Saturday, 29 June 2024
หนังสือเรียน

‘วิโรจน์’ ซัด!! หนังสือเรียน ชั้น ป.5 สอนรับสภาพอดอยาก ลั่น!! เด็กต้องการ ‘อาชีพ-อาหาร’ เลิกผลาญเงินซื้อ ‘อาวุธ’

‘วิโรจน์’ อัดยับแบบเรียนป.5 สอนเด็กยอมจำนน ยอมรับชีวิต กินข้าวเปล่าคลุกน้ำปลา
.
(21 เม.ย.66) นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อดีตกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์ข้อเขียน เรื่อง [ เราควรปล่อยให้เด็กไทยยอมรับสภาพ การกินข้าวเปล่าคลุกน้ำปลา จริงๆ หรือ? ] โดยมีเนื้อหาดังนี้
.
มีคนส่งเนื้อหาในหนังสือเล่มหนึ่งมาให้ผมอ่าน น่าจะเป็นหนังสือที่ชื่อว่า “ชีวิตมีค่า ภาษาพาที ชั้น ป.5 บทที่ 9” ผมอ่านแล้วผมรู้สึกไม่เห็นด้วยอย่างมาก เพราะลำพังการปล่อยให้เด็กกินข้าวกับผัดผักบุ้งและไข่ต้มหนึ่งซีก โภชนาการเพียงเท่านี้ ก็ไม่เพียงพอต่อการเสริมสร้างพัฒนาการให้กับเด็กๆ อยู่แล้ว
.
แต่หนังสือเล่มนี้ ยังคงมีเนื้อหา สอนให้เด็กยอมจำนนต่อโชคชะตา ยอมรับสภาพกับการกินเข้าเปล่าราดน้ำปลา หรือข้าวเปล่าคลุกกับน้ำผัดผักบุ้ง
.
เข้าใจหรือยังครับว่า ทำไมหลายสิบปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยแล้ว ผลการประเมินประสิทธิภาพในการเรียนรู้ในระดับสากลของเด็กไทย ไม่ว่าจะเป็น PISA หรือ TIMSS จึงมีแนวโน้มลดต่ำลงเรื่อยๆ
.
ประเทศไทยควรลดงบประมาณในการจัดซื้ออาวุธที่ไม่จำเป็น และแพงเกินจริง นำมาจัดสรรเป็นสวัสดิการให้กับเด็กๆ พร้อมกับปรับปรุงโรงเรียน ทั้งหลักสูตรที่ยืดหยุ่นคืนเวลาให้กับครูและนักเรียน ลดการสอบ ลดการบ้าน ปลดภาระงานธุรการเพื่อคืนครูสู่ห้องเรียน เพิ่มงบประมาณอาหารกลางวัน มีสวัสดิการรถโรงเรียน มีการปรับปรุงความปลอดภัยภายในโรงเรียน มีอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ครบครัน ยกเลิกอำนาจนิยมภายในโรงเรียน ฯลฯ
.
งบประมาณของกระทรวงกลาโหมที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จากปี 2547 ที่ 78,000 ล้านบาท จนปัจจุบันแตะระดับ 2 แสนล้านบาทต่อปี ประชาชนตอบไม่ได้เลยว่า ประชาชนได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างไร เด็กๆ ที่เป็นอนาคตของชาติ ได้รับการดูแลเอาใจใส่จากรัฐบาลเพิ่มขึ้นในแง่ไหนบ้าง
.
ประชาชนต้องการ “อาชีพ” ต้องการ “อาหาร” เลิกผลาญซื้อ “อาวุธ” ได้แล้วครับ”


ที่มา : https://www.matichon.co.th/politics/news_3936914

‘นักเขียนดัง’ รีวิว หนังสือเรียน ‘ภาษาพาที’ ทั้ง 6 ระดับชั้น เผย เล่มของชั้น ป.5-6 เนื้อหาสุดบ้ง!! ยัดเยียดทัศนคติล้าหลัง

(26 เม.ย. 66) หลังประเด็นดรามาถูกตั้งคำถามในเรื่องเนื้อหาของหนังสือภาษาพาที ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน

