Thursday, 16 May 2024
สสว

สสว. จับมือพันธมิตรภาคเอกชน เสริมแกร่ง SME ดันองค์กรที่มีความหลากหลาย เป็นคู่ค้ายูนิลีเวอร์

สสว. จับมือ SME D Bank และภาคเอกชน ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ กูเกิล ประเทศไทย และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมสร้างโครงการส่งเสริมธุรกิจ SME ที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นเกิน 51% มีความหลากหลายในองค์กร ผลักดันให้เป็นซัพพลายเออร์ของยูนิลีเวอร์ในอนาคต

สสว. จับมือ ธพว. และภาคเอกชน ได้แก่ ยูนิลีเวอร์ กูเกิล ประเทศไทย และ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme หรือ UNDP) ร่วมเป็นพันธมิตรเพื่อส่งเสริมธุรกิจ SME ที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการผู้หญิง กลุ่ม LGBTQI+ ผู้พิการ หรือกลุ่มชาติพันธุ์เป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นร้อยละเกิน 51 ของผู้ถือหุ้นหลัก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ โดยให้โอกาสในการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาซัพพลายเออร์ 

โดยมีผู้ประกอบการมากกว่า 100 ราย ตอบรับเพื่อเข้าร่วมโครงการ และได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เพื่อต้อนรับผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการสู่การฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะและศักยภาพการทำธุรกิจ ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ความรู้ในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรเพื่อความหลากหลาย ความรู้ทางด้านดิจิทัล และการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเตรียมผู้ประกอบการสำหรับโลกแห่งการทำงานในอนาคต ตลอดช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ ผ่านช่องทางการอบรมออนไลน์ และเมื่อผ่านการอบรม จะสามารถเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกเพื่อเป็นซัพพลายเออร์ของยูนิลีเวอร์ต่อไป

‘สสว.’ ชู ‘SME Restart’ ขานรับเปิดประเทศ ดัน 5 องค์ความรู้ท่องเที่ยววิถีใหม่

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยว่า ปลายปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา สสว. ได้ดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ (SME Restart) ปีงบประมาณ 2564 หรือโครงการ SME Restart ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สสว. และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการขานรับแผนการเปิดประเทศ 120 วัน ซึ่งประกาศโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ผอ.สสว. เผยอีกว่า วัตถุประสงค์โครงการดังกล่าว เพื่อเพิ่มศักยภาพในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจรายย่อย ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งระบบ ทั้งนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลับมาเข้มแข็งขึ้นและสร้างรายได้ให้ประเทศ เป็นกำลังสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี โดยโครงการดังกล่าว ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ และสามารถดำเนินการได้ใน 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต, สุราษฎร์ธานี และพังงา ซึ่งมีผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 1,000 ราย

‘บอม โอฬาร วีระนนท์’ แชร์10 สิ่งที่ได้เรียนรู้จากบทบาทบอร์ดส่งเสริม สสว. ชี้เป็นหน้าที่อันทรงเกียรติ ย้ำ ประเทศนี้ควรมี  ‘กระทรวง SMEs’ เพื่อช่วยคนตัวเล็กอย่างจริงจัง

นายโอฬาร วีระนนท์ กรรมการบริหาร พรรคสร้างอนาคตไทย และ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ยักษ์เขียว จำกัด (YAK GREEN) โพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก ถึงประสบการณ์การทำหน้าที่บอร์ดส่งเสริมสสว.อย่างน่าสนใจว่า 

“ 10 สิ่งที่ได้เรียนรู้ กับการทำหน้าที่เป็นบอร์ดส่งเสริม สสว. ”
บันทึกความทรงจำ การสิ้นสุดหน้าที่การเป็นบอร์ดส่งเสริม สสว. กับ หน้าที่ท้าทายบทต่อไป

