Saturday, 18 May 2024
หลอกเอาเงิน

'ผู้ช่วยฯโจ๊ก' สั่งเชือด ผกก. กับพวกรวม 5 คน อ้างชื่อ หลอกเอาเงิน ว่าจะช่วยประกันตัว สูญเงินกว่า 6 ล้าน

'ผู้ช่วยฯโจ๊ก' สั่งเชือด ผกก. กับพวกรวม 5 คน อ้างชื่อ หลอกเอาเงิน ว่าจะช่วยประกันตัว สูญเงินกว่า 6 ล้าน

เมื่อวันที่ (19 ก.ค. 2565) ที่ สน.ปากคลองสาน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า จากกรณีได้รับการร้องเรียนจาก น.ส.ธิรวรรณ์ เขียวงาม ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของ นาย Ritesh Patel ชาวอังกฤษ ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ภายในสถานกักกันคนต่างด้าว กก.3 บก.สส.สตม. ว่ามีบุคคลแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีความสนิทสนมใกล้ชิดกับ ตน สามารถช่วยเหลือทางคดีและสามารถประกันตัว นาย Ritesh Patel ได้ ทำให้ น.ส.ธิรวรรณ์ ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงได้มอบเงินกว่า 6,000,000 บาท ให้กับกลุ่มผู้ต้องหา แต่ปรากฎว่าจนถึงปัจจุบัน นาย Ritesh Patel ก็ยังไม่ได้รับการประกันตัวหรือได้รับการปล่อยตัวแต่อย่างใด นั้น

 

ตนจึงได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ปานกลิ่นพุฒ ผกก.สน.ปากคลองสาน และเจ้าหน้าที่ชุดสืบสวน ตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนเนื่องจากกลุ่มผู้ต้องหามีการแอบอ้างผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อให้มีการดำเนินคดีผิดไปจากระเบียบ ข้อบังคับ หรือกฎหมาย

จากการสืบสวนและทำให้ทราบพฤติการณ์ในคดี กล่าวคือ เมื่อวันที่ (27 มิ.ย. 65) เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัว นาย Ritesh Patel ชาวอังกฤษ ซึ่งพบว่ามีหมายแดง (หมายจับตำรวจสากล) และถูกส่งตัวไปกักขังเพื่อรอดำเนินการส่งกลับไปยังประเทศอังกฤษ ไว้ที่สถานกักกันคนต่างด้าว กก.3 บก.สส.สตม. โดยในระหว่างที่ นาย Ritesh Patel ผู้ต้องกัก ได้อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองนั้น ได้มี น.ส.ธิรวรรณ์ ผู้เสียหาย เข้ามาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอประกันตัวผู้ต้องกัก แต่ไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว ต่อมา น.ส.ธิรวรรณ์ฯ จึงได้ขอความช่วยเหลือเรื่องประกันตัวไปยัง นายธนัญวัธน์ ธนันธัญภัทรน์ 

ซึ่ง นายธนัญวัธน์ฯ แจ้งว่า ได้มี นายวิทยา สงวนนามสกุล อ้างว่าสามารถช่วยประสานดำเนินการในประกันตัวผู้ต้องกักได้ เนื่องจากตนรู้จักกับ พ.ต.อ.ราเมศ ขอสงวนนามสกุล ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน ภ.จว.แม่ฮ่องสอน ซึ่งอ้างว่าเป็นชุดทำงานและเป็นเพื่อน นรต.รุ่นเดียวกับ ตน มั่นใจได้ว่าจะสามารถทำเรื่องประกันตัวหรือทำให้ได้รับการปล่อยตัวอย่างแน่นอน ทำให้ น.ส.ธิรวรรณ์ฯ และ นายธนัญวัธน์ฯ หลงเชื่อว่าสามารถดำเนินการได้จริง โดยนายวิทยาฯ ได้แจ้งว่าต้องมีค่าดำเนินการที่จะต้องชำระให้กับนายวิทยาฯ จำนวน 6 ล้านบาทให้เรียบร้อยก่อน

