Friday, 18 April 2025
สินค้าจีน

‘ปคบ.-อย.’ บุกทลายโกดังอาหารเสริม-เครื่องสำอางปลอม พบนำเข้าจากจีน ตรวจยึดของกลางมูลค่ากว่า 10 ล้านบาท!!

(24 มี.ค. 66) ที่ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารประชาอารักษ์ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ รอง ผบก.ปคบ. พ.ต.อ.สุพจน์ พุ่มแหยม ผกก.4 บก.ปคบ., ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีทลายโกดังเก็บผลิตภัณฑ์อาหารเสริม, ยาปลอม และเครื่องสำอางปลอม ขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตรวจยึดของกลาง 19 รายการ รวม 6,320 กล่อง มูลค่าสินค้าปลอมกว่า 10,000,000 บาท

สินค้าจีน Overcapacity ล้นทะลักไปตีตลาดโลก เรื่องจริงหรือวาทกรรม?

(5 ก.ค.67) รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เนื้อหาในหัวข้อ 'สินค้าจีน 🇨🇳 Overcapacity ล้นทะลักไปตีตลาดโลก : เรื่องจริงหรือวาทกรรม'

โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า...

ปัญหากำลังการผลิตที่ล้นเกินของจีน (Overcapacity) กลายเป็นประเด็นถกเถียงระดับโลก ด้วยความกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด และในกรณีประเทศไทยจะถูกกระทบจากสินค้าราคาถูกจากจีนที่ล้นทะลักเข้ามาอย่างไรบ้าง บทความนี้ จะมาวิเคราะห์ไล่เรียงทีละประเด็น ดังนี้...

ประเด็นแรก จีนมีการผลิตสินค้ามากจนล้นเกิน (Overcapacity) หรือไม่ หากพิจารณาจากบริบทประเทศจีนที่มีขนาดใหญ่ และมีข้อได้เปรียบเชิงขนาด (Scale Advantage) ผู้ผลิตจีนจึงมักจะเน้นการผลิตเชิงปริมาณจำนวนมาก (Mass Production) เพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยลดลง เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) หวังจะป้อนตลาดภายในของจีนที่มีผู้บริโภคจำนวนมหาศาล  

อย่างไรก็ดี บางอุตสาหกรรมของจีนมีอุปทานการผลิตมากเกินกว่าอุปสงค์ความต้องการของตลาดภายในจีนเอง จนเกิดปัญหาอุปทานล้นตลาดจีน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจจีนในยุคหลังโควิด-19 ที่ค่อนข้างอึมครึมซึมเซา ไม่คึกคักเหมือนเดิม คนจีนใช้จ่ายน้อยลง หันมาเน้นเก็บเงินอดออมมากขึ้น (จนเกิดกระแส ‘เก็บเงินเพื่อล้างแค้น’ ในจีน) ยิ่งทำให้ สินค้าจีนที่ล้นเกินเหล่านั้น ถูกระบายผ่านการส่งออกไปต่างประเทศมากขึ้น เพราะลดกำลังการผลิตได้ยาก 

ในมุมเศรษฐศาสตร์ หากอุตสาหกรรมใดมีอุปทานการผลิตล้นเกินกว่าอุปสงค์ความต้องการ ส่งผลให้สินค้านั้นราคาถูกลง เพื่อระบายสินค้าคงเหลือ แม้ว่าจะเป็นผลดีในมุมของผู้บริโภค แต่ก็เป็นแรงกดดันต่อคู่แข่งของผู้ผลิตสินค้าล้นเกินเหล่านั้น และในระยะยาว หากไม่สามารถแข่งขันได้ ก็ต้องปิดโรงงานและย่อมจะกระทบการจ้างงานที่ลดลง  

ดังนั้น ประเด็นสินค้าจีนที่มีกำลังการผลิตล้นเกิน Overcapacity จนต้องระบายส่งออกไปตีตลาดทั่วโลกเริ่มถูกพูดถึงด้วยความกังวลมากขึ้น เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมท้องถิ่นอยู่ไม่ได้ ทำให้คู่แข่งจีนในต่างประเทศต้องถูกกระทบเสียหาย เช่น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐได้เคยกล่าวถึงประเด็นนี้ว่า “รัฐบาลจีนให้เงินสนับสนุนอุตสาหกรรมหลักในประเทศ ทำให้มีกำลังการผลิตล้นเกิน Overcapacity มากเกินกว่าความต้องการ จนต้องเร่งส่งออก และนำไปสู่การทะลักล้นของสินค้าในตลาดโลกได้” 

