Tuesday, 22 April 2025
สุกฤษฏิ์ชัย_ธีระเริงฤทธิ์

'สุกฤษฏิ์ชัย-ปชป.' หวั่น!! เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซ้ำเติมโลกเดือด แนะ!! หน่วยงานเกี่ยวข้อง 'ทบทวน-ยกเลิก' กระบวนการทั้งหมดทันที

(8 ก.ค. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) กล่าวว่า เป็นที่น่ากังวลและต้องติดตามอย่างใกล้ จากกรณี 'กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช' เปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี นั้น

ในบริเวณพื้นที่โดยรอบอันประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติทับลานนั้น ยังมีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่, อุทยานแห่งชาติปางสีดา, อุทยานแห่งชาติตาพระยา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ รวมกันเป็นกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ผลกระทบจากสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม อาจจะประเมินค่ามิได้ ทั้งต่อระบบนิเวศ ธรรมชาติ พืชพันธุ์ สัตว์ป่านานาชนิด ตลอดจนประชาชนทุกคน

ฉะนั้น ภารกิจของทางราชการควรปกป้องผืนป่า ขยายพื้นที่สีเขียว อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เสริมสร้างความตระหนักรู้และหวงแหนสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

ทั้งนี้ จากรายงานพื้นที่ป่าไม้ของประเทศโดยกรมป่าไม้ พบว่าในปี 2556 มีพื้นที่ป่าร้อยละ 31.57 แต่ในปี 2566 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 31.47 สวนทางกับปัญหาภาวะโลกร้อน โลกเดือดที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาและทบทวนต่อกรณีดังกล่าวนี้ หรือยกเลิกกระบวนการทั้งหมดทันที 

ปัจจุบัน ทางมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ได้มี 'โครงการมวลชนพัฒนาฟื้นผืนป่าแผ่นดินอิสานใต้' ในปี 2559 และโครงการต่อเนื่องอีกหลายกิจกรรมในพื้นที่นี้ด้วย

‘สุกฤษฏิ์ชัย-ปชป.’ ชวนทุกคนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม-ดูแลธรรมชาติ ร่วมสร้างโลกที่น่าอยู่-ส่งต่ออากาศบริสุทธิ์ให้รุ่นลูกหลานสืบต่อไป

(2 ก.ย. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า…

“ในเดือนกันยายน เป็นเดือนที่มีความสำคัญต่อวงการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไทยและสากลอย่างยิ่ง เนื่องจากในวันที่ 1 กันยายน เป็นวันสืบ นาคะเสถียร ซึ่งวันดังกล่าวมีขึ้นเพื่อให้เราร่วมกันรำลึกถึงคุณงามความดี และความเสียสละของวีรบุรุษของผืนป่าไทย ซึ่งได้เสียสละชีวิตเพื่อเรียกร้องและสะท้อนปัญหาของทรัพยากรธรรมชาติให้สาธารณชนได้รับรู้ และตระหนักถึงอุดมการณ์อย่างแน่วแน่ในการรักษาผืนป่า รวมถึงในวันที่ 7 กันยายน ยังเป็นวันอากาศสะอาดสากล ที่ทั่วโลกโดยเฉพาะภาคประชาสังคมและกลุ่มอนุรักษ์จะได้จัดกิจกรรม รณรงค์เพื่อการเรียกร้องและทวงคืนอากาศสะอาด ปราศจากมลพิษ ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ทุกคนควรจะต้องได้รับ อย่างมิต้องสงสัย

ข้อมูลจากงานวิจัยที่นำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโมนาชของออสเตรเลียเปิดเผยว่า มีประชากรโลกเพียง 0.001% เท่านั้น ที่มีอากาศสะอาด ความหมายคือ แทบไม่มีที่ไหนในโลกเลยที่ปราศจากหมอกควันหรือฝุ่นพิษ รวมถึงข้อมูลจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่า ในปี 2020 จำนวนพื้นที่ป่าไม้บนโลกมีอยู่ที่ร้อยละ 31 ของพื้นที่บก และมีแนวโน้มลดลงทุกวัน ฉะนั้นแม้ว่าจะมีวันสำคัญไว้ให้ตระหนักหรือรำลึกนึกถึง แต่การรณรงค์และการลงมือทำคือสิ่งสำคัญยิ่ง และการลงมือทำด้วยตัวเราเองคือสิ่งสำคัญที่สุด โดยการสนับสนุนที่ถูกต้องและทั่วถึงจากทางภาครัฐ ก็จะเป็นส่วนเติมเต็มสำคัญได้และบรรลุเป้าหมายได้อย่างดี 

