Sunday, 20 April 2025
หนี้เสีย

CEO เครดิตบูโร’ เตือน!! หนี้เสียรถยนต์พุ่งสูงต่อเนื่อง หลัง ‘คนเจน​ Y’ ผ่อนไม่ไหว หวั่นทำเศรษฐกิจไทยพัง

เมื่อไม่นานนี้ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ชื่อ ‘Surapol Opasatien’ กรณีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาหนี้เสียกลุ่มประเภทรถยนต์ ที่มีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบระดับพังเศรษฐกิจไทยได้ โดยระบุว่า…

ข้อมูล​สถิติที่ทำขึ้นมาเพื่อเป็นสัญญานเตือนภัยในหลายปีมานี้​ เริ่มมีผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น​
เรื่องหนี้ชาวบ้าน​ มีผู้ใหญ่กล่าวว่า​ มันไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจ​พังแต่มันทำให้เศรษฐกิจ​หงอย​ ซึม​ แต่ถ้ามันไปทำให้ระบบสถาบันการเงินเสียหาย​ อันนั้นแหละ​ จะเป็นเรื่องความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจ​จะพัง

กลับมาดูตัวเลขกันครับ​ หนี้รถยนต์​ในระบบเครดิต​บูโร​ยอดรวม 2.6 ล้านล้านบาท ในไตรมาสที่​ 1 มีสัญญาใหม่ที่ได้รับอนุมัติประมาณ​ 3.5 แสนบัญชี​ 53% เป็นคนเจน​ Y​ ขนาดของวงเงินที่ได้รับอนุมัติช่วง​ 5 แสนถึงสองล้าน คิดเป็น​ 67%

มาดูเส้นกราฟในภาพตรงกลางครับ​ สีแดงคือ หนี้เสียค้างเกิน​ 90 วัน ตอนนี้มาอยู่แถว 7% ของยอดหนี้​ 2.6 ล้านล้านบาทแระ​ เส้นสีเหลืองที่พุ่งขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่​ 4 ปี​ 2564​ มาจนถึงปัจจุบันไตรมาสที่​ 1 ปี​ 2566​ คือหนี้ที่ค้าง​ 1, 2, หรือ​ 3 งวด แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย​ ไปๆ มาๆ​ เรียกกันตามภาษาสินเชื่อคือ ‘เลี้ยงงวด’ กันอยู่​ ตรงนี้แหละ ที่มีความเป็นห่วงกันว่า​ 1.9 แสนล้านที่กลับไม่ได้ไปไม่ถึงจะไหลไปเป็นหนี้เสียเท่าใด​ ค่างวดที่ต้องส่งต่อเดือนเทียบกับรายได้แต่ละเดือนยังไหวมั้ย​

ภาพด้านล่างคือการเอาข้อมูล​จำนวนบัญชีและจำนวนเงินที่เป็นหนี้มีปัญหามาแยกดูในแต่ละช่วงเวลาและยังแยกตามอาการว่า​ คนเจนไหนเป็นเจ้าของบัญชีที่เริ่มตั้งแต่ค้าง​ 1, 2, 3 และเกิน​ 3 งวดตามสีนะครับ​ เหลือง​ ส้ม​ แดง​ เราจะพบว่าแท่งกราฟมันยกตัวขึ้นเพราะกลุ่มสีเหลืองมันยกตัวขึ้น​ สีเหลือง คือค้างชำระ​ 31-60 วันครับ​ และมันยกตรงกลุ่มเจน​ Y​ ค่อนข้างชัด

มันจึงไม่แปลกที่จะมีข่าวออกมาว่า​ สินเชื่อรถยนต์​ปล่อยกู้ยาก​ คนได้รับสินเชื่อยาก​ ปฎิเส​ธสินเชื่อเยอะ​ จนกระทบกับคนที่ขายรถยนต์​ เพราะบ้านเรามันกู้เงินมาซื้อกันมากกว่าซื้อสด​

ในอนาคตเราคงจะได้เห็น​ หนี้เสียจากรถยนต์​ที่รักโลก​ รักสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแน่ๆ​ จองๆ กันเยอะ​ ยังไงก็ช่วยวางแผนผ่อนจ่ายให้ดีด้วยนะครับ​ อย่าคิดแค่เอาส่วนที่ประหยัดค่าน้ำมันมาจ่ายค่างวดนะครับ... คิดเยอะ ๆ นะครับ

