Saturday, 27 April 2024
สะพานมิตรภาพ

'สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา' ยุทธศาสตร์เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ สร้างมูลค่าการค้ามหาศาลต่อไทย ใต้รัฐบาลที่ถูกตราหน้าว่า 'เผด็จการ'

ไม่รู้ว่าคนไทยจะทราบกันหรือไม่ว่า 'สะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา' แห่งที่ 2 ถือเป็นโครงการที่สร้างมูลค่าการระหว่างประเทศระหว่างไทยกับเมียนมา ผ่านด่านชายแดนถาวรแม่สอดให้กับประเทศไทยในปีที่ผ่านมาสูงถึง 105,426 ล้านบาทนั้น ซึ่งถูกผลักดันมาจากรัฐบาลที่ตอนนั้นใครๆ เรียกว่า 'เผด็จการ' 

เอย่าจำได้ว่า ตอนนั้นรัฐบาลเผด็จการมีวิสัยทัศน์และมองการณ์ไกลถึงการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ โดยหวังให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมทั้งทางบก, น้ำ และอากาศ ในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียในอนาคต ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ให้มีการเชื่อมโยงด้านระบบโลจิสติกส์ทั้งระบบเป็นแบบ 'ไร้รอยต่อ' หรือที่เรียกว่า Seamless Connectivity

แต่ก่อนอื่น เอย่าขอเล่าถึงปฐมบทของเรื่องราวนี้ก่อน โดยขอย้อนกลับไปในสมัยยุคที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ซึ่งในช่วงเวลานั้น 'นายอลงกรณ์ พลบุตร' ได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยกระทรวงพาณิชย์ และมีการลงพื้นที่สำรวจและประชุมร่วมกันกับ หอการค้าจังหวัดตาก และหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 2 อยู่หลายรอบ เพื่อการริเริ่มโครงการสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 เป็นผลสำเร็จ อันเนื่องมาจากมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเมียนมา ณ ชายแดนแม่สอด -เมียวดี เจริญเติบโตขึ้นทุกๆ ปี อาจส่งผลทำให้เกิดความหนาแน่นจากรถบรรทุกที่ข้ามสะพานแห่งที่ 1 ได้ จนทำให้การจอดรอของรถบรรทุกต่างๆเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรในตัวเมืองแม่สอด ที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรในตัวเมืองแม่สอด

อย่างไรก็ตาม โครงการการก่อสร้างสะพานฯ และ ถนนเลี่ยงเมือง ก็ได้หยุดชะงักลง พร้อมกับการยุบสภาของ 'นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' ในตอนนั้น กลับกันตลอด 3 ปีที่ได้มีการเปลี่ยนขั้วอำนาจมาเป็น 'พรรคเพื่อไทย' ก็ไม่ได้มีการพัฒนาโครงการนี้ต่อ ด้วยสาเหตุทางการเมือง เพราะพื้นที่จังหวัดตากไม่ใช่พื้นที่คะแนนเสียงหรือฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งมาถึงวันเกิดรัฐประหารขึ้น โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 

ทว่า หลังจาก 2 เดือนของการรัฐประหาร รัฐบาล คสช.ในขณะนั้น ได้มีการส่งทีมเศรษฐกิจของ คสช. เข้ามาลงพื้นที่สำรวจและพูดคุย จึงได้เริ่มมีการปัดฝุ่นโครงการสะพานมิตรภาพ ไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 กลับมาอีกครั้ง และครั้งนี้จากการร่วมผลักดันของหอการค้าจังหวัดตากและจังหวัดตาก รวมถึงการใช้ ม.44 ในเวลานั้น ทำให้รัฐบาล คสช. ได้จัดสรรงบประมาณ เพื่อเริ่มโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 นี้ขึ้นมาใหมา โดยได้เริ่มก่อสร้างในเดือนกันยายน พ.ศ. 2558 และแล้วเสร็จเดือนมีนาคม พ.ศ. 2562

เวลาเปลี่ยน เมืองไทยเปลี่ยน: สะพานมิตรภาพ ไทย - กัมพูชา

สะพานมิตรภาพ ไทย - กัมพูชา บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท เป็นการเปิดเส้นทางเชื่อมต่อแห่งใหม่ เชื่อมสระแก้วสู่กัมพูชา แก้ปัญหาจราจรหน้าด่านโรงเกลือ พร้อมขยายด่านผ่านแดน ศูนย์เปลี่ยนถ่าย และตรวจสินค้ารองรับการค้าระหว่างประเทศในอนาคต

สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 คืบหน้า 82.5%  คาด!! พร้อมเปิดให้บริการ ภายในปี 2567