ตลอดระยะเวลา 1 ปี 10 เดือน ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่อันทรงเกียรติ ในการสนับสนุนคนตัวเล็กทั้ง SMEs และ Startup ของประเทศไทย ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2563 เป็นต้นมา จนถึงวันสุดท้ายที่ผมลงนามในใบลาออกจากตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ในวันที่ 19 เม.ย. 2565 รวมถึงได้รับความไว้วางใจ ได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ, คณะอนุกรรมการตรวจสอบ, สสว. ระหว่างวันที่ 29 มิ.ย. 2564 - 19 เม.ย. 2565 นั้น ตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ปี มีเรื่องราวต่างๆ มากมาย ที่ได้มีส่วนร่วม และเรียนรู้ ขอบันทึกส่วนหนึ่งของความทรงจำเพื่อเตือนใจตนเอง และอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจ ดังนี้

“ 10 สิ่งที่ได้เรียนรู้ กับการทำหน้าที่เป็นบอร์ดส่งเสริม สสว. ”
1.เมื่อได้รับโอกาส จงทำมันให้ดีที่สุด
คณะกรรมการส่งเสริม ถือเป็นหนึ่งในบอร์ดสูงสุด ที่ร่วมกำหนดนโยบายของประเทศในมิติของการส่งเสริม SMEs มีคณะกรรมการทั้งสิ้น 30 ท่าน เท่ากับจำนวนรัฐมนตรีของประเทศไทย โดยมี
- นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่งเป็นประธานกรรมการ 
- มีรองนายกรัฐมนตรี นั่งเป็นรองประธาน 
- มีรัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวงได้แก่ รมว.กระทรวงการคลัง, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม
- ปลัดกระทรวงอีก 4 กระทรวง คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ กระทรวงอุตสาหกรรม 
- ผู้นำสูงสุดของ 4 องค์กรที่ดูแลเรื่องงบประมาณ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทย ได้แก่ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ, เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ, เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
- ประธานสภา / สมาคม หลักของประเทศ 5 องค์กรหลัก คือ สภาเกษตรกรแห่งชาติ, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย
- ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคต่างๆ อีก 10 คน ในที่นี้เป็นภาคเอกชน 7 ท่าน (ผมเป็น 1 ใน 7 ผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชน) 
- ผู้อํานวยการ สสว. ทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการ
จะเห็นได้ว่าคณะกรรมการล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงสุดของประเทศ ดังนั้นการที่เราได้รับเกียรติเข้าไป ก็แปลว่า เราต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ไม่น้อยกว่าผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านเช่นกัน ดังนั้นการทำการบ้าน การเตรียมข้อมูล และการกล้านำเสนอแนวคิดที่เป็นประโยชน์ในภาพรวม ที่ไม่ใช่แค่ประโยชน์ส่วนตน เป็นสิ่งที่เราต้องพึงรำลึก และใช้ทุกนาทีที่มีโอกาสอย่างดีที่สุดเสมอ

2.เมื่อโอกาสไม่มี ผู้สร้างเวทีต้องเป็นเราเอง
- ในฐานะคนตัวเล็ก ที่อยู่ในเวทีใหญ่ๆ แน่นอนว่า ถ้าเทียบกับผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนแล้ว ต่อให้เราเป็นคนที่เล็กที่สุดในวง และไม่มีโอกาสแบบเป็นทางการในการนำเสนอ แต่หากเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราต้องการนำเสนอ ว่าเป็นผลดีต่อผู้คน ธุรกิจ และสังคมในภาพรวม อย่ารีรอในการสร้างโอกาส ให้สมกับเป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่เราได้รับการคัดเลือกมา และใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพ

3.อย่าเสียเวลาโฆษณาตนเอง
- การประชุมในระดับสูงนั้น เราแนะนำตัวสั้นๆ ก็เพียงพอ ไม่ต้องโฆษณาตนเองมาก เพราะทุกคนที่ถูกคัดสรรมา ล้วนมีคุณสมบัติที่มากพอ มีดีในมุมของตน เป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับ และต่างถูก Screen ประวัติมาอย่างดี ดังนั้น จงใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ต่อที่ประชุมและประเทศอย่างสูงสุด จะได้รับการยอมรับกว่ามากนัก