ข้อมูล​จากการบรรยายให้กับสมาชิกเครดิตบูโร​ให้ทราบ​ ให้ระวังการพิจารณา​ ให้เป็นข้อมู​ลในการบริหารและจัดการความเสี่ยง​

 

'ดร.สุวินัย' ชี้!! สาเหตุก๊วนทัวร์รุม 'เพจดัง' เตือนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักออม เพราะไปทิ่มแทงอีโก้คนรุ่นใหม่ 'หนี้ท่วมหัว-คำเตือนผู้ใหญ่ดันเป็นจริง'

(8 ก.ย.66) ดร.สุวินัย ภรณวลัย ประธานยุทธศาสตร์วิชาการ สถาบันทิศทางไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'Suvinai Pornavalai' ว่า...

คนรุ่นใหม่ไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา

ว่ากันว่าปฏิกิริยาแรกของคนส่วนใหญ่ที่ได้รับฟังจากปากของหมอว่าตัวเองเป็น "มะเร็งระยะสุดท้าย" ... คือการปฏิเสธยอมรับความจริง!!

ครั้นพอผ่านไปไม่นาน เมื่อเจ้าตัวทำใจได้แล้วในที่สุดก็จำใจยอมรับความจริงได้...การรักษาที่แท้จริงเริ่มต้นจากจุดนี้ คือเริ่มตั้งแต่เจ้าตัวยอมรับความจริง

รายการ ‘ถามอีก กับอิก’ ของคุณอิก บรรพต ธนาเพิ่มสุข เป็นรายการเกี่ยวกับเศรษฐกิจ-การเงินที่น่าติดตามในยุคนี้

วันนี้ผมได้ทราบข่าวว่า ทวิตเตอร์ส่วนตัวของคุณอิกโดนทัวร์ลงอย่างหนัก จนถึงขั้นคุณอิกต้องปิดทวิตเตอร์ส่วนตัวของเขาอย่างถาวร เพราะคุณอิกดันไปแนะนำให้คนรุ่นใหม่เริ่มเก็บออมเงิน อย่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย และเริ่มลงทุนตั้งแต่เริ่มทำงาน

‘ความจริง’ ที่อยู่เบื้องหลังการโดนทัวร์ลงอย่างหนักของคุณอิกคืออะไร?

‘ความจริง’ นั้นก็คือ คนรุ่นใหม่มีหนี้ท่วมหัว และครัวเรือนไทยมีหนี้ท่วมหัว

ในช่วงที่ผ่านมาเราพบว่า...

- ปี 2563 คนไทยเป็นหนี้ 33%

- ปี 2564 คนไทยเป็นหนี้ 36%

- ปี 2565 คนไทยเป็นหนี้ 37%

จะเห็นได้ว่า สัดส่วนคนที่มีหนี้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี

ทำให้ตอนนี้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 58% เป็น 90% ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา

เมื่อเข้าไปดูเนื้อในหรือประเภทของหนี้ ว่าหนี้ประเภทไหนที่มีสัดส่วนมากที่สุด เราพบว่า หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อรายได้ (ไม่รวมหนี้ซื้อบ้านซื้อรถ) มีมากสุดถึง 27%

มิหนำซ้ำ ‘หนี้เสีย’ ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน

โดยล่าสุดหนี้ครัวเรือนไทย 15,960,000 ล้านบาท เป็นหนี้เสียถึง 950,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีหนี้ที่มีความเสี่ยงว่าจะเป็นหนี้เสียอีก 600,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากกลางปี 2565 ที่อยู่ที่ 380,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 57% ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึงปี

โดยหนี้เสียส่วนใหญ่ คือ หนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล และหนี้รถยนต์ รวมไปถึงรถมอเตอร์ไซค์

โดยเฉพาะหนี้เสียรถยนต์ ที่มีโปรโมชันต่าง ๆ มากมาย ทำให้ปีที่ผ่านมามีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากต้นปี 2565 ที่ 1.47% จนล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 2.05%

อ่วม!! เปิดยอด 'หนี้เสีย' จากบัตรเครดิตของคนไทย ไตรมาส 1  พบมูลค่าแตะ 6.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มจากปีที่แล้ว +14.6%

(8 ก.ค.67) จากเพจ 'ทันโลกกับ Trader KP' ได้เปิดสถิติน่าห่วงของคนไทย หลังพบว่า การเพิ่มยอดชำระขั้นต่ำได้ทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้หนี้ที่กำลังจะเสียมีเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาค่าครองชีพไทยและรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว ว่า...

