‘อดีตรองอธิการบดี มธ.’ เปรย "เป็นเรื่องน่าเสียดาย" หากหลานชาย (ไอติม) ร่วมก๊วนล้มสถาบันฯ
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Harirak Sutabutr’ ถึง ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่ม Re-Solution โดยมีใจความว่า ผมไม่เคยได้พบกับไอติมเลยแม้แต่ครั้งเดียว ได้แต่เห็นปรากฏอยู่ในข่าว ซึ่งเป็นเรื่องแปลก เพราะถ้านับญาติกันจริง ๆ ไอติมก็นับเป็นหลาน เพราะคุณยายของไอติมเป็นลูกผู้พี่ของผม คือเป็นลูกของคุณอาแท้ ๆ หรือน้องแท้ ๆ ของคุณพ่อผม นับว่าเป็นญาติที่ค่อนข้างใกล้กันไม่น้อย
อย่างที่ผมเคยเขียนหลายครั้งว่า ผมไม่ได้เลือกพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะไม่เห็นด้วยกับวิธีการทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ แต่ก็เข้าใจดีว่า นั่นเป็นวิธีที่จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลและไม่ให้พรรคเพื่อไทยและระบอบทักษิณกลับมาครอบงำประเทศได้อีก แต่ผมก็ยังเลือกไม่ลงอยู่ดี
เมื่อไอติมลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พอดีลงสมัครในเขตผม ผมและทุกคนในครอบครัวจึงไม่ลังเลเลยที่จะพากันไปลงคะแนนให้ไอติม ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นญาติ แต่เป็นเพราะเชื่อว่าไอติมคือคนหนึ่งที่เป็นความหวังของการเมืองไทย เป็นคนรุ่นใหม่ พื้นฐานครอบครัวดี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่เข้ายากแสนยาก แต่ไอติมก็สอบตก และผู้ที่ชนะในเขตนั้นก็คือผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ
ทำไมไอติมจึงสอบตก ทั้งที่มีคุณสมบัติพร้อมทุกอย่าง ทำไมคนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ในเขตที่ลงสมัครจึงไม่เลือกไอติม แต่พากันไปเลือกผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐ คงไม่ใช่เพราะมีความนิยมชมชอบในตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่นิยมชมชอบพลเอกประยุทธ์ก็ตาม นั่นเพราะสมการการเมืองไทยไม่ง่ายเหมือน 1+1 = 2 แต่ในโลกของความเป็นจริงมันซับซ้อนกว่านั้นมาก คนส่วนใหญ่ไปลงคะแนนให้พรรคพลังประชารัฐ ก็เพราะเขาหมดหวังในพรรคประชาธิปัตย์ และเชื่อว่า หากไม่เลือกพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทยต้องกลับมาเป็นรัฐบาลแน่ และระบอบทักษิณที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการชุมนุมประท้วงครั้งประวัติศาสตร์จนนำไปสู่การรัฐประหาร 2557 ก็จะกลับมาพร้อมกับพรรคเพื่อไทย คนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมเชื่อว่าทักษิณยังคงครอบงำพรรคเพื่อไทยอยู่ บัดนี้น่าจะเริ่มเชื่อแล้ว
เข้าใจดีว่า รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ไม่ใช่รัฐบาลในฝันของประชาชน แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่า หลังจากลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ไอติมกลับไปนิยมชมชอบพรรคและกลุ่มการเมืองที่มีจุดหมายไม่ต้องการสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นพันธมิตรกับพรรคเพื่อไทยและผู้ที่อยู่เหนือพรรคเพื่อไทย ทั้งยังมีความคิดไปในทิศทางเดียวกันกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเหล่านั้น ไม่ยอมรับผลการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่มีคนลงคะแนนให้ถึง 16 ล้านเสียง อ้างอยู่ร่ำไปว่า การลงประชามติครั้งนั้นไม่ได้ทำอย่างเสรี และไม่เป็นธรรม อ้างว่าผู้ประท้วงคัดค้านไม่ให้คนไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ถูกจับกุมเนินคดี ทั้งที่รู้ดีว่าการจับกุมดำเนินคดี เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ 2559
การดำเนินการตามกฎหมาย จึงไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำถามแนบท้ายซึ่งเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลผ่านการทำประชามติด้วยคะแนนเสียงกว่า 16 ล้านเสียง เหตุผลหลักที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคำถามแนบท้ายซึ่งเกี่ยวกับบทเฉพาะกาลผ่านการทำประชามติ ก็เป็นเหตุผลเดียวกับการที่คนจำนวนมากจำใจต้องลงคะแนนเสียงให้ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคพลังประชารัฐนั่นเอง
