อาคารสำนักงาน, ห้องสมุดของจริง, โรงเรียนและสถานศึกษา รวมไปถึงพื้นที่ในงานเทศกาลต่างๆ จากนั้นก็จะแจกโบรชัวร์ให้คนที่มาร่วมงาน ในโบรชัวร์นั้นก็จะมีข้อมูลโดยย่อของหนังสือมนุษย์แต่ละคน เพื่อให้คนที่สนใจหรือ “ผู้อ่าน” สามารถเลือกยืมหนังสือมนุษย์ที่ตัวเองสนใจไปนั่งคุยกันประมาณ 20-30 นาที หลังจากคุยกันเสร็จก็นำหนังสือมนุษย์นั้นไปส่งคืนทีมงาน หรือ “คืนหนังสือ” นั่นเอง 

ครับ ง่ายๆแบบนี้เลย 
เป้าหมายของห้องสมุดมนุษย์นี้ก็แสนจะเรียบง่ายครับ ก็คือการส่งเสริมให้มนุษย์ทุกคนลดอคติต่อกันและสร้างความเข้าใจต่อผู้คนที่มีความแตกต่างและหลากหลายผ่านการสนทนาที่เปิดกว้าง เพื่อสลายอัตตาและสร้างความเห็นอกเห็นใจกัน 

นับตั้งแต่ห้องสมุดมนุษย์ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เดนมาร์กเมื่อ 25 ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบัน กิจกรรมนี้ก็ได้รับการขยายออกไปเป็นวงกว้างทั่วโลกถึงกว่า 80 ประเทศแล้วครับ โดยสถานศึกษาต่างๆ, หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน, ชุมชน รวมไปถึงกลุ่มองค์กรต่างๆ ก็ได้จัดกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์นี้ขึ้นเพื่อส่งเสริมความเข้าใจกันของผู้คนที่มีพื้นเพและเส้นทางที่หลากหลายแตกต่างกัน ผ่านการสร้างให้เกิดบทสนทนาที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังนี้ 

หลายเรื่องราวได้ถูกเล่าขาน บางเรื่องก็เป็นสิ่งที่ผู้เล่าตั้งใจถ่ายทอดให้กับคนรุ่นหลัง บางเรื่องก็เป็นรอยแผลเป็นตกสะเก็ดในใจของผู้เล่าเอง แต่ที่สำคัญคือเรื่องราวทั้งหมดเป็นประสบการณ์ชีวิตที่ถูกเล่าขานออกมาเพื่อหวังให้คนฟังเกิดความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งอย่างเท่าเทียมกันทั้งสิ้น

เรื่องราวอันน่าประทับใจที่เกิดขึ้นในห้องสมุดมนุษย์ทั่วโลกมีมากมาย อาทิเช่น 

- การไถ่บาปและการให้อภัยนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง, โคเปนเฮเกน, ชายคนหนึ่งได้อาสาสมัครมาเป็นหนังสือมนุษย์เพื่อแบ่งปันเรื่องราวในอดีตของเขาในฐานะสมาชิกแก๊งอาชญากรรมที่เต็มไปด้วยความรุนแรงและการทำผิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำอีกเรื่อย ๆ จนเมื่อเขาได้ใช้เวลาหลายปีในเรือนจำจึงได้คิดและต้องการมาบอกเล่าเรื่องราวความผิดพลาดของตัวเองในอดีตให้กับผู้คนเพื่อเป็นการไถ่บาปของตัวเอง และวันหนึ่งในห้องสมุดมนุษย์ เขาก็ได้นั่งลงและบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองต่อหน้าผู้อ่านที่สูญเสียคนในครอบครัวไปจากความรุนแรงระหว่างแก๊ง ส่งผลให้ผู้อ่านคนนั้นร้องไห้อย่างรุนแรงด้วยหัวใจที่แตกสลาย แต่ภายหลังจากบทสนทนาจบลง ทั้งคู่ก็ได้โอบกอดกันด้วยความเข้าใจ และการเยียวยาซึ่งกันและกัน คนหนึ่งด้วยความรู้สึกผิดที่ต้องการไถ่บาป และอีกคนด้วยความตระหนักว่าการให้อภัยและการยอมรับว่ามนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้นั่นเอง 

