Tuesday, 8 April 2025
สื่อสารมวลชนไทย

THE STATES TIMES ผนึกกำลัง SPUTNIK ร่วมพัฒนาวงการสื่อสารมวลชนไทย

(11 มี.ค. 68) ครั้งแรกในประเทศไทย กับการผนึกกำลังของ 2 หน่วยงานด้านสื่อออนไลน์ ระหว่างสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES จากประเทศไทย กับ สำนักข่าว SPUTNIK ของรัสเซีย พร้อมด้วยวิทยาลัยผู้นำและนัวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต 

จัดสัมมนา เผยแพร่ความรู้ด้านข่าวสาร ในหัวข้อ THE FUTURE JOURNALISM 2025 “AI กับ สื่อสารศาสตร์ยุคใหม่” 

โดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิมากมายหลายท่าน มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ด้านการสื่อสารยุคใหม่ อาทิ 
-ผศ.ดร. สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
-ฯพณฯ นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำราชอาณาจักรไทย
-อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
-คุณวาซิลี พุชคอฟ ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของสำนักข่าว SPUTNIK 
-คุณวินท์ สุธีรชัย กรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน

ขณะที่ คุณวารินทร์ สัจเดว ผู้ประการข่าวและสื่อมวลชน รับหน้าที่ผู้ดำเนินรายการตลอดทั้งงาน

ทั้งนี้ งานสัมมนาดังกล่าว จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม 2568 ตั้งแต่เวลา 09:00 – 12:00 น. 
ณ ห้องประชุม 6-200 อาคาร Student Center (อาคาร 6) มหาวิทยาลัยรังสิต

ม.รังสิต ผนึกกำลัง 2 สำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES - SPUTNIK ระดมผู้เชี่ยวชาญร่วมถ่ายทอดความรู้พัฒนาวงการสื่อสารมวลชนยุค AI

ครั้งแรกในประเทศไทย กับการผนึกกำลังของ 2 หน่วยงานด้านสื่อออนไลน์ ระหว่างสำนักข่าวออนไลน์ THE STATES TIMES จากประเทศไทย กับ สำนักข่าว SPUTNIK ของรัสเซีย พร้อมด้วยวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต จัดสัมมนา THE FUTURE JOURNALISM 2025 'AI กับ สื่อสารศาสตร์ยุคใหม่' ร่วมขับเคลื่อนวงการสื่อสารมวลชนไทย

(14 มี.ค. 68) ผศ.ดร. สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า อย่างที่เราทราบกันดีว่า AI ได้เข้ามามีบทบาทการทำงานในโลกของสื่อยุคใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากสื่อชั้นนำระดับโลก รวมถึงสื่อไทย ได้นำเทคโนโลยีด้าน AI มาช่วยประมวลผลข้อมูลที่ซับซ้อน รวมไปถึงขั้นที่นำไปสร้างคอนเทนต์ข่าวกันอย่างแพร่หลาย ในวันนี้ เราจะมาร่วมกันเสริมความรู้และแนวทางในการนำเสนอข่าวสารยุคใหม่ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นถึงทิศทางการนำเสนอข่าวสารในโลกยุค AI ที่ต้องรู้เท่าทัน เพราะมีความหลากหลายและซับซ้อนในหลาย ๆ ด้าน ทั้งในการเสนอข่าวสารและการรับรู้ข่าวสาร

ด้าน ฯพณฯ นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย ประจำราชอาณาจักรไทย กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในวิธีการสร้างเผยแพร่และบริโภคข้อมูล ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้นำมาซึ่งโอกาสใหม่ที่น่าทึ่ง  แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความท้าทายที่สำคัญต่อความจริง ความเป็นกลางและจริยธรรมของสื่อมวลชนการเติบโตของสื่อที่สร้างข้อมูลด้วย ai ได้เปิดขอบเขตใหม่ในการเข้าถึงข้อมูล

อย่างไรก็ตามเราไม่ควรมองข้ามภัยคุกคามที่มากับความก้าวหน้าดังกล่าวการแพร่ระบาดของข่าวปลอมวิดีโอที่ใช้เทคโนโลยี deepfakes และการใช้ระบบอัลกอริทึมในการกำหนดเนื้อหาข่าวท้าทายความสามารถของเราที่จะแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงและเรื่องที่แต่งขึ้น 