ต่อมาเมื่อวันที่ (29 มิ.ย. 65) เวลาประมาณ 15.00 น. ขณะที่ผู้ต้องกักอยู่ในความควบคุมที่สถานกักกันคนต่างด้าว (บางเขน) นายธนัญวัธน์ ฯ ได้เดินทางมากับ นายวิทยาฯ เข้าติดต่อร้อยเวรรักษาการณ์ประจำสถานกักกันคนต่างด้าว (บางเขน) เพื่อขอพบกับผู้ต้องกัก ซึ่งร้อยเวรรักษาการณ์แจ้งว่าไม่สามารถเข้าพบได้ แต่นายวิทยาฯ ได้พยายามให้พูดคุยโทรศัพท์กับบุคคลซึ่งอ้างตัวว่าคือ พ.ต.อ.ราเมศฯ เป็นชุดทำงานของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล จะขอติดต่อเข้าพบผู้ต้องกักคนดังกล่าว และยังอ้างว่าผู้ต้องกักดังกล่าวเคยทำงานเป็นสายให้กับตนเอง และพยายามจะขอให้เข้าพบผู้ต้องกัก แต่ร้อยเวรรักษาการณ์ก็ได้ปฏิเสธเนื่องจากขัดต่อระเบียบปฏิบัติและให้ติดต่อกับผู้บังคับบัญชาโดยตรง ต่อมา นายวิทยาฯ ได้แจ้งให้นายธนัญวัธน์ฯ และ น.ส.ธิรวรรณ์ฯ ไปทำการโอนเงินตามบัญชีธนาคารที่นายวิทยาฯ แจ้งไว้ โดยให้โอนให้ครบตามจำนวน ยอดรวมเป็นเงิน 6,000,000 บาท 

เมื่อโอนเงินครบแล้ว นายธนัญวัธน์ฯ ได้พยายามติดต่อเรื่องการขอประกันตัวกับ นายวิทยาฯ แต่ก็นายวิทยาฯ ก็บ่ายเบี่ยงมาโดยตลอดและไม่สามารถติดต่อได้ในภายหลัง น.ส.ธิรวรรณ์ฯ จึงเชื่อว่าถูกหลอกลวงเอาเงินไปโดยทุจริต ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน.ปากคลองสาน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

จากการสืบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า นายวิทยา ได้มีการติดต่อกับ พ.ต.อ.ราเมศ ในห้วงเวลาเกิดเหตุจริง และมีพยานบุคคลยืนยันว่าบุคคลทั้งสองได้มีการกล่าวอ้างถึง ตนซึ่งเป็นนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ในการติดต่อขอประกันตัวหรือขอเข้าพบผู้ต้องกักเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และได้ทำการหลอกลวงผู้เสียหายว่าสามารถจะช่วยเหลือได้จริง โดยให้โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่กำหนดไว้ รวมความเสียหาย 6,000,000 บาท ซึ่งจากการตรวจสอบเส้นทางการเงินพบว่า ได้มีการโอนเงินต่อไปยังบัญชีธนาคารของ พ.ต.อ.ราเมศ และบัญชีอื่นๆ ของบุคคลในครอบครัวของ พ.ต.อ.ราเมศ รวมทั้งบัญชีธนาคารของนายวิทยา  จึงเชื่อได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดจริงโดยแบ่งหน้าที่กันทำ

สืบนครบาลรวบ 'หมูฟ้า' หลอกทุกกระบวนท่าเจ้าตัวอ้างแค่บัญชีม้าตำรวจไม่เชื่อ

ตามนโยบายของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ให้ปราบปรามกลุ่มองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบที่สร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนผู้สุจริตจำนวนมาก  โดยต่อมาชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบนครบาล ได้รับแจ้งเรื่องความเดือนร้อนของประชาชนทางเพจ 'สืบสวนนครบาล IDMB' ให้ช่วยสืบสวนติดตามจับกุมตัวหมูฟ้า หรือ น.ส.ดวงอรทัย ไพทูล มีพฤติการณ์หลอกหลวง 'หลายรูปแบบ' เช่น หลอกลวงแฮ็คเฟสบุ๊คผู้เสียหายสูงอายุเอาข้อมูลรหัส ID Password เพื่อยืมเงินคนอื่น , ใช้หน้าไลน์ปลอมเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกเอาเงิน ,หลอกลงทุนผ่านเพจ DM WALL , หลอกขายของออนไลน์ผ่าน Facebook Mami Mami เป็นต้น  และจากการตรวจสอบพบบัญชีที่เกี่ยวข้องกว่า 10 บัญชีที่เป็นชื่อ น.ส.ดวงอรทัย ไพทูล มีเงินหมุนเวียนในบัญชีร่วมล้านบาท สืบสวนนครบาลจึงได้เร่งรัดออกสืบสวนติดตาม