ในขณะที่ นายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงของจีน ได้เคยกล่าวแย้งว่า “รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ควรนำเศรษฐกิจการค้ามาทำให้เป็นเรื่องการเมือง แต่ควรพิจารณาประเด็นกำลังการผลิตตามข้อเท็จจริง และโต้แย้งด้วยหลักเหตุผล ด้วยมุมมองของระบบเศรษฐกิจกลไกตลาด มุมมองในระดับโลก และบนพื้นฐานของหลักการทางเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ หลายฝ่ายของจีนก็ได้โต้แย้งว่า “การโจมตีจีนด้วยคำว่า Overcapacity สะท้อนความวิตกกังวลของชาติตะวันตกที่จะไม่สามารถแข่งขันกับจีนในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น รถยนต์ EV จึงพยายามสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อขัดขวางความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมของจีน”

ประเด็นที่สอง อุตสาหกรรมใดของจีนที่ถูกจับตาว่า มีกำลังการผลิตล้นเกิน ส่วนใหญ่จะเป็นอุตสาหกรรมหนักที่มีการผลิตแบบดั้งเดิมเน้นเชิงปริมาณ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และแก้ว จนเกิดการผลิตล้นเกินมานานหลายปี ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาลจีนในอดีตที่ทุ่มงบอัดฉีดส่งเสริมให้มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักเหล่านั้น ตลอดจนกลุ่มพลังงานทางเลือก เช่น แผงโซลาร์เซลล์ มีการขยายการผลิตกระจายอยู่ในมณฑลต่าง ๆ จนทำให้ปริมาณการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของจีนทั้งประเทศมีมากกว่าความต้องการของทั้งโลกถึงสองเท่า ส่งผลให้แผงโซลาร์เซลล์ของจีนมีราคาถูกลงเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ กลุ่มพลังงานใหม่ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า EV และแบตเตอรี่ลิเธียม ซึ่งเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้แผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรม ‘สามใหม่’ (New Three industries) ที่เพิ่งประกาศของรัฐบาลจีนด้วย ได้แก่ (1) รถยนต์ไฟฟ้า EV (2) แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน และ (3) เซลล์แสงอาทิตย์ (solar photovoltaic) 

ดังนั้น ด้วยการสนับสนุนและผลักดันอย่างหนักจากภาครัฐในยุคสีจิ้นผิง กลายเป็นใบเบิกทางเอื้อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการขยายการผลิตอย่างรวดเร็ว และเน้นออกไปทำตลาดต่างประเทศในเชิงรุก จนเกิดประเด็น ‘สงครามราคา’ ที่กระทบคู่แข่งในหลายประเทศ และเกิดข้อกังวลในประเด็นคุณภาพของสินค้าจีนที่หั่นราคาถูกลงอย่างมาก

ประเด็นสุดท้าย สินค้าราคาถูกที่ไหลทะลักมาจากจีนส่งผลกระทบต่อประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ อย่างไรบ้าง ในแต่ละอุตสาหกรรมของไทยที่เกี่ยวข้องย่อมถูกกระทบมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตไทยมีจุดแข็งและมีความสามารถในการแข่งขัน เช่น กลุ่มอาหารแปรรูป ก็จะได้รับผลกระทบจากปัญหานี้น้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น สิ่งทอ หรือ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ที่น่าเป็นห่วง คือ ผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย SME รายเล็ก เช่น การแข่งขันด้านราคา กระแสสินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้ามาตีตลาดในประเทศไทยเป็นแรงกดดันบีบให้ราคาสินค้าที่ผลิตในไทยต้องลดต่ำลง ทำให้ผลกำไรของผู้ผลิตต้องลดลงตามไปด้วย รวมทั้งส่วนแบ่งการตลาดที่ลดลง จากการที่ผู้บริโภคของไทยหันไปซื้อสินค้าราคาถูกจากจีนมากขึ้นผ่านช่องทางและแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น สินค้าออนไลน์ และในระยะยาว หากผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้ ต้องปิดกิจการหรือปิดโรงงาน แรงงานไทยก็จะตกงานมากขึ้น 