ล่าสุด น.ส.พนิตชนก ดำเนินธรรม หรือ ‘นิดนก’ นักเขียน และ โฮสต์พอดแคสต์ ‘The Rookie Mom’ โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว รีวิวการอ่านหนังสือภาษาพาที โดยระบุว่า…

ได้อ่านหนังสือชุดนี้ครบทั้ง 6 เล่ม 6 ระดับชั้นแล้วเป็นที่เรียบร้อย คิดว่าพยายามอ่านอย่างมี Empathy (ความเข้าอกเข้าใจ) มากแล้ว คือพยายามไม่ตั้งธงในใจ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานความเอ๊ะที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดการอ่านได้ คิดว่าการอ่านในตอนที่โตแล้ว เราก็มีภูมิต้านทานประมาณนึง จริงๆ ก็อยากไปนั่งอ่าน หรือไปนั่งดูเด็กๆ อ่านเหมือนกัน ว่าพวกเขาคิดเห็นยังไง รีแอ็คชันเป็นยังไงน่ะนะ

ขอว่าไปเป็นข้อๆ
– เล่ม ป.1 ยังไม่มีอะไรให้ลุ้นมาก เพราะยังเป็นคำโดด เน้นหัดอ่าน ผ่านเรื่องราวของตัวละคร ใบโบก ใบบัว ช้างสองตัวเพื่อนรักของเด็กๆ

– พอขึ้น ป.2 เป็นต้นไป เนื้อหาจะเริ่มยาวขึ้นตามความเหมาะสมของช่วงวัย มีส่วนนึงที่ชอบ คือเห็นความตั้งใจที่จะส่งตัวละครใบโบก ใบบัว ออกจากหนังสือไป ช้างสองตัวนี้เป็นเหมือนตัวแทนความเป็นเด็ก ที่ปรากฏมาตอน ป.1 วัยเริ่มเรียนเขียนอ่าน อ่านออกครั้งแรกก็ได้รู้จักกับเพื่อนสองตัวนี้ ทีนี้พอขึ้น ป.2 หนังสือไม่ตัดฉับ แต่ยังเลี้ยงใบโบกใบบัวเอาไว้ถึงประมาณเทอมหนึ่ง ซึ่งก็เป็นช่วงสิ้นสุดปฐมวัยพอดี มีการปูเรื่องมาให้เห็นเหตุผล ก่อนที่เด็กๆ จะต้องอำลาเพื่อนช้าง และเนื้อเรื่องหลังจากนั้นก็จะเป็นชีวิตของเด็กๆ กับการใช้ชีวิตในสังคมนี้

– ซึ่งความชิบหายวายป่วงก็คือเริ่มต้นหลังจากช้างไปแล้วนั่นแหละ 5555555 สามารถหาจุดเอ๊ะได้ตั้งแต่เล่ม ป.2 เลย

– พีกหนักมากๆ จะอยู่ที่เล่ม ป.5-6 เข้าใจว่าเป็นเพราะมันคือวัยที่อ่านคล่องแล้ว คนเขียนก็เลยมันมือ เขียนเรื่องราวประโลมโลก ยัดเยียดทัศนคติล้าหลังเข้าไปให้อ่านกันด้วยสำนวนนิยายสมัยก่อนสงครามโลก อินสะไปร์บาย ทมยันตี กฤษณา อโศกสิน แต่ฝีมือไม่ถึงเท่า ดังนั้นเราจึงได้เห็นคอนเทนท์บ้งทั้งหลาย ส่วนใหญ่จะมาจากสองเล่มนี้แหละ แต่จริงๆ เล่มอื่นก็มีเยอะเหมือนกัน

– ที่น่าแปลกใจสำหรับเราคือเล่ม ป.4 ไม่แน่ใจว่าเป็นฉบับปรับปรุง หรือว่าแยกทีมงานคนละชุด หรืออย่างไรไม่ทราบได้ แต่ถือว่าเป็นเล่มที่มีจุดชวนอึดอัดน้อยที่สุดจากทั้งหมด คือเขียนเรื่องราวมาด้วยความตั้งใจที่ต่างจากเล่มอื่นชัดเจนเลยนะ เห็นถึงความพยายามนำเสนอเรื่องราวร่วมสมัยชวนให้พูดคุยต่อ