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 65 เวลาประมาณ 09.30 น. พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. พ.ต.อ.ธนากร อ่อนทองคำ ผกก.4 บก.สส.บช.น. พ.ต.ท.รัฐนันท์ สมวงศ์ รอง ผกก.ฯ เจ้าหน้าที่ กก.สส.4 บก.สส.บช.น. และ สภ.แม่ปิง ร่วมสืบสวนติดตามจับกุมตัว น.ส.ดวงอรทัย ไพทูล หรือ หมูฟ้า อายุ 20 ปี ที่อยู่ 51 หมู่ที่ 7 ตำบลศรีชมภู  อำเภอพรเจริญ จังหวัดบึงกาฬ ผู้ต้องหา พบหมายจับจำนวน 3 หมาย ประกอบด้วย
1. หมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 1028/2565 ลงวันที่ 19 พ.ย.65 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน 'ฉ้อโกงฯและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์' ท้องที่ สภ.แม่ปิง
2. หมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 1029/2565 ลงวันที่ 19 พ.ย.65 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน 'ฉ้อโกงฯและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์' ท้องที่ สภ.แม่ปิง
3. หมายจับศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 1030/2565 ลงวันที่ 19 พ.ย.65 ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน 'ฉ้อโกงฯและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์' ท้องที่ สภ.แม่ปิง
โดยกล่าวหาว่า “ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นบุคคลอื่นและโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่บิดเบื่อน หรือปลอมไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมด”

โดยจับกุมตัวผู้ต้องหาได้ที่บริเวณซอยเทศบาลบางปู 69/3 ถนนสุขุมวิท ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจาก น.ส.ดวงอรทัย ไพทูล หรือหมูฟ้า ได้ตระเวนก่อเหตุฉ้อโกงในโลกออนไลน์ หลายรูปแบบ เช่น ใช้หน้าไลน์ปลอมเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกเอาเงิน , หลอกลงทุนผ่านเพจ DM WALL , หลอกขายของออนไลน์ผ่าน Facebook Mami Mami โดยก่อเหตุมาแล้วไม่ต่ำกว่า 7 คดี โดยล่าสุดได้หลอกลวงแฮ็คเฟสบุ๊ค และไลน์ของผู้เสียหายหญิงสาววัย 59 ปี โดยหลอกเอาข้อมูลรหัส ID Password จากเฟสบุ๊คโดยการแสร้งสนทนาเพื่อขอหมายเลขโทรศัพท์ของเหยื่อ จากนั้นเมื่อได้หมายเลขโทรศัพท์แล้วก็นำหมายเลขโทรศัพท์ของเหยื่อ ใส่เข้าไปใน ID ช่อง Login แล้วแจ้งลืม Password เพื่อให้ระบบส่งข้อความ OTP เข้าไปยังโทรศัพท์ของเหยื่อ จากนั้นจะหลอกให้เหยื่อแค็ปภาพหน้าขอข้อความดังกล่าวส่งกลับมาให้ ทำให้เฟสบุ๊คของเหยื่อตกไปอยู่ในมือผู้ต้องหาทันที และจากนั้นก็เข้าไปตระเวนยืมเงินจากเพื่อนในแอ็พพลิเคชั่น ซึ่งต่อมาผู้เสียหายได้เข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวน สภ.แม่ปิง จ.เชียงใหม่กระทั่งได้มีการออกหมายจับ น.ส.ดวงอรทัยฯ เป็นจำนวน 3 หมายจับ ซึ่งต่อมา ชุดลาดตระเวนออนไลน์ บก.สส.บช.น. ได้รับแจ้งเรื่องความเดือนร้อนของประชาชนทางเพจ 'สืบสวนนครบาล IDMB' ให้ช่วยสืบสวนติดตามจับกุมตัว น.ส.ดวงอรทัยฯ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. จึงได้สั่งการให้ พ.ต.อ.ธนากร อ่อนทองคำ ผกก.4 บก.สส.บช.น. นำทีม กก.สส.4 บก.สส.บช.น. สืบสวนติดตามจับกุมตัว

