Saturday, 5 April 2025
สุเทพ_เทือกสุบรรณ

'ชวน' ขอบคุณ 'สุเทพ' ยันไม่คิดหวนเป็นหัวหน้าพรรคอีก ยัน!! ยังช่วยพรรคเต็มที่ พร้อมหนุน 'จุรินทร์' กอบกู้ ปชป.

(2 พ.ค.65) ที่รัฐสภา คุณชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ กปปส. เสนอให้นายชวน กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่า ตนไม่มีความคิดที่จะกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค เพียงแต่พยายามที่จะช่วย โดยส่วนตัวตนเป็นหนี้บุญคุณพรรค เพราะในฐานะเป็นนักการเมืองมาจากพื้นฐานชาวบ้านคนหนึ่ง 

"เราไม่มีพื้นฐานความมั่งมี ร่ำรวย ครอบครัวใหญ่โต แต่เรามีโอกาสได้เพราะพรรคปชป. ไม่ว่าสถานการณ์ของพรรคจะขึ้นหรือลงก็ตามไม่มีความทิ้งพรรค มีแต่จะคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะช่วยกันภายใต้การดูแลของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคปชป. ต้องยอมรับว่าตอนเลือกหัวหน้าพรรค ตนและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ช่วยทำให้นายจุรินทร์ชนะและสามารถเป็นหัวหน้าพรรคได้

"เมื่อเลือกเข้ามาแล้ว ก็พยายามช่วยประคับประคองให้เขาทำงานได้ ซึ่งเข้าใจดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีความคิดที่แตกต่างและมีการแข่งขันสูงในตอนเลือกหัวหน้าพรรค จึงทำให้ผู้ร่วมแข่งขันลาออกไปหลายท่าน ซึ่งทรัพยากรคนเหล่านั้นน่าเสียดาย แต่พรรคต้องอยู่ และประสบการณ์นี้เราก็เคยผ่านมาแล้วที่มีคนตั้งพรรคใหม่บ้างมากมาย แต่เชื่อว่าความดีงามของพรรค ความยั่งยืนยาวนาน และยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและในระบบรัฐสภา ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยึดถือเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริตเรื่องกฎหมายความยุติธรรม กฎหมายที่เข้มงวด กวดขัน ตรงไปตรงมา"

คุณชวน เผยอีกว่า "ทั้งหมด คือ สิ่งที่ทำให้พรรคอยู่รอดมาได้อย่างยาวนาน 70 กว่าปี ซึ่งไม่ง่ายนักที่พรรคการเมืองเจริญได้ยาวอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องช่วยกันประคับประคองต่อไปเพราะเข้าใจดีว่าสมัยนี้หลายท่านก็มีความรู้สึกที่ไม่พอใจหัวหน้าบ้าง หรือมีความรู้สึกเป็นห่วง วิตกกังวลในการเลือกต้งครั้งต่อไปบ้าง ก็เข้าใจดีแต่พยายามให้กำลังใจทุกคนว่าเมื่อมีปัญหาต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ อย่าซ้ำเติมให้พรรคยิ่งลำบากขึ้น ดีที่ว่าบรรดาเพื่อนๆ ส่วนใหญ่เข้าใจและมาหารือกัน

"หลายคนมาหารือว่าตนพอจะไหวไหม หากให้มารักษาการสักพักหนึ่ง ตนตอบว่า ไม่มีความคิดเรื่องนี้อยู่ในใจ แต่จะช่วยเท่าที่สามารถทำได้ ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาที่เรามี โดยทั่วไปนายจุรินทร์ก็ไม่ธรรมดา เป็นคนเก่งคนหนึ่ง อย่างน้อยที่สุดถึงแม้จะมีความคิดที่แตกต่างกันบ้างก็ตาม แต่ความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งเป็นหัวใจของพรรคปชป. ก็ยังคงยึดมั่นอยู่ แต่การทำงานอาจถูกใจบ้างหรือไม่ถูกใจบ้าง ก็พยายามให้กำลังใจแต่ก็ต้องยอมรับว่า หากมีอะไรที่สมาชิกไม่พอใจต้องพยายามทำความเข้าใจ อย่าเฉย นี่คือสิ่งที่ตนพยายามเตือน"

ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง ‘สุเทพ’ กับพวกรวม 6 คน คดีฮั้วประมูลก่อสร้างโรงพักทดเเทน 396 หลัง

วันนี้ (20 ก.ย. 65) เวลา 09.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (อม.) สนามหลวง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำ อม.22/2565 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ นายวิศณุ วิเศษสิงห์ เป็นจำเลยที่ 1-6 กรณีร่วมฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดเเทนโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ)

คดีนี้ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า ระหว่างวันที่ 9 มิ.ย. 52 - 18 เม.ย. 56 จำเลยที่ 1 และที่ 2 เปลี่ยนแปลงแนวทางจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 หลัง จากราคาภาคแยกสัญญามาเป็นการรวมจัดจ้างก่อสร้างไว้ที่ส่วนกลางสัญญาเดียว จำเลยที่ 5 เป็นผู้ชนะการประกวดราคา โดยจำเลยที่ 6 ยื่นเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคาได้เสนอ ราคาต่ำอย่างผิดปกติ จำเลยที่ 3-4 ในฐานะคณะกรรมการประกวดราคา ไม่ตรวจสอบราคาที่ผิดปกติดังกล่าว และได้นำเอกสารบัญชีแสดงปริมาณวัสดุและราคานั้นไปใช้ในการขออนุมัติจ้างและใช้ประกอบ เป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา ต่อมาจำเลยที่ 5 ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญา เป็นเหตุให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1, 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 3, 4 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา ต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 10, 12 กับลงโทษจำเลยที่ 5, 6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำผิด

ศาลฎีกาฯ พิพากษายืนยกฟ้อง 'สุเทพ-พวก 6 คน' คดีก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ 396 แห่ง

(22 ส.ค.66) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง ศาลนัดอ่านคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ คดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมพวก 6 คน ในคดีร่วมกันกระทำผิดต่อหน้าที่ราชการในการจัดจ้างโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน และโครงการก่อสร้างอาคารที่พัก หรือแฟลตตำรวจ จำนวน 396 แห่ง

สำหรับจำเลย 6 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ, พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ, พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์, บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และนายวิศณุ วิเศษสิงห์

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด ชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน แต่ต่อมา ป.ป.ช. ยื่นอุทธรณ์คดีต่อ นำไปสู่การนัดอ่านคำพิพากษาในวันนี้

ล่าสุดเมื่อ 11.30 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษายืนยกฟ้องนายสุเทพ กับพวก 6 คน

‘ศาลอุทธรณ์’ ลดโทษ ‘สุเทพ-ถาวร’ เหลือจำคุก 1 ปี ปม กปปส. นำมวลชนชัตดาวน์กรุงเทพฯ ปี 57

(27 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีกบฏ กปปส.ชุดใหญ่ สำนวนหลัก หมายเลขดำ อ.247/2561 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. กับพวกแกนนำและแนวร่วม กปปส.รวม 39 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ, ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ, กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ, อั้งยี่, ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ 

คดีนี้อัยการโจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 2556 - 1 พ.ค. 2557 ต่อเนื่องกัน นายสุเทพ จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งคณะบุคคล ชื่อ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หรือกลุ่ม กปปส. มีนายสุเทพ เป็นเลขาธิการ โดยร่วมกันมั่วสุมเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร กองกำลังแบ่งหน้าที่กันกระทำก่อความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ฐานเป็นกบฏเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ทั้งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยร่วมกันยุยง ปลุกระดมให้ประชาชนทั่วประเทศกระด้างกระเดื่องร่วมชุมนุมขับไล่ ก่อความไม่สงบเพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) ให้ออกจากตำแหน่ง รวมทั้งขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วไป เพื่อมิให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่เข้าบริหารประเทศ ให้ข้าราชการระดับสูงรายงานตัวกับกลุ่ม กปปส. จากนั้นจะแต่งตั้งคณะบุคคลเข้าบริหารประเทศเป็นรัฐบาลประชาชน เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งจะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และ ครม. โดยจะนำรายชื่อขึ้นกราบบังคมทูลเอง รวมทั้งจัดตั้งกองกำลังส่วนหนึ่งพร้อมอาวุธเข้าไปบุกยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานสำคัญต่าง ๆ หลายแห่ง เช่น ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง) เพื่อไม่ให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินได้ รวมทั้งการปิดกั้น ขัดขวางเส้นทางคมนาคมขนส่ง เป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน

นอกจากนี้ ช่วงระหว่างวันที่ 13 ม.ค. - 2 มี.ค. 2557 พวกจำเลยได้บังอาจปิดกรุงเทพมหานครด้วยการตั้งเวทีปราศรัยทั่วกรุงเทพฯ รวม 7 จุด ปิดกั้นเส้นทางการจราจร จัดตั้งกองกำลังรักษาพื้นที่ วางเครื่องกีดขวาง ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง การกระทำของพวกจำเลยล้วนไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ

‘เหตุเกิดในกรุงเทพมหานคร และอีกหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเกี่ยวพันกัน
นายสุเทพกับพวกจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธต่อสู้คดี และได้รับการประกันตัว’

ต่อมาวันที่ 24 ก.พ. 2564 ศาลอาญามีคำพิพากษาจำคุกจำเลยรายสำคัญ โดยศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ในส่วนความผิดฐานกบฏและก่อการร้าย พฤติการณ์ชุมนุมไม่มีการใช้กำลังประทุษร้ายบุคคลใด เพื่อล้มล้างการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ อำนาจบริหาร จึงไม่เป็นความผิดฐานกบฏ และก่อการร้าย เเต่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และจำเลยอื่นรวม 26 คน ศาลตัดสินจำคุกในความผิดฐานยุยงให้เกิดการหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา, ร่วมกันมั่วสุม 10 คนขึ้นไป, ร่วมกันบุกรุกสำนักงานผู้อื่นในเวลากลางคืน, ร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันกระทำการโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

ในช่วงเช้าวันนี้ นายสุเทพ อดีต เลขาธิการ กปปส.และแกนนำ กปปส.ทั้ง 37 คน ต่างทยอยเดินทางมาฟังคำพิพากษาตามนัด โดยมีมวลชนและบุคคลใกล้ชิดกว่า 100 คน เดินทางมาให้กำลังใจ

สำหรับการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันนี้ ศาลไม่ได้ให้สื่อมวลชนเข้าฟังการอ่านในช่วงเช้านี้เนื่องจากมีบุคคลจำนวนมากโดยจะมีการเเจ้งผลคำพิพากษาให้ทราบภายหลังกระบวนการอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ว่า ไม่รู้สึกกังวล ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาเป็นอย่างไรก็พร้อมน้อมรับ ตอนที่มีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งตนเองถูกสั่งจำคุก ก็ได้เข้าไปนอนเรือนจำ 2 คืนก่อนได้รับการประกันตัวออกมา หากคราวนี้ถูกสั่งจำคุกอีก ก็เตรียมเสื้อผ้า ชุดกางเกงขาสั้น มาไว้พร้อมแล้ว พร้อมยกมือไหว้ขอบคุณมวลชนที่ยังคงให้กำลังใจมาจนถึงทุกวันนี้

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว พิพากษาแก้โทษ รวมโทษจำคุก นายสุเทพ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 1 ปี ,จำคุก นายชุมพล จำเลยที่ 3 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน ,จำคุกนายพุทธิพงษ์ จำเลยที่ 4 เป็นเวลา 1 ปี ,จำคุกนายอิสสระ จำเลยที่ 5 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน ,จำคุกนายถาวร จำเลยที่ 7 เป็นเวลา 1 ปี ,จำคุกนายณัฎฐพล จำเลยที่ 8 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน ,จำคุกนายสมศักดิ์ จำเลยที่ 15 เป็นเวลา 1 ปี ,จำคุกนายสุวิทย์ จำเลยที่ 16 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน ,จำคุกเรือตรีแซมดิน จำเลยที่ 24 เป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน,จำคุกนายคมสัน จำเลยที่ 26 เป็นเวลา 1 ปี ,จำคุกนายสาวิทย์ จำเลยที่ 29 เป็นเวลา 1 ปี ,จำคุกนายสำราญ จำเลยที่ 33 เป็นเวลา 8 เดือน, จำคุกนายอมร จำเลยที่ 34 เป็นเวลา 1 ปี ,จำคุกนายกิตติชัย จำเลยที่ 37 เป็นเวลา 1 ปี ,จำคุกน.ส.อัญชะลี จำเลยที่ 10 เป็นเวลา 1 ปี ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา ,จำคุกนายถนอม จำเลยที่ 14 เป็นเวลา 1 ปี ปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา,จำคุกนายสาธิต จำเลยที่ 17 เป็นเวลา 1 ปี โทษจำคุกให้รอลงอาญา ปรับ 8,000 บาท ,จำคุกนางทยา จำเลยที่ 38 เป็นเวลา 8 เดือน ปรับ13,333 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา (รวมไม่รอลงอาญา 14 คน รอลงอาญา 4 คน) ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 19 คนให้ยกฟ้อง