ดังนั้นการดูแลสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคน ที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงขอเชิญชวนทุกท่านร่วมกันสร้างโลกที่น่าอยู่ อนาคตที่ยั่งยืน มั่นคงและปลอดภัย สำหรับคนรุ่นหลังต่อไป

‘สุกฤษฏิ์ชัย’ ที่ปรึกษากมธ. ‘อากาศสะอาด’ เดินหน้ารณรงค์ ชี้!! ต้องเร่งผลักดันกม. - เตรียมความพร้อมรับมือ - สร้างการตระหนักรู้

(8 ก.ย. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) กล่าวถึงในกิจกรรม ‘Unmask the Future’ ซึ่งจัดโดยภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมและภาคประชาชนตื่นรู้ (Active Citizen) ในประเทศไทย เนื่องในโอกาสวันอากาศสะอาดสากล (International Clean Air Day) ซึ่งเริ่มขึ้นปี ค.ศ.2020 อันเป็นผลจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของอากาศบริสุทธิ์ต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน ซึ่งตนมีบทบาทในการเป็น ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยนั้น

ขอสนับสนุนและขอรณรงค์เรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน พร้อมมีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ

1.ภาคการเมือง ควรเร่งรัดและผลักดันให้กฎหมายอากาศสะอาด มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดการกับปัญหานี้ ให้ทันฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง รวมถึงการประสานงานเรื่องฝุ่นควันข้ามแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 

2.ภาคราชการ ดำเนินการสั่งการและประสานงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือวิกฤติมลพิษฝุ่นควันพิษ ทั้งในแง่การป้องกัน การปราบปรามและดูแลด้านสุขภาพ เพื่อลดผลกระทบที่จะมีขึ้นต่อประชาชนให้น้อยที่สุด

3.ภาคประชาสังคมร่วมกันสร้างการตระหนักรู้และให้ความรู้ รวมถึงการป้องกันกับภาคประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มข้น โดยภาคราชการไม่ว่าจะเป็นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุขและอื่นใดที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ไม่ว่าอย่างไรก็ตามปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ เป็นปัญหาสำคัญที่ใกล้ตัวพวกเรามาก เรารับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นการแก้ปัญหาร่วมกันจากทุกภาคส่วน จากทุกคน คือหนทางการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด

‘สุกฤษฏิ์ชัย’ ชี้เหตุการณ์น้ำท่วมภาคเหนือ เกิดจากวิกฤติทรัพยากรธรรมชาติแนะเร่งฟื้นฟูป่าไม้ สร้างระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ลดผลกระทบในอนาคต

(4 ต.ค. 67) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า 

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจ รวมถึงขอเป็นกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงหลายจังหวัดทางภาคเหนือ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก 

เหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสภาพพื้นที่ป่าที่ถูกทำลาย เสียหาย เปลี่ยนแปลงสภาพ จากการตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำ ป่าสมบูรณ์ จนเกิดเป็นภูเขาหัวโล้น การบุกรุกเพื่อเปิดพื้นที่ทำการเกษตร ทำไร่เลื่อยรอย ปลูกพืชไร่เชิงเดี่ยว 

ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำป่าไหลหลากและเกิดดินถล่มโดยไม่มีการชะลอความรุนแรงจากป่า รวมถึงการปลูกสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่กีดขวาง รุกล้ำทางน้ำธรรมชาติ

ข้อมูลจากสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ พบว่าพื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือในปี 2566 มีจำนวน 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่ 

การสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการดูดซับน้ำของพื้นที่ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภัยธรรมชาติ 

อีกข้อมูลจากคณะนักวิจัยจากคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าในปี 2566 พื้นที่ป่าลดลงมาก ปัจจัยหนึ่งเกิดจากไฟป่าที่ลุกลามและขยายวงอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ สะท้อนถึงปัญหาเรื้อรังและเป็นปัจจัยสำคัญสู่วิกฤติทางสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้น 