4.เจาะลงไปที่แก่นของเนื้อหา โดยเน้นที่คุณค่าที่ผู้ฟังได้รับ
- จงใช้เวลาทุกวินาทีอย่างมีคุณค่า เจาะลงไปที่เนื้อหา แต่นำเสนออย่าง High Impact ด้วยความมั่นใจ จริงใจ สั้น กระชับ มี Key word ให้คนจดจำได้ ตัดประเด็นที่ซ้ำซ้อนออกไป เหลือแต่แก่นที่เป็นหัวใจของการนำเสนอ ที่เราเชี่ยวชาญ รู้จริง และทำข้อมูลมา เพื่อต้องการให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ธุรกิจ และสังคม

5.สิ่งที่เราเห็นจากสื่อ อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นจริงๆ
- อีกมุมหนึ่งที่ผมได้เห็นและเรียนรู้ จากการเข้าร่วมประชุมกับลุงตู่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีของไทยนั้น ผมบอกได้จากใจว่าในทุกครั้งที่ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมร่วมกันในฐานะบอร์ดส่งเสริม สสว. นายกฯ มีความตั้งใจดีจริงๆ มีการทำการบ้าน อ่านข้อมูลก่อนเข้าร่วมประชุม ตามทันเนื้อหาที่ยากและซับซ้อนได้เป็นอย่างดี ในหลายครั้งนายกฯ พยายามสร้างความมีส่วนร่วมให้กรรมการต่างๆ แสดงความคิดเห็น ให้เกียรติผู้อื่นอย่างเหมาะสม ไม่ได้เป็นดังภาพที่เราเห็นผ่านสื่อ Social Media ต่างๆ เสมอไป ส่วนผลงานการบริหารในมิติอื่นๆ เป็นอย่างไรนั้น เราทุกคนตัดสินกันด้วยตนเองได้

6.ข้อควรระวังเมื่อเราขึ้นสู่บทบาทที่สูงขึ้น คือ “คนรอบข้าง” และ “ข้อมูลที่รายล้อม”
- คบทุกคนได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ควรคบ, ใช้ทุกคนได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ควรใช้ เป็นสิ่งที่ควรตระหนักไว้เสมอ เมื่อเป็นคณะกรรมการระดับสูงในทุกองค์กร เราอาจไม่ได้มีเวลาในการลงไปติดตามงานทุกอย่างด้วยตนเอง ดังนั้นสิ่งที่จะมาถึงเรา ล้วนเป็นข้อมูลที่ถูกส่งและกลั่นกรองมาจาก “ทีมงาน และคนรอบข้าง” เราจะรู้ได้อย่างไรว่า “ข้อมูลนั้น ถูกต้องและเหมาะสม” และมีมุมมองใด ที่สำคัญ ที่เราควรเจาะลงไป ควร Benchmark กับใคร ในหรือต่างประเทศ ใช้ตัวอะไรเป็นชี้วัด ทั้งในมุมของผลงาน การสื่อสารทั้งในองค์กรและออกสู่สังคมในวงกว้าง อะไรคือสิ่งที่สะท้อนกลับมาให้เราสามารถพัฒนา ปรับปรุงได้อย่างเหมาะสม เพราะสิ่งใดที่วัดผลไม่ได้ ย่อมพัฒนาไม่ได้ และแน่นอนว่า การได้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ย่อมทำให้การตัดสินใจคลาดเคลื่อนไปได้เช่นกัน