ล่าสุด จากข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่ถูกกระทบจากสินค้าราคาถูกนำเข้าจากจีน ทำให้รัฐบาลไทยต้องออกมาตรการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในอัตรา 7% จากการนำเข้าสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท เพื่อหวังจะแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ขายในประเทศกับผู้ขายจากต่างประเทศ ซึ่งเดิมไม่มีการเก็บภาษี VAT ดังกล่าว

นอกจากประเทศไทย ยังมีประเทศใดในอาเซียนอีกบ้างที่ถูกกระทบจากสินค้าราคาถูกจากจีน แน่นอนว่า หลายประเทศในอาเซียน เช่น เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ได้แสดงความกังวลต่อสินค้าราคาถูกที่ล้นทะลักมาจากจีน ผู้ผลิตในประเทศเหล่านั้นต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด เช่น เหล็ก สิ่งทอ รัฐบาลบางประเทศในอาเซียนจึงได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในท้องถิ่นของตน เช่น อินโดนีเซียเพิ่งประกาศแผนที่จะใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ โดยการประกาศเก็บภาษีกับสินค้านำเข้า (Safeguard Duties) เพื่อปกป้องผู้ประกอบการธุรกิจ SME รายเล็ก เช่น รองเท้า สินค้าเซรามิก โดยเบื้องต้น อินโดนีเซียประกาศว่า จะเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ผลิตจากจีนอยู่ที่อัตรา 100-200%  

ที่สำคัญ หลายประเทศในอาเซียนประสบปัญหาขาดดุลการค้ากับจีน เช่น เวียดนามมีการขาดดุลการค้ากับจีนอย่างมหาศาล จนเกิดประเด็นกังวลว่า หากปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อในระยะยาว อาจจะส่งผลกระทบต่อทุนสำรองเงินตราและค่าเงิน เป็นต้น 

นอกจากนี้ หลายประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ เช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างก็กังวลว่า จีนกำลังนำผลผลิตที่ล้นเกินเร่งส่งออกไปตีตลาดโลกด้วยการลดราคาขายถูกลง และจะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตภายในประเทศของตนที่ไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจีนอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งมองว่า สินค้าจีนเหล่านั้นได้รับการอุดหนุนการส่งออกจากรัฐบาลจีน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ประเทศเหล่านี้จึงออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกีดกันการนำเข้าจากจีน เช่น สหรัฐฯ ประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ EV จีน จาก 27.5% เพิ่มเป็น 102.5% และสหภาพยุโรปประกาศเก็บภาษีรถยนต์ EV ที่ผลิตในจีนในอัตรา 37.6%

ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภครายได้ต่ำในหลายประเทศ เช่น แถบแอฟริกา และละตินอเมริกา ก็อาจจะได้รับประโยชน์จากสินค้าราคาต่ำที่นำเข้าจากจีนและจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่สามารถเข้าถึงสินค้าจีนที่ราคาถูกลง ตัวอย่างเช่น รถยนต์ EV จีนราคาไม่แพงในบราซิล เอื้อให้ผู้บริโภคชาวบราซิลได้รับประโยชน์จากการหันมาใช้รถยนต์ EV พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ในขณะนี้ บราซิลได้กลายเป็นผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า EV จากจีนรายใหญ่ที่สุดของโลก

ดังนั้น สินค้าจีนราคาถูกจากการผลิตล้นเกินจะส่งผลกระทบต่อประเทศต่าง ๆ อย่างไร มากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละภาคการผลิต แต่ละกลุ่มผู้บริโภค รวมทั้งโครงสร้างเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศนั้นๆ 

ในขณะนี้ ฝ่ายรัฐบาลจีนพยายามชี้แจงต่อความกังวลเรื่องกำลังการผลิตล้นเกินของจีน โดยให้เหตุผลว่า “เกิดจากกลไกตลาดในเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ และจากมุมมองด้านอุปสงค์ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Product) ในราคาที่เอื้อมถึงได้ที่ผลิตจากจีน จะช่วยส่งเสริมมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของผู้บริโภครายได้ต่ำในหลายประเทศ” โดยเฉพาะประเทศโลกขั้วใต้ (Global South)  

ในอีกมุมหนึ่ง การแข่งขันกับจีนจะสร้างแรงผลักดันให้ผู้ผลิตในประเทศต่าง ๆ ต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีขึ้น แรงกดดันจากจีนจะบีบให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นจะต้องคิดค้นสร้างสรรค์และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ รวมทั้งอัปเกรดกระบวนการผลิต เพื่อจะได้รักษาความสามารถในการแข่งขันต่อไป หากทำได้สำเร็จ จะทำให้สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สูงขึ้นต่อไป   