เช่น มีบทหนึ่งเขียนเรื่องเพื่อนร่วมห้องที่เป็นเด็กพิเศษ ด้วยน้ำเสียงที่สำหรับเราคิดว่าโอเคมากๆ เลยนะถ้าคิดว่ามันคือ ‘ตำราไทย’ เล่มนี้จะแตะไปยังเรื่องรอบตัวรอบโลก เล่าด้วยทัศนคติที่ค่อนข้างไม่ตัดสิน สั่งสอนในระดับกำลังดี ความยาวและยากของเนื้อหาดูเหมือนจะยากกว่าป.6 อีกนะ 555 เลยค่อนข้างมั่นใจว่าเป็นทีมงานคนละชุดกันแน่ๆ

– ซึ่งพอได้อ่านเล่ม ป.4 เลยทำให้คิดว่า เอาจริงๆ มันมีความเป็นไปได้อยู่ที่จะทำให้มันดี คือป.4 ก็ยังไม่ใช่หนังสือที่ดีที่เราอยากให้ลูกเรียนหรอกนะ แต่มันดีที่สุดในซีรีส์นี้ และสัมผัสได้ถึงความพยายามออกจากกรอบบางอย่าง คิดว่าถ้าได้คุยกับคนทำงานเล่มนี้น่าจะดี

– ตัดมาที่ ป.5-6 เละเทะไม่มีชิ้นดี คือสองชั้นนี้เด็กเข้าสู่วัยรุ่นแล้วเนาะ เค้าเริ่มจะไม่อยากฟังผู้ใหญ่สอนแล้ว แต่หนังสือสอนมาก สอนจนอึดอัด ไม่มีความเป็นเพื่อนที่อยากจะนั่งลงคุยกับเขาเลย ในทางภาษา ชั้นพี่ใหญ่ของระดับประถมนี่เขาคล่องแคล่วทางภาษามากแล้ว แต่หนังสือไม่มีความรุ่มรวยทางภาษาให้เขาเลย มันจืดชืดและอยู่ในกรอบ ไม่มีการทดลอง กลอนก็ไม่เพราะ ไม่ใส่ใจกับพวกสัมผัสในหรือการเล่นคำฉวัดเฉวียน ที่เราว่ามันสำคัญมาก ข้อเขียน บทกวีดีๆ มันจะส่งพลังให้เด็ก โดยเฉพาะกับคนที่เขาชอบภาษา จำได้ว่าตอนเด็กๆ สิ่งที่เราได้อ่านมันท้าทายเรามากกว่านี้ และทำให้อยากสู้ อยากรู้ต่อ จนทำให้ภาษาไทยเป็นวิชาที่ชอบเรียนมากที่สุด

– มีคนถามถึงคนเขียน ซึ่งในเล่มจะไม่ปรากฏ มีแค่ชื่อคณะกรรมการจัดทำยาวเหยียด จากการอ่านแล้วทั้งหมด พอจะจินตนาการคนเขียนได้ว่า เป็นคนอายุมากแล้วที่ชอบอ่านนิยายไทยประโลมโลก จึงได้เก็บเอาชุดคำและสำบัดสำนวนเชือดเฉือนยุคหลังสงครามโลกมาไว้ได้ครบถ้วน และเชื่อเอาแล้วว่าชุดภาษาในยุคนั้นนั่นล่ะคือตัวแทนความเป็นไทย ที่ควรบรรจุไว้ในตำราเรียน เมื่อได้รับโอกาสให้เขียน จึงลงมือตั้งใจเขียนจากประสบการณ์ จากคลังคำที่ตนมีอย่างเต็มที่ ทำงานอย่างคุ้มภาษีประชาชน