7.เรียนรู้ เพื่อพัฒนา
- ทุกครั้งที่เราได้โอกาสในการทำงานกับผู้คนในทุกระดับ จงเรียนรู้ในทุกขณะอย่างดีที่สุด ยิ่งมีโอกาสทำงานกับคนเก่งๆ ยิ่งต้องเรียนรู้ที่จะฟัง เก็บข้อมูล บางสิ่งเราสามารถแนะนำพัฒนาได้ อย่ารีรอที่จะทำ หลายสิ่งอาจต้องรอเวลา ก็ต้องรู้จักจังหวะเวลา เร็วช้า หนัก เบา ทำงานเป็นทีมให้เป็น และสร้างสายสัมพันธ์ที่ดี กับผู้คนรอบข้างอยู่เสมอ

'ดร.กอบศักดิ์' เชื่อ!! รัฐเคาะ 50% ของงบจัดซื้อต้องเป็นสินค้าจาก SME ช่วยกระจายเม็ดเงินกว่าแสนล้านต่อปีสู่ผู้ประกอบการ

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และประธานกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุข้อความว่า

นโยบายที่ใช่ เพื่อช่วย SME ในยามที่ Global recessions จะมาเยือน !!!

ต่อไป 50% ของสินค่าและบริการต่าง ๆ ที่รัฐบาลซื้อ จะต้องมาจาก SME

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริม SME กับท่านนายกฯ ได้กำหนดเป้าหมายให้ทุกส่วนราชการ จัดซื้อสินค้าและบริการจาก SME ให้ได้ 'ครึ่งหนึ่ง' ของเม็ดเงินงบประมาณในเรื่องนี้ของส่วนงานนั้น ๆ ในแต่ละปี

‘รศ.ดร.วีระพงศ์’ ชูภารกิจ สสว. เคียงข้างทุก SME ไทย แนะผู้ประกอบการ ‘ผสานดิจิทัล-สร้างมาตรฐานสินค้า’

SME ไทยไปต่ออย่างไร? กับสถานการณ์ในปัจจุบัน…

คำถามสุดคลาสสิกในห้วงสถานการณ์ที่เกี่ยวพันการเมือง เศรษฐกิจ และสถานการณ์โลกที่มักจะผุดขึ้นกับบรรดาผู้ประกอบการในบ้านเราอยู่เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาเหล่านี้กระทบ SME หลายรายแบบไม่ต้องปฏิเสธ 

อย่างไรก็ตาม คำตอบของคำถาม มีรูปแบบที่สามารถช่วยเหลือและเกื้อหนุนผู้ประกอบการ SME ไว้เสมอ เพียงแต่โจทย์ของผู้ประกอบการแต่ละรายจะตกผลึกเพื่อให้โซลูชันที่สอดคล้องต่อการช่วยให้เดินหน้า ‘อยู่รอด อยู่เป็น และอยู่ยาว’ ได้แค่ไหน?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร. วีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยผ่านรายการ ‘NAVY TIME เรื่องดีๆ ประเทศไทยยามเช้า’ ออกอากาศช่วงเช้า เวลา 07.00-08.00 น. ทางสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือวังนันทอุทยาน (ส.ทร.วังนันทอุทยาน) FM93 เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 66 ได้แนะแนวทางเพื่อช่วยเหลือ SME ให้ ‘อยู่รอด-อยู่เป็น-อยู่ยาว’ อย่างน่าสนใจ ซึ่ง SME หลายรายอาจจะคุ้นอยู่แล้ว ส่วนอีกหลายรายที่ยังทราบ ก็ถือเป็นการทบทวนกันอีกครั้ง

รศ.ดร. วีระพงศ์ เผยว่า “ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 ต้องบอกว่า SME 3 กลุ่มใหญ่ถือเป็นหัวสำคัญของการขับเคลื่อน GDP ไทย โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนGDP สูงกว่าทุกกลุ่มได้แก่ค้าส่ง ค้าปลีก, กลุ่มที่2 ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว กลุ่มที่ 3 SME ที่เกี่ยวการส่งออกสินค้าแปรรูปเกษตรต่างๆ

“ทว่าเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด19 SME เหล่านี้ต้องปรับตัวอย่างหนัก ถึงกระนั้นภารกิจ 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่วันนี้ทาง สสว. ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยให้ SME ไทยไปต่อก็ยังคงผลักดันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น...