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวของภาคส่วนต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ และอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบทบาทและนโยบายของรัฐบาลในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสรุป ปัญหากำลังการผลิตที่ล้นเกินของจีนกลายเป็นประเด็นถกเถียงระดับโลก สามารถส่งผลกระทบทั้งเชิงลบและเชิงบวก บางคนอาจจะกังวลถึงผลกระทบต่อผู้ผลิตในท้องถิ่นที่แข่งขันไม่ได้ แต่ในอีกมุมมอง ก็จะเป็นโอกาสของผู้บริโภคที่จะมีทางเลือกในการซื้อสินค้าราคาถูกลง อย่างไรก็ดี หากเกิด ‘สงครามราคา’ แข่งขันกันลดราคาที่มากจนเกินไป หรือเน้นลดต้นทุนด้วยการลดคุณภาพสินค้าต่ำกว่ามาตรฐาน ก็จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้บริโภคได้เช่นกัน สำหรับผลกระทบในระยะยาวจะเป็นอย่างไร และภาครัฐจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร ยังคงต้องจับตากันต่อไป

'อ.พงษ์ภาณุ' ติง!! 'ภาครัฐ' ปกป้องอุตฯ ไทย จากสินค้าราคาถูกจีนล่าช้า สวนทาง 'ยุโรป-เมกา' เดินเกมเก็บภาษีขาเข้าป้องกันจีนทุ่มตลาดแต่เนิ่นๆ

(18 ส.ค.67) ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในมุมมองของ 'จีนทุ่มตลาดไทย?' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการเปิดเผยสถิติการค้าแบบทวิภาคี 'ไทย-จีน' ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งปรากฏว่าไทยขาดดุลการค้าจีนแบบวินาศสันตะโร ทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้น ประชาชนยังไม่มีอำนาจซื้อและยังต้องแบกรับหนี้ภาคครัวเรือนจำนวนมหาศาล

ขณะที่เศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเมื่อเดือนที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับการคาดการณ์อัตราเติบโตของ GDP ทั้งปีขึ้นเป็น 5% แม้ว่าการบริโภค/การลงทุนในประเทศยังทรงตัว อันเป็นผลมาจากภาคอสังหาริมทรัพย์จีนที่เกิดฟองสบู่แตกเมื่อหลายปีก่อน และยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวเท่าไหร่ แต่การขยายตัวของจีนขับเคลื่อนจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะการส่งออก ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเร็วผิดปกติอย่างมีนัยสำคัญ

เมื่ออุปสงค์ในประเทศยังไม่ฟื้น แน่นอนย่อมมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (Excess Capacity) ซึ่งหากสามารถผลักดันผลผลิตส่วนเกินนี้ออกสู่โลก แม้ว่าจะต้องกดราคาให้ต่ำเป็นพิเศษ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้สินค้าคงเหลือเหล่านี้สูญเปล่าไป ซึ่งจากรายงานมีการส่งออกผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดหลายประเทศในราคาต่ำกว่าตลาด

ประเทศตะวันตกหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป ได้รับผลกระทบจากสินค้าถูกจากจีนมาระยะหนึ่งแล้ว จึงได้มีการเก็บภาษีขาเข้าในรูปของ Anti-dumping Duty และ Countervailing Duty จากสินค้าจีน เพื่อป้องกันความเสียหายต่อผู้ประกอบการภายในประเทศจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่าอาจทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระสูงขึ้น

สำหรับประเทศไทย นอกจากจะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ในด้านนโยบายการค้า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ระบบภาษีอากรของไทย ยังเอื้อให้มีการเอาเปรียบผู้ประกอบการในประเทศอีกด้วย ดังนี้...