‘รองโฆษกตำรวจ’ เตือน!! แอปฯ ดูดเงินระบาดหนัก พร้อมแฉ ‘3 อุบาย’ โจรออนไลน์ใช้ดูดเงินหมดบัญชี

(16 ก.ค. 66) เวลา 09.00 น. ที่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ท.หญิง ดร.ณพวรรณ ปัญญา รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยอุบายของโจรออนไลน์ที่ใช้หลอกลวงประชาชนให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์ และทำการดูดเงินในบัญชี

พ.ต.ท.หญิง ณพวรรณฯ ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกให้ติดตั้งแอปฯ ดูดเงินเข้าแจ้งความอย่างต่อเนื่อง จึงขอประชาสัมพันธ์เน้นย้ำถึงวิธีการของโจรออนไลน์ ที่จะทำการติดต่อประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น โทรศัพท์ ไลน์ หรือการส่งข้อความสั้น (SMS) แนบลิงก์ เพื่อหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมระบบในเครื่องโทรศัพท์และทำการดูดเงินในบัญชี โดยใช้อุบายดังต่อไปนี้

1. หลอกว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมที่ดิน (อ้างว่าสำรวจผู้เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง) สรรพกร (อ้างคืนภาษีหรือตรวจสอบภาษีประจำปี) และการไฟฟ้า/การประปา (อ้างโอนค่าบริการส่วนเกินคืนหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ฟรี) เป็นต้น โดยโจรออนไลน์จะทำการติดต่อประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ และแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงาน ภาครัฐ ส่งเอกสารราชการปลอมเพิ่มความน่าเชื่อถือ และพูดจาหว่านล้อมให้ประชาชนหลงเชื่อกดลิงก์เข้าเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันปลอมที่คล้ายกับของจริง นำไปสู่การติดตั้งแอปฯ ดูดเงิน 

2. หลอกว่าเป็นหน่วยงานภาคเอกชน เช่น สายการบิน และบริษัทขายอุปกรณ์ไอทีชื่อดัง โดยมิจฉาชีพจะส่งข้อความถึงประชาชน หรือโพสต์โฆษณาทางสื่อสังคมออนไลน์ และอ้างอุบายที่ดึงดูดความสนใจ อาทิ ได้รับตั๋วเครื่องบินฟรี เป็นผู้โชคดีได้ของขวัญ/ของรางวัล หรือ มีโปรโมชั่นลดราคาสินค้า เมื่อประชาชนหลงเชื่อกดลิงก์ก็จะถูกดูดเงินจนหมดบัญชี

3. หลอกให้เกิดความสงสัย โดยมิจฉาชีพจะส่งข้อความถึงประชาชนในเชิงหาเรื่อง ทำให้เกิดความสงสัย กระวนกระวายใจ เช่น “เธอทำแบบนี้กับเราได้อย่างไร”, “ไม่รู้ตัวเหรอว่ามีคลิปหลุด”, “ทำตัวแบบนี้ น่าโดนประจานให้อาย” แล้วโจรออนไลน์จะส่งลิงก์มาให้เพื่อกดดู เมื่อหลงเชื่อกดเข้าไป อาจถูกดูดเงินจนหมดบัญชี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชนรับข้อมูลอย่างมีสติ ‘ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน’ เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของโจรออนไลน์ โดย พล.ต.อ.ดํารงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้จัดทำแบบทดสอบ Cyber Vaccine จำนวน 40 ข้อ เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันไซเบอร์ให้กับประชาชน 

ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ที่ www.เตือนภัยออนไลน์.com และ เพจเฟซบุ๊ก ‘เตือนภัยออนไลน์’ ปรึกษา-ขอคำแนะนำได้ที่ สายด่วน บช.สอท. 1441 หรือ ศูนย์ PCT 081-866-3000 โดยผู้เสียหายสามารถติดต่อธนาคารของตนเองเพื่อทำการระงับบัญชี โดยธนาคารจะออก Bank ID ผ่าน SMS และขอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความกับตำรวจที่ใดก็ได้โดยเร็ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงท้องที่เกิดเหตุภายใน 72 ชั่วโมง หรือแจ้งความผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top