– แต่สำหรับการจัดทำตำราอันเป็นมาตรฐานที่จะส่งไปให้เด็กในประเทศไม่ว่ายากดีมีจนได้เรียน ลำพังมีแค่ความตั้งใจอาจจะไม่พอ ต้องทำงานหนักกว่านั้นมาก ต้องทำงานเป็นทีมให้มาก ทีมที่ว่าต้องไม่ใช่พวกเดียวกันเองด้วย แต่ต้องคัดสรรทีมทำงานที่มีความคิดหลากหลายมาช่วยกันเสนอช่วยกันค้าน ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญหลายด้านมาช่วยรับรองเนื้อหา มิใช่ปล่อยให้อยู่ในมือนักเขียน ที่เราเองก็อาจจะไม่ได้รู้รอบ แถมยังทำการบ้านมาน้อย และอีโก้สูงเสียอีก

– Narrative (เรื่องเล่า-การบรรยาย) ส่วนใหญ่จะเป็นการเล่าจากมุมมองของเด็ก ที่จะตรงกับช่วงวัยในตำราแต่ละระดับชั้น แต่ปัญหาของการใช้วิธีแบบนี้คือ มันเขียนมาแล้วไม่เด็กจริง เป็นเด็กที่ใช้สำนวนภาษาโคตรโบราณ ถ้านึกไม่ออกว่าประมาณไหน ให้ไปอ่านเพจนักเรียนดี เป็นอะไรทำนองนั้นแหละ หรือว่าจริงๆ แล้วคนเขียนตำราเล่มนี้ที่ทุกคนกำลังตามหา อาจจะเป็นคนเดียวกับแอดมินเพจนักเรียนดีก็เป็นไปได้

– อีกปัญหาของวิธีการแบบนี้ นอกจากเรื่องภาษาที่มันปลอมไม่เนียนแล้ว วิธีคิดมันก็ชวนอึดอัดมาก ลองนึกถึงวรรณกรรมเยาวชนที่เด็กอ่านติดกันงอมแงม แฮร์รี พอตเตอร์, ปิ๊บปี้ถุงเท้ายาว, นิโกลา, บรรดาเด็กๆ ในงานของโรอัลด์ ดาห์ล หรือแม้กระทั่งโต๊ะโตะจัง ผู้เขียนที่แม้ไม่ใช่เด็ก เขาเล่าเรื่องผ่านมุมมองวิธีคิดแบบเด็ก ที่สำคัญคือ เข้าไปเป็นพวกเดียวกับเด็กๆ ดังนั้นมันจะไม่มีเลยที่ตัวละครเด็กลุกขึ้นมาพูดว่า “ใช่แล้ว การขโมยนั้นเป็นสิ่งไม่ควรทำ” “เรามาไม่ใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองกันเถอะ” คือมันฝืนนนนน มันเป็นคำที่ผู้ใหญ่อยากได้ยิน แต่มันไม่ใช่ธรรมชาติที่เด็กจะพูด

– มนุษย์เราโดยธรรมชาติแล้วก็จะใฝ่ไปในทางดีนั่นแหละไม่ต้องเป็นห่วง แต่มันไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้ใหญ่มั่นใจได้ว่าไอ้พวกนี้มันจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง ตามคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ผู้ใหญ่อยากให้เป็น ก็เลยยัดเยียดเอาทุกอย่าง ทุกชุดคำที่อยากบอก ใส่เข้าไปในเนื้อเรื่องกันแบบดื้อๆ ฝืนๆ ไปอย่างนั้นแหละ อยากให้ประหยัดไฟก็พูดเลยว่าประหยัดไฟสิ

– ย้อนแย้งไหม ในหนังสือตำราเรียนภาษา ที่ปลายทางเราต้องการสร้างผู้ใช้ภาษาเพื่อสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์และไม่อับจนหนทาง มีศิลปะในการใช้มันเป็นเครื่องมือรับใช้ความคิดความต้องการของตัวเอง แอดวานซ์ไปกว่านั้นคือมีชั้นเชิงในการเล่าเรื่อง สอดแทรกสารที่เราต้องการสื่อเข้าไป อย่างที่งานเขียนดีๆ หลายชิ้นเขาทำกันได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top