ประการแรก 'ไทย-จีน' เป็นเขตการค้าเสรีมาระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้น อุปสรรคการค้าทั้งในรูปของอากรขาเข้า และมิใช่อากร ที่พรมแดน ต้องเป็นศูนย์

ประการที่สอง รัฐบาล/กรมสรรพากรในอดีต มีการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แก่สินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาทต่อชิ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% โดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ วันนี้ได้รับรายงานว่า มีการยกเลิกข้อยกเว้นนี้ไปแล้ว

ประการที่สาม ภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยและของอีกหลาย ๆ ประเทศยังคงยึดมั่นในหลักสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment) และได้ยึดมั่นในหลักการนี้อย่างเคร่งครัดเสมอมาเป็นเวลากว่า 100 ปี จนการจัดเก็บภาษีเงินได้ปรับเปลี่ยนไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลก ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ภาษีไปจำนวนมากมายจากที่ควรจะจัดเก็บได้ เพราะการทำธุรกิจในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องทำในรูปของสถานประกอบการถาวร แต่อยู่ในรูปของ Platform Online ซึ่งจะมีสถานประกอบการอยู่ที่ไหนก็ได้ หรือจะบันทึกกำไรในเขตภาษีที่มีอัตราภาษีเงินได้ต่ำที่สุด จึงทำให้กิจการเหล่านี้มีความได้เปรียบเชิงภาษีเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในไทย

นอกจากนี้ ในด้านนโยบายการค้าและการพาณิชย์ นั้น หากทันทีที่มีเหตุต้องสงสัย ว่าสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศมีการทุ่มตลาดและ/หรือได้รับการอุดหนุนให้มีราคาขายต่ำกว่าต้นทุน กระทรวงพาณิชย์จะต้องรีบดำเนินการตามกระบวนการ Anti-dumping Duty และ/หรือ Countervailing Duty เช่นที่นานาประเทศเขาทำกันโดยทันที โดยไม่ต้องรอให้ความเสียหายปรากฏชัดเช่นในปัจจุบัน กรอบกฎหมายของประเทศไทยมีหมดอยู่แล้ว ขาดอยู่ก็เฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย

ที่พูดมาทั้งหมดไม่ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยใช้มาตรการกีดกันทางการค้า (Protectionist Measures) ในทางตรงกันข้าม เราอยากเห็นการค้าเสรีที่อยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรม (Free and Fair Trade) หากรัฐดูแลให้กรอบการแข่งขันมีความเป็นธรรม แล้วผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถแข่งขันได้ ก็สมควรไปขายเต้าฮวยดีกว่า

'ดร.สันติธาร' วิเคราะห์!! '6 แม่น้ำ + 1 ต้นน้ำ' ชนวนปัญหาสินค้าจีนราคาถูกทะลักไทย

(22 ส.ค.67) ดร.สันติธาร เสถียรไทย หรือ ต้นสน นักเศรษฐศาสตร์ การเงิน ผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซชื่อดัง บุตรชาย นายสุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงเหตุผลที่สินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้าไทยในปัจจุบัน ว่า...

หากเปรียบปัญหาสินค้านำเข้าราคาถูกทะลักเข้าไทยเสมือน ‘ปัญหาน้ำท่วม’ การจะแก้ปัญหาอาจต้องเริ่มจากการเข้าใจว่าทำไม ‘น้ำ’ (สินค้าจากจีน) ถึงล้นและ น้ำเหล่านี้ไหลผ่าน ‘แม่น้ำ’ (ช่องทางการขาย) สายไหนบ้างมาที่ไทย 

ในฐานะคนที่เคยทำงานในธุรกิจแพลตฟอร์มและวิเคราะห์การค้า-การลงทุนระหว่างประเทศมานาน วันนี้ อยากชวนแกะประเด็นใหญ่ของประเทศนี้ที่ผมคิดว่ามีความซับซ้อนสูง เพราะมีหลายปัญหาถูกมัดรวมอยู่ด้วยกัน 

เริ่มจาก 6 แม่น้ำที่เป็นเส้นทางสำคัญที่สินค้าไหลเข้าประเทศ...

1) Trader คนไทย (Offline/Online) - ผู้ขายไทยนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อขายในร้านค้าทั่วไปในไทยหรือ ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee Lazada และ Tiktok เพื่อขายให้ผู้บริโภคไทย

ผลกระทบ: อาจมีผลเสียต่อผู้ผลิตในประเทศ เพราะต้องแข่งกับสินค้านำเข้าราคาถูก แต่อย่างน้อยรายได้ยังอยู่กับคนไทยที่นำสินค้าเข้ามาขาย 

2) Crossborder sellers - ผู้ขายในต่างประเทศใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่าง ๆ เพื่อขายตรงให้กับผู้บริโภคไทยโดยไม่ต้องจดทะเบียนในประเทศ

