Friday, 3 May 2024
สุริยะจึงรุ่งเรืองกิจ

รมว.อุตสาหกรรม เผย 8 เดือน ดัชนีเอ็มพีไอพุ่ง 7.13% หลังได้ปัจจัยบวกจากการคลายล็อก - ส่งออกขยายตัว - ภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนในโรงงาน ช่วยดันเศรษฐกิจไทย

29 ก.ย. 2564 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาคผลิตอุตสาหกรรมว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) 8 เดือนแรก ปี 2564 (ม.ค.-ส.ค.) ขยายตัวเฉลี่ย 7.13% จากทิศทางของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6

ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย การเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากภาครัฐ มาตรการควบคุมพื้นที่เฉพาะหรือบับเบิลแอนด์ซีล และโครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงานอุตสาหกรรมหรือแฟคทอรี่แซนด์บอกซ์ ส่งผลให้เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสศอ. กล่าวว่า เอ็มพีไอเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.71 หดตัว 4.15% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ของแรงงานในสถานประกอบการ ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวม สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม เดือนส.ค. 2564 หดตัวเช่นกันอยู่ที่ 2.52% นอกจากนี้เอ็มพีไอที่ลดลงยังมีสาเหตุจากการขาดแคลนชิปทั่วโลกในช่วงการแพร่ระบาดจนกระทบต่อการผลิตและการจำหน่าย ในอุตสาหกรรมสำคัญ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์

‘สุริยะ’ กำชับ สมอ. ยกระดับมาตรการเข้มข้น สกัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานก่อนถึงมือผู้บริโภค

‘สุริยะ’ กำชับ สมอ. ยกระดับมาตรการเข้มข้นป้องกันสินค้าไม่ได้มาตรฐานทะลักเข้ามาในประเทศ เตรียมบูรณาการกรมศุลกากรสุ่มตรวจหน้าด่านทั่วประเทศ พร้อมบูรณาการความร่วมมือ สคบ. อย. ตรวจควบคุมสินค้าอุปโภค บริโภค ป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับผู้บริโภค 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ สมอ. เพิ่มมาตรการเชิงรุกในการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าในท้องตลาด และทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านที่มีการโฆษณาผ่านทางทีวีดิจิทัล และสื่อออนไลน์ ในช่วงที่ประชาชนต้องใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น อย. และ สคบ. ร่วมกันทำงานเชิงรุกเพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าในท้องตลาดอย่างเข้มงวด 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการ สมอ. ว่า สมอ. จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจควบคุมไม่ให้สินค้าด้อยคุณภาพทะลักเข้ามาในประเทศเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ด้วย 3 มาตรการหลัก ได้แก่ 

1.) บูรณาการความร่วมมือกับกรมศุลกากรในการสุ่มตรวจสินค้าที่ด่านศุลกากรทั่วประเทศ 
2.) เพิ่มความถี่ในการตรวจติดตามเมื่อผู้รับใบอนุญาตได้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศ โดยบูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 
3.) สมอ. จะตรวจติดตาม ณ โรงงานที่ตั้งในต่างประเทศทันทีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย เพราะที่ผ่านมา สมอ. ไม่สามารถส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจโรงงานในต่างประเทศได้ 

‘สุริยะ’ แนะปล่อยโคมลอยได้มาตรฐาน ลดความเสี่ยงเกิดเพลิงไหม้ - ไฟฟ้าลัดวงจร

กระทรวงอุตสาหกรรม ห่วงใยและเตือนประชาชนในช่วงเทศกาลลอยกระทง ปล่อยโคมลอย ที่ได้มาตรฐาน มผช. ลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ และไฟฟ้าลัดวงจร

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การปล่อยโคมลอย ควรยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด โดยจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไม่ให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรมห่วงใยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่อยากให้เกิดความเสียหายในเทศกาลแห่งความสุขนี้ 

จึงให้ความสำคัญกับการคุ้มครองประชาชนให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า โดยกำหนดเป็นมาตรการสำคัญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรมที่ได้ขานรับนโยบายรัฐบาล โดยมีสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดำเนินการ พัฒนา และส่งเสริมศักยภาพของผู้ผลิตชุมชนมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ให้สามารถผลิตสินค้าเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ผู้ผลิตชุมชนสามารถปฏิบัติตามได้ง่ายไม่ซับซ้อน ช่วยให้สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัย และได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภค 

นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และประกาศใช้แล้วจำนวน 1,355 มาตรฐาน รวมทั้งให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่ผู้ผลิตชุมชนแล้วจำนวน 18,270 ราย เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค สามารถต่อยอดและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนได้อย่างยั่งยืน “โคมลอย” เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีการผลิตโดยใช้    ภูมิปัญญาชาวบ้าน และนิยมปล่อยกันในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมทางภาคเหนือของไทย 

‘สุริยะ’ หนุนอุตฯ เครื่องมือแพทย์ ชี้ 9 เดือนโต 22% ดันไทยสู่ Medical Hub

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่ หลังพบช่วง 9 เดือน การส่งออกเครื่องมือแพทย์ โตร้อยละ 22.2 คาดทั้งปี แตะร้อยละ 29.6 ชี้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี IoT, 5G, AI รวมถึงนวัตกรรมสู่สังคมดิจิทัล และการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นปัจจัยหนุน Digital Healthcare โตเร็ว พร้อมรองรับ Smart Hospital ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องมือแพทย์ในอาเซียน ในปี 2570

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และบริการการแพทย์ครบวงจรเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต (S-Curve) ที่รัฐบาลมุ่งเน้นในการเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์มีอัตราการส่งออกเติบโตร้อยละ 22.2 หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 มูลค่า 24,988 ล้านบาท 

และทั้งปี 2564 คาดว่าอุตสาหกรรมนี้จะมีการเติบโตจากการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 29.6 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 205,664 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้เข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์ รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการที่สังคมไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์แบบ หรือ Complete Aged Society ในปี 2564 จึงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ความต้องการสินค้าและเครื่องมือแพทย์เพิ่มสูงขึ้น

ดังนั้น รัฐบาลโดยกระทรวงอุตสาหกรรม จึงเดินหน้าอย่างเต็มที่ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) เพื่อเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพของไทยมีความโดดเด่น มีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก และยังเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางด้านสุขภาพของประชาชน ตอบโจทย์ Digital Healthcare ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เร่งดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาเร็ว ๆ นี้

'สุริยะ' สั่ง กรอ. เร่งผลักดันศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ นำร่อง EEC คาดเอกชนสนลงทุนร่วมแสนล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เร่งผลักดันและขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพของไทย ตามแผนปี พ.ศ. 2561 - 2570 (แผน 10 ปี) ซึ่งประกอบด้วยมาตรการเร่งด่วนและมาตรการสนับสนุน เพื่อขจัดอุปสรรคการลงทุนและสร้างปัจจัยสนับสนุน มาตรการเร่งรัดการลงทุนภายในประเทศ มาตรการกระตุ้นความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการ และมาตรการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านชีวภาพ (Center of Bio Excellence: CoBE) รวมทั้งการดำเนินงานขยายผลมาตรการฯ เชิงพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Bio Hub)  

โดยได้เริ่มโครงการนำร่องในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor : EEC (ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา) เขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง (นครสวรรค์ กำแพงเพชร) เขตพื้นที่ภาคะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง (ขอนแก่น) เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐทำให้เอกชนสนใจเข้ามาลงทุนในเขตพื้นที่ดังกล่าว คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนรวมแสนล้านบาท   

ขยายตัวต่อเนื่อง!! ‘สุริยะ’ เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ เดือน ม.ค. โต 99% รับอานิสงส์ผ่อนคลายล็อกดาวน์ - เปิดประเทศ

กระทรวงอุตสาหกรรม เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2565 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 อยู่ที่ระดับ 104.42 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.11 จากเดือนก่อนหน้า ด้านดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 1.04 รับอานิสงส์จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัว

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยขยายตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคมปี 2565 อยู่ที่ 104.42 ขยายตัวร้อยละ 1.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 นับตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2564 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในสถานประกอบการยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต สะท้อนได้จากดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม เดือนมกราคมปี 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 1.04 และอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 65.91

เศรษฐกิจภายในประเทศกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังการกระจายวัคซีนที่ดีขึ้นและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ตลาดภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวหลังได้รับการสนับสนุนผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐและนโยบายเปิดประเทศ รวมถึงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเติบโตได้ แม้หลายประเทศจะเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรการควบคุมการระบาด แต่ยังคงสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในรัสเซียและยูเครน ซึ่งในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด” นายสุริยะ กล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและนโยบายการเปิดประเทศส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม ถึงแม้ผู้ประกอบการจะเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ส่งผลต่อราคาวัตถุดิบนำเข้า

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศไทยยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดย สศอ. ได้ใช้เครื่องมือระบบเตือนด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย (The Early Warning System Industry Economics : EWS-IE) ในการคำนวณ สะท้อนให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีแน้วโน้มขยายตัวใน 1-2 เดือนข้างหน้า ด้านเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มกลับมาขยายตัวเช่นกัน ทั้งนี้ จำเป็นต้องจับตาดูสถานการณ์ของรัสเซียและยูเครน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบดังกล่าว อาจเป็นอุปสรรคการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการค้าโลกอาจจะกลับมาสะดุดอีกครั้งหากสงครามยืดเยื้อ

‘สุริยะ’ ปลื้มยอดจอง EV ในมอเตอร์โชว์สูง สั่งหนุนเต็มสูบ ดันไทยเป็นฮับผลิต EV

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลื้มกระแสรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมาแรง ดันยอดจองภายในงานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 รวมทั้งสิ้น 3,000 คัน สั่งเร่งเครื่องสนับสนุนเต็มสูบ หวังดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวถึงงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ 2022 หรือ งานมอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 43 ที่ปิดฉากลงไปเมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมา มียอดจองรถยนต์ภายในงานรวมทั้งสิ้น 33,936 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 13.6% โดยเป็นยอดจองรถยนต์ไฟฟ้ารวมประมาณ 3,000 คัน คิดเป็น 10% โดยส่วนหนึ่งมาจากมาตรการของภาครัฐที่ส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับรถยนต์และรถยนต์จักรยานยนต์รุ่นใหม่ที่แนะนำในช่วงงาน รวมถึงแคมเปญกระตุ้นยอดขายของค่ายรถ ขณะที่ผู้บริโภคให้ความเชื่อมั่นในมาตรฐานด้านความปลอดภัยของการจัดงานทำให้มีตัวเลขผู้เข้าชมงานสูงถึง 1,578,898 คน

นอกจากนี้ การจัดงานปีนี้มีบริษัทผู้ประกอบกิจการรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 1.09 ล้านล้านบาท หรือ 6.4% ของ GDP ของประเทศ ในปี 64 ประเทศไทยผลิตรถยนต์รวม 1.7 ล้านคัน และคาดว่าปี 65 ประเทศไทยจะผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นรวม 1.8 ล้านคัน

นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ สมาคมยานยนต์ไทย สมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค โดยกำหนดเป้าหมายในปี 68 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 225,000 คันต่อปี คิดเป็น 10% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด และในปี 73 การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศรวม 725,000 คันต่อปี คิดเป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ภายในปี 73 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไม่น้อยกว่า 200,000 ล้านบาท และสร้างความต้องการแรงงานยานยนต์สมัยใหม่ประมาณ 30,000 อัตราต่อปี

'สุริยะ' ปลื้ม!! คะแนนประเมินกองทุนฯ เอสเอ็มอีสูงขึ้นต่อเนื่อง เล็งยกระดับ 'กลุ่ม BCG - อุตฯ เป้าหมาย' เพิ่มต่อ

'สุริยะ' เผยผลประเมินการดำเนินงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีปีบัญชี 2564 มีผลคะแนนสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังดำเนินมาตรการด้านสินเชื่อ และพัฒนาผู้ประกอบการให้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้นเป็นไปตามเป้าหมาย ตั้งเป้าพัฒนาต่อยอดธุรกิจกลุ่ม BCG และอุตสาหกรรม S-Curve ในประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมปรับปรุงระบบดิจิทัลรองรับการให้บริการกลุ่มเป้าหมาย และใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็วเต็มประสิทธิภาพ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงรายงานผลประเมินการดำเนินงาน ประจำปีบัญชี 2564 ของสำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จากกรมบัญชีกลาง และ บริษัท ทริส คอร์ปอเรชั่น จำกัด ว่า ปีนี้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม มีผลคะแนนเท่ากับ 4.098 คะแนน ซึ่งสูงขึ้นจากปีบัญชีก่อนหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถดำเนินมาตรการด้านสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย ควบคู่กับการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีผลิตภาพเพิ่มขึ้น และที่สำคัญ คือ การปรับปรุงระบบดิจิทัลเพื่อรองรับการให้บริการกลุ่มเป้าหมาย และใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจของผู้บริหารเพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 