ทั้งนี้ ในยุคที่ข้อมูลเท็จแพร่กระจายได้เร็วกว่าที่เคยเป็นมาบทบาทของนักข่าวและผู้แสวงหาความจริงจึงมีความสำคัญมากกว่าครั้งไหน ๆ หนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่สุดที่เราต้องเผชิญในวันนี้คือการใช้ข้อมูลเป็น อาวุธ ข่าวปลอมไม่ได้เป็นเพียงผลลัพธ์ของข้อผิดพลาดอีกต่อไปแต่มันได้กลายเป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่ใช้ในการกำหนดมุมมองมีอิทธิพลต่อความคิดเห็นของสาธารณะและบิดเบือนความเป็นจริงทางภูมิรัฐศาสตร์ ตัวอย่าง เช่น เทคโนโลยี deepfakes ที่ขับเคลื่อนด้วย ai สามารถปลอมแปลงคำพูดของผู้นำโลกบิดเบือนบันทึกทางประวัติศาสตร์และสร้างการบิดเบือนเหตุการณ์ปัจจุบันซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบร้ายแรงต่อการทูต ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเสถียรภาพของสังคม

นอกจากนี้เราต้องยอมรับถึงอิทธิพลของสื่อกระแสหลักจากโลกตะวันตกที่ครอบงำการกำหนดกรอบเนื้อหาในระดับสากลหลายครั้งที่เหตุการณ์ระหว่างประเทศถูกนำเสนอผ่านมุมมองเพียงด้านเดียวโดยละเลยความหลากหลายของมุมมองที่มีอยู่ในโลกที่มีหลายขั้วทางอำนาจ  การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งเศรษฐกิจและการเมืองโดยสื่อกระแสหลักของตะวันตกมักจะสร้างความไม่สมดุลในการรับรู้ของผู้ชม สื่อสารมวลชนจึงควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมความหลากหลายและการเปิดกว้างต่อมุมมองที่แตกต่างกันเพื่อให้เกิดสังคมโลกที่ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้าน

“รัสเซียให้ความสำคัญกับหลักการอธิปไตยทางสื่อและความจำเป็นในการมีมุมมองทางเลือกมาโดยตลอด เราเชื่อว่า หาก ai ถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์จะสามารถช่วยส่งเสริมความหลากหลายทางสื่อได้ โดยช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลายและเปิดโอกาสให้แนวคิดต่างๆไหลเวียนอย่างเสรี แต่การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างนักข่าว นักวิชาการ และภาครัฐที่ต้องร่วมมือกันกำหนดแนวทางด้านจริยธรรมสำหรับการใช้เอไอในวงการสื่อมวลชน พร้อมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเข้มข้นและส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อเพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตัวเองจากข้อมูลเท็จได้ ขณะที่เรากำลังก้าวสู่ยุคใหม่ของการสื่อสาร เราต้องยึดมั่นในความถูกต้องความรับผิดชอบและความเป็นธรรม อนาคตของสื่อสารมวลชนขึ้นอยู่กับความสามารถของเราในการปกป้องความจริงท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว” 

นายอนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเราอย่างมาก รวมทั้งในวงการสื่อสารมวลชนด้วย ดังจะเห็นได้จากการเขียนบทความหรือเขียนข่าว เริ่มใช้ AI กันมากขึ้น แม้บทบาทการตัดสินใจเลือกประเด็นข่าวและกำรตรวจทานเนื้อหา ยังคงเป็นหน้าของบรรณาธิการ แต่กระบวนการเขียน โครงสร้างของบทความล้วนขับเคลื่อนด้วยพลังของ AI แทบทั้งสิ้น

รวมถึงกระบวนการคัดเลือกและจัดเรียงพาดหัวข่าวด้วย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการสื่อ พบว่า สื่อไทยเปิดรับและปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยี AI ได้ค่อนข้างไวกว่าประเทศรอบข้าง ดังจะเห็นได้จากผลสำรวจล่าสุดที่สะท้อนมุมมองในแง่ดีของการนำ AI มาใช้ โดยผลสำรวจความคิดเห็นของนักข่าว 70 คนใน 4 ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์และไทย พบว่านักข่าวส่วนใหญ่มีทัศนคติเชิงบวกต่อการนำ AI มาใช้ในวงการสื่อโดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีระดับการยอมรับและปรับตัวสูงถึง 95% เป็นรองแค่เพียงเวียดนามเท่านั้นที่ให้การยอมรับถึง 100% โดยผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งเป็นสื่อในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มองว่า AI ส่งผลดีต่องานของตนถึง 84% ขณะที่ 4% มองว่าไม่มีผลใด ๆ และ 12% มองในแง่ลบ

ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งที่นักข่าวไทยมีอัตราการมอง AI ในแง่บวกสูงอาจเป็นเพราะสื่อไทยใช้ภาษาไทยเป็นหลักจึงเกิดความรู้สึกว่า AI อาจคุกคามการทำงานของตนน้อยกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค สวนทางกับฟิลิปปินส์ที่มีอัตราการมองในแง่บวกต่ำสุดและมองในแง่ลบสูงสุดเนื่องจากสื่อท้องถิ่นใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างแพร่หลายนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าการนำเสนอเทคโนโลยีข่าวสารด้วย AI  ได้นำไปสู่ปัญหาหลายประการที่กระทบต่อหลักจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อร้ายแรง ตัวอย่างที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในต่างประเทศ เช่น ข้อมูลผิดพลาด คำนวณเลขผิดพลาด ใช้ภาษาที่ไม่เหมาะ สมลอกเลียนเนื้อหาจากสำนักข่าวอื่นโดยไม่ใส่ที่อย่างชัดเจน เป็นต้น ดังนั้นความสามารถเฉพาะทางของมนุษย์ยังคงมีความสำคัญและถึงแม้ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทในวงการสื่อสารมวลชนมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถมาทดแทนศักยภาพของมนุษย์ไปได้ โดยเฉพาะในด้านความคิดสร้างสรรค์และการตัดสินใจเชิงจริยธรรมการปรับตัวและพัฒนาทักษะให้เข้ากับยุค AI จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่ทำงานในวงการสื่อเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังจะมาถึง

ด้านนายวินท์ สุธีรชัย กรรมการปรับปรุงและยกร่างกฎหมาย กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในฐานะอยู่ทั้งในแวดวงการเมืองและธุรกิจ มองว่า โลกของข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันก้าวไปเร็วไปมากและเปลี่ยนแปลงอย่างไม่หยุดนิ่ง และที่สำคัญมีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม นั่นจึงเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ที่รับข้อมูลข่าวสารต้องเพิ่มความระมัดระวังในการรับรู้ข้อมูล ต้องกรองข่าวนั้นให้ดีก่อนจะเชื่อ อย่าเพิ่งไปเชื่อสิ่งที่เราเห็นในครั้งแรก ต้องหาข้อมูลให้ชัดเจนว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นสิ่งที่ AI สร้างขึ้นมาเป็นข่าวลวง จากนั้นจึงจะเป็นขั้นต่อไปว่า จะเผยแพร่ต่อหรือนำไปเตือนไปใช้อย่างไรต่อไป 

ขณะที่ นายวาซิลี พุชคอฟ ผู้อำนวยการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศของสำนักข่าว SPUTNIK กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมการผลิตข่าวสารในปัจจุบันมีความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะการที่เทคโนโลยียิ่งมีความรวดเร็วทันสมัยยิ่งทำให้สำนักข่าวต่างๆ ต้องปิดตัวไปจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่าน ขณะที่ สำนักข่าว Sputnik เอง ได้พัฒนาตัวเองมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีทั้งเว็บไซต์และโมบาย แอปพลิเคชัน และมีการแปลไปถึง 30 ภาษา 

และหากมองถึงในแง่การพัฒนาอุตสาหกรรมข้อมูลข่าวสาร เทียบประเทศไทยกับรัสเซีย จะเห็นว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้า แต่ก็ยังมีความเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่บ้าง ดังที่เห็นได้จากการยังคงมีหนังสือพิมพ์อยู่ ในขณะที่ในมอสโกแทบจะไม่มีหนังสือพิมพ์วางขายแล้ว โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิดที่สำนักพิมพ์เกือบทั้งหมดยุติการพิมพ์ไปแล้ว

หรือแม้กระทั่งโทรทัศน์ก็แทบจะไม่ดูกันแล้วในรัสเซีย โดยหันมาใช้โปรแกรม Telegram ในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลาย เพราะฉะนั้น ในวงการสื่อสารมวลชนแทบจะไม่มีอะไรแน่นอน และอาจจะไม่คุ้มค่าในการลงทุนใหม่ๆ ในวงการสื่อ อีกทั้งยังพบว่า AI เป็นความท้าทาย โดยเฉพาะการใช้ทำข่าวปลอม ซึ่งหลาย ๆ ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ถ้ามองโลกในแง่ดีก็คือการเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ ๆ แต่หากมองในแง่ร้าย ก็ต้องยอมรับว่า สิ่งนี้กำลังจะทำลายวงการสื่อสารมวลชนได้เช่นเดียวกัน