ผลกระทบ: เพราะผู้ขายไม่ได้อยู่ในประเทศอาจสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายและภาษีไทย ทำให้ได้เปรียบผู้ขายในประเทศ

3) Trader ต่างชาติแปลงตัวเป็นไทย - ผู้ขายต่างชาติ เปิดธุรกิจและร้านค้าออนไลน์ในไทย แต่ส่วนใหญ่ขายสินค้านำเข้าจากจีน 

ผลกระทบ: ผู้ขายต่างชาติในร่างไทยเหล่านี้ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายและมักหลีกเลี่ยงภาษี ทำให้เกิดความได้เปรียบเหนือธุรกิจในท้องถิ่นในหลายมิติ (และปัญหานี้ก็ไม่ได้อยู่แต่ในภาคการค้าเท่านั้น แต่กระทบหลายอุตสาหกรรมเลย)

4) Factory2consumer โมเดล - แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเช่น Temu อาจช่วยให้โรงงานในจีนสามารถ bypass ร้านค้า ขายตรงให้กับผู้บริโภคไทย ถือเป็นรูปแบบใหม่ล่าสุด

ผลกระทบ: เพราะผู้ขายไม่ได้อยู่ในประเทศ อาจสามารถหลีกเลี่ยงกฎหมายและภาษีไทย ทำให้ได้เปรียบผู้ขายในประเทศ และสามารถขายได้ในราคาถูกมาก นอกจากนี้การควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการอาจยากยิ่งขึ้นเพราะไม่มี 'ผู้ขาย' ชัดเจน 

โจทย์สำคัญ: จะสังเกตได้ว่าปัญหาสำคัญของช่องทาง 2-4 คือการไม่บังคับใช้กฎกติกาที่มีของไทย ทั้งเรื่องมาตรฐานสินค้า ภาษีต่าง ๆ ฯลฯ กับคนขายต่างชาติ ทั้งที่อยู่ในประเทศและนอกประเทศ (Crossborder) กลายเป็นว่าทำให้กฎกติกาของไทยทำให้คนไทยเสียเปรียบเสียเอง 

หัวใจคือ อย่างน้อยควรสร้าง Level playing field ทางกฎกติกา ด้วยการบังคับใช้กฎหมายของไทยที่มีอยู่แล้วกับธุรกิจและคนขายต่างชาติที่อยู่ในและนอกประเทศทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค, ภาษี และพรบ.ธุรกิจต่างด้าว 

เท่าที่ผมเข้าใจบางส่วนเป็นปัญหาเรื่องช่องโหว่ทางกฎหมายที่ต้องมีการอุดรอยรั่ว แต่บางส่วนเป็นแค่เรื่องการบังคับใช้กฎที่มีอยู่แล้ว แต่ขอยังไม่ลงรายละเอียดตรงนี้

5) China +1 โมเดล - สงครามการค้า ทำให้บริษัทข้ามชาติเปลี่ยนยุทธศาสตร์จากที่เคยส่งออกจากโรงงานในจีนไปอเมริกาตรง เปลี่ยนเป็นส่งจากจีนมาไทยก่อนแล้วค่อยไปอเมริกา ในกรณีนี้ไทยนำเข้าวัตถุดิบหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากจีน เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ 

ผลกระทบ: การนำเข้าประเภทนี้ ส่งผลให้เกิดการขาดดุลการค้ากับจีนก็จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นการส่งออกไปยังตลาดอื่น ๆ อาจทำให้เกินดุลกับประเทศอื่น ๆ มากขึ้น (เช่น สหรัฐฯ) จึงไม่ควรดูแต่ดุลการค้าไทย-จีนเท่านั้น อาจได้ภาพไม่ครบ และหากกีดกันสินค้าประเภทนี้ อาจมีต้นทุนกับผู้ผลิตในประเทศไทยสูง

โจทย์สำคัญ: ในอนาคตต้องพยายามดึงการผลิตให้มาอยู่ในประเทศให้มากที่สุดและพัฒนาศักยภาพแรงงาน ให้สร้าง Value added ได้มากขึ้น จะได้ลดการนำเข้า, เพิ่มมูลค่าให้การส่งออก, สร้างงาน-รายได้ในประเทศ (เช่น อุตสาหกรรมนิกเกิลในอินโดนีเซีย) 

6) แพลตฟอร์มต่างชาติ - แพลตฟอร์มเป็นของคนสัญชาติใด จดทะเบียนในไทยหรือไม่?