“1. โอกาสหรือตลาด โดยปัจจุบันทาง สสว. ได้มีการช่วยเหลือหาตลาดให้อย่างต่อเนื่อง / 2.การเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ให้ SME สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดงบประมาณและเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจ และ 3.การเชื่อม SME ให้เข้าถึงแหล่งทุน”

ในส่วนของ ‘การเชื่อมเข้าถึงแหล่งทุน’ นั้น ทาง รศ.ดร.วีระพงศ์ ได้ขยายด้วยว่า “อันที่จริงแล้ว ถ้า SME มีการเปิดโอกาสในส่วนนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม หาก SME นั้นๆ มีต้นทุนเรื่องของความสามารถเป็นทุนเดิม บางครั้งการหาแหล่งทุนก็แทบจะไม่ใช่ปัญหาของผู้ประกอบการเลยแม้แต่น้อย ขณะเดียวกันส่วนใหญ่มักจะถามหาทุนในขณะที่ตนยังไม่เห็นตลาดของธุรกิจตน และยังไม่มีขยายขอบเขตศักยภาพได้แน่ชัด นั่นจึงเป็นอุปสรรคที่การคุยกันในเรื่องทุนหลายครั้ง นำมาสู่ความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน”

เมื่อถามถึงการปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจของ SME ว่าควรจะเป็นไปในทิศทางใดหลังช่วงวิกฤติโควิด19 ซา? รศ.ดร.วีระพงศ์ ตอบว่า “หากทำธุรกิจที่เกี่ยวกับค้าปลีก-ค้าส่ง วันนี้ต้องนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ ต้องวิ่งเข้าหาแพลตฟอร์มหรือช่องทางต่างๆ ในการซื้อ-ขายอย่างชัดเจน นี่คือการปรับตัวในแง่ของการใช้ช่องทางกับรูปแบบในการซื้อขาย

“ส่วนที่ 2 ที่ SME ต้องมีการปรับตัวคือ ถ้าวันนี้ธุรกิจของคุณเกี่ยวเนื่องกับการขยายตัวออกไปยังต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ สินค้าหรือบริการที่ต้องมีมาตรฐานในระดับสากลหรือระดับโลก อัตลักษณ์ของสินค้าเป็นอีกเรื่อง

“ส่วนที่ 3 การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ส่วนนี้จะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ของ SME แต่ละรายได้มากขึ้น เช่น ถ้าผู้ประกอบการจะจัดการงานบริหารงานบุคคล การมีซอฟต์แวร์มาตรฐานของ HR สำคัญมาก หรือหากต้องมีการยกระดับขั้นตอนการผลิตต่างๆ ก็จำเป็นต้องมีซอฟต์แวร์ช่วยบริหารจัดการในส่วนนี้เข้ามาเพิ่มเติม เป็นต้น”

เมื่อถามถึงบทบาทของ สสว. ในส่วนที่จะเข้ามาช่วย SME ตอนนี้มีอะไรบ้าง? รศ.ดร.วีระพงศ์ เผยว่า “เราช่วยเหลือในเรื่องของ ‘โอกาส’ กับ ‘ตลาด’ ซึ่งสิ่งที่ สสว.ทำอยู่อย่างเป็นรูปธรรมในขณะนี้คือ ‘การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ’ ซึ่งเป็นนโยบายที่ สสว. ทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง ด้วยการให้ภาครัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ก่อนรายใหญ่ๆ ซึ่งในปีที่ผ่านมามี SME ได้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐคิดเป็นมูลค่ากว่า 5แสนล้านบาท ซึ่งถ้า SME ท่านใดสนใจสามารถไปขึ้นทะเบียนได้ที่เว็บไซต์ สสว. https://www.sme.go.th ตรงนี้จะเป็นการเปิดตลาดในส่วนของภาครัฐ