- การเผชิญหน้าของผู้รอดชีวิตจากการสังหารหมู่กับสมาชิกนีโอนาซี ,เยอรมนี, ในกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ครั้งหนึ่ง มีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งที่นิยมชมชอบและสนับสนุนแนวคิดนาซีแบบสุดโต่งได้เข้าร่วมกิจกรรมและเลือกที่จะนั่งสนทนากับอาสาสมัครหนังสือมนุษย์ที่เคยรอดชีวิตจากการสังหารหมู่ในค่ายกักกันของนาซีในสมัยสงครามโลก ในเบื้องต้นเด็กหนุ่มเพียงแค่สนใจว่าในสมัยนั้นชีวิตความเป็นอยู่ของคนในค่ายกักกันเป็นอย่างไร แต่เมื่อหนังสือมนุษย์เริ่มเล่าถึงความทุกข์ทรมานต่างๆ ทั้งการถูกทรมานร่างกาย การเห็นคนซึ่งเป็นที่รักถูกสังหารต่อหน้าต่อตา รวมไปถึงความสูญเสีย ทุกข์ทรมานต่างๆอีกมากมายหลังจากนั้น ทำให้ความคิดของเด็กหนุ่มเปลี่ยนไป และในตอนสุดท้ายของการสนทนา เด็กหนุ่มได้ยอมรับกับหนังสือมนุษย์ว่า ตัวเขานั้นได้หลงผิดไปกับแนวคิดอันสุดโต่งของนีโอนาซีและสาบานว่าจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันอย่างเข้าใจ ที่จะนำไปสู่การลดความเกลียดชังต่อกัน นั่นเอง 

- หญิงข้ามเพศและผู้นำทางศาสนา ,อินเดีย, ผู้นำทางศาสนาผู้หนึ่งที่ได้รับการอบรมสั่งสอนมาทั้งชีวิตว่าการเป็น LGBTQ+ คือเรื่องผิดบาป ได้เข้าร่วมกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ และได้ยืมหนังสือมนุษย์ที่มีหน้าปกว่า “หญิงข้ามเพศ:เส้นทางสู่การค้นพบตัวเอง” มาสนทนาด้วย และหนังสือมนุษย์เล่มนี้ ก็ได้เล่าให้เขาฟังถึงประสบการณ์การเป็นหญิงข้ามเพศในอินเดียของเธอที่ผ่านการดูถูกเหยียดหยาม การไม่ยอมรับ และการถูกขับไล่ออกจากครอบครัวของตัวเอง มาจนถึงวันที่สามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเอง และมีความภูมิใจในตัวเองได้ด้วยความอดทนและความมุ่งมันที่จะพิสูจน์คุณค่าของตัวเองเพียงไร ในตอนท้ายผู้นำทางศาสนาคนนี้ก็ได้ยอมรับกับหนังสือมนุษย์ว่า ตัวของเขาเองไม่เคยมีความเข้าใจมาก่อนเลยว่าการเป็นคนข้ามเพศนั้นมีความลำบากอย่างไร รวมทั้งได้ยอมรับว่ามุมมองของเขาต่อคนข้ามเพศนั้นเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยที่ได้บันทึกไว้จากกิจกรรมห้องสมุดมนุษย์ทั่วโลก หากจะให้สรุปผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดให้มีห้องสมุดมนุษย์ขึ้นนั้น เราก็พอจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ห้องสมุดมนุษย์นั้นแท้จริงแล้ว ไม่ใช่เป็นเพียงการบอกเล่าหรือแลกเปลี่ยนเรื่องราวกันเท่านั้น หากแต่ผลลัพธ์ที่ได้คือการเปลี่ยนมุมมองและหัวใจที่เพื่อนมนุษย์มอบให้แก่กัน การให้ผู้คนได้พูดคุยกันอย่างเปิดใจและซื่อตรงนับเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่จะลดความแตกต่าง สร้างความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน สุดท้ายก็จะนำไปสู่ความเข้าใจกันอย่างแท้จริงของผู้คนที่มีภูมิหลังอันหลายหลายแต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขด้วยการยอมรับความแตกต่างและเปิดใจยอมรับความแตกต่างนั้น พร้อมโอบกอดกันไว้ด้วยความเข้าอกเข้าใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั่นเอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top