ภายหลังคำพิพากษา นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เผยว่าวันนี้ศาลอุทธรณ์อ่านคำพิพากษามีรายละเอียดค่อนข้างมากเเต่เท่าที่จดมาทันคือศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในข้อหากบฏเเละก่อการร้ายพิพากษาลดโทษจำคุก นายสุเทพกับพวก ที่เดิมโดนตั้งเเต่ 4 -9ปีกว่าก็ลดกันมาเหลือคนละ 1 ปี -1ปีเศษ เเบบนายสุเทพกับนายถาวร เสนเนียม เหลือคนละ 1 ปี เเต่ไม่รอลงอาญา เหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ลดโทษเนื่องจากมองว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวเหตุต่อเนื่องกัน ต่างจากศาลชั้นต้นที่มองเป็นการกระทำหลายกรรมโทษเลยสูง โดยที่พิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญาทั้งหมด 14 คน ส่วนรายอื่นก็มีพิพากษาเเก้ยกฟ้อง เเละมีเพิ่มโทษ จำเลยที่ไม่รอลงอาญาขณะนี้อยู่ระหว่างยื่นประกันในชั้นฎีกา ซึ่งคาดว่าศาลจะมีคำสั่งได้ในวันนี้เลยเรื่องจากศาลชั้นต้นสามารถสั่งเองได้เเต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจว่าจะส่งศาลฎีกาหรือไม่ หลักทรัพย์เดิมเราเตรียมไว้พร้อมเเล้ว

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้งหมดในคดี กปปส.ชุดใหญ่ในวันนี้ 39 รายประกอบด้วย

1.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ
2.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย
3.นายชุมพล จุลใส
4.นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์
5.นายอิสสระ สมชัย
6.นายวิทยา แก้วภราดัย
7.นายถาวร เสนเนียม
8.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ
9.นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์
10.น.ส.อัญชะลี ไพรีรัก
11.พลเอกปรีชา เอี่ยมสุพรรณ
12.นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
13.นายยศศักดิ์ โกไศยกานนท์
14.นายถนอม อ่อนเกตุพล
15.นายสมศักดิ์ โกศัยสุข
16.พระพุทธะอิสระ หรือนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ
17.นายสาธิต เซกัล
18.นางสาวรังสิมา รอดรัศมี
19.พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี
20.พลเรือเอกชัย สุวรรณภาพ
21.นายแก้วสรร อติโพธิ
22.นายไพบูลย์ นิติตะวัน
23.นายถวิล เปลี่ยนศรี
24.เรือตรีแซมดิน เลิศบุศย์
25.นายมั่นแม่น กะการดี
26.นายคมสัน ทองศิริ
27.พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์
28.นายนายพิภพ ธงไชย
29.นายสาวิทย์ แก้วหวาน
30.นายสุริยะใส กตะศิลา
31.นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด
32.พ.ต.ท.ภัทรพงศ์ สุปิยะพาณิชย์
33.นายสำราญ รอดเพชร
34.อมร อมรรัตนานนท์
35.นายพิเชษฐ พัฒนโชติ
36.นายสมบูรณ์ ทองบุราณ 3
37.นายกิตติชัย ใสสะอาด
38.นางทยา ทีปสุวรรณ
39.นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top