“นอกจากนี้ ในส่วนของ วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อยและขนาดเล็ก หรือ MSMEs ทาง สสว. ก็มีโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือ ‘SMEปัง ตังได้คืน’ อย่างต่อเนื่อง โดยเดิมโครงการนี้ให้การอุดหนุนวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี ที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 50,000 บาท ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 80% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ซึ่งเป็นนิติบุคคล ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี ได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 50% แต่ไม่เกิน 200,000 บาท”

“ขณะเดียวกัน สสว. ยังได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และสมาคมสำนักงานบัญชีไทย ให้การอุดหนุน MSME เพิ่มเติมภายใต้โครงการฯ BDS โดย MSME ทุกขนาด ที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งจดทะเบียนทำธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ (SME-GP) ทั้งวิสาหกิจรายย่อย (Micro) ที่มีรายได้ไม่เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี วิสาหกิจขนาดย่อม (Small) ภาคการผลิต ที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 50 ล้านบาท/ปี และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) ภาคการผลิตที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท/ปี และภาคอื่นๆ ไม่เกิน 300 ล้านบาท/ปี จะได้รับการอุดหนุนที่สัดส่วน 90% แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ภายใต้แคมเปญ ‘จ่ายหนึ่งหมื่น คืนเก้าพัน’ ซึ่งจะให้การอุดหนุนแต่สำหรับ MSME 5,000 รายแรก ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 ในวงเงินจำนวน 50 ล้านบาท โดยการกำหนดกลุ่ม MSME จะพิจารณาข้อมูลรายได้ล่าสุด ที่ได้จากการตรวจสอบของ สสว. หรือ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือกรมสรรพากร”

รศ.ดร. วีระพงศ์ กล่าวอีกว่า “ขณะนี้โครงการฯ BDS มีหน่วยงานผู้ให้บริการทางธุรกิจ (BDSP) จำนวน 131 หน่วยงานให้บริการบนเว็บไซต์ จำนวน 220 บริการ ส่วนผู้ประกอบการสมัครเข้าใช้บริการ จำนวน 5,475 ราย เลือกใช้บริการแล้ว 660 ราย มีการใช้งบประมาณอุดหนุนผู้ประกอบการไปแล้ว 40.96 ล้านบาท จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการที่สนใจ ลงทะเบียนเข้ารับบริการผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่ bds.sme.go.th รวมทั้งยังสามารถติดตามข่าวสารและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.sme.go.th” พร้อมทิ้งท้ายอีกด้วยว่า “นอกจากเว็บไซต์ของทาง สสว.แล้ว ยังมีแอปพลิเคชัน ‘SME CONNEXT’  ซึ่งจะมีรายละเอียดต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดรวมไว้ให้อีกด้วย ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถโหลดเพื่อเข้าไปศึกษารายละเอียดต่างๆ ของโครงการที่ สสว.ผลักดันได้ทั้งหมด” 

เปิด 6 กลุ่มธุรกิจ ดาวรุ่ง!! พุ่งแรงปี 2567

(23 ธ.ค.66) นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลการศึกษาสถานการณ์และแนวโน้มการดำเนินธุรกิจของเอสเอ็มอี (SMEs) โดยพิจารณาจากตัวชี้วัดสำคัญคืออัตราการเติบโตของธุรกิจเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2567 มีธุรกิจของ SMEs ทั้งกลุ่มที่เป็นดาวรุ่ง และกลุ่มธุรกิจที่ต้องเฝ้าระวัง โดยกลุ่มธุรกิจดาวรุ่ง ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงและมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2566 และ 2567 พบว่า มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เป็นดาวรุ่งต่อเนื่องสองปีซ้อน และกลุ่มดาวรุ่งพุ่งแรงสำหรับปี 2567 ซึ่งประกอบด้วย 

