Monday, 20 May 2024
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

สานพลังความร่วมมือ EEC Automation Park ปั้นโรงงาน 4.0 นำร่องผู้ประกอบการ 200 แห่ง ดึงดูดการลงทุน

อีอีซี จับมือ มิตซูบิชิและพันธมิตรเครือข่าย สานพลังความร่วมมือ ไทย-ญี่ปุ่น ในงาน EEC connecting Thailand and Japan Collaboration 2021 เดินหน้าอีอีซี ออโตเมชั่น พาร์ค ดึงผู้ประกอบการในพื้นที่กว่า 200 ราย นำร่องสู่อุตสาหกรรม 4.0 พร้อมสร้างบุคลากรรองรับ 15,000 คนใน 5 ปี ยกระดับให้ไทยก้าวสู่ยุคใช้นวัตกรรมขั้นสูง

(29 ก.ย. 64) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี ร่วมกับ บริษัท มิตซูบิชิ อิเลคทริก EEC Automation Park และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่น จัดงาน EEC connecting Thailand and Japan Collaboration 2021 "Digital Manufacturing Platform" แสดงความพร้อมของ EEC Automation Park ที่จะเป็นฐานสำคัญ ขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ อีอีซี ก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะ ตอบโจทย์การพัฒนากระบวนการผลิตที่ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่า สร้างทักษะแรงงานอย่างเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน

โดยมี ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี, ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร (EEC HDC), นายอัทสึชิ ทาเคทานิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JETRO ร่วมกล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ที่ปรึกษาพิเศษด้านพัฒนาการศึกษา บุคลากรและเทคโนโลยี สกพอ., นายวิเชียร งามสุขเกษมศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค แฟคทอรี่ ออโตเมชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และ ดร.ไพบูลย์ ลิ้มปิติพานิชย์ ผู้อำนวยการ EEC Automation Park และผู้ประกอบการญี่ปุ่นในไทยที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 200 ราย เข้าร่วมงาน

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ อีอีซี กล่าวว่า การจัดงานฯ ครั้งนี้ แสดงถึงความสัมพันธ์และเข้มแข็งของภาคเอกชนญี่ปุ่นในพื้นที่ อีอีซี ที่มีมายาวนาน และยังคงต่อเนื่องเดินหน้ายกระดับการผลิตภาคอุตสาหกรรมแบบดิจิทัล (Digital Manufacturing Platform) แม้จะเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 ซึ่งนำโดย บ. มิตซูบิชิฯ ที่ริเริ่มแนวคิด e-F@ctory Alliance พร้อมพันธมิตรเครือข่ายร่วมพัฒนา EEC Automation Park ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยบูรพา ให้เป็นฐานหลักขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ Robotics & Automation สร้างความเชื่อมโยง Ecosystem เอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมพัฒนาและปรับตัวไปสู่โรงงานอัจฉริยะใช้นวัตกรรมนำการผลิต เกิด Industry 4.0 ขึ้นจริงในพื้นที่ อีอีซี ดึงดูดเงินลงทุนนวัตกรรมขั้นสูงจากนักลงทุนทั่วโลก

โดยคาดว่า การลงทุนด้านหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ (Robotics & Automation) เป็นเครื่องมือสำคัญให้ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต ซึ่งคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้า จะเกิดการลงทุนสูงถึง 500,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนในพื้นที่ อีอีซี ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท/ปี โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายให้โรงงานในอีอีซี เริ่มประยุกต์ใช้เตรียมความพร้อมสำรวจการออกแบบระบบและเชื่อมหาแหล่งทุนได้ไม่น้อยกว่า 200 แห่ง และตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะสามารถปรับสู่โรงงานอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง Digital Manufacturing 4.0 ไม่น้อยกว่า 10,000 โรงงาน ยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก ยกระดับรายได้แรงงานไทย ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างสมดุลและยั่งยืน   


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top