Sunday, 20 April 2025
หนี้ครัวเรือนไทย

'กรณ์' แนะ!! แนวทางบรรเทาหนี้ครัวเรือนไทย หลังพุ่งแตะอันดับ 9 ของโลก ชี้!! ส่วนใหญ่ยืมมาเพื่อใช้จ่าย ไม่ใช่ลงทุนในสินทรัพย์ที่เพิ่มมูลค่า

เมื่อวานนี้ (4 ก.ย. 67) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'วิกฤตเศรษฐกิจไทยในวันที่ต้องรอด' ในงานประชุมใหญ่สมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมวันธาราเวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีสมาชิกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จากทั่วประเทศเข้าร่วม

โดยนายกรณ์ได้กล่าวถึงหนี้รัฐบาลว่ายังถือเป็นเรื่องที่น่าจะแบกรับได้ เมื่อเทียบกับภาระการชดใช้ดอกเบี้ยและเงินต้นของรัฐบาล ที่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาของรัฐบาลคือการที่หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554-2556 พบว่า หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 50 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในระยะเพียง 5 ปี ถือว่าเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับเกือบทุกประเทศในโลก

ขณะที่ในวันนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ประมาณ 86.9 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งติดอยู่ในกลุ่มหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในโลก หรือติดอยู่ในลำดับที่ 9 ใน 10 ของโลก และที่น่าแปลกใจคือ ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด คือ สวิตเซอร์แลนด์ ที่เคยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยและไม่คิดว่าประชากรของประเทศนี้จะกู้หนี้ยืมสินมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ 128.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

“แต่เหตุใดคนสวิสจึงไม่เดือดร้อนในเรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือน นั่นก็เพราะ 99 เปอร์เซ็นต์ของหนี้สินคนสวิสคือ หนี้ซื้อบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ประเทศไทย หนี้ภาคครัวเรือนเป็นหนี้ที่ยืมมาเพื่อใช้จ่าย อีกทั้งรายได้ของประเทศไทยยังน้อย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กำลังซื้อของคนไทยหายไป”

นายกรณ์ ยังเผยอีกว่า ที่ผ่านมาตนได้เคยฝากความเห็นไปยังรัฐบาล ‘เศรษฐา’ เกี่ยวกับเรื่องที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาเรื่องหนี้ว่าปัญหาหนี้ต้องแก้ด้วยเงิน และกระทรวงที่มีเงินคือ กระทรวงการคลัง ที่มีธนาคารของรัฐอยู่ในมือจึงเหมาะจะเป็นเจ้าภาพ ทั้งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.

แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องหนี้จะแก้ได้โดยง่าย เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมานาน และที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาหนี้ไม่ใช่การพักหนี้หรือยกหนี้ให้ แต่เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกหนี้ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นเราจะสามารถแบกรับภาระหนี้เหล่านี้ได้

“หาก GDP โตสัดส่วนหนี้ต่อ GDP จะค่อยๆ ลดลงไปเอง วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือทำให้ GDP โต ฉะนั้นประเด็นคือเราจะทำให้เศรษฐกิจของเราโตขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะต้องรอดูและให้เวลาต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร เช่น การมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ต่อหรือไม่ หรือจะหันไปสนใจในเรื่องแลนด์บริดจ์ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้โดยตรง”

ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเมื่อ 40 ปีก่อนคือการที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เนื่องจากญี่ปุ่นมีปัญหาด้านการค้ากับอเมริกา ขณะที่เงินเยนแข็งค่าเกินไปจึงต้องการส่งออกสินค้ากับประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับสหรัฐฯ ที่ไม่ได้มีการปรับในระดับเดียวกับญี่ปุ่น

ซึ่งเงินบาทของไทยในขณะนั้นยังผูกอยู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงตรงกับความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการก่อสร้างทางอุตสาหกรรม จึงมีแรงงานที่เป็นปัจจัยในทางบวกกับประเทศไทยอย่างมาก

แต่ในวันนี้การลงทุนจากต่างประเทศของไทยลดลงเหลือแค่เพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น EEC จึงมีความสำคัญในการดึงการลงทุนให้ไหลกลับคืนเข้ามา

'ผลสำรวจ' ชี้!! หนี้ครัวเรือนไทยปี 67 ทะลุ 6 แสน/ครัวเรือน สูงสุดในรอบ 16 ปี ส่วนใหญ่ก่อหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น 'ลงทุน ประกอบอาชีพ-บ้าน-รถ'

(11 ก.ย. 67) นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจจากทั่วประเทศ จำนวน 1,300 ตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1-7 กันยายน 2567 พบว่า คนไทยมีหนี้เฉลี่ย 606,378 บาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.4% เพิ่มขึ้น 47,000 บาท