>> กลุ่มธุรกิจที่เป็นดาวรุ่งต่อเนื่องสองปีซ้อน

1. ธุรกิจขายของชำ หรือ ร้านโชห่วย ซึ่งเติบโตถึง 940% เนื่องจากร้านค้าเหล่านี้ สามารถซื้อสินค้าครั้งละน้อย ๆ และยังยืดหยุ่นในการชำระเงินได้ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนในชุมชน 
2. ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนสัมผัสวัฒนธรรมชนบท เติบโตถึง 187% หลังสถานการณ์โควิด-19 เทรนด์การท่องเที่ยวของโลกเปลี่ยนไป นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางท่องเที่ยวสัมผัสธรรมชาติมากขึ้น เนื่องจากเป็นการเยียวยาชีวิตและจิตใจ รวมทั้งได้สัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชน ความเรียบง่าย อาหารจากธรรมชาติ บรรยากาศที่เงียบสงบ ความผ่อนคลาย สัมผัสธรรมชาติเพื่อเติมพลัง 
3. ธุรกิจขายของในบ้านมือสอง และซ่อมเฟอร์นิเจอร์ เติบโตกว่า 263% เนื่องจากราคาซ่อมมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการจัดซื้อใหม่ หลายสินค้าราคาสูงจากต้นทุนการผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้น อีกทั้งความจำเป็นในการใช้งานตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ กำลังซื้อที่ลดลง ประกอบกับเทรนด์การรักษ์โลก ผู้คนหันกลับมามองสิ่งของรอบตัวที่เรามีในชีวิตประจำวัน 
4. ธุรกิจเกี่ยวกับสื่อ เช่น การตัดต่อ และการจัดผังรายการ เติบโตที่ 199% เนื่องจากหลังโควิด-19 ธุรกิจเกี่ยวกับสื่อปรับกลยุทธ์ขยายแพลตฟอร์มไปทางกลุ่มสื่อออนไลน์เพิ่มขึ้น รวมทั้งการเข้าสู่อาชีพ Youtuber และการสร้างกระแสในโลก Social ที่ง่ายขึ้น เกิดช่อง Youtube ของคนไทยเป็นจำนวนมาก 
5. ธุรกิจผับ บาร์ และร้านที่ขายแอลกอฮอล์เป็นหลัก เติบโต 125% เนื่องจากหลังโควิด-19 มีการท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกลับมาใช้ชีวิตยามราตรีได้ตามปกติ สอดคล้องกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัว อีกทั้งธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่สร้างอัตรากำไรสูง ผู้ประกอบการสามารถคืนทุนได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ยังมีโอกาสเติบโตได้