“สำหรับในส่วนของการนำเสนอข่าวของ Sputnik นั้น จะมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนจะนำเสนอข่าวออกไป โดยยึดมั่นในข้อเท็จจริงเป็นสิ่งสำคัญ โดยบรรณาธิการข่าวแต่ละคนจะต้องตระหนักในเรื่องเหล่านี้ เพื่อป้องกันการนำเสนอข่าวปลอมที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับผู้ที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นๆ และจะต้องไม่รับฟังแค่ข่าวด้านเดียว ต้องฟังอย่างรอบด้านก่อนจะนำเสนอออกไป และแม้ว่า AI อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่ออย่างหนัก แต่เชื่อว่าสิ่งที่มนุษย์เหนือกว่า ก็คือการปรับตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำได้เป็นอย่างดีมาตลอด”

ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ชี้แนวทางการใช้ AI วงการข่าวอย่างมีจริยธรรม พร้อมสร้างความเข้าใจงานสื่อในงานสัมมนา ‘FUTURE JOURNALISM 2025’

เมื่อวันที่ (14 มี.ค.68) ณ อาคาร Student Center มหาวิทยาลัยรังสิต ได้มีการจัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “AI กับสื่อวารศาสตร์ยุคใหม่” ภายใต้งาน THE FUTURE JOURNALISM 2025 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีกิตติคุณวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นวิทยากรหลักในการบรรยายเกี่ยวเรื่อง “ทิศทางการนำเสนอข่าวยุค AI”

โดยการสัมมนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักศึกษา อาจารย์ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และบุคคลทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับแนวโน้มของวงการข่าวในอนาคต ซึ่ง AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของสื่อมวลชนอย่างรวดเร็ว

ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ได้กล่าวถึงบทบาทของ AI ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนงานข่าวในหลายมิติ ตั้งแต่ การสรุปข่าว การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก การตรวจสอบข้อเท็จจริง (Fact-checking) ไปจนถึงการสร้างผู้ประกาศข่าวเสมือนจริง (AI Anchors) ซึ่งช่วยให้กระบวนการนำเสนอข่าวเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น

รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมที่มาพร้อมกับ AI เช่น Deepfake, ข่าวปลอม (Fake News), และอคติของอัลกอริทึม (Algorithmic Bias) ซึ่งอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของข่าวสารได้ นักข่าวและองค์กรสื่อจำเป็นต้องพัฒนาแนวทางการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อรักษามาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพสื่อมวลชน

“ในยุคที่ AI ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการสื่อมวลชน นักข่าวและสำนักข่าวต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เทคโนโลยี AI สามารถช่วยให้การสืบค้น วิเคราะห์ และนำเสนอข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่หัวใจสำคัญของวารสารศาสตร์ยังคงอยู่ที่ 'ความจริง' และ 'จรรยาบรรณ' ของผู้สื่อข่าว” ผศ.อนุสรณ์ กล่าว

นอกจากนี้ ผศ.อนุสรณ์ได้เสนอแนวทางการประยุกต์ใช้ AI ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในสายงานสื่อ เช่น การใช้ AI เพื่อช่วยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณมาก (Big Data Journalism) การพัฒนา Chatbot เพื่อสื่อสารกับผู้อ่าน การใช้ AI ตรวจสอบแหล่งข่าว รวมถึงการใช้ AI สร้างเนื้อหาที่ปรับให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแบบเฉพาะบุคคล (Personalized News)

วิทยากรเน้นย้ำว่า AI ไม่ได้เข้ามาแทนที่นักข่าว แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสื่อมวลชน นักข่าวควรพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยี เช่น การใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจสอบข่าวปลอม การทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ และการนำเสนอข่าวที่เจาะลึกและสร้างคุณค่าให้กับสังคม

สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ช่วยให้ผู้เข้าร่วมมีความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับ การปรับตัวของวงการข่าวในยุค AI รวมถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ โดย ผศ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว ได้เน้นให้เห็นว่าการผสมผสาน AI เข้ากับการทำข่าวอย่างเหมาะสม จะช่วยให้วงการสื่อสารมวลชนสามารถก้าวเข้าสู่อนาคตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

“แม้ว่า AI จะช่วยเขียนข่าวได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ คือ วิจารณญาณของมนุษย์ การตั้งคำถาม และความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวอย่างมีอารมณ์ความรู้สึก ดังนั้น นักข่าวยุคใหม่ต้องเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกับ AI และใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่ละทิ้งจริยธรรมของวิชาชีพ” ผศ.อนุสรณ์ กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้ การสัมมนาเป็นส่วนหนึ่งของงาน THE FUTURE JOURNALISM 2025 ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาวงการข่าวในยุคดิจิทัล โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาเข้าร่วมแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของแวดวงสื่อสารมวลชนไทยในการก้าวสู่อนาคตของข่าวสารในปี 2025 และต่อไป


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top