ก.อุตฯ เผยผลศึกษาผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมปี 2564 ยังแกร่งฝ่าโควิด-19 จากคุณภาพปัจจัยทุนและการบริหารจัดการ พร้อมเดินหน้าปี 2565 เสริมความเข้มแข็งภาคอุตสาหกรรมไทย ยกระดับผลิตภาพการผลิต 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่รุนแรงในช่วงที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ติดตามการเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพการผลิตอย่างใกล้ชิด โดยจากการสำรวจข้อมูลประจำปี 2564 ได้นำแบบแจ้งข้อมูลการประกอบกิจการโรงงานรายปี (ร.ง.9) มาวิเคราะห์ความสามารถในการผลิตและปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการภาคอุตสาหกรรม พบว่า ในช่วง 3 ปีย้อนหลัง ผลิตภาพการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังมีความแข็งแกร่งจากคุณภาพปัจจัยทุนและการบริหารจัดการที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 0.34 และ 1.70 ต่อปี ตามลำดับ สะท้อนถึงคุณภาพปัจจัยทุนและการบริหารจัดการที่เป็นภูมิคุ้มกันหลักให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่รอดได้ภายใต้สถานการณ์ที่ยากจะควบคุมของผลกระทบห่วงโซ่การผลิตโลกที่หยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

การที่จะรักษาความสามารถในการผลิตให้สามารถแข่งขันได้ เพื่อก้าวผ่านสถานการณ์ที่ไม่อาจควบคุมทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลก โรคระบาด หรือสงครามระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ จำเป็นต้องสร้างความแข็งแกร่งในด้านประสิทธิภาพและคุณภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมี 5 กลไกสำคัญที่ต้องทำควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง คือ...

1. การพัฒนาทักษะแรงงาน 
2. การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ/ กึ่งอัตโนมัติ 
3. การบริหารจัดการด้านต้นทุนและการเงิน 
4. การยกระดับการผลิตไปสู่รูปแบบการผลิตแบบรับจ้างออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ (ODM) และการออกแบบพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของผู้ประกอบการ (OBM) ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น 
และ 5. การลงทุนด้านเทคโนโลยีและวิจัยพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต การจัดการ และการสร้างนวัตกรรมในสินค้า มีการจดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิบัตรต่างๆ ที่จะนำไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงมากให้กับสินค้าและเศรษฐกิจของประเทศ 

ดัชนี้ผลผลิตอุตสาหกรรม พุ่ง 8 เดือนติด คาดขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง จากอานิสงส์ส่งออกโต

กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2565  ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ส่งผลให้ MPI 4 เดือนแรกปี 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.37 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนเมษายน 2565 ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 0.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ส่งผลให้ MPI ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 1.37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต 4 เดือนแรกอยู่ที่ระดับ 64.63 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศคลี่คลายลงจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ ตามลำดับ ส่งผลให้การบริโภคในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมทางการเกษตร  

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มคลี่คลาย ประชาชนสามารถออกมาใช้ชีวิตประจำวันและบริโภคได้ตามปกติมากขึ้น ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว สะท้อนได้จากอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 รวมถึงการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อ ภาคการส่งออกทำให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถังและอากาศยาน) เดือนเมษายนขยายตัวร้อยละ 4.98 ในขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบของรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าขนส่ง ด้านภาพรวมสถานการณ์เงินเฟ้อเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม สะท้อนได้จากดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าหมวดสินค้าอุตสาหกรรมเดือนเมษายนขยายตัวที่ร้อยละ 11.4 เร่งตัวขึ้นจากเดือนมีนาคมขยายตัวที่ร้อยละ 10.4
 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top