เรื่องนี้ชอบถูกผสมเข้าไปกับประเด็นที่ว่าคนขายเป็นคนไทยหรือเปล่า และ ผู้ผลิตสินค้าอยู่ในไทยหรือเปล่า ซึ่งล้วนแต่เป็นคนละประเด็นกัน 

โจทย์สำคัญ: ความจริงประเด็นอาจไม่ได้อยู่ที่แพลตฟอร์มเป็นสัญชาติไหน เพราะแพลตฟอร์มไทยก็อาจนำสินค้าเข้าจากจีนหากต้นทุนถูกกว่าผลิตเอง และแพลตฟอร์มต่างชาติก็มีคนขายสัญชาติไทย 

หัวใจ คือไม่ว่าเป็นแพลตฟอร์มสัญชาติไหนหากมีธุรกิจในไทยก็ควร

- ปฏิบัติตามกฎหมายไทย
- จ่ายภาษีในไทย 
- และจะให้ดีต้องช่วยพัฒนา SME ไทยด้วย 

โดยเราควรเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ใช้แพลตฟอร์มต่างชาติที่มีสาขาในหลายประเทศเป็นช่องทางช่วยส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทย พัฒนา SME ให้กลายเป็น Exporter ได้เจาะตลาดใหม่ ๆ อย่างที่หลายประเทศก็ทำมาแล้ว 

แต่ประเด็นที่แก้ยากที่สุดและเป็น 'ต้นน้ำ' ของปัญหาก็คือ สภาวะกำลังผลิตเกินในประเทศจีน (Oversupply/Overcapacity) - ทำให้ต้องระบายส่งออกสินค้าในราคาถูกสู่โลก ซึ่งทำให้ไปแข่งกับสินค้าส่งออกไทยในตลาดอื่นอีกด้วย

เสมือนน้ำที่ล้นเขื่อน ต่อให้เราพยายามกั้นแม่น้ำต่างๆ สุดท้ายน้ำก็จะไหลมาอยู่ดีในช่องทางใหม่ ๆ ต่อให้ปิดรูรั่วทางกฎหมายที่ไม่เท่าเทียม ก็ต้องยอมรับว่าหลายสินค้าจากจีน ก็อาจจะต้นทุนถูกกว่าไทยอยู่ดี

เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับโลกที่ไม่ได้แก้ได้ง่าย ๆ หลายธุรกิจหาตลาดส่งออกใหม่, สร้างแบรนด์, และ ขยับขึ้น Value Chain เพื่อไม่ต้องแข่งกับสินค้าราคาถูกโดยตรง แต่แน่นอนไม่ใช่ทุกคนทำได้ ส่วนบางประเทศเลือกใช้กำแพงภาษีหรือมาตรการป้องกันการทุ่มตลาดในบางสินค้า แต่ก็ต้องระวัง เพราะหากทำผิดพลาดอาจเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ธุรกิจในประเทศและทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นอีก

ขอส่งท้ายว่าในบทความสั้น ๆ คงไม่สามารถพูดถึงการแก้ปัญหาอย่างลงลึก แต่ที่แน่ ๆ นี่คงไม่ใช่ปัญหาที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งจะแก้ได้ แต่ต้องร่วมมือกันหลายหน่วยงานและมียุทธศาสตร์ระดับประเทศที่ชัดเจน

ปล.บทความนี้ไม่ได้ต้องการจะกล่าวโทษประเทศใดเป็นพิเศษเพราะปัญหานี้อาจมาจากประเทศไหนก็ได้ และหลายข้อก็เป็นปัญหาที่ประเทศเราต้องรีบแก้ไขที่ตัวเราเอง

'จีน' กระตุ้น!! สหรัฐฯ ยกเลิก 'ภาษีนำเข้าเพิ่มเติม' สินค้าจีนทั้งหมด เพราะขัดต่อกฎของ WTO และอาจทำให้สถานการณ์ย่ำแย่กว่าเดิม

(6 ก.ย.67) สำนักข่าวซินหัว เผย กระทรวงพาณิชย์ของจีน ระบุว่า สหรัฐฯ ควรแก้ไขข้อผิดพลาดของตนและยกเลิกภาษีนำเข้าเพิ่มเติมต่อสินค้าจีนทั้งหมดทันที