เมื่อเทียบจากปี 66 และ สูงสุดในรอบ 16 ปีตั้งแต่ทำการสำรวจในปี 52 ที่มีหนี้สินครัวเรือนเฉลี่ยต่อครัวเรือนที่ 143,476.32 บาท ส่วนการผ่อนชำระต่อเดือนปี 67 อยู่ที่ 18,787.38 บาท เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่อยู่ 16,742 บาท 

และสูงสุดเป็นอันดับ 7 ของโลก คิดเป็น 90.4-90.8% ของจีดีพีประเทศ โดยมีอัตราภาระการผ่อนชำระ18,787บาท/เดือน

โดยสาเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และ รายรับไม่พอกับรายจ่าย ประกอบกับ ปัจจุบันคนกู้หนี้นอกระบบมากกว่าในระบบมากขึ้น และจากผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าส่วนใหญ่ กู้เพื่อนำไปลงทุน ประกอบอาชีพ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ซื้อสินทรัพย์คงทนอาทิ บ้าน และรถ ซึ่งเป็นหนี้ที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นส่งผลทางจิตวิทยา ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากต่างชาติ

"ปัญหาหนี้ครัวเรือนก่อนปี 2556 คนอื่นไม่ถึง 80% ต่อจีดีพี เรามีปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2557 อัตราการขยายตัว หรือ จีดีพีติดลบ ผ่านมา 11 ปี ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังไม่ถูกการแก้ไขให้ต่ำกว่า 80% ต่อจีดีพี"

อยากให้ภาครัฐชำแหละหนี้ให้ชัดเจน ยกตัวอย่าง ทางธกส. มีข้อมูลหนี้เกษตรกร ทางออมสิน มีข้อมูลหนี้ธนาคารประชาชน ทางธอส. มีข้อมูลหนี้บ้าน ถ้าทำได้เราจะหาวิธีแก้ที่ตรงจุด

อย่างไรก็ดี คาดว่าหากสามารถจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ตล็อตแรก 1.4 แสนล้านบาท ให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ภายใน 20 ก.ย. นี้ จะทำให้มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 2 รอบ ทำให้จีดีพีไตรมาส 4 โต 3.5-4% ผลักให้จีดีพีโตเพิ่มได้ 0.2-0.4 % และทำให้จีดีพีทั้งปีนี้ โตเพิ่มจาก 2.5% เป็น 2.8% ได้ เพราะมั่นใจว่ากลุ่มนี้จะมีการใช้จ่ายทันที

นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากการเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบันพบว่า จากกลุ่มตัวอย่างรายได้ต่อเดือนของครัวเรือน มีรายได้ 5,000-15,000 บาท 3% มีรายได้ 15,001-30,000 บาท 15.2% มีรายได้ 30,001-50,000 บาท 18% มีรายได้ 50,001-100,000 บาท 34.7% มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทขึ้นไป 29.1%

ทั้งนี้ การเก็บออมเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินในปัจจุบัน พบว่า ไม่เคยเก็บออม 48.1% มีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 6 เดือนขึ้นไป 22.6% มีเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน 16% มีแต่น้อยกว่าค่าใช้จ่าย 3 เดือน 13.3% ขณะที่การเก็บออมเทียบกับปีก่อน ลดลง 46.8% 

สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือน โดยสัดส่วนค่าใช้จ่ายของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) 23.2% ค่าเดินทาง / ยานพาหนะ 10.2% ค่าที่อยู่อาศัย / เครื่องใช้ / เครื่องเรือน 8.7% ยาสูบ / เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 8.2% ของใช้ส่วนตัว 8.1% ค่าใช้ด้านการท่องเที่ยว 7.9% เวชภัณฑ์และค่ารักษาพยาบาล 7.1% ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา 7% ค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร 6.8% กิจกรรมศาสนา 6.8% และการบันเทิง จัดงานพิธี จัดเลี้ยง 6% 

หากเปรียบเทียบรายได้และค่าใช้จ่ายของครัวเรือนในปัจจุบัน พบว่า รายได้ครัวเรือนน้อยกว่ารายจ่าย 46.3% รายได้ของครัวเรือนเท่ากับรายจ่าย 35% รายได้ครัวเรือนมากกว่ารายจ่าย 18.7%  

การแก้ไขปัญหากรณีที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างเลือกวิธีการแก้ไขปัญหาโดยการกู้ยืมจากแหล่งต่าง ๆ 55% มากจากการกดเงินสดจากบัตรเครดิต 24.8% กู้จากธนาคารพาณิชย์ 23.7% กู้ธนาคารเฉพาะกิจ 21.2% จำนำทรัพย์ที่มี 7.9% กู้เงินสหกรณ์ 7.6% เป็นต้น

โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาคนส่วนมาก 71.1% เคยผิดนัดชำระหนี้ และ 28.4 % ไม่เคย ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ผิดนัดชำระหนี้มากที่สุดคือ เศรษฐกิจไม่ดี รองลงมาคือรายได้ลดลง สภาพคล่องธุรกิจลดลง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเป็นต้น


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top