Saturday, 10 May 2025
สานสัมพันธ์ไทยซาอุฯ

Saudi Aramco บริษัทพลังงาน (มหาชน) อันดับหนึ่งของโลก วิสาหกิจของซาอุฯ ที่ ‘พีระพันธุ์’ นำคณะไปสานความสัมพันธ์

เมื่อวันที่ 15-17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ได้นำคณะข้าราชการและผู้เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานของไทยไปเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อ...

(1) กระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ 

(2) หารือในประเด็นความร่วมมือต่างๆ ที่สำคัญ ตามที่มีความตกลงร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยโดยกระทรวงพลังและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุนด้านพลังงานเพื่ออนาคตคือ ก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งปัจจุบันได้ริเริ่มความร่วมมือผ่านการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการพัฒนาโครงการไฮโดรเจนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hydrogen) ในไทย รวมทั้งโครงการ Downstream partnership ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ปตท. และ Saudi Aramco บริษัทด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกของซาอุดีอาระเบีย ที่ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสํารวจศักยภาพความร่วมมือด้านพลังงานและการลดคาร์บอน ซึ่งจะช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมและปิโตรเคมีร่วมกันในภูมิภาค

นอกจากนั้นแล้ว ‘รองพีร์’ ยังได้หารือกับซาอุดีอาระเบียในเรื่องของราคาน้ำมัน โดยหลังจากระบบการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของไทยเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะสามารถจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงราคามิตรภาพจากซาอุดีอาระเบีย เพื่อเก็บสำรองไว้ในคลัง SPR เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 50-90 วันต่อไป 

ทั้งนี้ ฝ่ายซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนำโดยเจ้าชาย Abdulaziz bin Salman Al Saud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้การต้อนรับคณะของ ‘รองพีร์’ เป็นอย่างดียิ่ง พร้อมทั้งจัดเครื่องบินพิเศษให้ ‘รองพีร์’ และคณะได้ไปเยี่ยมชมการทำงานของ ‘Saudi Aramco’ บริษัทพลังงาน (มหาชน) อันดับหนึ่งของโลก ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เมือง Dhahran จังหวัดตะวันออก (Eastern Province) ซึ่งรัฐบาลซาอุดีอาระเบียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ (90.19%) กองทุนการลงทุนมหาชน (Public Investment Fund) 4% และ Sanabil 4% 

Saudi Aramco มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Saudi Arabian Oil Group หรือเรียกสั้นๆ ว่า Aramco (ชื่อเดิมคือ Arabian-American Oil Company) เป็น บริษัทปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ที่รัฐบาลซาอุดีอาระเบียเป็นเจ้าของ ถือเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย ในปี 2022 Saudi Aramco เป็นบริษัทที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเมื่อวัดจากรายได้ โดย Saudi Aramco ถือครองน้ำมันดิบสำรองมากเป็นอันดับสองของโลก มีปริมาณมากกว่า 270 พันล้านบาร์เรล (43 พันล้านลูกบาศก์เมตร) และเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายวันที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาบริษัทผู้ผลิตน้ำมันทั้งโลก 

นอกจากนี้ Saudi Aramco ยังมีการดำเนินธุรกิจมากมายทั่วโลก ธุรกิจของบริษัทประกอบด้วย การสำรวจ การผลิต การกลั่น ปิโตรเคมีภัณฑ์ การจัดจำหน่าย และการตลาด ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงพลังงาน โดยกิจกรรมทั้งหมดของบริษัทจะถูกกำกับดูแลและตรวจสอบโดยกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียร่วมกับสภาสูงสุดด้านปิโตรเลียมและเหมืองแร่ อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบีย ก็มีบทบาท อำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบใน Saudi Aramco มากกว่าสภาฯ 

Saudi Aramco มีมูลค่าบริษัทกว่า 7.6 ล้านล้านริยาล (หรือประมาณ 73 ล้านล้านบาท) และติดอันดับ 4 บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เป็นรองเพียงบริษัทอเมริกันอย่าง Microsoft, Apple และ Nvidia ตามข้อมูลเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2024 เป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในโลกที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 90 ปี โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1933 ที่ซาอุดีอาระเบียเซ็นสัญญาให้สัมปทานบ่อน้ำมันกับบริษัทน้ำมันสหรัฐฯ Standard Oil Company of California (SOCAL) หรือ Chevron ในปัจจุบัน 

ด้วยต้นทุนการผลิตน้ำมัน 1 บาร์เรลของ Saudi Aramco นั้นอยู่ที่ประมาณ 5-6 USD ต่อบาร์เรล ซึ่งต่ำกว่าต้นทุนการผลิตในสหรัฐฯ ถึง 10 เท่า ในฐานะบริษัทผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลกที่ส่งออกน้ำมันปริมาณมหาศาล จึงแตกต่างไปจากบริษัทน้ำมันส่วนใหญ่ โดยไม่จำเป็นต้องยึดราคาจำหน่ายที่อิงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก สามารถคุมราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ด้วยการเพิ่มหรือลดอุปทานอย่างรวดเร็ว และส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกอย่างรวดเร็วเช่นกัน ในปี 2023 Saudi Aramco ได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ว่าเป็นบริษัทที่สามารถทำกำไรได้มากที่สุดในโลก

ในปี 2022 ยอดเงินในการลงทุน Saudi Aramco อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้น 18% จากปี 2021 โดยประมาณการลงทุนของบริษัทฯ ในปี 2023 อยู่ที่ราว 4.5-5.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (หรือประมาณ 1.6-1.9 ล้านล้านบาท) รวมการลงทุนนอกประเทศแล้ว 

ด้วยความแข็งแกร่งและมั่งคั่ง รวมทั้ง Saudi Aramco เอง ก็มีความสนใจในการลงทุนนอกประเทศอยู่แล้ว โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กอปรกับมีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียจนกลับมาสู่สภาวะปกติ จึงทำให้ ‘รองพีร์ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ใช้ความพยายามโน้มน้าวและชักจูงอย่างเต็มที่เพื่อให้ Saudi Aramco ได้เพิ่มการลงทุนในบ้านเรา โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมในด้านพลังงานใหม่ 

โดยการหารือพูดคุยระหว่าง ‘รองพีร์’ กับเจ้าชาย Abdulaziz bin Salman Al Saud รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ถือว่าเป็นไปได้ด้วยดี ได้รับการสนองตอบด้วยท่าที และมิตรภาพอันดียิ่ง 

ดังนั้นการเยือนซาอุฯ ของ 'รองพีร์' ในครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีมากของไทย ทั้งในด้านความร่วมมือระหว่างกัน และด้านการลงทุนในไทยจากนักลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย ซึ่งนับว่าเป็นข่าวที่ดีมากๆ สำหรับเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในอนาคต


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top