1) ตั้งแต่ต้นปี 2567 การจ่ายชำระหนี้ขั้นต่ำของบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นเป็น 8% จากเดิม 5%

2) มีความกังวลว่ากฎใหม่นี้จะทำให้หนี้เสีย (NPLs) และหนี้ที่กำลังจะเสีย (SM) เพิ่มขึ้น

3) ณ มีนาคม 2567 ยอดหนี้บัตรเครดิตรวม 5.5 แสนล้านบาท เติบโต 3.2% yoy แต่หดตัว 5.1% qoq

4) ยอดหนี้บัตรเครดิตที่เป็น NPLs เกิน 90 วันอยู่ที่ 6.4 หมื่นล้านบาท เติบโต 14.6% yoy

5) หนี้ที่กำลังจะเสีย (SM) มีจำนวน 1.9 แสนบัตร คิดเป็น 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 32.4% yoy และ 20.6% qoq

อึ้ง!! ‘ไฟแนนซ์’ ยึด ‘รถบรรทุก’ สูงเป็นประวัติการณ์ แค่ที่เดียว จากหลักร้อย ทะยานสู่ 3,000 คัน

จากกรณีโลกโซเชียลกระหน่ำแชร์ภาพลานจอดรถที่มีรถถูกไฟแนนซ์ยึดเต็มลาน สะท้อนให้เห็นถึงสภาพเศรษฐกิจครัวเรือนในห้วงปัจจุบันอย่างชัดเจน 

ล่าสุด (12 ก.ค. 67) นายสิทธิศักดิ์ มหาสิทธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ด้านการตลาด บจก.สยามอินเตอร์การประมูล เปิดเผยในรายการ ‘เรื่องเด่นเย็นนี้’ ว่า จากการที่ปรึกษาพี่ ๆ น้อง ๆ วงการไฟแนนซ์รถมือสองทั้งหมด เราก็มองว่าปีที่แล้วว่าหนักแล้ว ปีนี้หนักกว่า ปีหน้าอาจจะทรง ๆ ตนว่าจากนี้ไปอีกประมาณ 3-4 ปี ถึงจะเริ่มกลับมาดีขึ้น อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานภาครัฐด้วยว่าจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร เพราะว่าหนี้เสียเยอะมากเลย การที่ปีนี้มีรถทะลักเข้ามาเยอะ หนี้เสียเยอะตามที่เราเห็น คนเดือดร้อนเยอะ กิจการปิดตัวเยอะ เพราะว่าโครงการช่วยเหลือคนตอนโควิด (พักหนี้) ได้หมดโครงการไปเมื่อปีที่แล้ว มันก็เลยมาบวม ณ ปีนี้

นอกจากนี้ยังพบว่า ปีที่แล้วมีรถถูกยึดราว 350,000 คัน และปีนี้ก็คาดจะอยู่ที่ 300,000 คัน จากสถานการณ์ปกติ จะอยู่ที่ 200,000-250,000 คันต่อปี เรียกว่าเพิ่มขึ้น 30-40% เลยทีเดียว และ 80 ถึง 90% เป็นรถที่ถูกยึดมาจากสถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถบ้าน 

และในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการยึดรถจำนวนมากเป็นประวัติการณ์จนแทบล้นลานประมูล เปิดบริษัทมา 20 ปีเพิ่งจะเคยเห็น โดยส่วนมากเป็นรถที่ถูกสถาบันทางการเงินยึด และรถที่ถูกยึดในสต๊อกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากที่กลุ่มรถบรรทุกเคยถูกยึดหลักร้อยคัน วันนี้เฉพาะที่สยามอินเตอร์การประมูลมีรถบรรทุกถูกยึดมากถึง 3,000 คัน นับว่าสูงที่สุดในประเทศไทย และคาดว่าจะมีรถถูกยึดเพิ่มอีกเรื่อย ๆ เพราะว่าเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว 

‘นายกฯ’ ขอ ‘ธปท.’ ปรับลดการจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตเหลือ 5% หลัง 'หนี้เสีย' จากยอดค้างชำระแตะล้านใบ อีก 2 แสนจ่อมาติดๆ