เหอหย่งเฉียน โฆษกกระทรวงฯ กล่าวระหว่างตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับประเด็นที่สหรัฐฯ เลื่อนการประกาศตัดสินใจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนภายใต้มาตรา 301 ออกไปอีกครั้ง

ทั้งนี้องค์การการค้าโลก (WTO) ได้ตัดสินแล้วว่า ภาษีนำเข้าตามมาตรา 301 นั้นขัดต่อกฎระเบียบขององค์การฯ ซึ่งเหอระบุว่า การที่สหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติม มีแต่จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่กว่าเดิม

ก่อนหน้านี้ หน่วยงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้ขอความเห็นจากสาธารณชนเกี่ยวกับผลการพิจารณาภาษีนำเข้าตามมาตรา 301 ซึ่งเสียงส่วนใหญ่คัดค้านต่อการขึ้นภาษีนำเข้าเพิ่มเติมหรือขอยกเว้นภาษีในวงกว้างขึ้น โดยเหอระบุว่า ความเห็นเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการขึ้นภาษีภายใต้มาตรา 301 ไม่เป็นที่นิยมในหมู่สาธารณชนในสหรัฐฯ

ทรัมป์เปิดฉากขึ้นภาษีสินค้าจีน 10% ปักกิ่งเอาคืนหนักเก็บ 15% พร้อมคุมส่งออกแร่หายาก

(4 ก.พ. 68) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับมาปะทุอีกครั้ง หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด ขณะที่จีนตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีกับสินค้าสหรัฐฯ และจำกัดการส่งออกแร่หายาก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

โดยมาตรการภาษีใหม่ของทรัมป์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 00:01 น. ตามเวลาฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ของวันที่ 4 ก.พ.โดยทรัมป์ให้เหตุผลว่าจีนไม่จริงจังในการสกัดกั้นการนำเข้าเฟนทานิล ซึ่งเป็นตั้งต้นสารเสพติดที่สร้างปัญหาในสหรัฐฯ อย่างหนัก โดยทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี 10% กับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากจีน

ส่งผลให้ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที กระทรวงการคลังของจีนประกาศมาตรการตอบโต้ โดยเรียกเก็บภาษี 15% สำหรับถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ รวมถึงภาษี 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรทางการเกษตร และรถยนต์บางประเภท โดยมาตรการนี้จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์

นอกจากการขึ้นภาษีสินค้าแล้ว จีนยังเปิดฉากโจมตีบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ โดยเริ่มสอบสวนการผูกขาดของ Alphabet Inc. บริษัทแม่ของ Google พร้อมทั้งเพิ่มบริษัท PVH Corp. ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์แฟชั่นชื่อดังอย่าง Calvin Klein และ Illumina บริษัทไบโอเทคของสหรัฐฯ เข้าใน "บัญชีหน่วยงานที่ไม่น่าเชื่อถือ"

ขณะเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์และกรมศุลกากรของจีนประกาศควบคุมการส่งออกแร่หายากสำคัญ เช่น ทังสเตน เทลลูเรียม รูทีเนียม และโมลิบดีนัม อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของชาติ ซึ่งอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาดทั่วโลก เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตแร่หายากรายใหญ่

สงครามการค้าระหว่างสองมหาอำนาจเศรษฐกิจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากทรัมป์ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีกับสินค้าจากแคนาดาและเม็กซิโกออกไปอีก 30 วันเพื่อแลกกับมาตรการคุมเข้มชายแดนของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังเตือนว่าอาจเพิ่มภาษีจีนอีกหากจีนไม่หยุดการส่งออกเฟนทานิลมายังสหรัฐฯ

จีนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยยืนยันว่าปัญหายาเสพติดเป็นเรื่องภายในของสหรัฐฯ และเตรียมยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) แต่ในขณะเดียวกันก็ยังเปิดโอกาสให้มีการเจรจา

การปะทะกันทางเศรษฐกิจครั้งนี้สร้างความผันผวนให้ตลาดการเงินทันที โดยตลาดหุ้นฮ่องกงร่วงลง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่เงินหยวนของจีนอ่อนค่าลง กดดันค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียให้ลดลงตามไปด้วย

นักวิเคราะห์จาก Oxford Economics เตือนว่าการตอบโต้ครั้งนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในรอบใหท่ และสหรัฐฯ อาจเพิ่มอัตราภาษีต่อจีนอีกหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ว ๆ นี้


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top