การบังคับใช้กฎหมายให้เข้มข้น จริงจัง คงเป็นสิ่งที่หน่วยงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบต้องรีบดำเนินการ และถือปฏิบัติโดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ รวมถึงการเร่งฟื้นฟูป่าไม้ จัดกิจกรรมรณรงค์ปลูกต้นไม้ เพิ่มความแข็งแรงสมบูรณ์ให้ป่าต้นน้ำ ให้ระบบนิเวศธรรมชาติคืนกลับมาโดยเร็ว บนพื้นฐานให้ชุมชนและสังคมมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน 

ภาครัฐ ภาคราชการอาจเป็นผู้สนับสนุนให้ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม มูลนิธิต่าง ๆ มาร่วมกันเป็นเจ้าภาพดำเนินการ พร้อมทั้งเพิ่มจำนวนอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) ให้มากขึ้นและครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้เทคโนโลยี ระบบดิจิทัล ภาพถ่ายดาวเทียมเข้ามาใช้กำหนดแผนงาน สำรวจภูมิประเทศ

เราอาจได้ทั้งป่าไม้ที่คืนสภาพธรรมชาติเดิม และยังแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษ PM2.5 ได้อากาศสะอาดกลับคืนมา วิกฤติครั้งนี้อาจเป็นโอกาสให้เราได้แก้ไขและบูรณาการการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบจากทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืนด้วย

‘สถาบันราชพฤกษ์’ เดินหน้าประชุมใหญ่ COP ที่ ‘อาเซอร์ไบจาน’ ประสานความร่วมมือ!! ในระดับโลก เพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมระดับโลกที่สำคัญมากมาย ทั้งการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC การประชุมกลุ่ม G20 และการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกของรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of Parties to the United Nations Framework Convention on Climate Change : UNFCCC หรือ COP) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ นักวิชาการ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม มาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จุดมุ่งหมายหลักคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนการปรับตัวต่อผลกระทบของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทั้งนี้การประชุม COP เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1995 โดย COP1 จัดที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เป็นการประชุมครั้งแรกหลังการลงนามใน UNFCCC ปี ค.ศ. 1992 ที่ประชุมแต่ละปีจะมุ่งสร้างความตกลงใหม่ ๆ และประเมินความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกในเป้าหมายลดโลกร้อน เช่น พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี ค.ศ. 1997 เน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี ค.ศ. 2015 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่ประเทศสมาชิกกว่า 190 ประเทศได้ให้คำมั่นต่อกันในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้อยู่ต่ำกว่า 2°C และพยายามรักษาไว้ที่ 1.5°C 

การประชุม COP จึงมีความสำคัญในฐานะเวทีที่สร้างความร่วมมือระดับโลกในการแก้ไขปัญหาที่กระทบต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อมโดยตรง เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และในปี ค.ศ. 2024 ก็มีการประชุม COP29 จัดขึ้นที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน เป็นโอกาสสำคัญในการแสดงบทบาทในเวทีสิ่งแวดล้อมโลก ของอาเซอร์ไบจานในฐานะประเทศเจ้าภาพมีความท้าทายและโอกาสในการนำเสนอแนวทางการพัฒนาพลังงานสะอาดและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืน ประเด็นสำคัญหนึ่งที่จะได้รับการหยิบยกกันมาหารือในที่ประชุมคือการจัดหาแหล่งเงินทุนจากกลุ่มประเทศผู้บริจาคเพื่อสนับสนุนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในการรับมือผลกระทบกับวิกฤติทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรณรงค์และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหานี้

ในส่วนของไทยเรานั้น แม่งานหลักของเรื่องคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่จะทำหน้าที่สานต่อในส่วนของภาครัฐให้เป็นไปตามที่ไทยเราได้ลงสัตยาบันไว้ ตลอดจนจะได้แสดงความมุ่งมั่น ตั้งใจ แสวงหาความร่วมมือในทุกด้านจากมิตรประเทศเพื่อการแก้ไขปัญหาและพัฒนานวัตกรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องร่วมกัน รวมถึงเป็นโอกาสให้เราได้ทบทวนการทำงานภายในประเทศ เพื่อจะออกมาตรการ กำหนดทิศทางที่ทันสมัยและตอบโจทย์เพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้กับวิกฤตินี้ต่อไป

นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร

‘มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์’ ชวนชาวไทยร่วมใจรักษ์โลก พร้อมใจปิดไฟ ถอดปลั๊ก 1 ชั่วโมง คืนวันเสาร์ที่ 22 มี.ค.นี้

นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ (หน่วยงานดีเด่นแห่งชาติสาขาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... ในสภาผู้แทนราษฎร ได้เผยแพร่ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก 'สุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ - Sukritchai Teeraroengrit' เพื่อรณรงค์กิจกรรมสิ่งแวดล้อม ปิดไฟ 1 ชม. 60+ Earth Hour 2025 เพื่อขอเชิญชวนพวกเรามาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงในกิจกรรม Earth Hour 2025 ด้วยการปิดไฟ ถอดปลั๊ก งดใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ตลอด 1 ชั่วโมง เพื่อลดโลกร้อน ให้โลกได้พัก พร้อมกัน ในวันเสาร์ที่ 22 มีนาคม 2568 เวลา 20:30 - 21:30 น.

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว จัดโดย องค์กรกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ World Wildlife Fund (WWF) มีกิจกรรมครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 และขยายไปสู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลก เพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

‘สุกฤษฏิ์ชัย ปชป.’ แสดงความเสียใจเหตุแผ่นดินไหวในเมียนมา-ไทย ชี้!! หากมีระบบแจ้งเตือน Real Time จะช่วยลดความสูญเสียได้

เมื่อวานนี้ (28 มี.ค. 68) นายสุกฤษฏิ์ชัย ธีระเริงฤทธิ์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค. 68 ว่า…

มีจุดศูนย์กลางอยู่ทางฝั่งประเทศเมียนมา ซึ่งถือว่ารุนแรงมาก มีแรงสั่นสะเทือนถึงประเทศไทยของเรา โดยเฉพาะทางพื้นที่ภาคเหนือภาคกลางและกรุงเทพมหานคร อันนำมาซึ่งความสูญเสียและมีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้เป็นจำนวนมาก ทั้งทางตรงและทางอ้อม จึงต้องขอแสดงความเสียใจ และขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวไทยทุกคน 

เหนือสิ่งอื่นใด ช่วงสภาวะวิกฤติในทุกเหตุการณ์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ข้อมูล ข่าวสาร และการเตือนภัยอย่างเป็นทางการจากทางภาครัฐ ที่รัฐต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบ อาทิ แถลงการณ์ ข้อความสั้น (SMS Alert) เพื่อสร้างการรับรู้ไปในทิศทางเดียวกัน ลดความตื่นตระหนก ลดความโกลาหลในสังคม ลดการรับรู้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ไม่ผ่านการตรวจสอบอย่างถูกต้อง แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการจากทางรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“ผมเองเคยเสนอแนวคิดเตือนภัยผ่านข้อความสั้น (SMS Alert) ไปแล้วเมื่อ ตุลาคม 2566 และเข้าใจว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบดิจิทัลในปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการไปมากกว่าในขณะนั้นแล้ว เป็นเรื่องง่ายและดำเนินการได้ทันที แต่ก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ที่จะนำมาใช้ให้บริการประชาชน”

ระบบเตือนภัยอย่างง่ายนี้ ยังอาจปรับใช้กับการเตือนภัยทางธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภัยพิบัติ ไฟป่า น้ำท่วม น้ำหลาก ดินถล่ม สึนามิ หรือ อุบัติเหตุร้ายแรง รถชน ไฟไหม้ เป็นต้น ซึ่งใช้ได้ทั้งในเชิงเฉพาะพื้นที่และภาพรวม อีกทั้งสามารถอัปเดตสถานการณ์แบบ Real Time ได้ทุกขณะ มีต้นทุนต่ำ เข้าถึงประชาชนโดยตรงได้อย่างดี

จากเหตุการณ์นี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจต้องทบทวน เร่งรัดและจัดให้มีระบบ สื่อและช่องทางการเตือนภัยอย่างเป็นระบบในทุกภัยที่อาจมีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และนำเทคโนโลยี ระบบดิจิทัลมาใช้ให้เกิดผลสูงสุด รวมถึงนำมาประยุกต์ใช้กับการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top