>> กลุ่มธุรกิจดาวรุ่งพุ่งแรงในปี 2567 

1. ธุรกิจเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 1,925% ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่จากรูปแบบพฤติกรรมกลุ่มคนเมืองที่เปลี่ยนไปต้องการใช้เวลาในการทำกิจกรรมในชีวิตหรือพักผ่อน พื้นที่ในที่พักมีจำกัด โดยบริการนี้เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญสามารถซักและอบเสร็จได้ในเวลาเพียง 20-40 นาที ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องซัก-อบที่มีราคาสูง คาดจะขยายตัวในเขตชุมชนจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่เริ่มมีการแข่งขันเข้มข้นในธุรกิจนี้ 
2. การผลิตน้ำอัดแก๊สและโซดา มีอัตราการเติบโต 1,109% หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายผลิตภัณฑ์น้ำดื่มได้รับความนิยม มีรสชาติและรูปแบบแปลกใหม่มากขึ้นทั้งในรูปน้ำผลไม้ต่าง ๆ จากแต่ละท้องถิ่นที่นำมาอัดแก๊สในรูปแบบที่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมดื่ม ผู้บริโภคเองก็มีทางเลือกมากขึ้น 
3. ร้านตัดเย็บและซ่อมเครื่องแต่งกาย เช่นการแก้ทรงเสื้อ การตัดขากางเกง เติบโต 667% จากที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างชะลอตัว หลังโควิดผู้บริโภคยังระมัดระวังการใช้จ่ายนำเสื้อผ้าเก่ามาแก้เพื่อใช้งานหรือการหาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ที่มีราคาถูกแต่อาจต้องปรับแก้ทรงเนื่องจากไม่ได้ลองก่อนซื้อ 
4. กิจกรรมสันทนาการ เช่น ร้านขายเครื่องดนตรี ร้านเกม มีอัตราการเติบโต 349% เนื่องจากสามารถรวมตัวกันทำกิจกรรมบันเทิง งานแสดงดนตรี หรือร้านเกม เปิดได้ตามปกติทำให้กิจกรรมนี้กลับมาเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว 
5. บริการเกี่ยวกับงานศพครบวงจร เติบโต 285% ให้บริการขนย้าย ตกแต่งสถานที่ พิธีกรรม เป็นธุรกิจที่ตอบสนองคนเมือง ครอบครัวขนาดเล็ก ที่ช่วยลดความยุ่งยากและเวลาในการดำเนินการซึ่งมีให้เลือกตามงบประมาณของลูกค้า อีกทั้งประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยธุรกิจนี้ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตได้ต่อเนื่อง 
6.ธุรกิจร้านเสริมสวย เติบโต 193% ผลจากการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ กิจกรรมบันเทิงและความงามยังคงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจ รวมถึงราคาการให้บริการไม่สูงนักเนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีการให้เลือกใช้บริการจำนวนมากแต่บางธุรกิจที่ได้รับความนิยมผ่านสื่อ Social อาจต้องจองคิวเพื่อเข้าใช้บริการ

ส่วนธุรกิจในกลุ่มเฝ้าระวัง มีทั้งธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง 2 ปีต่อเนื่อง 2566 และ 2567 คือ ธุรกิจหอพักนักศึกษา เนื่องจากสถานศึกษาในระดับต่าง ๆ มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์มากขึ้น รวมทั้งมีทางเลือกของที่พักในรูปแบบอื่น ๆ โดยนักศึกษาส่วนใหญ่เลือกพักห้องเช่าแบบอพาร์ทเม้นท์และคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันมีธุรกิจที่เริ่มต้องเฝ้าระวังในปี 2567 เนื่องจากเคยเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตสูงจากปี 2566 แต่ในปี 2567 กลับมีแนวโน้มชะลอตัวลง มีจำนวน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 

1. ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มือสอง เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หดตัวมากถึง 82% อันเนื่องมาจาก สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีในปัจจุบันมือหนึ่งราคาถูกลงมาก มีหลายระดับให้เลือก ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งผู้บริโภคมีการเปรียบเทียบราคาได้ง่าย เพื่อความคุ้มค่าในการจ่ายเงิน สินค้ามือสองกลุ่มนี้จึงได้รับความนิยมน้อยลง 
2. ธุรกิจขายงานฝีมือและของที่ระลึก เช่น เครื่องเงิน เครื่องจักสาน หดตัวถึง 75% เนื่องมาจากการขายสินค้าในออนไลน์เป็นที่นิยม และมีสินค้าเกือบทุกประเภทขายบนออนไลน์ จึงทำให้มีแรงกระตุ้นน้อยลงที่จะทำให้นักท่องเที่ยวต้องซื้อสินค้าจากการไปท่องเที่ยวที่นั้น ๆ 
3. ธุรกิจเกสเฮ้าส์ หดตัวกว่า 65% เนื่องจากมีการเติบโตอย่างมากในปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่อนคลายในช่วงแรก ห้องพักแบบเกสเฮ้าส์เป็นตัวเลือกที่ราคาไม่สูงนักเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่เดินทางคนเดียว กลุ่มวัยรุ่นและเป็นการพักในระยะยาว แต่หลังโควิด-19 ผ่านไป พฤติกรรมการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป  นักท่องเที่ยวนิยมพักระยะสั้น-กลาง หันไปนิยมห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากกว่า หรือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบครอบครัวมากขึ้น 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top