(19 ก.ค. 66) สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยทั้ง 4 มิติ (บก ราง น้ำ และอากาศ) ให้เชื่อมโยงการเดินทางสู่ภูมิภาคอาเซียนอย่างไร้รอยต่อ ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สามารถเข้าถึงการเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ด้วยระบบการคมนาคมขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จึงได้เร่งขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5  เชื่อมระหว่างบึงกาฬ และแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว ซึ่งมีความคืบหน้ามาโดยลำดับ แม้จะต้องเผชิญกับอุปสรรคจากวิกฤติโควิด แต่ล่าสุด โครงการมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 82.550% คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการประชาชนของทั้งสองประเทศได้ในปี 2567

สำหรับโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ได้มีมติอนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 ในปี 2562 

ต่อมาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 พล.อ.ประยุทธ์ได้เข้าร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5  ที่อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ และแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว

รูปแบบการก่อสร้างของโครงการนี้ กรมทางหลวงออกแบบเป็นสะพานขึงคอนกรีตอัดแรงรูปกล่อง ขนาด 2 ช่องจราจร ความยาว 1,350 เมตร พร้อมอาคารด่านพรมแดนสำหรับกระบวนการข้ามแดน และถนนเชื่อมต่อโครงข่ายของทั้งสองฝั่ง โครงการมีระยะทาง 16.18 กม. วงเงิน 4,010.067 ล้านบาท โดยฝ่ายไทยมีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 2,630 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท และค่าควบคุมงานก่อสร้าง 77 ล้านบาท) ฝั่ง สปป.ลาว โดยกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง (MPWT) เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ วงเงิน 1,380.067 ล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบา ท ค่าที่ปรึกษา 44 ล้านบาท ค่าบริหารจัดการ 15 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด 63 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมบริหารของ สพพ. 2.067 ล้านบาท)

ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นประตูเชื่อมโยงระหว่างไทย-ลาว-เวียดนาม และมณฑลกว่างสีของประเทศจีน เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทย กับ สปป.ลาว ทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดในจีนตอนใต้ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคกลางของ สปป.ลาว สู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย เพื่อส่งออกทางทะเลต่อไปยังภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน

‘นายกฯ’ เล็งปั้น ‘ศุลกากรหนองคาย’ สู่ ‘One Stop Service’ จ่อถกผู้นำลาว เล็งผุด ‘สะพานมิตรภาพ 2’ เชื่อมขนส่งถึงจีน

(29 ต.ค. 66) ที่สำนักงานศุลกากรหนองคาย อำเภอเมืองหนองคาย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมติดตามประเด็นปัญหาการส่งออก ขั้นตอนพิธีการศุลกากร การค้าชายแดนและการพัฒนา One Stop Service ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสาธารณรัฐประชาชนจีน มีหัวหน้าส่วนราชการ และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายเศรษฐา กล่าวว่า ตนเดินทางมา จ.หนองคาย เป็นครั้งที่ 2 โดยหนองคาย เป็นจังหวัดยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนดไว้ให้เป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงโลจิสติกส์จากไทยไปจีน และจากการพบกับ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงนายกรัฐมนตรีจีน พบว่าต้องการสินค้าการเกษตรอย่างมาก

ดังนั้น เรื่องระบบขนส่งจึงสำคัญ และ จ.หนองคาย ถือเป็นจุดสำคัญที่มีความพร้อมมาก มีนิคมอุตสาหกรรม แต่ที่ผ่านมาหยุดแค่ จ.หนองคายหรือฝั่งลาว จึงต้องสร้างสะพานอีกแห่งหนึ่งใน จ.หนองคาย และทำเป็นจุดวันสต็อปเซอร์วิส และอยากให้ศุลกากรเป็นเจ้าภาพเรื่องวันสต็อปเซอร์วิส และใน จ.หนองคาย เป็นต้นแบบแรก

โดยให้ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข และตม.หากเราทำให้การค้าขายไม่เดินหน้าจะลำบาก ทั้งนี้ในวันที่ 30 ต.ค.นี้ ตนจะเดินทางไปพบผู้นำ สปป.ลาว จะพูดคุยในเรื่องทำสะพานมิตรภาพ 2 ในจ.หนองคาย เพื่อให้เราสามารถส่งสินค้าไปถึงจีนได้ ฉะนั้นหน่วยงานในพื้นที่ถ้าติดขัดตรงไหนขอให้บอกมา หากลงทุนแสนล้านแต่ไม่มีความต่อเนื่องในแง่ขนถ่ายสินค้า ลงทุนไปก็จะเสียหายเยอะ

นายเศรษฐา กล่าวว่า วันนี้โลกพัฒนาไปมาก ใครจะมาลงทุนต้องดูหลายๆด้าน ถ้าเข้าจะมาลงทุนแล้วติดปัญหาเยอะก็ไม่ดี ส่วนเรื่องการท่องเที่ยว ไทยขยายได้เยอะ และอยากจะขยายงานแบบนี้ไปอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ ตามนโยบายหลักของรัฐบาล ดังนั้น ควรทำประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อทำให้การท่องเที่ยวเมืองรองดีขึ้น


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top