(15 ก.ค. 67) นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันนี้ว่า มีข้อห่วงใยจากนายกฯ ขอให้ธนาคารประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับลดอัตราการชำระคืนขั้นต่ำบัตรเครดิต (Minimum Pay) กลับมาที่ 5% หลังจากที่ตั้งแต่ปี 2567 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 8% 

ทั้งนี้เนื่องจากขณะนี้เป็นภาวะที่ประชาชนกำลังลำบากอยู่จึงอยากขอให้กลับมาอยู่ที่ 5% ส่วนเรื่องของวินัยทางการเงินให้ค่อยแก้อีกทีนึง 

ปัจจุบัน มีสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ราว 24 ล้านใบ พบว่ามีบัตรเครดิตที่มียอดค้างชำระเกิน 90 วัน หรือเป็นหนี้เสีย (NPL) ไปแล้วกว่า 1.1 ล้านใบ และมีหนี้ที่กำลังจะเสียเพิ่มอีกกว่า 2 แสนใบ ซึ่งหนี้บัตรเครดิตมีดอกเบี้ยปรับในอัตราสูง 

ซึ่งที่ผ่านมามีแนวทางในการช่วยเหลือกลุ่มหนี้บัตรเครดิตด้วยโครงการคลินิกแก้หนี้ โดย บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) ให้หยุดสร้างหนี้เพิ่มเติมและยืดเวลาในการผ่อนชำระ 

“ทั้งนี้ได้ฝากให้กระทรวงการคลังและ ธปท.ช่วยประสานกับบริษัทบัตรเครดิตรายใหญ่หลายรายให้เข้ามาร่วมโครงการอีกครั้ง เพื่อระยะยาวแล้วช่วยให้ลูกค้าฟื้นเป็นผลดีต่อบริษัทมากกว่า” 

เราไปดูกันว่าคนไทยใครเป็นหนี้ และมีหนี้อะไรบ้าง

(13 ส.ค. 67) รู้หรือไม่ว่าคนไทยกว่า 1 ใน 3 หรือกว่า 25.5 ล้านคนของคนทั้งประเทศคือคนที่มีหนี้ จากข้อมูลของเครดิตบูโรได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลแสดงให้เห็นว่าคนไทยมีหนี้ครัวเรือนรวมกันมากถึง 91% ของ GDP ซึ่งเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วเเละประชากรมีรายได้ต่อหัวที่สูงอย่างเนเธอร์แลนด์เลยทีเดียว และหนี้กว่า 67% นั้นเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และที่แย่ไปกว่านั่นคือ 23% เป็นหนี้เสีย

โดยสาเหตุหลักๆของปัญหาหนี้สินคนไทยประกอบไปด้วย 

-การเป็นหนี้เร็ว โดย 1 ใน 2 คนของคนที่เริ่มทำงานมีหนี้
-การเป็นหนี้เกินตัว โดย 40% ของลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลและบัครเครดิต จ่ายขั้นต่ำ ทำให้หนี้ยิ่งพอกพูน
-การเป็นหนี้เพราะเหตุจำเป็น กว่า 50% ของคนไทยไม่มีเงินสำรองไว้ในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน
-การเป็นหนี้นาน กว่า 25.7% ของคนที่เกษียณแล้วแต่ยังใช้หนี้ไม่หมด 
-การเป็นหนี้นอกระบบ ที่ผ่านมามีคนมาลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบของกระทรวงมหาดไทยมากถึง 1.46 แสนราย คิดเป็นเงินกว่า10,475 ล้านบาท

และถ้าถามว่าเราควรกังวลกับเรื่องนี้ได้หรือยัง? คำตอบคือใช่ค่ะ เพราะจากงานวิจัยของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements: BIS) ชี้ให้เห็นว่า หนี้ครัวเรือนที่สูงเกิน 80% ต่อ GDP มีแนวโน้มจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวลดลง และทุกๆ หนี้ที่เพิ่มขึ่น 1% จะส่งผลให้ GDP ลดลงมากถึง 0.1% อีกทั้งไทยเองยังมีปัญหาที่รออยู่ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำจากปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งสังคมผู้สูงอายุ คุณภาพแรงงานและคุณภาพและการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวต่อหัวที่ลดลง นี่จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการการแก้ไขเพื่อให้เศรษฐกิจของเราสามารถไปต่อและโตเท่าเทียมประเทศอื่นๆ ได้ค่ะ  


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top